อ.ณสรรค์ สถาบัน HOUSE OF SCIENCE

        สวัสดีจ๊ะ ชาวเด็กดีทุกคน ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม ใครหลายๆ คนก็อาจวางแผนไปเที่ยวคลายร้อน แต่บางคนก็กำลังขยันเรียนพิเศษเพิ่มความรู้อยู่แน่ๆ เลย  ส่วนพี่ผึ้งก็ไปสัมภาษณ์ติวเตอร์ฟิสิกส์  อ.ณสรรค์ ผลโภค แห่งสถาบัน HOUSE OF SCIENCE ลงในคอลัมน์ Hot Tutor แนะนำสถาบันกวดวิชาชื่อดังของเมืองไทยมาให้ชาวเด็กดีได้ชมกัน เชิญเลื่อนลงไปอ่านกันได้เลย

 

พี่ผึ้ง : ขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำตัวเองหน่อยค่ะ
อ.ณสรรค์ : อาจารย์ชื่อ รศ. ดร.ณสรรค์ ผลโภค
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
การศึกษา
ปริญญาตรี – วิทยาศาสตร์บันฑิต สาขาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท – วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาเอก - M.A.(Physics), Kent State University, U.S.A. และ Ph.D. (Physics:NMR) , Kent State University, U.S.A.


พี่ผึ้ง : อาจารย์เริ่มสอนพิเศษมาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
อ.ณสรรค์ : เริ่มสอนพิเศษที่ HOUSE OF SCIENCE โดยได้รับการแนะนำให้เข้ามาสอน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522  เจอลูกศิษย์  นักเรียนมากมาย จนเดี๋ยวนี้ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ก็พาลูกมาเรียนกับอาจารย์อยู่เรื่อยๆ ก็จะมีขาดตอนไปบ้าง ในช่วงที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ระหว่างอยู่ต่างประเทศได้รับทุนจาก Kent State University เป็นทุนช่วยสอนก็คือ เราเรียนปริญญาเอกไปด้วย แล้วก็สอนในภาควิชาฟิสิกส์ของที่นั่นด้วย ก็เลยทำให้เห็นมุมมองของเด็กในสองโลก คือเด็กอเมริกัน และเด็กไทยของเราครับ

พี่ผึ้ง : อาจารย์เด็กไทยกับเด็กอเมริกันแตกต่างกันยังไงคะ
อ.ณสรรค์ : ถ้าเป็นตอนที่อาจารย์ไปเรียนต่อนั้นมีความแตกต่างมาก เพราะเมื่อก่อนเด็กไทยเราจะไม่ค่อยกล้าแสดงออกมากเหมือนเดี๋ยวนี้ ถ้าพูดในลักษณะเรื่องการเรียนในห้องแล้ว เด็กอเมริกันจะเข้าห้องเรียนด้วยความรับผิดชอบ นั่นเพราะเขารู้ว่าเวลาในห้องเรียนเป็นเวลาที่มีค่า ดังนั้นนักเรียนอเมริกันจะตั้งใจเรียนมาก ซึ่งจะแตกต่างกับเด็กไทย อาจารย์อยากฝากเด็กไทยว่า การเรียนในห้องสำคัญมาก เพราะครูผู้สอนได้คัดเลือกเอาเนื้อหาส่วนที่สำคัญมาสอนให้กับเราแล้ว ส่วนที่เหลือเราก็อาจจะไปศึกษาเพิ่มเติมจากตำราอื่นๆ ก็ได้ และไม่ว่าจะเป็นการเรียนระดับไหนก็ตาม จะเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ดี เวลาในห้องเรียนถือเป็นเวลาที่มีค่ามาก ดังนั้นเวลาอยู่ในห้องเรียนก็ควรตั้งใจเรียน  เราต้องรู้จักปรับตัว  คือเราจะคุยหรือเล่นกับเพื่อน นอกห้องเรียนก็ยังมีเวลาอีกเยอะ

สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างคือ บรรยากาศการเรียน  ในอเมริกา เวลานักเรียนคนไหนไม่เข้าใจ หรือสงสัยก็จะถามครูทันที โดยไม่สนใจหรอกว่าคนอื่นจะรู้หรือไม่รู้  และไม่สนใจว่าคำถามนั้นจะเป็นคำถามโง่ๆ หรือเปล่า หรือจะเป็นคำถามที่ฉลาดก็ตาม แต่ในเมื่อเขาไม่รู้ก็จะถามทันที ซึ่งลักษณะแบบนี้จะไม่ปรากฎในห้องเรียนของไทย

พี่ผึ้ง : อาจารย์สอนนักเรียนในระดับไหนบ้างคะ
อ.ณสรรค์ : สอนทุกระดับเลย โดยสามารถแบ่งชีวิตอาจารย์ณสรรค์ออกเป็น 2 ซีก คือ ซีกหนึ่งในมหาวิทยาลัย อีกซีกก็คือนอกมหาวิทยาลัย  อาจารย์ไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นคนสอนกวดวิชา เพราะอาจารย์ไม่ได้กวดวิชา แต่เป็นการสอนเสริม คือการสอนให้นักเรียนรู้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ทำคะแนนอย่างเดียว เพราะว่าทำคะแนนอย่างเดียว อนาคตอาจจะลำบากหน่อย
อย่างเวลาเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย การทำข้อสอบได้โดยที่เราไม่รู้อะไรเลยไม่ใช่ว่าจะไม่มี  คนที่ทำข้อสอบได้คะแนนแต่ไม่รู้อะไรเลยก็มีเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาฟิสิกส์ให้โจทย์มาทำได้ แต่ถ้าถามหลักการหรือวิธีการทำก็อาจจะไม่ทราบ
ซีกที่อยู่นอกมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ก็จะสอนนักเรียนม.ปลาย เช่น ม.4  ม.5 และม.6 เป็นหลัก แต่ก็ได้มีโอกาสไปสอน ม.ต้นบ้าง ซึ่งเวลาเด็กจะเข้ามาเรียนกับเรา เราเองก็ต้องสังเกตนักเรียนด้วย อย่างถ้าเป็น ม.4  ม.5 จะดีมาก อาจารย์จะชอบใจมาก เพราะอาจารย์จะสามารถสอนให้หลักการต่างๆ ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหา แต่ถ้ามาเรียนตอน ม.6 หรือเทอมสุดท้าย อันนี้ก็จะสอนเป็นอีกแบบหนึ่ง คือจะเน้นให้ทำโจทย์ แล้วก็ชี้จุดที่สำคัญที่น่าจะเป็นประโยชน์แทน  
ส่วนอีกซีกหนึ่งในมหาวิทยาลัย อาจารย์ก็จะสอนตั้งแต่ปีหนึ่ง สอง สาม สี่ ไปจนถึงปริญญาเอกเลย ดังนั้นถ้าเป็นชีวิตการสอนก็ตั้งแต่ ม.ต้น จนถึงปริญญาเอกเลย ถ้าถามว่าชอบสอนระดับไหน อาจารย์ชอบทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าได้มีโอกาสให้หลักการที่ถูกต้องกับคนที่เพิ่งเริ่มต้น หรือคนที่เห็นความสำคัญของหลักการ อาจารย์ก็จะยิ่งพอใจมาก สำหรับบางคนที่อาจจะมีเวลาไม่มากอาจารย์ก็ยินดีเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยเราก็จะได้ชี้แนะแนวทางให้เขาได้เห็น

พี่ผึ้ง : แนวทางสำคัญในการก่อตั้งสถาบัน HOUSE OF SCIENCE คือสิ่งใดค่ะ
อ.ณสรรค์ : ที่นี่เราจะเป็นการสอนเสริม เห็นได้ชัดจากชื่อสถาบันคือโรงเรียนสอนเสริม ดร.ณสรรค์-ดร.ยุพา (HOUSE OF SCIENCE) จริงๆ ไม่อยากให้เรียกว่าเป็นกวดวิชา เพราะถือว่าเป็นการสอนเสริม สำหรับคนที่ทำข้อสอบไม่ได้ หรือเรียนไม่รู้เรื่องมาเรียนเพิ่มเติมได้ คืออาจารย์คิดว่าเขาเป็นคนที่ด้อยโอกาส นั่นก็เพราะว่าเขาได้ครูที่ไม่เหมาะสม แต่อาจารย์ทุกคนของที่นี่ต่างก็มีศักยภาพด้วยกันทั้งนั้นครับ

พี่ผึ้ง : วิชาฟิสิกส์ ในระดับม.ปลาย กับระดับมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกันมาก - น้อยแค่ไหนค่ะ
อ.ณสรรค์ : อันนี้เป็นคำถามที่ดี สำหรับใครที่ต้องการจะเข้ามาเรียนต่อมหาวิทยาลัยในคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือคณะแพทยศาสตร์ ฯลฯ  ถ้าใครมีหลักการทางฟิสิกส์ที่หนาแน่นและเข้มแข็งในระดับม.ปลาย มาต่อในระดับมหาวิทยาลัยไม่ยากเลย จริงๆแล้วเป็นหลักการเดียวกัน เพียงแต่ว่าในมหาวิทยาลัยเราจะลงรายละเอียดมากกว่า วิธีการทางคณิตศาสตร์ อาจจะใช้แคลคูลัสมากขึ้น แล้วก็แน่นอนว่า เนื้อหาที่เรียนต่อไปมันก็อยู่บนพื้นฐานของเนื้อหาฟิสิกส์ม.ปลาย ทุกอันถือเป็นพื้นฐานของฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ยิ่งถ้าเรารู้หลักการได้ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแค่ทำโจทย์ได้อย่างเดียว รับรองว่าเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในส่วนของวิชาฟิสิกส์จะไปได้สวย และสบายมากครับ

พี่ผึ้ง : อะไรคือแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ทำให้อาจารย์เลือกมาสอนวิชาฟิสิกส์ค่ะ
อ.ณสรรค์ : เริ่มแรกก็ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ แต่ในตอนนี้หลังผ่านมาสามสิบปีต้องบอกว่าไม่รู้สึกเสียใจเลย เพราะว่าการเรียนฟิสิกส์เป็นการเรียนรู้พื้นฐานความเข้าใจธรรมชาติ อย่างเรามองเครื่องบิน เรารู้เลยว่าทำไมมันถึงบินได้ ถ้าเครื่องบินมันบินอยู่ แล้วเกิดหยุดกลางคัน หยุดเคลื่อนที่ มันจะเกิดอะไรขึ้น มันก็คงตกลงมา ฯลฯ  เพราะฉะนั้น ฟิสิกส์คือการศึกษาเพื่อให้เข้าใจกลไกของธรรมชาติ แล้วนำกลไกเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับตัวเรานั่นเองครับ

พี่ผึ้ง : อาจารย์คิดว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักเรียนคิดว่าวิชาฟิสิกส์เป็นวิชาที่ยากค่ะ
อ.ณสรรค์ : ตรงนี้อาจารย์พยายามทำความเข้าใจมาโดยตลอด แม้แต่นักฟิสิกส์ด้วยกันเองก็ตาม จริงๆ เชื่อไหมครับว่าฟิสิกส์เป็นอะไรที่ง่ายมาก และหลักการทางฟิสิกส์ก็ง่ายมากด้วย คำว่าง่ายในที่นี้ หมายถึงว่าผู้เรียนเองก็ต้องเริ่มต้นตั้งใจเรียนตั้งแต่ตอนแรกๆ เรื่องแรกๆพยายามฟัง ทำความเข้าใจ แล้วมันก็จะต่อเนื่องไปเองครับ
แต่มันอาจมีบางอย่างที่ทำให้ฟิสิกส์ดูยาก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือการใช้วิชาคณิตศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และอีกอย่างหนึ่งก็คือข้อสอบที่เป็นกลลวง ที่มีตัวหลอกอยู่ในโจทย์ อาจารย์คิดว่าเป็นข้อสอบที่อันตราย ซึ่งต้องขอบคุณคนที่ออกข้อสอบแอดมิชชั่น ที่ไม่นำข้อสอบแบบกลลวงไปออกสอบ ทำให้เป็นการช่วยวัดความสามารถจริงๆ นอกจากนี้ข้อสอบที่ยากเกินไปไม่สามารถจำแนกนักเรียนได้ และไม่สมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้น เพราะเหมือนเป็นการไปบั่นทอนกำลังใจคนทำข้อสอบ(นักเรียน)ครับ

 

 

 

พี่ผึ้ง :  แนวการสอน หรือสไตล์การสอนของอาจารย์เป็นอย่างไรค่ะ
อ.ณสรรค์ : อย่างที่บอกคือ อาจารย์จะดูนักเรียนก่อน เพราะนักเรียนแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน โดยอย่างแรกที่สอน ก็คือการให้หลักการที่ถูกต้องชัดเจน เมื่อได้หลักการแล้วก็ไปฝึกแก้ปัญหา ทำโจทย์ ตลบท้ายด้วยการทำข้อสอบ เพราะเด็กก็ต้องการทำข้อสอบให้ได้คะแนนมาก เพื่อให้ได้ตรงกับวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ ถ้าสอบคัดเลือกก็อยากได้คณะดีๆ ถ้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็ต้องเรียนให้จบการศึกษา อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเราก็ต้องฝึกทำโจทย์ ต้องทำเยอะๆ พยายามเชื่อมโยงกับความเป็นจริง อันนี้เป็นวิธีสอนสำหรับคนที่มีเวลานาน หรือว่านักเรียนที่มาเรียนตั้งแต่ ม.4 - ม.5  แต่สำหรับคนที่ไม่มีเวลาหรือมีเวลาอาจจะน้อย จะสอนโดยใช้ข้อสอบหรือโจทย์เป็นหลัก แต่ก็ยังสอนครอบคลุมเนื้อหาเหมือนเดิม การสอนของอาจารย์ก็คือการสอนให้รู้จักหลักการ คิดเป็น ไม่ใช่ใช้แต่สมการหรือแทนค่าสูตรเป็นอย่างเดียว อย่างน้อยต้องรู้เบื้องหลัง หรือหลักการในการทำโจทย์ด้วยครับ

พี่ผึ้ง : เคล็ดลับในการเรียนฟิสิกส์ให้ได้ผลดีมีอะไรบ้างค่ะ
อ.ณสรรค์ : จริงๆ แล้ว เราใช้ชีวิตประจำวันของเราด้วย “ การจำ” มาโดยตลอด ถ้าถามว่าฟิสิกส์มีความจำไหม มันก็มีนะ  แต่เราก็ต้องจำด้วยความเข้าใจ  ไม่ใช่จำใจจำ คืออ่านโจทย์ปุ๊บต้องรู้ว่าใช้สูตรไหนทำ  จริงๆ มันก็คือการเข้าใจหลักการและรู้จักเชื่อมโยง  อย่างถ้าเราจำสูตรไม่ได้ เราก็จำหลักกการง่ายๆ ไปเขียนสูตรในห้องสอบได้ก็ยังดีครับ

พี่ผึ้ง : การเปลี่ยนจากระบบเอนทรานซ์เป็นระบบแอดมิชชั่น มีผลต่อวิชาฟิสิกส์หรือไม่  อย่างไรค่ะ
อ.ณสรรค์ : มันก็มีอยู่ ข้อสอบเอนทรานซ์มันเป็นข้อสอบฟิสิกส์อย่างเดียว 100 % แต่ข้อสอบแอดมิชชั่นจะเป็น ฟิสิกส์ + เคมี + ชีวะ สามวิชารวมกัน 100 % ซึ่งหลายคนก็ไม่ค่อยจะมีความสุขกับตรงสามตัวร้อยนี้สักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์คณะไหนก็ตาม
อย่างคนที่ออกข้อสอบเองก็มีโอกาสถามได้น้อยลง ออกได้ครอบคลุมน้อยลง เนื้อหาไม่ค่อยครบถ้วนเท่าไหร่   แต่สำหรับผู้เรียนเองก็คงต้องเตรียมตัวไปให้ดีๆ ทั้งหกเทอมที่เรียนมา อย่างไรก็ตามข้อสอบ A-net หรือข้อสอบเอนทรานซ์ในวิชาฟิสิกส์ก็ยังคงเป็นข้อสอบที่มีเหตุมีผล ถามถึงหลักการ ไม่ใช่ข้อสอบที่ออกมาลวงนักเรียน หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่เป็นข้อสอบที่ถามถึงความสามารถของนักเรียนจริงๆ

พี่ผึ้ง : นักเรียนควรเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไรดีค่ะ
อ.ณสรรค์ : การที่จะเน้นดูว่าเนื้อหาบทไหนออกมากเป็นพิเศษนั้น อาจารย์ว่าการคิดอย่างนั้นเป็นอะไรที่อันตรายมาก ทางที่ดีควรจะเตรียมตัวให้พร้อมเต็มที่ทุกบทจะดีกว่า อย่างเรื่องการฝึกทำโจทย์ สำหรับคนที่พยายามมาเรื่อยๆ อาจารย์จะขอยกตัวอย่างจากหนังสือ สสวท. ตรงคำถามท้ายบทก็ให้ลองฝึกทำดู  ถ้าขยันทำโจทย์เยอะๆ  เอาข้อสอบเก่าๆ มาฝึกทำ  เวลาเราไปทำข้อสอบจริงก็จะรู้สึกมันเป็นแค่แบบฝึกหัดข้อหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่ว่าอาจจะปรับเปลี่ยนคำพูดทำให้ดูแปลกตามากไป

พี่ผึ้ง : ในฐานะอาจารย์ สิ่งที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจคืออะไรค่ะ
อ.ณสรรค์ : สิ่งที่ภูมิใจในอาชีพนี้ จริงๆก็มีหลายอย่าง อย่างลูกศิษย์ที่เรียนเมื่อสิบปีก่อนกลับมาเยี่ยมก็ดี  หรือจูงมือลูกมาเรียนกับเราก็ดี  แต่ว่าอย่างหนึ่งเลยก็คือ เมื่อเราได้เห็นคนที่เดินเข้ามาหาเราในวันแรกที่เขาไม่รู้อะไรเลย มาแบบชีวิตนี้น่ากลัวว่าจะไม่สามารถทำความเข้าใจกับวิชาฟิสิกส์ได้แน่นอน แล้วเขาสามารถสอบคัดเลือกผ่านเข้าไปเรียนในคณะที่เขาต้องการได้มากกว่าความคาดหวังของเขาได้ แล้วเขาก็กลับมาบอกเราว่าหลักการที่เราสอนไปสามารถทำให้เขาเอาไปใช้แก้ปัญหาได้ ทำโจทย์ได้อย่างประสบความสำเร็จ เขากลับมาบอกเราเอง ไม่ใช่ว่าเราบังคับให้มา ตรงนี้เป็นความภาคภูมิใจ  และเป็นความชื่นใจในความจริงใจของเขา ซึ่งจุดนี้ใครหลายๆคนก็คงจะสัมผัสได้

พี่ผึ้ง : อาจารย์อยากจะฝากอะไรถึงน้องๆชาวเด็กดีที่กำลังจะสอบแอดมิชชั่น และน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่บ้างคะ
อ.ณสรรค์ : สำหรับนักเรียนที่กำลังเตรียมตัวสอบแอดมิชชั่นอยากบอกว่า การฝึกทำโจทย์เพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอ คือควรจะเข้าใจไปถึงหลักการทางฟิสิกส์ด้วย และให้พยายามทำให้ดีที่สุด ลองหาโจทย์เก่าๆ มาฝึกทำดู ส่วนนักเรียนทั่วๆไปที่ยังมีเวลาและโอกาสอยู่ ก็ควรจะทำทั้งสองอย่าง คือเรียนรู้หลักการที่มั่นคง นำไปสู่การทำโจทย์ และการแก้ปัญหาที่เข้มแข็ง สามารถทำโจทย์ได้ทุกรูปแบบ อย่าลืมว่าหลักการที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
 

 

 

 คำพูดติดปาก 

    สวัสดีครับ

 มุขเด็ดประจำตัว 

     รักกิริยา อาจจะไม่มีรักปฏิกิริยาที่ใช้

 เรื่องขำๆ ในคลาส 

    ใครเป็นใหญ่ในบ้าน (สามีหรือภรรยา)

 วิธีแก้เผ็ดเด็กกวน 

    ขอกวนด้วยคน

 มุมสวยหล่อของอาจารย์ 

    ทุกมุมหล่อหมด

 ของที่พกติดตัวเป็นประจำ 

    สตางค์

 นิสัยแบบนี้ใช่เลย 

    มีอารมณ์ขัน เรียนสบายๆ

 คติประจำใจ 

    สุจริต  ไม่คิดโกงใคร

 เครื่องลางนำโชค 

    ความดี

 สีที่ชอบ 

    สีเหลือง
 
 

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

11 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
123 30 มี.ค. 51 20:05 น. 6
อาจารย์สอนดี เคยไปเรียนที่House of Scienceแล้ว อันไหนไม่เข้าใจอาจารย์ก็พยายามอธิบายมากๆๆจนเข้าใจ ได้ผลนะเราว่าแต่ก็แล้วแต่คนอะ บางคนติดที่เรียนที่สยามเพราะมีแหล่งอื่นๆน่าสนใจ แต่เราว่าแบบนี้ดีกว่า สอนไม่เข้าใจก็ได้ถาม แล้วก็เรียนเสร็จก็กลับบ้านทบทวนไม่ต้องไปเดินเที่ยวไหน สรุปคือเราว่าก็โอนะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ทวิช 23 พ.ค. 51 10:52 น. 15
สำหรับวิชาฟิสิกส์ ผมเรียนกับอาจารย์แล้วรู้สึกมีความสุขครับ อาจารย์ไม่สอนให้จำ แต่สอนโดยการอธิบายถึงหลักการ ข้อเท็จจริง เหตุผล ของเนื้อหาวิชาการนั้น ทำให้เรียนแล้วสนุก สนุกโดยที่ไม่ต้องใช้มุกตลกๆๆๆ เป็นการสนุกกับเนื้อหาวิขาการ อีกทั้งยังช่วยให้นักเรียน นิสิต รักในวิชาฟิสิกส์ มากขึ้น จำเนื้อหาได้แม่นยำมากขึ้น
0
กำลังโหลด
พีท 2 ก.ย. 51 23:28 น. 16
ผมเคยเรียนกับอาจารย์ที่ House of Science อาจารย์สอนเข้าใจง่ายมากๆ ผมอยากให้รุ่นน้องที่ยังไม่รู้ว่าจะเรียนฟิสิกส์ที่ไหน ได้มาลองเรียนกับอาจารย์ดูครับ แล้วจะชอบวิชานี้ขึ้นมาทันที
0
กำลังโหลด
Ge Dii Za Wa !! Member 25 ต.ค. 51 17:30 น. 17
หลังจากที่ได้เรียนกับอาจารย์ท่านนี้

ในโครงการติวมาม่าเมื่อ 4 ตุลาคม 2551 ที่ม.หอการค้าไทย
(ป่ะ)

ก็...........................
0
กำลังโหลด
kitty 6 ม.ค. 52 14:15 น. 18
เรียนฟิสิกส์ทีไหนก็ไม่เข้าใจ มาเรียนกับอ.ณสรรค์ อ.ยุพา house of science ถึงได้รักวิชาวิทย์ขึ้นมาก จนสอบเข้าเรียนแพทย์ที่จุฬา ขอบพระคุณอจ.ที่ได้ให้ความรู้
0
กำลังโหลด
joe 4 ก.พ. 52 13:22 น. 19
เรียนติว nation free Anet ในช่อง true vision กับ ดร.ณสรรค์ แห่ง Houseofscience ทำให้เข้าใจก่อนสอบได้ดี ไม่รู้ว่า จะสายหรือเปล่าที่จะชอบฟิสิกส์ เพราะ รู้จักอาจารย์ช้าไป เสียดายครับ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด