วิจัยชี้ยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำ คดีฆ่าและทำร้ายร่างกายยิ่งสูงขึ้น!

          สวัสดีค่ะน้องๆ ถ้าติดตามสถานการณ์ข่าวช่วงนี้จะพบว่าไม่สู้ดีเอาเสียเลย โจรชิงทอง 2 คดีใน 1 วัน มีผู้เสียชีวิต ฯลฯ ข้อมูลสถิติล่าสุดเรื่องการรับแจ้งคดีอาญาของตำรวจก็พบว่าฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ชีวิตร่างกาย และเพศ นำลิ่วมาติดๆ กันเลยค่ะ เพียง 6 เดือนมีจำนวนการรับแจ้งคดีร่วม 4 หมื่นกว่าคดี! มาติดตามสาเหตุแห่งการกระทำความผิดนี้ไปพร้อมกันเลยค่ะ 


 
          สารนิพนธ์เรื่อง “สาเหตุแห่งการกระทำผิดคดีฆ่าผู้อื่น : กรณีศึกษาเรือนจำกลางคลองเปรม ของคุณนันทพร หลวงกิจจา” ได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาชญากรรมไว้ว่า อาชญากรรมเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องมาจากปัญหาในสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยภัยร้ายที่กระทบกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ล้วนแล้วมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไร้ความเป็นระเบียบ สำหรับสาเหตุของพฤติกรรมอาชญากรรมในทางอาชญวิทยามีการศึกษาอยู่ 3 แนวทาง คือ

          1. มนุษย์เป็นผู้เลือกก่ออาชญากรรมด้วยตนเอง = มีความคิด มีเหตุผล และตัดสินใจในการเลือกก่ออาชญากรรมด้วยตัวเอง โดยไม่มีใครบังคับทั้งจากภายนอกและภายใน
          2. พฤติกรรมอาชญากรรม = พฤติกรรมที่เกิดจากแรงกระตุ้นอันไม่สามารถควบคุมได้ โดยมาจากปัจจัยทางกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมขับเน้นให้มีพฤติกรรมอาชญากรรม
          3. กฎหมายกำหนดรูปแบบและพฤติกรรมอาชญากรรม = กฎหมายของสังคมมีส่วนกำหนดพฤติกรรมอาชญากร เช่น การกล้ากระทำความผิดอุจฉกรรจ์เกิดจากการลงโทษทางกฎหมายที่เบาเกินไป 

          จากกรณีศึกษาเรือนจำกลางคลองเปรมพบว่าสาเหตุในการกระทำความผิดรองจากการเป็นผู้กระทำผิดเอง มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจคือผู้กระทำผิดจะต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดตกอยู่ในภาวะผู้นำอาจเกิดสภาวะเครียดทางอารมณ์ เมื่อเกิดแรงกระตุ้นจึงลงมือกระทำความผิดด้วยการปล้นทรัพย์รวมถึงใช้กำลังประทุษร้ายในบางราย


 
          งานดังกล่าวยังสัมพันธ์กับการศึกษาปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำหนดการเกิดอาชญากรรมในไทยด้วย ในการศึกษาเกี่ยวกับอาชญากรรมในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์พบว่า การว่างงานมีบทบาทในการกำหนดการก่ออาชญากรรม เนื่องจากการที่บุคคลว่างงาน ขาดการรับรายได้รวมที่มาจากการทำงานสุจริต บุคคลนั้นจะจัดสรรเวลาไปใช้ในการก่ออาชญากรรมเพื่อหารายได้มาทดแทนมากขึ้น จึงเห็นได้ว่าภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อการก่ออาชญากรรมโดยตรง

          ในช่วงที่เศรษฐกิจดีขึ้น อัตราการว่างงานลดลง และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ประชาชนส่วนหนึ่งจะมีโอกาสหันหน้าเข้าหาแหล่งบันเทิงเริงรมย์มากขึ้นเนื่องจากมีรายได้สูงขึ้นในการจับจ่ายใช้สอยสิ่งฟุ่มเฟือย ดคีเกี่ยวกับอบายมุข การเข้าบ่อนพนัน การค้าประเวณี การเที่ยวกลางคืนจะเพิ่มมากขึ้น แต่คดีฆาตกรรม ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย และคดีข่มขืนกระทำชำเราจะลดลง 
 

          ตรงกันข้ามกับช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบันที่อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นกว่าทุกปี เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและร่างกายของประชาชนมากขึ้น เนื่องจากคดีลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และทำร้ายร่างกายยิ่งทวีสูงขึ้น หากสำรวจจากรายงานสถิติผู้ต้องขังราชทัณฑ์ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 15 ม.ค. 63 มีจำนวนผู้ต้องขังชาย 324,409 ราย ผู้ต้องขังหญิง 47,623 ราย รวมทั้งหมด 372,032 ราย จะพบว่าฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ยังคงปริมาณมากที่สุดรองจากฐานความผิดด้านยาเสพติด และความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกายก็ตามมาติดๆ  

          นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ ทำให้เราเรียนรู้ที่จะปรับตัว และรับมือกับสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ได้ถูกจุดนะคะ 

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://tdc.thailis.or.th/tdc/browse.php
https://research.ku.ac.th/forest/Project
www.correct.go.th/stathomepage/
 
 
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด