"โรคหนองใน" ติดต่อทางไหนได้บ้าง ดูออกไหมว่าใครเป็นโรค?

Spoil

  • หนองใน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดเชื้อในบริเวณต่างๆ ได้ ไม่ใช่แค่ที่อวัยวะเพศ
  • การติดเชื้อหนองใน นอกจากอวัยวะเพศชาย-หญิงแล้ว ยังมีคอหอย และตาอีกด้วย
  • อาการของโรคที่แสดงออกมาขึ้นกับว่าติดเชื้อในบริเวณไหน แต่มักจะต้องดูเพื่อแยกโรคกับอาการของโรคอื่นๆ ด้วย
  • หากพบว่าติดเชื้อ นอกจากตนเองแล้ว ควรพาคู่นอนไปตรวจรักษาด้วย
  • การป้องกันโรคหนองใน นอกจากใช้ถุงยางอนามัยแล้ว ควรงดเว้นการใช้สิ่งของร่วมกับคนไม่รู้จัก

"โรคหนองใน" ติดต่อทางไหนได้บ้าง ดูออกไหมว่าใครเป็นโรค?

สวัสดีครับน้องๆ ชาว Dek-D ที่ติดตามอ่านคอลัมน์ Sex Education by Dek-D.com เป็นประจำ วันนี้พี่หมอจะมาชวนคุยเรื่องโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ยอดฮิต )ที่เราอาจจะไม่ค่อยอยากจะฮิตอินเทรนด์ด้วยเท่าไร) นั่นคือ "โรคหนองใน (Gonorrhea)" มาดูกันว่า หนองในคืออะไร ทำไมเรียกหนองใน แล้วมีหนองนอกไหม เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันดีกว่าครับ

ก่อนอื่นต้องบอกว่า บทความของพี่หมออาจจะพูดถึงเชื้อ HIV หรือโรคติดเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องบ่อยหน่อย แต่จริงๆ แล้วก็มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ (Sexual transmitted diseases) ที่อาจจะพ่วงมาด้วย หรือติดต่อมาจากทางอื่นๆ ได้หลายทาง หากไม่ได้รับการป้องกัน ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี (Viral Hepatitis B and C) และ หนองใน (Gonorrhea) ที่เราจะมาพูดถึงกันวันนี้ครับ

โรคหนองใน ไม่ได้ติดต่อแค่อวัยวะเพศ!

หนองใน (Gonorrhea) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial infection) ที่ชื่อว่า Neisseria Gonorrhea ที่สามารถติดเชื้อในบริเวณต่างๆ ได้ ดังนี้

1.      ท่อปัสสาวะเพศชาย (Urethra) 

ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในท่อทางเดินปัสสาวะได้ (Urethritis) ซึ่งเป็นอาการแสดงที่พบได้บ่อยมากที่สุด เพราะมักจะมาด้วยอาการหนองไหลออกมาจากปัสสาวะ หนองมีสีขาวขุ่น อาจจะรู้สึกแสบขัดเวลาปัสสาวะได้ (Dysuria) ซึ่งมักต้องให้แพทย์วินิจฉัย และได้รับยาฆ่าเชื้อชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือร่วมกับแบบรับประทานก็ได้ (Intramuscular Antibiotic or Oral antibiotic)

2.      ช่องคลอด หรืออุ้งเชิงกรานของเพศหญิง (Vagina or Adnexal area) 

ซึ่งจริงๆ แล้ว การติดเชื้อในเพศหญิงอาจจะแสดงอาการได้น้อยกว่าเพศชาย คือไม่ถึง 10 % ครับ แต่ถ้ามีอาการ เช่น ตกขาวมีสีและกลิ่นผิดปกติ (Abnormal leucorrhea) หรือปวดท้องน้อย มีไข้ได้ ก็ลองไปพบแพทย์ได้ครับ

3.      คอหอย (Pharynx) 

คงไม่ต้องบอกใช่ไหมครับว่าเราติดผ่านกันทางไหน ใช่แล้วครับ นอกจากการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral sex) แล้ว การกินอาหารร่วมกัน ใช้แก้วร่วมกันจากคนที่มีเชื้อนี้ในช่องปาก ก็สามารถติดเชื้อเหล่านี้ได้เหมือนกันครับ อาการคือ คอเป็นหนอง อักเสบ (Acute pharyngitis/ tonsilitis) ซึ่งอาจจะมีไข้สูง และกลืนเจ็บได้ครับ

4.      ตา (Conjunctival) 

ใช่แล้วครับ! เชื้อนี้สามารถติดเชื้อที่ดวงตาได้ด้วย ดังนั้นก็ระวังเข้าตานิดนึงครับ!! หากมีกิจกรรมอันใดที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนแล้วล่ะก็ ทำความสะอาดให้ดีครับ เพราะอาการที่แสดงอาจจะมีได้ตั้งแต่ตาแดง เพราะเยื่อบุดวงตาอักเสบ (Conjunctivitis) หรือมีขี้ตาเยอะมาก ไปจนถึงเป็นหนองที่ตาได้ครับ

ทั้งนี้ อาการของโรคมักจะแสดงออกมาได้ขึ้นกับว่าติดเชื้อในบริเวณไหน แต่มักจะต้องดูเพื่อแยกโรคกับอาการของโรคอื่นๆ ด้วยครับ เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอื่นๆ (Urinary tract infection) การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease) หรือการติดเชื้อต่อมทอนซิล (Acute tonsilitis) ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ด้วยครับ 

รู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นโรค?!?

เห็นไหมครับว่า อาการของโรคการติดเชื้อหนองในนี่ค่อนข้างหลากหลาย แล้วกลายเป็นว่าบางคนไม่แสดงอาการเสียอีก สำหรับน้องผู้ชายที่มีอาการผิดปกติที่อวัยวะเพศ อาจจะดูง่ายหน่อย เพราะค่อนข้างจำเพาะว่าไม่น่าจะเป็นโรคอื่นๆ แล้ว แต่บางครั้ง หากไม่แสดงอาการของโรค แล้วไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นโดยไม่ได้้ป้องกัน ทั้งไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย หรือมีกิจกรรมทางเพศอื่นๆ เช่น การใช้ปาก  ก็อาจจะติดต่อได้ง่ายๆ ด้วยครับ 

ดังนั้น ถ้าเราจะสังเกตคู่นอนที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันเป็นประจำ 

พี่หมอแนะนำเปิดไฟก่อนสักนิด ชีวิตจะปลอดภัยครับ!

จะทำยังไงเมื่อพบความผิดปกติ?

หากมีอาการข้างต้นในร่างกายของเราที่ผิดปกติไป (หรือพบอาการดังกล่าวในคนรักหรือคู่นอน ให้เว้นการมีเพศสัมพันธ์หรือกิจกรรมทางเพศไปก่อนครับ) แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียด ซึ่งเมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์อาจจะต้องการถามเพิ่มเติมเพื่อสอบถามหาโรคอื่นด้วยๆ ครับ เพราะแปลว่าเรามีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้เช่นกัน เพื่อให้การรักษาได้ถูกต้อง (Appropriated treatment) พี่หมอแนะนำให้ตอบคำถามตามความเป็นจริง อย่าปิดบัง เช่น สาวๆ ที่มีอาการผิดปกติ อาจถูกถามว่า "เคยมีเพศสัมพันธ์ไหม?" หากเคยก็ตอบไปเลยว่าเคยครับ เพราะแพทย์ต้องการข้อมูลประกอบการวินิจฉัยโรค ไม่ได้อยากรู้ว่าน้องยังบริสุทธิ์ไหม หรืออยากนำข้อมูลไปฟ้องแม่ ไม่ต้องกังวลครับ 

สำหรับการตรวจเชื้อนี้ บางครั้งแพทย์อาจจะนำหนองไปย้อมดูเชื้อ หรือส่งเพาะเชื้อเพื่อตรวจโรคด้วยครับ ซึ่งนอกจากเชื้อ Neisseria Gonorrhea ที่พูดถึงแล้ว ยังมีเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น (Non-gonococcal infection) หรือที่เราเรียกว่า "หนองในเทียม" เกิดขึ้นได้เช่นกันครับ แพทย์จึงมักจะรักษาพร้อมๆ กันไปในเชื้อทั้งสองชนิด

การรักษา ควรรักษาทั้งตัวเรา+คู่นอน

การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์นั้น นอกจากตัวเองแล้ว เรายังต้องดูแลรักษาคู่นอนของเราด้วยนะครับ เพื่อไม่ให้อาการของโรคแอบแฝงอยู่ แล้วติดกันไปมา ถ้าเราได้รับการรักษาแล้ว ควรจะพาแฟน หรือคู่นอน (ทั้งหมดที่มี) ของเราไปพบแพทย์ด้วย เพื่อได้รับการรักษาด้วยกันนะครับ ดีกว่าปล่อยไว้แล้ว เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคที่รุนแรงคือลุกลามไปตามบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย ร้ายแรงสุดสามารถเข้าสมองได้เลยนะครับ โดยเฉพาะคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือทางที่ดี ป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่แรกด้วยการใส่ถุงยางอนามัย และหลีกเลี่ยงใช้สิ่งของร่วมกันกับคนที่เราไม่รู้จักนะครับ พี่หมอขอเตือนไว้เลย!

 

ใครมีคำถามอะไร ฝากไว้ในคอมเมนต์ได้เลยครับ พี่หมอจะนำมาตอบให้ แล้วพบกับ  Sex Education by Dek-D.com ได้ใหม่ในตอนหน้าครับ

 

 

              นพ.ชนม์พิสิฐ มณฑล

 

 

พี่โด่ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น