ใครชอบทะเลบ้าง รู้จักสาขานี้หรือยัง!? นักวิทย์ที่ไม่ได้อยู่แต่ใน Lab เพราะต้องออกทะเลจริง! (แนะนำสาขาและการสอบ)

         ใครบอกว่านักวิทยาศาสตร์ต้องขลุกอยู่แต่ในแล็ป ยังมีสาขานักวิทย์สายลุยที่ทำงานกับพื้นน้ำสีครามแสนกว้างใหญ่เพื่อค้นหาความหมายของโลกในทะเลอยู่ด้วยจ้า ใครชอบขาลุย ใครชอบทะเล และชอบวิทยาศาสตร์ พี่เกียรติมีคำแนะนำดี ๆ จากอาจารย์รุ่นพี่คณะวิทยาศาสตร์มาฝากค่ะ 




                 ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล (อ.อุ้ย) เป็นรุ่นพี่จบจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปศึกษาต่างประเทศจนได้รับปริญญาเอกด้าน Marine Science and Technology จาก Newcastle University ประเทศอังกฤษ
                ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และหากใครชอบวิชาชีววิทยาต้องเคยอ่านเคยเห็นหนังสือ Biology (หนังสือปลาหมึก) และ Essential Biology (หนังสือปู) หน้าตาแบบภาพด้านล่างนี้แน่นอน อ.อุ้ยเป็นคนเขียนเองจ้ะ บทความนี้จึงพิเศษสุด ๆ เพราะอ.อุ้ยได้มาแนะนำน้อง ๆ ชาวเด็กดีถึงการสอบและแนะนำสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลค่ะ 

 
หนังสือปลาหมึกและหนังสือปูที่อาจารย์อุ้ยเขียน

 

 
> วิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนเกี่ยวกับอะไร 


"เน้นศึกษาสิ่งมีชีวิตหรือปรากฏการณ์ในทะเลที่สิ่งผลต่อระบบนิเวศและมนุษย์"


       เนื้อหาในภาคนี้แบ่งแขนงวิชาออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ ชีววิทยาทางทะเล เรียนพวกสัตว์ในทะเล แพลงก์ตอน สาหร่ายต่าง ๆ และความสัมพันธ์ของมันต่อระบบนิเวศ และยังมีเรียนเกี่ยวกับการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคล้ายของ ม.เกษตรฯ ด้วย แต่ฝั่งจุฬาฯ จะเน้นในเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่า คือ เน้นไปถึงสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต เช่น ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น มันส่งผลยังไงกับสิ่งมีชีวิตในทะเล จะเน้นศึกษาที่ตัวทะเลมากกว่าด้านอาชีพทางประมง และอีกส่วน คือ สมุทรศาสตร์ ซึ่งเป็นการเรียนเกี่ยวกับทะเลในแง่มุมต่าง ๆ เชื่อมโยงกับหลาย ๆ ศาสตร์ เช่น ถ้าชอบฟิสิกส์ก็สามารถเลือกเรียนสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์ เรียนเรื่องการเกิดคลื่นในทะเล เรื่องแนวการกัดเซาะชายฝั่ง การคำนวณความสูงของคลื่น สมุทรศาสตร์เคมี การเกิดและการหมุนเวียนของสารต่าง ๆ ในทะเล สมุทรศาสตร์ธรณี การเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล การเกิดสึนามิ เป็นต้น 
โดยแขนงเหล่านี้อยู่ในหลักสูตรปริญญาตรี วิทยาศาสตร์ทางทะเลให้เลือกเรียนได้ 




> ถ้าสนใจเรียนด้านนี้ ควรมีความถนัดหรือความชอบอย่างไร 

         ถ้าความถนัดในตัววิชาก็ควรชอบวิชาชีววิทยาหรือวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรชอบเรียนปฏิบัติ ชอบออกฟิลด์ เพราะต้องมีออกทะเล ไปดำน้ำศึกษาสัตว์ใต้ทะเลต่าง ๆ นิสิตจะได้ไปออกฟิลด์ที่สถานีวิจัยในหน่วยงานต่าง ๆ ของจุฬาฯ เช่น สถานีวิจัยที่เกาะสีชัง ของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ หรือสถานีวิจัยสัตว์ทะเลอ่างศิลา ที่จังหวัดชลบุรี มีโอกาสได้ไปศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในทะเล ลงดำน้ำจริง สำรวจระบบนิเวศแบบต่าง ๆ ในทะเล เช่น ระบบนิเวศแนวปะการัง ระบบนิเวศป่าชายเลน

         นอกจากยังมีวิชาเทรนการใช้ชีวิตและการทำงานวิจัยบนเรือ (Shipboard Training) เป็นวิชาบังคับภาค จะไปอยู่บนเรือวิจัยหลายวัน เสมือนทำงานออกไปทำงานกลางทะเลจริง จะได้ใช้เครื่องมือปฏิบัติการบนเรือ เก็บตัวอย่างน้ำทะเล ฯลฯ นอกจากนี้สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจจะเรียนดำน้ำแบบ SCUBA ที่ภาควิชามีคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการดำน้ำและเปิดสอนเกี่ยวกับวิชาดำน้ำเบื้องต้น (SCUBA Diving Training) ด้วย สำหรับคนที่ชอบลุย ๆ น้อง ๆ จะได้ออกฟิลด์เกือบทุกภาคเรียนแน่นอน ไม่ว่าจะเรียนแขนงไหนก็ตาม 


Image: facebook.com/MarineCampChulalongkornUniversity


> ถ้าว่ายน้ำไม่เป็นเรียนได้ไหม
        ว่ายน้ำไม่เป็นก็เรียนได้ ในแง่อาชีพก็ยังทำงานเฉพาะบนเรือได้ 

 
Image: facebook.com/MarineCampChulalongkornUniversity
 
> เรียนจบไปทำงานอะไรได้บ้าง

        สามารถทำงานได้หลากหลายองค์กรขึ้นอยู่กับแขนงวิชาที่เรียน เช่น แขนงชีววิทยาทางทะเล ก็สามารถทำงานกรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง งานราชการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล หรือฝั่งเอกชนก็บริษัทเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ หรือทำธุรกิจส่วนตัว เปิดฟาร์มกุ้งต่าง ๆ หรือเป็นครูชีววิทยา หรือถ้าเรียนฝั่งแขนงเคมี ก็ทำงานในบริษัทปิโตรเลียมต่าง ๆ ได้ หรือเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้กับบริษัทและโรงงานต่าง ๆ  เป็นต้น
 
Image: marine.sc.chula.ac.th


         ทางคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สนับสนุนการการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและมีงานวิจัยต่าง ๆ โดยตลอด อย่างตอนนี้ผมกำลังทำงานวิจัยด้านการตอบสนองของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเวลาเครียด เช่น เวลาอุณหภูมิน้ำสูงขึ้นมีผลอย่างไรกับตัวสัตว์ หรือความเค็มเปลี่ยนไป สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผลวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ปรับใช้ในแง่การเพาะพันธุ์เลี้ยงสัตว์ หรือดัชนีวัดผลของภาวะโลกร้อน เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นจะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างไรได้ ซึ่งก็จะได้เป็นองค์ความรู้ที่นิสิตได้เรียนรู้ในแง่มุมต่าง ๆ ไปด้วย 



> ฝากสำหรับน้อง ๆ ม.ปลายที่สนใจสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลนี้ 
           
          ที่คณะมีค่ายแนะแนวชื่อว่า Marine Camp เป็นหนึ่งในค่ายเก่าแก่ที่สุดของจุฬาฯ ปกติจะจัดช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยมีกิจกรรมกันที่จุฬาฯ และออกไปดำน้ำที่ศูนย์วิจัยต่างจังหวัด เป็นค่ายที่เปิดให้มาเรียนรู้มาทำความรู้จักว่าสาขานี้จะได้เรียนอะไรบ้าง เป็นค่ายที่มีคุณค่าและสนุกมาก

            ใจความสุดท้ายที่ อ.อุ้ย ฝากไว้ คือ ให้น้อง ๆ ชาว Dek-D ค้นหาตนเองว่าอยากเรียนอะไร อยากทำอะไร เพื่อให้เรามีเป้าหมาย และจะได้วางแผนการเรียนการสอบของเรา ให้เดินตรงไปที่เป้าหมาย ซึ่งมันทำได้ง่ายกว่าการที่ไม่มีเป้าหมายอะไรเลยค่ะ




เกณฑ์การสมัครคณะวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์ - คณิต
  • TCAS รอบ 1 และรอบ 2 คุณสมบัติเป็นไปตามที่ระเบียบการระบุ 
  • TCAS รอบ 3 ใช้คะแนน GAT/PAT 9 วิชาสามัญ โดยมีกำหนดเกรดเฉลี่ยที่รับ
  • TCAS รอบ 4 ใช้คะแนน เกรดเฉลี่ย ONET และ GAT/PAT โดยมีค่าน้ำหนักคะแนน
ซึ่งเกณฑ์การรับอาจมีการเปลี่ยนแปลง ต้องติดตามระเบียบการของปีที่ตนเองจะสมัครอย่างใกล้ชิดค่ะ 



            เอ้า! วางแผนออนาคตด่วนเลยจ้า และขอฝากวิทยาศาสตร์ทางทะเลไว้ในอ้อมอกอ้อมใจน้อง ๆ ทุกคนด้วยนะคะ ทะเลกว้างใหญ่ยังมีปริศนาท้าทายให้เราออกค้นหาอีกมากมาย เรียนสนุกแน่นอนจ้า 
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากเว็บไซต์ Dek-D.com ขอสงวนสิทธิ์ในการงด โพสต์ข้อความซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน/โฆษณา สินค้าทุกชนิดในเว็บบอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานท่านอื่น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด