หากอาการอารมณ์แปรปรวนก่อนประจำเดือนมา (PMS) รุนแรงมาก เสี่ยงเป็นซึมเศร้า หรือไบโพลาร์ได้ไหม?

Spoil

  • PMS คือ อาการที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ร่างกาย และพฤติกรรมในช่วงก่อนมีประจำเดือน
  • สาเหตุหนึ่งมาจากการที่สาร serotoin หรือสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ลดลง
  • อาการ PMS  รุนแรง โรคซึมเศร้า และไบโพลาร์ เป็นโรคเกี่ยวกับอารมณ์เหมือนกัน แต่อาการต่างกัน
  • ทั้งสามโรคดังกล่าว ไม่ได้เป็นสาเหตุของกันและกัน แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นต่อกันได้

พี่หมอคะหนูมักจะหงุดหงิดบ่อย ร้องไห้ง่าย อารมณ์แปรปรวนในช่วงก่อนประจำเดือนมามากๆ เลยค่ะ หนูจะเป็นโรคซึมเศร้ามั้ยคะ?

               สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D ทุกคน มีคนถามมาแบบนีี้ พี่หมอก็ต้องรีบมาตอบใน คอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้ พร้อมให้ความรู้ที่ถูกต้อง ให้เลยค่ะ  

โดยเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือนที่ว่าคือ เรื่องของอารมณ์และความรู้สึกในช่วงก่อนวันนั้นของเดือน  พี่เชื่อว่าน้องผู้หญิงหลายคนเคยมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรืออาจจะเผลอเหวี่ยงใส่คนรอบข้างโดยไม่ตั้งใจ หรือบางครั้งก็ร้องไห้ง่ายๆ กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น ร้องไห้เพราะหิว ร้องไห้เพราะร้านประจำปิด ซึ่งพี่หมอขอยอมรับว่าพี่ก็เคยเป็นเหมือนกันค่ะ ฮ่าๆ ซึ่งอาการก่อนมีประจำเดือนเหล่านี้เรียกว่า  Premenstrual Syndrome หรือเรียกย่อๆว่า PMS นั่นเองค่ะ

               Premenstrual Syndrome 

คือ อาการที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ร่างกาย และพฤติกรรมในช่วงก่อนมีประจำเดือน พบได้ 3 ใน 4 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์โดยทั่วไป มักเกิดในช่วงก่อนมีประจำเดือน 1-2 สัปดาห์ และหายไปเมื่อประจำเดือนมานั่นเองค่ะ อาการที่พบได้มีดังนี้

  1. ด้านอารมณ์ ได้แก่  เครียด วิตกกังวล มีอารมณ์เศร้า ร้องไห้บ่อย อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย
  2. ด้านพฤติกรรม ได้แก่ นอนไม่หลับ ไม่อยากเข้าสังคม เบื่ออาหารหรืออยากกินมากขึ้นกว่าเดิม สมาธิจดจ่อน้อยลง และความรู้สึกทางเพศเปลี่ยนไป
  3. ด้านร่างกาย ได้แก่  ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย น้ำหนักเพิ่ม ท้องอืด เจ็บบริเวณเต้านม สิวขึ้น ท้องผูกหรือท้องเสีย

โดยอาการที่พี่หมอบอกมาทั้งหมดนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีครบทุกข้อนะคะ หลายคนมีอาการที่แตกต่างกันออกไป บางคนมีอาการหลายข้อ บางคนมีอาการแค่นิดเดียวเองค่ะ 

สาเหตุของอาการเหล่านี้คืออะไรกันแน่?

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัดค่ะ  แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการได้มีดังนี้

  1. การเสียสมดุลของฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน
  2. สารสื่อประสารในสมองผิดปกติ โดยเฉพาะ serotoin เป็นสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ หากสารนี้ต่ำลงก็จะส่งผลให้เกิดอารมณ์เศร้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และมีปัญหานอนไม่หลับได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนผิดปกติอีกด้วย
  3. ภาวะซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าทำให้อาการก่อนมีประจำเดือนรุนแรงขึ้นได้ แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุของภาวะนี้โดยตรง

           แล้วจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ได้ไหม?

           ต้องบอกน้องๆ ไว้ก่อนว่า คนที่มีอาการก่อนมีประจำเดือนรุนแรง โรคซึมเศร้า และไบโพลาร์ ทั้งสามโรคนี้เป็นโรคเกี่ยวกับอารมณ์เหมือนกันแต่อาการต่างกัน โดยที่คนๆ นึงสามารถเป็นได้มากกว่า 1 โรคนะคะ แต่คนที่เป็น PMS นั้น หากมีอาการรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวันจะกลายเป็นโรคที่เรียกว่า Premenstrual dysphoric disorder (PMDD) ค่ะ  ซึ่งการวินิจฉัยโรคมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. ต้องมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่ อารมณ์ไม่คงที่ หงุดหงิดง่าย เศร้า กังวลหรือเครียด
  2. ต้องมีการเปลี่ยนดังต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่ สนใจสิ่งต่างๆลดลง ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย กินจุ นอนมากเกินไปหรือนอนไม่หลับ รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาจนไม่สามารถควบคุมได้

           โดยอาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ต้องมีอย่างน้อย 5 อาการในช่วงก่อนมีประจำเดือน และอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังมีประจำเดือน จากนั้นอาการจะหมดไปภายใน 1 สัปดาห์หลังหมดประจำเดือน  

ซึ่งจะแตกต่างจาก โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)  คือจะต้องมีอารมณ์เศร้าเกือบทั้งวันและทุกวันหรือความสนใจในสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ร่วมกับอาการอื่นตามเกณฑ์วินิจฉัยของแพทย์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และอาการนั้นทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ 

ส่วน โรคไบโพลาร์ หรือ อารมณ์สองขั้ว เป็นโรคที่มีอารมณ์ดีมากผิดปกติหรืออารมณ์หงุดหงิดง่ายผิดปกติ ร่วมกับอาการอื่นตามเกณฑ์วินิจฉัยของแพทย์เป็นเวลาอย่างน้อย 4 วัน หรือ 1 สัปดาห์ตามชนิดของโรคค่ะ 

ทั้งสามโรคนี้ไม่ได้เป็นสาเหตุของกันและกัน แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นต่อกันได้ 

วิธีจัดการกับภาวะ PMS ด้วยตัวเอง

  1. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
  2. ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrate) เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ
  3. งดเครื่องดื่มจำพวก ชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์
  4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  5. ไม่สูบบุหรี่
  6. จัดการกับความเครียด เช่น ระบายกับคนที่ไว้ใจ ดูหนัง ฟังเพลง
  7. การรักษาด้วยยา ซึ่งจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

                เป็นไงกันบ้างคะ วิธีที่พี่แนะนำง่ายใช่มั้ยล่ะ PMS ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแต่เราต้องรู้จักภาวะอารมณ์ของตัวเองขณะนั้นให้ได้และจัดการกับมัน  สำหรับวันนี้พี่หมอขอตัวก่อนนะคะ แล้วอย่าลืมติดตาม คอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้ พร้อมให้ความรู้ที่ถูกต้อง ตอนต่อไปนะคะ

 

 

ที่มาhttps://www.webmd.com/women/pms/what-is-pmshttps://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/premenstrual-syndrome/symptoms-causes/syc-20376780ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี. ครั้งที่ 4 . กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล; 2558 

 

พี่หมอเลิฟ
พี่หมอเลิฟ - Columnist พี่หมอใจดี ประจำคอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

Malee 2 มี.ค. 64 00:15 น. 1

กำลังมีปัญหาพอดีเลยค่ะ ตอนแรกคิดว่าจะไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา แต่เมื่อได้ลองอ่านบทความนี้ ขอลองปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำในบทความดูก่อนค่ะ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด