เปิด 2 ชีวิต "แอคหลุม" หนีเผือก+ความคาดหวังจากสังคม สู่การระเบิดตัวตนในทวิตเตอร์

Big Story ที่จะหาคำตอบกับเรื่องนี้
- จริงหรือ? แอคหลุมนี้ ไว้หนีความกดดันจากในเฟส
- ทำไมต้องเป็นความลับ ? และไม่เปิดเผยตัวตน ?
พาไปดู 2 ชีวิตแอคหลุม ตั้งมาเพราะอะไร ?
- ปรากฏการณ์นี้ มันคือการปรับตัว หรือหนีปัญหา ?
 


           ภาพด้านบนคือ ชื่อแอคเคาท์ในทวิตเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อระบาย เพื่อบ่น หรือเพื่อหาความสุข ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมาก เราเรียกแอคเคาท์เหล่านี้ว่า "แอคหลุม" ตามความหมายจริงๆ แล้ว "แอคหลุม" หรือ "แอคเคาท์หลุม" เป็นคำเรียกของชื่อบัญชีในทวิตเตอร์ที่ไม่แสดงข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อบัญชีนั้น เช่น ไม่แสดงรูปโปรไฟล์ ,ใช้ชื่อแอคเค้าท์ที่ไม่มีความหมาย สร้างแอคเคาท์ลับๆ ไว้ทำเรื่องต่างๆ ที่ไม่อยากให้คนรู้ว่าเป็นเรา

          วันนี้ #dekdBigStory เราจะพาไปหาคำตอบ อะไรคือที่มาของปรากฏการณ์แอคหลุม ? การที่หลายคนไม่เปิดเผยตัวตนเพราะกลัวอะไร ? ความคาดหวังของสังคม หรือเพราะคนโซเชียลคือชนวนเหตุ พร้อมพาไปดู 2 ชีวิตแอคหลุม ตั้งมาเพราะอะไร ?


มีแอคหลุม เพราะขี้เกียจ Keep look ในเฟส
            "ฝน" ผู้ที่ใช้แอคหลุมในทวิตเตอร์ไว้ระบายเรื่องต่างๆ ตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย เธอบอกว่า.. "เพื่อนในเฟสมีครบทั้ง พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อน อาจารย์เยอะมาก บางทีเราอยากโพส อยากบ่นอะไรต้องมาคิดแล้วคิดอีก ต้องมาบล็อกคนที่เราไม่อยากให้เขารู้ ทำให้ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตเลย อีกอย่างมองว่าโซเชียลหลายอย่างทั้งเฟส หรือไอจี ภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญมาก การที่เราเป็นตัวเราเอง แต่ไม่ถูกใจคนอื่น กลายเป็นว่าเราทำผิดไม่เหมาะสม เลยเลือกที่จะไปใช้แอคหลุมแสดงตัวตนมากกว่า อาจจะเป็นเพราะทวิตไม่มีใครรู้จักเรา จะพิมพ์หรือแสดงความเห็นอะไรก็ทำได้เต็มที่ ไม่ต้อง Keep look"

บ่นในเฟส เรื่องใหญ่กว่าบ่นในทวิตเตอร์
            "เอ" นักเรียนมัธยมคนหนึ่งที่รู้สึกว่าความห่วงใยของเพื่อนบางคนในเฟสบุ๊กกลายเป็นปัญหา เธอเล่าว่า.. "ตัวเองเริ่มมีแอคหลุมไว้ใช้ระบายความในใจตั้งแต่ปี 53 เริ่มมาจากเพื่อนในกลุ่มหลายคนเล่นทวิตเตอร์เพื่อตามข่าวศิลปิน เลยลองเล่นตาม และพบว่าทวิตเตอร์สามารถปิดบังตัวตนได้ จะบ่นอะไรก็ได้ ไม่มีใครมาสนใจ จนหลังๆ เวลามีเรื่องอะไรที่หงุดหงิดอยากระบาย ก็จะเข้ามาในทวิตเตอร์ เพราะหลายครั้งเคยระบายในเฟสบุ๊กบางทีเราแค่อยากบ่น แต่หากโพสอะไรไป ทุกคนจะแบบเป็นไร? ใครทำอะไร? หรือบางคนตีความผิด เข้าใจว่าเราหมายถึงเขาหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลยกลายเป็นปัญหาใหญ่โต หากจะบอกว่าหนีความสนใจจากเพื่อนๆ ในเฟสก็มีส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเพื่อนในเฟสก็คงเป็นห่วงเราจริงๆ แต่ก็อย่างที่บอกว่าแค่บ่น อยากมีพื้นที่ส่วนตัวบ้าง"
 
 
ฟังมุม ผู้ปกครองที่ลูกมี "แอคหลุม"
            ลูกสาวเป็นคนที่เล่นโซเชียลทวิตเตอร์ และมีแอคหลุม เพราะบอก 555 แต่ไม่รู้สึกอะไรนะ เพราะคิดว่ามนุษย์ทุกคน แม้กระทั่งเราเองยังอยากได้พื้นที่ส่วนตัวไว้ระบายบางอย่าง ลูกก็คงต้องการเหมือนกันแหละ ไม่ได้มองว่าลูกปิดบังอะไร แต่ทุกคนย่อมอยากมีพื้นที่ส่วนตัว แต่ลึกๆ เชื่อว่าคนเป็นแม่ หากรู้ว่าลูกมี ก็อยากรู้นะว่าลูกระบายเรื่องอะไร เพราะหากอยากบ่นหรือระบายเฉยๆ ไม่เป็นไร แต่หากลูกมีปัญหาเรื่องเรียน รัก หรือร้ายแรงมากๆ ก็รู้สึกกังวลและอยากช่วยลูก

แคปชั่นเพ้ออาจเป็นโลกใบเล็กๆ ที่ทำให้ลูกสบายใจ
           เรื่องทวิตเพ้อไปเรื่อย อันนี้แม่ไม่เห็นว่าเป็นปัญหาอะไรนะ แคปชั่นเพ้ออาจเป็นโลกใบเล็กๆ ที่ทำให้ลูกสบายใจอย่างหนึ่ง ถ้าอยู่ในช่วงเรียน แล้วเขายังรับผิดชอบตัวเองได้ รายงานส่งครบ แบ่งเวลาอ่านหนังสือสอบได้ เกรดไม่ตกก็โอเค แต่ถ้าตรงกันข้าม เพ้อเจ้อจนเรียนตก หรือสร้างเรื่องจนทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็ต้องเรียกมาอบรม หากิจกรรมอย่างอื่นให้เขาทำ แต่สิ่งที่ต้องระวังมากๆ คือเรื่องซึมเศร้า ก็จะเห็นว่าเกิดขึ้นเยอะ เราคงต้องสังเกตลูกบ่อยๆ ว่าถ้าลูกเริ่มมีโลกส่วนตัวสูง พูดน้อยลง ไม่ค่อยอยากไปโรงเรียน เขากำลังมีปัญหาอะไรไหม หาเวลามาคุยกับลูกเยอะๆ ทำกิจกรรมด้วยกัน ทำให้เขารู้สึกดีที่มีแม่อยู่ข้างๆ

สถิติชี้วัยรุ่นไทยหันมาใช้ทวิตเตอร์จำนวนมาก
          จากข้อมูลในงาน Thailand Zocial Awards 2018 พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับทวิตเตอร์ว่า ปัจจุบันมีคนไทยใช้ Twitter ทั้งหมด 12 ล้านคน และมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 33% ตัวเลขที่น่าสนใจคือ Active User ของ Twitter คือ 5.7 ล้าน จากเดิมปีก่อน 3.1 ล้านคน
- ทวิตเตอร์ มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในบรรดา Social Network
- ทวิตเตอร์ มีผู้ใช้เติบโตเยอะทั้งโลก
- ทวิตเตอร์ ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก

- วัยรุ่นเล่นทวิตเตอร์ เพราะรู้สึกส่วนตัวสูงกว่า

 

"แอคหลุม" = เด็กไทยรู้จักการปรับตัว ?
            อาจารย์ปิง เจริญศิริวัฒน์ หรือ "อาจารย์ปิง ดาว้องก์" มองต่อปรากฏการณ์แอคหลุมไว้อย่างน่าสนใจว่า.. เด็กไทยรู้จักการปรับตัวนะ รู้ว่าเดี๋ยวนี้คุณพ่อคุณแม่อยู่ Facebook เยอะ ก็หนีไปอยู่ที่ใหม่ ส่วนเรื่องการระบาย การบ่น ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์นะ ไม่ใช่เรื่องซีเรียสอะไร แต่ทุกวันนี้คนเราต้องมองลึกไปว่าเราอาจจะระบายเยอะไปรึป่าว คือ ถ้ามองปัญหาให้เป็นปัญหาก็ต้องระบาย แต่ถ้าเรามองปัญหาให้เป็นเรื่องทั่วๆ ไปก็ไม่จำเป็นต้องระบายจริงไหม ? 

การระบาย ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ?
            การระบายไม่ได้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเขามีที่ปรึกษาที่ดี มีคนที่คอยสอนให้มองปัญหา จัดการกับปัญหาก็น่าจะดีกว่า เพราะบางครั้งปัญหาอาจจะเกิดจากการมโน ก็อยากให้อยู่กับความจริง ของจริงมากกว่า ทั้งนี้ก็ต้องดูตัวเด็กด้วย เพราะเด็กแต่ละคนจะมีปัญหาไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถตัดสินปัญหาใครได้ว่าเบาหรือหนัก ก็ต้องมาคุยกันอีกที ถ้าเป็นผู้ปกครอง สำหรับคำแนะนำผู้ปกครองถ้าเป็นครูก็อยากพาลูกออกมาจาก Social มาคุยกัน ปรึกษากัน เพราะตรงนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เหมือนแบบ ถึงแม่จะไม่ได้กดถูกใจ แต่แม่ก็ถูกใจลูกตลอด คือความรักไม่ได้มาจากการถูกใจ
 
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ตัวหนังสือมันมีชีวิต 17 ส.ค. 61 12:19 น. 1

อยากรู้ว่าจะมีคนเป็นเหมือนเรามั้ย ในทวิตไม่ได้เป็นแอคหลุมหรอก แต่เป็นเหมือนแอคทั่วไป แล้วเวลาพูด เวลาเขียน เหมือนสร้างตัวตนที่อยากเป็นอะ ฉันอยากหวานบ้าง ฉันจะเป็นคนน่ารัก ๆ บ้าง เป็นบ้า ขี้เพ้อเจ้อ แต่ในเฟียสคือ เป็นเฟียส ถ้าเรื่องไหนไม่ชอบก็ระบายในเฟสให้คนรู้ไปเลยงี้ แต่จะมีไม่มีกี่ครั้งที่มาระบายความรู้อัดอั้นจริง ๆ ในทวิต กรณีที่แบบเป็นเรื่องที่เซนเซอทีฟตัวเอง เช่น มีปัญหากับที่บ้านงี้ อยากเพ้อเจ้อมาก ๆ แล้วค่อยลบพอหายจากนั้น


0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด