ระบบเรียนแบบ Track 'กรุงเทพคริสเตียน' รูปแบบการเรียนที่ช่วยให้เด็กค้นหาตัวเอง สู่คณะที่ชอบ อนาคตที่ใช่

ระบบเรียนแบบ Track 'กรุงเทพคริสเตียน' รูปแบบการเรียนที่ช่วยให้เด็กค้นหาตัวเอง สู่คณะที่ชอบ อนาคตที่ใช่

ปัจจุบันการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนระบบเพื่อให้นักเรียนลดความเครียดจากการสอบแข่งขัน โดยเฉพาะ “การยื่น Portfolio” ที่ช่วยให้นักเรียนค้นพบตัวเองและทำผลงานเพื่อเข้าคณะที่ต้องการได้เร็วขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพบปัญหาที่เด็กบางส่วนไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเป็นอะไร และอยากทำอาชีพอะไรในอนาคต สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบการสอนในโรงเรียนที่ไม่ได้กระตุ้นให้เด็กค้นหาตัวเองอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ "โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย" จึงปรับหลักสูตรการเรียนระดับชั้นมัธยมปลายเป็น "รูปแบบ Track การเรียนที่อ้างอิงตามสาขาวิชาในระดับมหาวิทยาลัย" เพื่อให้นักเรียนได้ค้นพบตัวเองและสร้างผลงาน Portfolio ที่เพียงพอต่อการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก

ระบบเรียนแบบ Track กรุงเทพคริสเตียนรูปแบบการเรียนที่ช่วยให้เด็กค้นหาตัวเอง สู่คณะที่ชอบ อนาคตที่ใช่
ระบบเรียนแบบ Track กรุงเทพคริสเตียนรูปแบบการเรียนที่ช่วยให้เด็กค้นหาตัวเอง สู่คณะที่ชอบ อนาคตที่ใช่

สำหรับที่มาและจุดมุ่งหมายสำคัญของการเรียนแบบ “Track” นั้น “อ.วศวิศว์ ปุณณะสุขขีรมณ์” หัวหน้าฝ่ายวิชาการมัธยมศึกษา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้ให้เกียรติมาเล่าถึงกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียน ให้แก่คอลัมน์ Next Ed : การศึกษาเพื่อโลกยุคหน้า ของ Dek-D ฟังดังนี้

ระบบ Track เพื่อการค้นหาตัวเองและได้เรียนในสิ่งที่ชอบ

เมื่อ 11 ปีที่แล้ว โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยมีการปรับหลักสูตรใหม่ จากหลักสูตรเดิมที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดมา ประกอบด้วย กลุ่มวิชาพื้นฐานและกลุ่มวิชาสาระเพิ่มเติม ซึ่งกลุ่มวิชาสาระเพิ่มเติมนั้นสถานศึกษาสามารถบริหารจัดการเองได้ ด้วยความที่ทางโรงเรียนต้องการให้นักเรียนมีโอกาสได้เลือกเรียนวิชาที่อยู่ในความสนใจ จึงเริ่มปรับวิชาสาระเพิ่มเติมเป็น “ตลาดวิชา” ที่มีวิชาสาระเพิ่มเติมให้เลือกเรียนมากกว่า 60 วิชา ต่อมามีการสำรวจข้อมูลความสนใจของนักเรียนเพิ่มเติม ประกอบกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย TCAS ที่มีการให้ยื่น Portfolio ทางโรงเรียนจึงเล็งเห็นว่า “นักเรียน ม.ปลาย ควรมี Portfolio ที่แข็งแรงพอสำหรับยื่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย” จึงมีการปรับหลักสูตรกันอีกครั้งโดยเปลี่ยนเป็นระบบ “Track การเรียน” และเปิดสอนอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2562  

ระบบ Track การเรียนทำโดยจัดกลุ่มสาขาวิชาแบบมหาวิทยาลัย โดยมีการวางแผนเตรียมการปรับเปลี่ยนจากตลาดวิชาแบบเดิมประมาณ 1 ปี ในระยะแรกนั้นได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหลายมหาวิทยาลัยที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ทั้งในด้านของอาจารย์ผู้สอน (อาจารย์พิเศษ) การจัดอบรมให้แก่ครูในโรงเรียน การให้คำแนะนำในการจัดเตรียมอุปกรณ์การเรียน รวมถึงมอบโควตาให้นักเรียนอีกด้วย ซึ่ง 15 Track ของโรงเรียนมีดังนี้

  1. Track แพทย์ศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์
  2. Track วิศวกรรมชีวการแพทย์
  3. Track วิศวกรรมศาสตร์
  4. Track วิศวกรรมศาสตร์การบินและอากาศยาน
  5. Track วิศวกรรมหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์
  6. Track วิทยาศาสตร์
  7. Track สถาปัตยกรรมศาสตร์
  8. Track บริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
  9. Track สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์
  10. Track ศิลปกรรมศาสตร์ จิตรกรรม ประติมากรรม
  11. Track อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์
  12. Track นิเทศศาสตร์ ภาพยนตร์ และสื่อดิจิทัล
  13. Track ศิลปะการประกอบอาหาร
  14. Track ดุริยางคศิลป์
  15. Track พลศึกษา

การเรียนระบบ Track นั้น นักเรียนชั้นมัธยมปลายทุกคนจะต้องเลือก 1 Track โดยกำหนดให้เรียนวิชา Track จำนวน 3 วิชาใน 1 ภาคเรียนควบคู่ไปกับการเรียนวิชาพื้นฐาน โดยมีการวัดผลเป็นเกรดเช่นเดียวกัน และสามารถเปลี่ยน Track ได้ 2 ครั้ง ภายใน ม.5 เทอม 1 เพื่อไม่ให้กระทบกับการสร้าง Portfolio

นักเรียนกว่า 80% ค้นพบตัวตนที่ใช่ และสอบติดคณะที่ชอบ

ก่อนที่นักเรียนจะเริ่มเลือก Track การเรียนในระดับชั้น ม.4 นักเรียนทุกคนจะได้รับการปรึกษาจากครูแนะแนวเป็นรายบุคคล เพื่อสอบถามถึงความสนใจในการเรียนต่อและการประกอบอาชีพ หลังจากเลือก Track การเรียนตามความสนใจได้แล้ว นักเรียนจะเริ่มเรียนวิชา Track ทันที ยกเว้น Track วิชาสายวิทย์ฯ ที่จะเริ่มเรียนวิชา Track ในระดับชั้น ม.5 เนื่องจากต้องเรียนวิชาพื้นฐานสายวิทย์ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ก่อน และยังมีบาง Track ที่มี Sub Track แยกไปอีก เช่น Track สังคมศาสตร์ ที่เรียนร่วมกันก่อนจะแยกเป็น Sub Track รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์  

หากนักเรียนเริ่มค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบหรือถนัดใน Track นั้นและต้องการเปลี่ยน Track นักเรียนจะได้รับคำปรึกษาจากครูแนะแนวอีกครั้ง ซึ่งการเปลี่ยน Track ระหว่างเรียนนี้จะต่างกับการซิ่วในระดับมหาวิทยาลัย คือทำได้ง่ายกว่าและไม่มีผลกับผลการเรียน แต่เป็นโอกาสที่จะได้เปลี่ยนไปค้นหาสิ่งที่ชอบจริงๆ โดยจากสถิติการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ผ่านมาพบว่า เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยตรง Track ที่เลือกเรียนมากถึง 80% เรียกได้ว่าการค้นหาตัวเองจากระบบการเรียนนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ตัวอย่างนักเรียนผู้ค้นพบตัวตนจากระบบ Track

ตลอดระยะเวลา 3 ปีในระดับชั้น ม.ปลาย กับการเรียนระบบ Track ไม่เพียงทำให้พวกเขาค้นพบตัวเองและมีเป้าหมายที่แน่ชัดเท่านั้น แต่พวกเขายังมีโอกาสได้ค้นพบศักยภาพตัวเองมากยิ่งขึ้นจากการทำโครงงานหรือผลงานเพื่อใช้ใน Portfolio อีกด้วย ตัวอย่างเช่น  

“น้องฟิน - สิรภพ ตั้งวรเกษม”  ตัวแทนนักเรียนจาก Track บริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
“น้องฟิน - สิรภพ ตั้งวรเกษม”  ตัวแทนนักเรียนจาก Track บริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์

“น้องฟิน - สิรภพ ตั้งวรเกษม” ที่สนใจและทำโครงงานวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ ม.ต้น ซึ่งก็ทำได้ดีและชนะรางวัลมากมาย เป้าหมายของการเรียน ม.ปลายจึงเลือกเรียน Track วิศวกรรมชีวการแพทย์ แต่เมื่อมีโอกาสได้ค้นหาตัวเองในกิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น เขียนเรียงความด้านเศรษฐศาสตร์ แข่งโครงงานธุรกิจของต่างประเทศ จึงพบว่าตนเองสนใจด้านบริหารเช่นกัน จึงเปลี่ยนจาก Track วิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็น Track บริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ปัจจุบันสามารถยื่น Portfolio เข้ามหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกาได้แล้ว

โดยน้องฟินบอกว่า “การเรียนรู้วิชาต่างๆ ในสาขาที่อยากเรียนตั้งแต่ในระดับมัธยมศึกษา ทำให้ได้เตรียมความพร้อมที่จะไปเจอของจริง อย่างน้อยได้รู้ว่าจะไปเจอกับอะไร ต้องเรียนแบบไหน เพราะพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะนำไปต่อยอดได้”

“น้องโฟล์ค - สิทธินาถ เถลิงโรจนะกุล” ตัวแทนนักเรียนจาก Track วิศวกรรมศาสตร์ทั่วไป
“น้องโฟล์ค - สิทธินาถ เถลิงโรจนะกุล” ตัวแทนนักเรียนจาก Track วิศวกรรมศาสตร์ทั่วไป

“น้องโฟล์ค - สิทธินาถ เถลิงโรจนะกุล” จาก Track วิศวกรรมศาสตร์ทั่วไป เล่าถึงประโยชน์ของการเรียน Track และทำโครงงาน เพื่อเป็น Portfolio ไว้อย่างน่าสนใจว่า  “การได้ทำโครงงานตั้งแต่มัธยม เมื่อเข้าไปในระดับอุดมศึกษาจะทำให้การทำโครงงานเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น เพราะเรารู้วิธีคิดและขั้นตอนการทำแล้ว”

“น้องปูรณ์ - ปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น” ตัวแทนนักเรียนจาก Track วิศวกรรมชีวการแพทย์
“น้องปูรณ์ - ปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น” ตัวแทนนักเรียนจาก Track วิศวกรรมชีวการแพทย์

เมื่อถามว่าเรียนแบบนี้หนักขึ้นไหม การบ้านเพิ่มขึ้นหรือเปล่า “น้องปูรณ์ - ปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น” จาก Track วิศวกรรมชีวการแพทย์ ให้คำตอบว่า “ทุกๆ วิชามีการบ้านอยู่แล้วโดยเฉพาะวิชาพื้นฐาน แต่เมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ต่างโรงเรียนคิดว่าน้อยกว่า เพราะที่นี่จะเน้นความเข้าใจของเด็กและการนำไปใช้จริงมากกว่า ส่วนวิชาสาระเพิ่มเติมส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นงานที่เป็นผลงาน วัดคะแนนจากผลงานที่เราสร้างตามสายการเรียนนั้น เช่น สิ่งประดิษฐ์ โครงงาน ซึ่งสามารถนำไปเป็น Portfolio ได้ด้วย”

 “น้องตุลย์ - ธรวรัญย์ สุวรรณชีพ” ตัวแทนนักเรียนจาก Track นิเทศศาสตร์ ภาพยนตร์ และสื่อดิจิทัล
 “น้องตุลย์ - ธรวรัญย์ สุวรรณชีพ” ตัวแทนนักเรียนจาก Track นิเทศศาสตร์ ภาพยนตร์ และสื่อดิจิทัล

นอกจากนี้ “น้องตุลย์ - ธรวรัญย์ สุวรรณชีพ” จาก Track นิเทศศาสตร์ ภาพยนตร์ และสื่อดิจิทัล ก็เสริมว่า “การเรียนแบบ Track ไม่ได้จบแค่ในชั้นเรียน เวลาเรียนจะมีอาจารย์พิเศษ ซึ่งเราสามารถขอคำปรึกษาแนะนำเขาได้ตลอด ทั้งการพูดคุยเรื่องที่เราสนใจ และการได้ใช้องค์ความรู้ที่อาจารย์มีมาใช้การปรับแก้ Portfolio ของเราให้ดียิ่งขึ้น”

ค้นหาตัวเองผ่าน Track เพิ่มทักษะชีวิตผ่านกิจกรรม

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยมีแนวคิดว่า “การเรียนในชั้นเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการสร้างทักษะชีวิตให้เด็ก” ทำให้โรงเรียนมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น กีฬาสี จตุรมิตร Open House ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กได้รับทักษะการทำงานเพิ่มเติม เด็กบางคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองมีศักยภาพอะไรบ้าง และเขาก็จะได้ค้นพบความสามารถตัวเองจากกิจกรรมเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ ผลการเรียนของพวกเขายังบ่งบอกได้ว่าพวกเขาเคยผ่านกิจกรรมอะไรมาบ้าง ซึ่งเป็นผลดีกับพวกเขาเองในอนาคต เพราะชีวิต ม.ปลาย ไม่ได้มีแค่การเรียนในห้องเรียนเท่านั้น

เรียกได้ว่าที่นี่บ่มเพาะนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมเป็น รู้วิธีการ และจัดการระบบความคิด รวมถึงได้เรียนรู้และลงมือทำงานจริงๆ เช่น งานวันเกิดโรงเรียนที่นักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมอย่างมาก หรืออย่างละครเวทีที่ได้ใช้องค์ความรู้จากหลายฝ่ายร่วมกัน เช่น Track นิเทศฯ จัดทำละครเวที Track สถาปัตย์และวิศวะมาช่วยทำฉากละครเวทีและเล่นดนตรีประกอบ เป็นต้น ทำให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนการทำงานร่วมกัน และแก้ปัญหาร่วมกันด้วย

บรรยากาศการทำกิจกรรมของนักเรียน โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
บรรยากาศการทำกิจกรรมของนักเรียน โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

ผู้ปกครองให้การสนับสนุนทุกการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก

การที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยที่ฉีกไปจากกฎเกณฑ์เดิมๆ ก็นับเป็นเรื่องแปลกใหม่ในแวดวงการศึกษาแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นผลตอบรับจากผู้ปกครองก็เป็นไปในเชิงบวกเสมอ นอกจากร่วมให้ความเห็นเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขแล้ว ทางโรงเรียนยังได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายผู้ปกครองเรื่องสถานที่ฝึกงานจากผู้ประกอบการจริง รวมถึงแนะนำคอร์สฝึกอบรมต่างๆ สำหรับเด็กนักเรียนอีกด้วย  

เรียกได้ว่านับตั้งแต่เปิดการเรียนระบบ Track ขึ้นมา ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกับโรงเรียนอย่างมาก ทั้งการได้ใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น ได้โฟกัสเป้าหมายการเรียนต่อร่วมกันทั้งครอบครัวและโรงเรียน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือความสำเร็จของเด็กนักเรียนนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น Track แพทย์ฯ  ซึ่งทางโรงเรียนเคยได้รับคำติชมจากผู้ครองว่าเนื้อหาดูอ่อนไปเมื่อเทียบกับ Track อื่น ทางโรงเรียนไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ด้วยความที่สายการเรียนแพทย์นั้นต้องเน้นการปฏิบัติจริงเป็นหลัก และเนื่องจากเป็นวิชาการเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพและชีวิตมนุษย์ จึงมีข้อจำกัดในการลงมือทดลองเรียนรู้จากของจริง เมื่อนำเด็กไปเรียนรู้ภายนอกหรือฝึกงานได้ยาก ก็เห็นว่าควรนำความรู้เข้ามาสู่เด็กที่โรงเรียนอีกทางหนึ่ง จึงมีการเตรียมเพิ่มคอร์สฝึกอบรมและเสริมทักษะเพิ่มเติมให้อีก  

ประถม - ม.ต้น - ม.ปลาย เชื่อมต่อกันเป็นแผ่นเดียว

ระดับชั้นประถมของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยมีหลักสูตรที่เรียกว่า Multiple Intelligence Program (MIP) เด็กจะได้ค้นหาตัวเองในระดับหนึ่ง เมื่อถึงระดับมัธยมต้นซึ่งเป็นระดับการศึกษาภาคบังคับจึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนหลักสูตรได้มากนัก แต่โรงเรียนก็พยายามเสริมให้ค้นหาตัวเองเพื่อเตรียมตัวสู่การเลือก Track ในระดับมัธยมปลายด้วย โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครองทราบว่า การเรียนในระดับมัธยมปลายเป็นอย่างไร เรียนอย่างไร ซึ่งผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่นี่เกือบ 100% ไม่มีการบังคับลูก พวกเขาจะเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกสิ่งที่ชอบ โรงเรียนมีหน้าที่สื่อสารทั้งกับผู้ปกครองและเด็กนักเรียนเพื่อให้เห็นภาพเดียวกัน และสนับสนุนให้เด็กนักเรียนมีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ ด้วยการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ตลอดจนศูนย์การเรียนรู้ที่มีอุปกรณ์การเรียนเทียบเท่ากับห้องแล็ปในระดับอุดมศึกษา

ความสุขที่ยั่งยืน คือการได้ค้นพบตัวเอง และบรรลุความฝัน

สุดท้ายนี้ อาจารย์ทั้งสองท่านที่อยู่เบื้องหลังการเรียนระบบ Track และเป็นผู้ผลักดันนักเรียนให้บรรลุความฝันมาแล้วมากมาย ยังได้ฝากข้อคิดไว้ให้ชาว Dek-D.com อีกด้วย

อ.วศวิศว์ ปุณณะสุขขีรมณ์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการมัธยมศึกษา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
อ.วศวิศว์ ปุณณะสุขขีรมณ์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการมัธยมศึกษา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

อ.วศวิศว์ ปุณณะสุขขีรมณ์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการมัธยมศึกษา ให้คำแนะนำว่า ต้องถามตัวเองและคุยกับตัวเองมากๆ ว่ามองตัวเองในอนาคตอย่างไร อยากประกอบอาชีพอะไร มีความชอบอะไร ความชอบนั้นสามารถนำไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง มีฝันอะไร และต้องไม่ละทิ้งความฝันนั้น ต้องพยายามต่อสู้เพื่อทำให้ความฝันเป็นจริงให้ได้ ผมไม่เชื่อว่าการเดินคนเดียวจะทำให้ความฝันสำเร็จได้ มันต้องมีผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือโรงเรียน ดังนั้นต้องเคลียร์สถาบันที่แนบแน่นกับนักเรียนมากที่สุดก่อน นั่นก็คือสถาบันครอบครัว ครอบครัวต้องเป็นผู้สนับสนุนที่ดีของเด็ก โรงเรียนก็ต้องเป็นสถานที่ที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย และเป็นตัวช่วยที่ทำให้ความฝันของเด็กบรรลุ โรงเรียนห้ามปิดกั้นความฝันของเด็ก เขาอยากทำอะไรมาคุยกัน เราต้องสนับสนุน หากมีข้อจำกัดเราต้องอธิบายได้ และต้องเป็นผู้ช่วยเหลือที่หาหนทางอื่นต่อไป สุดท้ายถ้าตัวนักเรียน ครอบครัว โรงเรียน และสังคมรอบข้างเดินไปด้วยกันแล้ว เด็กก็จะบรรลุความฝันได้อย่างมีความสุขที่ยั่งยืน ตรงตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย”

อ.วราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและมาตรฐานคุณภาพ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการและผู้จัดการ
อ.วราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและมาตรฐานคุณภาพ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการและผู้จัดการ

อ.วราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและมาตรฐานคุณภาพ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการและผู้จัดการ ให้ข้อคิดสั้นๆ ว่า “ขออนุญาตฝากไปถึงคุณพ่อคุณแม่ ให้สังเกตลูกๆ ให้ดี เพราะยังมีคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากทีเดียวที่คิดถึงตัวเองในสิ่งที่ไม่เคยได้ จึงเลี้ยงลูกแบบอยากให้ลูกได้ทุกสิ่งที่ตัวเองอยากได้แต่ไม่เคยได้ ในภาพรวมอาจจะดี แต่จริงๆ แล้วเป็นความฝันของพ่อแม่ที่อาจไปทำลายความฝันของลูก อยากให้คุณพ่อคุณแม่มองที่ความถนัดและความต้องการของลูกเป็นสำคัญ”

 

ปัจจุบันมีสถานศึกษาหลายแห่งเข้าร่วมดูงานหลักสูตรที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เพื่อเป็นแนวทางนำไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กได้มีผลงาน ลดความเครียดจากการสอบแข่งขันมากขึ้น ในอนาคตเราอาจได้เห็นทุกโรงเรียนให้ความสำคัญกับการค้นหาตัวเอง พัฒนาระบบการศึกษาของไทย พร้อมกับร่วมผลักดันให้เด็กนักเรียนประสบความสำเร็จมากขึ้นกว่าตอนนี้ก็เป็นได้

บรรยากาศการเรียนระบบ  Track  ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
บรรยากาศการเรียนระบบ  Track  ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
บรรยากาศการเรียนระบบ  Track  ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
บรรยากาศการเรียนระบบ  Track  ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
บรรยากาศการเรียนระบบ  Track  ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
บรรยากาศการเรียนระบบ  Track  ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

 

ทีมงานต้องขอขอบคุณ อ.วราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ ,  อ.วศวิศว์ ปุณณสุขขีรมณ์,  นายสิรภพ ตั้งวรเกษม, นายสิทธินาถ เถลิงโรจนะกุล, นายปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น, นายธรวรัญย์ สุวรรณชีพ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับข้อมูลในบทความนี้ด้วยนะคะ

 

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น