อยากเรียนเก่ง อยากสอบติด ทำได้! แค่ตั้งเป้าด้วยทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวก Hope Theory

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ทำให้เราพลาดโอกาสในการทำสิ่งใหม่ๆ เช่น เดินทางไปเที่ยวหาแรงบันดาลใจ หรือแม้กระทั่งพลาดโอกาสในการทำเป้าหมายของเราให้สำเร็จ เพราะในสถานการณ์นี้ ต้องเรียนออนไลน์หลายเดือนติดต่อกัน แถมไม่ได้ออกไปข้างนอกบ้านเป็นเวลานาน ทำให้หลายครั้งเราถอดใจจากสิ่งที่อยากจะทำให้สำเร็จ มีน้องๆ คนไหนเคยเป็นแบบนี้กันบ้างไหมคะ?

และในวันนี้พี่นุกนิกจึงอยากจะพาน้องๆ ไปรู้จักกับ "Hope Theory (ทฤษฎีแห่งความหวัง)" ที่จะมาช่วยให้น้องๆ สามารถทำตามเป้าหมายในชีวิตให้สำเร็จกันค่ะ ว่าแต่ "Hope Theory" คืออะไร? และจะช่วยทำเป้าหมายสำเร็จได้จริงๆ เหรอ? ในวันนี้พี่นุกนิกจึงอยากจะพาน้องๆ ทุกคนไปทำความรู้จักกับ "Hope Theory" กันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลย เย้!

"ทำเป้าหมายในชีวิต เช่น สอบติดให้สำเร็จได้อย่างไร?" ด้วยจิตวิทยาเชิงบวก Hope Theory

ความหวัง (Hope) หมายถึง แรงจูงใจในแง่บวกที่ทำให้เรารู้สึกว่า ตัวเองจะประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งเกิดจากการที่เรามีความตั้งใจมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย และมีแนวทางเพื่อนำตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจ น้องๆ จะเห็นว่า ก่อนที่เราจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่เรารักหรือเราต้องการ เราต้องมีสิ่งแรกก่อน นั่นก็คือ ความหวัง เพราะความหวังถือเป็นหนึ่งแรงจูงใจที่จะทำให้น้องๆ สามารถวางแผนเพื่อพิชิตเป้าหมายของตัวเองได้สำเร็จค่ะ

Hope Theory คืออะไร

Hope Theory (ทฤษฎีความหวัง) คือ หนึ่งในทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวกของ Mark Snyder                       นักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก ชาวอเมริกา ที่ได้รับชื่อเสียงจากระดับนานาชาติด้วยงานด้านจิตวิทยาคลินิก สังคม บุคลิกภาพ และสุขภาพ ซึ่งตามทฤษฎีของ Snyder กล่าวไว้ว่า "ความหวังคือสิ่งสำคัญเหมือนกับโครงสร้างที่แข็งแรงคอยค้ำจุนเรา" ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่

  • Goals Thinking 
    การกำหนดเป้าหมายของเราหรือสิ่งที่เราอยากจะทำให้สำเร็จให้ชัดเจน เช่น เราต้องการสอบติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในปี 2566
  • Pathways Thinking 
    ความสามารถในการสร้างและพัฒนากลยุทธ์ของเรา เพื่อให้เราสามารถพิชิตเป้าหมายสำเร็จ โดยหากน้องๆ ต้องการสอบติด  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ขาดไม่ได้คือ น้องๆ ต้องคิดหนทางและวางแผนที่จะทำให้ตัวเองสำเร็จ เช่น การวางแผนอ่านหนังสือทุกวัน วันละ 5-6 ชั่วโมง โดยอ่านแบบเน้นการใช้สีเพิ่มความจำ และฝึกทำข้อสอบปีเก่าๆ ทุกวันด้วยการจับเวลา เหมือนกับการสอบจริง เป็นต้น
  • Agency Thinking 
    ความสามารถในการเริ่มต้นและรักษาแรงจูงใจที่เป็นแง่บวก ในการใช้กลยุทธ์ที่เราได้สร้างและพัฒนาขึ้น เพื่อให้เป้าหมายของเราสำเร็จ หรือเพื่อไม่ให้เกิดความย่อท้อนั่นเองค่ะ
"Hope Theory" จะช่วยเราพิชิตเป้าหมายได้
"Hope Theory" จะช่วยเราพิชิตเป้าหมายได้

แล้วเราจะทำเป้าหมายให้สำเร็จ ด้วย Hope Theory ได้อย่างไร

หลังจากที่น้องๆ ได้รู้จักกับ Hope Theory ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  พอจะนึกภาพออกกันแล้วใช่ไหมคะ แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะคะ เพราะพี่นุกนิกจะมาช่วย list รายการออกเป็นข้อๆ ให้น้องๆ ว่า Hope Theory จะช่วยให้เราทำเป้าหมายให้สำเร็จได้อย่างไร! ไปดูกันเลย

  1. กำหนดเป้าหมายที่อยากจะทำให้สำเร็จให้ชัดเจนก่อน ซึ่งต้องกำหนดว่า เราจะทำอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ และจะได้ผลยังไง เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางและวางแผนต่อไปในอนาคต 
     
  2. สร้างและพัฒนากลยุทธ์ในการลงมือสิ่งนั้น เพื่อช่วยให้การวางแผนในการทำมีประสิทธิภาพและสามารถนำเราไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ โดยหากน้องๆ ไม่วางแผนพัฒนากลยุทธ์ของเรา เป้าหมายของเราก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ หรือถ้ากลยุทธ์ที่เราวางแผน ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ เราก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาต่อไปได้ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น
     
  3. รักษาแรงจูงใจในแง่บวกที่เป็นความมุ่งมั่นของเราอยู่เสมอ เพื่อให้เราไม่เกิดความย่อท้อ หรือยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่เจอง่ายๆ เพราะไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ๆ ใช่ไหมคะ ถ้าหากระหว่างทาง เราเจออุปสรรคและเกิดยอมแพ้ขึ้นมา เป้าหมายของเราก็ไม่สามารถสำเร็จได้นะคะ

 

ก็จบลงไปแล้วนะคะกับการทำความรู้จักกับ Hope Theory น้องๆ อย่าลืมนำไปปรับใช้ในการพิชิตเป้าหมายของตัวเองกันนะคะ ได้ผลยังไง อย่าลืมมาแชร์กันนะ ><

ขอบคุณข้อมูลจากElaine Houston. (2020). What is Hope in Psychology + 7 Exercises & Worksheets. Retrieved [insert date] from Positive Psychology: https://positivepsychology.com/hope-therapy/  Mulder, P. (2019). Snyder’s Hope theory. Retrieved [insert date] from toolshero: https://www.toolshero.com/personal-development/snyders-hope-theory/  พัช พชรเสฐียร, ดุษฎี โยเหลา. (2563). การทดสอบทฤษฎีบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบและทุนจิตวิทยาเชิงบวกที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการให้บริการของพนักงานโรงแรมและคู่มือการพัฒนาพฤติกรรม. วารสารวิทยาลัยดุสิตธานี, 14(2), 616
พี่นุกนิก
พี่นุกนิก - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด