หมดแรงอ่านหนังสือ ลองลุกมา “บิดขี้เกียจตอนเช้า” รับประกัน อ่านอึดขึ้น 2 เท่า!

          “อ่านหนังสือต้องมีฟีลลิ่ง!” พี่เมก้าเห็นด้วยกับประโยคนี้มากๆ เลยค่ะ ลองเปรียบเทียบดูวันไหนเราอ่านหนังสือด้วยความรู้สึกพะอืดพะอมขมขื่นอยู่ในใจ มักจะอ่านไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าวันไหนปรับอารมณ์มาแบบเฟรชมาก ก็จะอ่านหนังสือได้แบบกระปรี้กระเปร่า ความรู้ซึมเข้าสมองสุดๆ


 
          ล่าสุด! พี่เมก้าเพิ่งค้นพบงานวิจัยน่ารักๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของการบิดขี้เกียจมาค่ะ แค่บิดตัวโยกซ้ายนิดขวาหน่อย แต่ข้อดีตามมาอย่างคาดไม่ถึง (แอบกระซิบว่าขนาดลุงตู่ของเรายังแนะนำให้ทำ) เอาล่ะ! เพื่อไม่ให้เสียเวลาตามไปดูกันค่ะ ว่าบิดขี้เกียจช่วยให้อ่านหนังสือฟิน + อึดขึ้นได้ยังไง 

เครียดเมื่อไหร่...สมองดับทันที
          ถ้าถามถึงตัวการที่ทำให้น้องๆ เกิดความเครียดจนหมดแรงอ่านหนังสือ งานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียดของนักเรียนชั้น ม.ปลาย รร.สารวิทยา” ได้เสนอข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า สาเหตุที่ทำให้นักเรียนเกิดความเครียดมาก อันดับแรกมาจากผลการเรียนตกต่ำ ตามมาติดๆ ด้วยการตั้งใจจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ และสุดท้ายคือไม่เข้าใจบทเรียนค่ะ

          ก่อนจะไปบิดขี้เกียจ เราจึงควรทำความเข้าใจกับการปรับอารมณ์กันเป็นอันดับแรกค่ะ รู้ไหมว่างานวิจัยหลายชิ้นพบว่า “อารมณ์มีผลต่อการเรียนรู้” นะคะ เมื่อไหร่ก็ตามที่น้องๆ เกิดความเครียด กลัว ท้อ ฯลฯ สมองจะหลั่งฮอร์โมนความเครียด 'Cortisol' ทำให้สมดุลของสารเคมีในสมองลดลง และปิดกั้นวงจรการทำงานของสมอง ในขณะเดียวกันถ้าเราอารมณ์ดี มีความสุข สารเคมีที่ดีก็จะหลั่งมากขึ้น ทำให้เรียนรู้เร็ว และจดจำสิ่งที่อ่านได้ยาวนานขึ้นค่ะ


เหตุผลที่เราควร “บิดขี้เกียจ”


ขอบคุณภาพจาก https://www.pexels.com
 
          เคยมีคนสงสัยว่าทำไมเวลาบิดขี้เกียจรู้สึกฟิน และกระฉับกระเฉงมากขึ้น เป็นเพราะเราได้บิดไล่ตัวขี้เกียจออกไปหรือเปล่า? จริงๆ แล้วระหว่างที่น้องๆ หลับ สมองและกล้ามเนื้อได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ พอไม่ได้ขยับกล้ามเนื้อเป็นเวลานานๆ จึงทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก การบิดขี้เกียจจึงเปรียบเสมือนการเติมเต็มเหมืองพลังงานครั้งใหญ่ให้กับร่างกายค่ะ

บิด 1 ครั้ง = ลดความเครียด เพิ่มความฟิน
          ทุกเช้าที่น้องๆ ตื่นขึ้นมา เราจำเป็นต้องกระตุ้นการไหลเวียนเลือดเพื่อไปเลี้ยงร่างกายและสมองด้วยการบิดขี้เกียจ เลือดที่ไหลเวียนเพิ่มขึ้นในสมองช่วยให้เราสดชื่น และตื่นเต็มตา ส่วนการบิดตัวไปมาคล้ายยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่หดตัวอยู่ให้คลายออก ทำให้ร่างกายเราขับกรดแล็คติกหรือของเสียในกล้ามเนื้อออกไป นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราบิดขี้เกียจแล้วรู้สึกสบายตัว หรือง่ายๆ คือยิ่งบิดยิ่งฟินนั่นเองค่ะ

          การบิดขี้เกียจเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย ไม่เพียงแต่จะทำให้เราอารมณ์ดี กระปรี้กระเปร่านะคะ ถ้าได้ลองยืดแขนขึ้นพร้อมกับสูดลมหายใจเข้าออกช้าๆ น้องๆ จะสัมผัสกับความปลอดโปร่ง โล่งสบายในใจ พร้อมรับพลังบวกกลับมาเต็มๆ เรียกได้ว่าที่เคยเครียดๆ มา หายเป็นปลิดทิ้ง


บิด 1 ครั้ง = อ่านหนังสืออึดขึ้น 2 เท่า 
          จำได้ไหมคะน้องๆ พี่เมก้าเกริ่นไว้ตอนต้นว่า “เครียดเมื่อไหร่ สมองดับทันที” การบิดขี้เกียจช่วยปลุกความฟินในการอ่านหนังสือของเรากลับมา “ยิ่งบิดขี้เกียจตอนเช้า ยิ่งฉลาด” เนื่องจากตอนที่เราหลับ สมองไม่ได้หลับตามไปด้วยนะคะ ภายในกำลังประมวลผลข้อมูลใหม่ๆ ที่เราเรียนหรืออ่านหนังสือมาทั้งวันบรรจุลงลิ้นชักสมอง เพื่อเตรียมดึงความรู้ต่างๆ ออกมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ขอบคุณภาพจาก https://www.pexels.com
 
          การลุกขึ้นมา “บิดขี้เกียจตอนเช้าคลายเครียด ตามด้วยอ่านหนังสือ” หลังจากที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนเต็มที่ และสมองจัดระเบียบข้อมูลต่างๆ เรียบร้อยจนพร้อมใช้งานอีกครั้ง จึงทำให้เราอ่านหนังสือได้อย่างมีสมาธิ เข้าใจทะลุปรุโปร่ง แถมจำเนื้อหาต่างๆ ที่อ่านได้อย่างแม่นยำด้วย นักวิจัยพิสูจน์มาแล้วว่า "อ่านหนังสือเพียง 1 ชั่วโมง จำข้อมูลได้มากและแม่นยำเท่ากับใช้เวลานั่งอ่าน 2 ชั่วโมง" เลยล่ะค่ะ 

บิดขี้เกียจคือท่าพร้อมเรียนที่เพอร์เฟคท์
          การบิดขี้เกียจยังมีความคล้ายคลึงกับท่า High-Power Poses มากด้วยนะคะ นี่เป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่า การทำท่า High-power poses ทำให้ฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) ในสมองลดลง ในขณะที่ฮอร์โมนแห่งอำนาจ (Testosterone) กลับเพิ่มขึ้น เราจะรู้สึกเหมือนมีใครมาปลุกพลังไฟในตัว พร้อมจะสู้กับการเรียนและการอ่านหนังสือขึ้นมาทันที

          ขอบอกว่าบิดขี้เกียจเหมาะกับไลฟ์สไตล์คนไม่ชอบออกกำลังกายแบบพี่เมก้ามากเลยค่ะ ก่อนหน้านี้ใครบอกว่าต้อง Up & Down ก่อนอ่านหนังสือให้สมองปลอดโปร่ง ต่อไปไม่ต้องออกแรงเยอะแล้ว ว่าแต่น้องๆ อยากจะลองลุกขึ้นมาบิดขี้เกียจกันบ้างไหมคะ แต่บอกก่อนว่าบิดตัวขี้เกียจออกไปแล้ว อย่าแอบหงายหลังนอนต่อนะ รีบอ่านหนังสือตามทันที ยิ่งทบทวนบ่อยๆ เราจะยิ่งจำเนื้อหาที่อ่านได้แม่นยำขึ้นค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
www.ted.com/talks/amy_cuddy_your_body_language
www.livestrong.com/benefits-of-stretch-in-the-morning
www.theactivetimes.com/technique/7-benefits-stretching
รายงานวิจัยการเรียนรู้อย่างมีความสุข : สารเคมีในสมองกับความสุขและการเรียนรู้
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด