สภาฯ เห็นชอบ! ท้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยุติการตั้งครรภ์ได้ ไม่ผิดกฎหมาย (เรียงไทม์ไลน์การพิจารณาแก้ไขกฎหมายทำแท้ง)

Spoil

  • 19 ก.พ. 63  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
  • ที่ประชุม ครม. พิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เห็นชอบร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 301 และ มาตรา 305
  • 20 ม.ค. 64  ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแก้ไข มาตรา 301 และ 305 ว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์   อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ไม่ผิดกฎหมาย
  • กฎหมายจะยังไม่ถูกบังคับใช้จนกว่าจะได้รับการพิจารณาจากวุฒิสภา และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป

"กฎหมายทำแท้ง" หรือ "การทำแท้งได้โดยถูกกฎหมาย" เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วไปอย่างมากเลยค่ะ โดยเฉพาะผู้หญิงเนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้หญิงโดยตรง ซึ่งกฎหมายนี้บังคับใช้มานานจนกระทั่งมีหลายกลุ่มพยายามผลักดันให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม ล่าสุดก็ประสบความสำเร็จไปบ้างแล้ว เรามาลำดับเหตุการณ์การพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการทำแท้งกัน ก่อนอื่นมาดูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301  มาตรา 302 และมาตรา 305 กันก่อนค่ะ

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301, 302 และ 305 (เดิม)

มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 302  ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา 305  ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์ และ

         (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ

         (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284

         ผู้กระทำไม่มีความผิด

19 กุมภาพันธ์ 2563  ว่าด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก มีความผิดอาญา เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงเกินจำเป็น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ที่ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายนั้น ที่ประชุม ครม. ได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาแก้ไขกฎหมายอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ  

ที่ประชุม ครม. เร่งพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ที่ประชุม ครม. เร่งนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2563) มาพิจารณาแก้ไขกฎหมายอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยต้องเร่งแก้ไขให้เสร็จทันวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่เช่นนั้นจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ 1 ปี

โดยขณะนั้น ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ มาตรา 305 ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยมีเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ มาตรา 305 ดังนี้

สรุปการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305

มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (จากเดิม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

มาตรา 305 มีรายละเอียดคือ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือ มาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด โดย

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกาย หรือจิตใจของหญิงนั้น

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำผิดทางเพศ

(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

กลุ่มเครือข่าย RSA กลุ่มทำทาง ผู้หญิงทำแท้ง เปิดข้อเรียกร้องให้พิจารณาเพิ่มเติม

จากผลการพิจารณาของที่ประชุม ครม. เรื่องความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ มาตรา 305 ดังกล่าว ด้านกลุ่มเครือข่ายอาสา RSA เห็นว่าการกำหนดอายุครรภ์ 12 สัปดาห์นั้นน้อยไป จะส่งผลให้การทำแท้งที่อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์เป็นความผิดทางอาญา และผลักให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหานี้เข้าสู่บริการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย จึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า

  1. ผู้หญิงตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์ต่ำกว่า 20 สัปดาห์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
  2. ตัวอ่อนในครรภ์พิการยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความรุนแรง
  3. บุคลากรสุขภาพอื่นสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้ความควบคุมของแพทย์

เช่นเดียวกับด้านกลุ่มทำทาง ผู้หญิงทำแท้ง ได้อ้างถึงข้อมูลวิชาการต่างประเทศว่าสามารถทำได้ถึง 24 สัปดาห์ เนื่องจากเมื่อเลย 24 สัปดาห์ไปแล้ว ตัวอ่อนที่ออกจากครรภ์มีโอกาสที่จะมีชีวิตรอดนอกครรภ์ หรือเรียกว่า คลอดก่อนกำหนด  50% แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะพิการถึง 95% จึงเสนอให้กำหนดอายุครรภ์ที่ 24 สัปดาห์แทน

20 มกราคม 2564  ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ 

  1. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในวาระที่ 3 ด้วยเสียง 276 ต่อ 8 เสียง และผู้งดออกเสียง 54 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 338 คน
  2. หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จแล้ว และนำกลับเข้าสู่สภาสำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว ยึดหลักการคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์และสิทธิของหญิงตั้งครรภ์อย่างสมดุลมีสาระสำคัญ คือ
    • การยกเลิกความในมาตรา 301 ของกฎหมายฉบับเดิมปี พ.ศ. 2560 และกำหนดข้อความใหม่ในมาตรา 301 เกี่ยวกับการกำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดในการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งบุตรของตนเองหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งในขณะที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์
    • การแก้ไขมาตรา 305 เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในร่างกฎหมายที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ผู้ประกอบวิชาชีพฯ จำเป็นต้องทำแท้งให้มารดาที่มีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์ที่หากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติทางร่างการหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรงหรือกรณีได้รับการยืนยันจากหญิงที่ตั้งครรภ์ว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับเพศรวมถึงกรณีอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกำหนดในการทำแท้งอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์
  3. สำหรับขั้นตอนจากนี้สภาผู้แทนราษฎรจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้วุฒิสภาพิจารณาตามกระบวนการต่อไป

ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบฯ แต่กฎหมายจะยังไม่ถูกบังคับใช้

การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญานี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากในลำดับต่อไปจะต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ โดยหากได้รับความเห็นชอบก็จะมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยทั้งหมดนี้ต้องเร่งทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2563  เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ 1 ปี หากไม่ทันจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย 

 

สุดท้ายนี้ ยังต้องลุ้นกันต่อไปว่าวุฒิสภาจะพิจารณาได้ทันกำหนดหรือไม่ ทิศทางของกฎหมายยุติการตั้งครรภ์จะเป็นอย่างไร รอติดตามกันต่อไปค่ะ

 

 

ที่มา
https://www.lawphin.com/detail/law/penal_code-301
https://www.lawphin.com/detail/law/penal_code-302https://www.lawphin.com/detail/law/penal_code-305https://www.facebook.com/rsathai.org/posts/2733050133689960https://www.facebook.com/SafeAbortionThailand/posts/3363008617153301http://www.tpchannel.org/radio/newsdetail.php?news_id=4932https://www.facebook.com/watch/live/?v=253940936200293&ref=watch_permalink

 

พี่จูน
พี่จูน - Columnist บ.ก.บันเทิง/ไลฟ์สไตล์ ใจดีกว่าหน้าตา รักสัตว์ รักเด็ก อยากเป็นนางเอกและนางงาม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น