รู้จัก "เอกเกาหลี" สาขาน้องใหม่ 2561 แห่งอักษรฯ จุฬาฯ ที่ป๊อปปูลาร์มาตั้งแต่ก่อนเปิด!

       อันยอง~ ชาว Dek-D ระยะหลังมานี้ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทยอยกันเปิดสอนหลักสูตร "ภาษาเกาหลี" อย่างจริงจัง และล่าสุดคือปีนี้ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จัดตั้งหลักสูตรสาขาภาษาเกาหลีขึ้นมาเป็นปีแรก! (จากเดิมที่เป็นเพียงวิชาโทเท่านั้น)

       พาไปบุกถิ่นจามจุรีกันครั้งนี้ ไฮไลต์เด็ดของเราคือการได้รับเกียรติจากอาจารย์ประจำสาขามาพาชมและเปิดหลักสูตรที่เพิ่งผ่านการอนุมัติมาแบบสดๆ ร้อนๆ ชนิดไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน รวมถึงบทสัมภาษณ์(ว่าที่)นิสิตเอกเกาหลีรุ่นบุกเบิกที่จะมารีวิวชีวิตการเรียนในช่วงครึ่งเทอมที่ผ่านมาให้ฟังด้วย! พออ่านจบน้องๆ จะได้คำตอบแน่นอนว่าเอกนี้น่ารักและน่าเรียนขนาดไหน แล้วไม่มีพื้นฐานมาก่อนเลยจะเรียนไหวรึเปล่า?

 

       ขอเท้าความก่อนว่า คณะอักษรศาสตร์เปิดหลักสูตร “วิชาโทภาษาเกาหลี” มาตั้งแต่ปี 2008-2018 โดยนิสิตจะได้เรียนวิชาเกาหลี 7 ตัว (เรียน 3 ชั่วโมง/สัปดาห์)  ผลคือที่ผ่านมานิสิตส่วนใหญ่สอบวัดระดับภาษาเกาหลี (TOPIK) ได้ประมาณระดับ 4-5 แถมยังจัดว่าเป็นวิชาโทที่ฮอตสุดๆ มีนิสิตทั้งในและนอกคณะมาลงทะเบียนเพียบไม่เคยเงียบเหงา!!

       คุณภาพคับแก้วขนาดนี้บวกกับโอกาสครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เกาหลี คณะอักษรฯ จึงเฉลิมฉลองด้วยการเปิด “เอกเกาหลี” ซึ่งอยู่ในภาควิชาภาษาตะวันออกซะเลย
 
       ปัจจุบัน เอกภาษาเกาหลีมีอาจารย์ชาวไทย 4 คน (ลาศึกษาต่อ 1 คน) อัตราจ้าง 2 คน อาจารย์ชาวต่างชาติ 1 คน รวมถึงอาจารย์ฝึกสอน 1 คนที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธินานาชาติเกาหลี (Korea Foundation) บอกเลยว่าทุกท่านล้วนจบ ป.โทสาขาการสอนภาษาเกาหลีหรือด้านภาษาและวรรณคดีมาจากเกาหลีทั้งสิ้น หรืออย่าง อ. สุภาพร บุญรุ่ง (อ.นิด) หัวหน้าสาขาวิชาภาษาเกาหลี ก็มีดีกรีเป็นถึงนักเรียนไทยคนแรกที่เรียน ป.โท ด้วยทุนรัฐบาลเกาหลีเมื่อปี 2547 และยังเป็นศิษย์เก่านักเรียนต่างชาติดีเด่นของ ม.อีฮวา (Ewha Award for Global Ambassadors) ด้วยค่ะ


แอบเห็น Jaysbabyfood กำลังสอนนิสิตโทเกาหลีด้วย ^^


กว่าจะเป็น "เด็กเอกเกาหลี"
 

       วิธีการเข้าเอกเกาหลีจะเหมือนเอกอื่นๆ ในอักษรจุฬาฯ ค่ะ เล่าให้ฟังง่ายๆ คือ...

       1. ต้องสอบติดคณะอักษรศาสตร์ให้ได้ก่อน
       2. ปีแรกเด็กอักษรฯ ทุกคนจะได้เรียนวิชาพื้นฐานคณะ + วิชาเตรียมเข้าเอกตอนปี 2  เทอมละ 1 ตัว ซึ่งถ้าวางแผนจะเข้าเอกเกาหลีต้องลงเรียนรายวิชาดังนี้

       กรณีที่ 1  คนที่สอบเข้าโดยไม่ได้ใช้คะแนน PAT เกาหลี (=ไม่มีพื้นฐาน) ปี 1 เทอม 1  เรียนเกาหลี 1 + เทอม 2 เรียนเกาหลี 2
       กรณีที่ 2    คนที่สอบเข้าโดยใช้คะแนน PAT เกาหลี (=มีพื้นฐาน) ปี 1 เทอม 1  เรียน การอ่านภาษาเกาหลี + เทอม 2 เรียน การเขียนภาษาเกาหลี  
       
       3. เกณฑ์ปี 2561 ตั้งเงื่อนไขไว้ว่า หากจะเข้าเอกเกาหลี ต้องทำเกรดเฉพาะรายวิชาที่เป็นเกาหลี 2 ตัวข้างต้นให้ได้ 3.00 ขึ้นไป  ส่วนจำนวนรับยังไม่ได้กำหนด (*แต่ย้ำว่าเงื่อนไขและจำนวนรับอาจเปลี่ยนแปลงในปีถัดไปนะคะ) และจากสถิติปีแรก นิสิตที่ลงเรียนตัวเกาหลีเพื่อเตรียมเข้าเอก ประกอบด้วยคนไม่มีพื้นฐาน 40 คน และมีพื้นฐาน 15 คน
 

 

เจาะหลักสูตรที่ปั้นคนเก่งเกาหลีแบบรอบด้าน!

       เอกวิชาภาษาเกาหลีเปิดสอนแบบ "เอก-โท" (อนุญาตให้เรียนวิชาโทเป็นภาษาอื่นๆ หรือเรียนวิชาโทนอกคณะได้) เรียนทั้งหมด 66 หน่วยกิต ถ้านับเฉพาะวิชาเอกจะมี 48 หน่วยกิต (วิชาบังคับ 30 หน่วยกิต + วิชาเลือก 18 หน่วยกิต) ภาพรวมคือเน้นภาษา 70% + ภาษาเพื่อวิชาชีพ 20% และความรู้ทั่วไปของเกาหลี 10%
 
       วิชาบังคับ = 30 หน่วยกิต ได้แก่ ภาษาเกาหลี 3, ภาษาเกาหลี 4, วัฒนธรรมเกาหลี, การฟังและการพูดภาษาเกาหลี, การฟังและการพูดภาษาเกาหลี 2, ภาษาเกาหลี 5, ภาษาเกาหลี 6, การแปลภาษาเกาหลีขั้นต้น, ระบบเสียงภาษาเกาหลี และไวยากรณ์ภาษาเกาหลี พี่ขอเล่าเสริมว่า ปกติวิชาภาษาเกาหลีมีทั้งหมด 8 ระดับ ซึ่งเอกนี้บังคับถึงแค่ 6 (เทียบเท่าประมาณระดับ 3 ของเกาหลี) แต่เราสามารถเรียนต่อ 7 และ 8 ได้เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง

      วิชาเลือก = 18 หน่วยกิต   เช่น เกาหลี 1, เกาหลี 2 (สำหรับคนที่สอบเข้าโดยไม่ได้ยื่น PAT เกาหลี), การอ่านภาษาเกาหลี การเขียนภาษาเกาหลี (สำหรับคนที่สอบเข้าโดยยื่น PAT เกาหลี) ภาษาเกาหลีเพื่อธุรกิจ, ระบบหน่วยคำภาษาเกาหลี, วรรณคดีเกาหลี, การแปลและการล่ามเบื้องต้นภาษาเกาหลี, ภาษาเกาหลีเพื่อมัคคุเทศก์, ภาษาเกาหลีทางสื่อโสตทัศน์, ภาษาเกาหลีเป็นภาษาต่างประเทศ, ภาษาเกาหลีสำหรับการท่องเที่ยว ฯลฯ

      สังเกตได้ว่าส่วนใหญ่วิชาเลือกจะไปทางวิชาชีพ แต่น้องๆ อาจไม่คุ้นชื่อบางวิชา เช่น "ภาษาเกาหลีเป็นภาษาต่างประเทศ" วิชานี้จะกึ่งๆ การสอนภาษาเกาหลี เหมาะกับคนที่อยากเป็นครูหรืออาจารย์สอนภาษาเกาหลี หรือเรียนต่อทางด้านนี้ ส่วนอีกตัวคือ "หัวข้อคัดสรรเกี่ยวกับเกาหลี" จะเป็นวิชาพิเศษที่ทางสาขาตั้งใจเปิดเพื่อให้เนื้อหาเรียนยืดหยุ่นมากขึ้น อาจารย์จะหยิบเรื่องที่น่าสนใจในขณะนั้นมาเป็นหัวข้อการสอนได้ตลอดค่ะ



 
รีวิวการเรียนจากนิสิตปี 1 ว่าที่ "เด็กเอกเกาหลี"

       'แบงค์'  เด็กอักษรปี 1 ที่ไม่มีพื้นฐานเกาหลีมาก่อน เล่าบรรยากาศการเรียน "เกาหลี 1" ในครึ่งเทอมแรกให้ฟังว่า วิชานี้จะเรียนทั้งหมด 3 ชม. (สอนโดยอาจารย์คนไทย 2 ชม. + อาจารย์เกาหลี 1 ชม.) ปูพื้นฐานตั้งแต่ตัวอักษร สระ การออกเสียง และแกรมมาร์ระดับไม่ซับซ้อนมาก ฟังพูดอ่านเขียนแบบเบสิก พื้นฐานการพูดคุยในชีวิตประจำวัน เช่น การทักทาย การสั่งอาหาร การถามตอบข้อมูลส่วนตัว แนะนำตัว แนะนำครอบครัว ฯลฯ คำกริยาหรือบอกสภาพ เช่น อร่อย สนุก ฯลฯ โดยที่ยังเป็นภาษาระดับทางการหรือสุภาพ 

       "อาจารย์ที่สอนจะพยายามเชื่อมโยงกับภาษาไทย อย่างพวกตัวอักษรที่เขียนคล้ายๆ กัน บางทีก็พยายามสร้างสตอรี่ให้เราจำได้ ส่วน อ.เกาหลี จะมีให้ทำควิซ เขียนประโยค ก่อนสอบจะบอกเทคนิคให้เราสังเกตคำที่ออกเสียงคล้ายๆ กัน (แม้เป็นคำเดียวกัน แต่อาจารย์จะออกเสียงต่ำสูงไม่เหมือนกันครับ) บรรยากาศการเรียนคาบแรกกับอาจารย์เกาหลี ผมตื่นเต้นมาก ผ่านไป 1-2 คาบถึงเริ่มจูนได้ สิ่งที่ทำนอกจากเรียนในห้องคือ พยายามอ่านหนังสือนอกเวลา ทบทวนเยอะๆ จำศัพท์ ส่วนการบ้านมีทุกวันแต่ไม่ได้เยอะจนเกินไปครับ"


อ.โออาริม (อาจารย์ชาวเกาหลี)

       ตัดภาพมาที่คนสอบเข้าโดยยื่น PAT เกาหลีกันบ้างค่ะ 'เอิง'  เด็กอักษรปี 1 เล่าบรรยากาศการเรียน Reading ให้ฟังว่า "วิชานี้เรียนกับอาจารย์ชาวไทยทั้งคาบเลยค่ะ ใช้หนังสือเรียนของ ม.ยอนเซ Korean Reading เล่ม 3 เรียนคาบละ 2 เรื่อง (เลือกเรียนบางบท) เนื้อหาบทความเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สอดแทรกวัฒนธรรมเกาหลีบ้าง ตอนสอนอาจารย์จะค่อยๆ อ่านและแปลไปพร้อมๆ กัน อาจมีข้ามคำพื้นฐานไปบ้าง แต่ถ้าไม่เข้าใจเรายกมือถามอาจารย์ได้ ทำให้รู้สึกตามทันและเข้าใจง่ายค่ะ บรรยากาศในห้องก็เป็นกันเองมากๆ" 

        "ส่วนตัวคิดว่าถ้ามีความรู้เก่ามาก่อนจะช่วยตอนเรียนได้เยอะมาก แต่ก็มีเพื่อนบางคนที่ไม่มั่นใจพื้นฐานตัวเอง เลยขออาจารย์ไปนั่ง Sit-in ในรายวิชาเกาหลี 1 กับ 2 ซึ่งทำได้เหมือนกันค่ะ"


 
       แรงบันดาลใจหลักๆ ของนิสิตที่เลือกเรียนเอกหรือโทเกาหลี มาจากการชื่นชอบวงการบันเทิงเกาหลี (ผู้ชายอาจได้แรงบันดาลใจจากลิซ่า ส่วนผู้หญิงอาจเป็นโอปป้า 5555) และจะมีกลุ่มที่สนใจเรื่องวัฒนธรรม ภาษา และสายงานที่เกี่ยวกับเกาหลีด้วยค่ะ

       แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ถ้าใครไม่ได้สนใจภาษาเกาหลีจริงๆ แต่ลงเพราะไม่รู้จะลงอะไรแล้ว หรือคิดว่าภาษานี้ง่าย ก็มีโอกาสเรียนไม่รอดเช่นกันค่ะ  หนึ่งในนิสิตเล่าว่า ภาษาเกาหลีสะกดคล้ายภาษาไทยก็จริง การประสมคำไม่ยาก แต่จะยากเรื่องแกรมมาร์ การโยงเสียง การผันรูป ฯลฯ ซึ่งคนที่ไม่ศึกษามาก่อนอาจคิดว่ามันไม่ยากก็ได้

​      สำหรับคนที่สงสัยว่าก่อนจบต้องสอบ TOPIK ได้ระดับไหน ล่าสุดทางสาขายังไม่ได้กำหนดไว้ค่ะ แต่อาจารย์เทียบว่าถ้าเกิดตั้งใจเรียนจริงๆ มีโอกาสสอบได้ถึงระดับ 5 เลยทีเดียว!
 


      จากการไปทัวร์เอกน้องใหม่แห่งนี้ รู้สึกทั้งน่าเรียนและอบอุ่นมากๆ ถ้าใครอยากติดตามข่าวสาร สามารถเข้าไปได้ที่เพจ สาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และหากสงสัยเรื่องการเข้าเอก สอบถามทาง Inbox ได้เลยค่ะ เพราะมีอาจารย์และรุ่นพี่คอยตอบคำถามด้วย หลังจากเก็บข้อมูลเต็มที่แล้ว อย่าลืมว่าอาจารย์และเด็กเอกเกาหลีกำลังรอน้องๆ มาเป็นครอบครัวเดียวกันนะคะ พี่ขอให้น้องๆ สมหวังทุกคน! ^^
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

มุมินนนน 13 พ.ค. 63 22:24 น. 1-1

+++อยากรู้ว่าสัมภาษาอะไรแล้วคะแนนก่อนเข้าคณะต้องใช้วิชาอะไรมั้งคั้บพอดีสนใจจะไปเรียนคณะนี้คั้ยมาตอบด้วยคั้บปี65จะเข้ามหาลัยแล้วคั้บ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด