สวัสดีชาว Dek-d ที่น่ารักทุกคนค่ะ หลายคนอาจเคยได้ยินคำพูดนี้มาบ้าง “เรียนออนไลน์ สบายจะตาย” ฟังแล้วอยากจะร้องแหมยาวๆ รอบโลก (ลองไหม ลองมาเรียนรู้กัน) อย่าคิดว่าเรียนอยู่บ้านแล้วครูจะปรานีนะคะ ไม่มีเลย! เรียนแน่น สอบหนัก งานมาเต็มจนอยากไปแข่งนั่งเหม่อ  

เข้าใจว่า “Burnout syndrome - ภาวะหมดไฟ” ต้องแวะมาทักทายน้องๆ บ้างแน่นอน วันนี้เรามาทำความรู้จักอาการเหล่านี้ และมาปลุกไฟในตัวให้ลุกโชนกันค่ะ        

มารู้จักอาการ Burnout syndrome กันเถอะ
มารู้จักอาการ Burnout syndrome กันเถอะ

นี่แหละเรียกว่า “หมดไฟ”

ภาวะหมดไฟ (Burnout syndrome) เป็นความอ่อนล้าทางอารมณ์ จิตใจ และร่างกายจากการที่เราต้องเผชิญหน้ากับปริมาณงานที่หนักและเครียดติดต่อกันเป็นเวลานาน ลักษณะที่เข้าข่ายงานตัวร้าย เช่น

  • งานมาก งานหนัก งานซับซ้อนที่ต้องทำให้เสร็จในเวลาเร่งด่วน
  • งานที่เราไม่มีอำนาจตัดสินใจ
  • งานที่ทำให้เกิดปัญหาในการจัดเรียงลำดับความสำคัญ
  • งานที่ไม่คุ้มค่ากับความทุ่มเทและลงแรงไป
  • งานกลุ่มที่ทำให้เราไร้ตัวตนในการทำงานหรือทำให้รู้สึกว่าเราไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม

โดยภาวะเริ่มแรกจะเกิดขึ้นเมื่อน้องๆ รู้สึกว่าตัวเองรับมือกับงานต่างๆ ไม่ไหวอีกต่อไป จนอยากจะเท! เท!! เททุกอย่าง!!!

สำรวจอาการหมดไฟ

ภาวะหมดไฟจะแสดงอาการที่ผิดปกติออกมาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ส่วนใหญ่คนที่มีโอกาสหมดไฟง่ายจะเป็นคนที่ค่อนข้างเข้มงวดและจริงจังกับการทำงาน ประมาณว่างานทุกชิ้นต้องเพอร์เฟคท์ แม้อยู่ในเวลาที่จำกัด พอเจองานที่หนักและล้นมือมากเลยรู้สึกไม่ได้ดั่งใจ ยิ่งเครียดขึ้นไปอีก ซึ่งเบื้องต้นน้องๆ สามารถสำรวจตัวเองได้ง่ายๆ ว่ามีอาการเหล่านี้บ้างหรือเปล่า

  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง
  • ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ
  • นอนไม่หลับ
  • หดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง รู้สึกว่าตนไร้คุณค่า ไร้ความสามารถ
  • หงุดหงิด โมโหง่าย
  • เมินงาน ปฏิเสธการทำงาน
  • ไม่อยากยุ่งกับผู้อื่นๆ อยากแยกตัวอยู่คนเดียว

ถ้ามีอาการเหล่านี้แบบถูกทุกข้อ อย่ารีรอที่จะทำแบบประเมินภาวะหมดไฟในการทำงานเพื่อเช็กว่าตัวเองมีภาวะนี้รึเปล่านะคะ เพราะอาการหมดไฟเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุบปับ แต่ว่ามันจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาเป็นระยะๆ ถ้ารู้ตั้งแต่เนิ่นๆ เรายังพอแก้ไขได้ทัน แต่ถ้าปล่อยไว้นานไปจะทำให้เรามีภาวะเครียดรุนแรงขึ้นและเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่ะ  

ทริคปลุกพลังไฟในตัวคุณ!  

ไม่ต้องกลัวว่าเริ่มหมดไฟแล้วไฟจะค่อยๆ มอดจนดับลง จงจำไว้ว่าเราสามารถ “เติมไฟ” ได้เสมอค่ะ  

1. เอา “ความสนุก” กลบ “ความเครียด” ใครๆ ก็เครียดได้ แต่พอเริ่มรู้ตัวว่าเครียดปุบ ต้องวางมันลง แล้วไปทำอย่างอื่นที่ชอบ เช่น กินของอร่อย ดูหนังสนุกๆ ออกกำลังกาย เล่นเกม ฯลฯ เติมพลังเต็มที่แล้วค่อยกลับมาลุยต่อ  

2. ปรับความคิด เช่น เรา “สมบูรณ์แบบ” ได้ในความ “ไม่สมบูรณ์แบบ” ถ้าเป็นงานเร่งมาก ครูขอใหญ่ๆ ในเวลาจำกัด ก็ทำให้เต็มที่ที่สุดเท่าเวลาที่มี แต่ไม่ต้องกดดัน เราสามารถปรับโต๊ะทำการบ้านให้เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีได้ ด้วยการแปะข้อความเติมกำลังใจหรือแปะรูปไอดอลที่สร้างแรงบันดาลใจด้านบวกไว้ปลุกไฟให้ตัวเอง เช่น เตนล์ WayV เคยบอกว่า “เราต้องรู้ตัวเองด้วยว่าทำถูกหรือยัง ไม่ใช่ว่าจะหักโหมตัวเองเกินไป ดังนั้น ผมว่าเราค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ น่าจะเป็นอะไรที่ดีที่สุด”

3. นอน 7-9 ชั่วโมงต่อวัน การนอนที่เพียงพอช่วยแก้ปัญหาเรื่องหมดไฟและพัฒนาสมองส่วนความคิดความจำได้ แม้แต่การงีบหลับในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ทำให้น้องๆ ได้พักสมองจากการหมกมุ่นเรื่องงานและช่วยลดความเครียดได้ด้วย

4. ฝึกลำดับความสำคัญของงาน ลดงานบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องลงแรงพร้อมกัน เช่น ใช้เวลาทำงานสำคัญและเร่งด่วนก่อน อาจจะเป็นงานที่คะแนนเยอะ ส่งใน 1-3 วัน ส่วนงานที่ก็สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เช่น อ่านหนังสือเตรียมสอบ เก็บผลงานแข่งขัน ก็อาจจะจัดตารางแทรกอ่านระหว่างวันหรือรอทำหลังจากงานด่วนผ่านไปแล้วก็ได้

การจัดตารางยังทำให้มองเห็นงานเป็นชิ้นเป็นอันว่ามีงานอะไรบ้าง งานไหนไม่สำคัญ ไม่จำเป็น เทได้ก็เทเลย เป็นการลด workload น้องจะมีแรงทำงานอย่างต่อเนื่องและแก้ภาวะหมดไฟได้ดีด้วยค่ะ    

ถ้าน้องๆ มีความคิดว่า “งานของเราต้องดีที่สุด!” ดีที่สุดของเรากับดีที่สุดของครู บางทีอาจจะไม่ตรงกัน บางงานเราลงแรงหนักมาก คิดว่าดีแน่นอน ผลลัพธ์กลับออกมาไม่ดี บางงานใช้แรงน้อยมาก แต่ผลออกมาดีเกินคาด ดังนั้น แค่งานก็หนักพออยู่แล้ว อย่ากดดันตัวเอง อย่าแบกทุกอย่างไว้บนบ่า อยากจะเทก็เทไปก่อนในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อเติมไฟเต็มที่ก็ค่อยกลับมาลุยงานต่อ ภาวะหมดไฟจะอยู่กับเราได้ไม่นานค่ะ    

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://he02.tci-thaijo.org/index.php/rtafmg/article/download/246394/167520/
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด