มีฮอร์โมนเพศมากเกินไป อาจทำให้เด็กเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยได้!
สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D วันนี้พี่ปลิวมีเรื่องเพศศึกษามาฝากค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะน้องๆ ที่กำลังเจริญเติบโตและเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ร่างกายก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่การเปลี่ยนจากวัยเด็กไปสู่วัยหนุ่มสาวจริงๆ แล้วเป็นเรื่องปกตินะ แต่ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่เกินก่อนวัย ก็อาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว! เราลองมาเช็คกันดีกว่า ว่ามีโอกาสเข้าข่ายเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยหรือไม่
หนุ่มสาวก่อนวัย (Precocious Puberty)
หนุ่มสาวก่อนวัย (Precocious Puberty) คือ การที่เด็กเป็นหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ ซึ่งจะโตเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศมากเกินไป สามารถพบได้ทุกเพศ แต่จะพบมากที่สุดในเด็กเพศหญิง มากกว่าเด็กเพศชายประมาณ 8 - 20 เท่า
ซึ่งปกติแล้วเด็กผู้หญิงจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่ออายุ 8 - 13 ปี ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่อายุ 9 - 14 ปี
สาเหตุที่ทำให้เกิด
- กรรมพันธุ์ หากพ่อแม่เคยมีประวัติเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็ว เช่น เสียงแตกเร็ว หรือมีประจำเดือนเร็ว
- เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเกินเกณฑ์ จากการทานของกรุบกรอบ ของทอด ของมัน อาหารไขมันสูง หรืออาหาร fast food
- มีความผิดปกติในสมอง เช่น ก้อนเนื้องอก สมองเคยขาดออกซิเจน หรือเคยได้รับการฉายรังสี
อาการเด็กผู้หญิง เปลี่ยนแปลงก่อนอายุ 8 - 9 ปี
- มีไตเต้านม บางคนอาจพบเพียงข้างเดียว ก่อนอายุ 8 ปี
- มีประจำเดือน หรือตกขาวครั้งแรกก่อนอายุ 9 ปี
- เริ่มมีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้
- มีสิว ผิวหน้ามัน สะโพกผายและมีกลิ่นตัว
- ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ
การมีประจำเดือนของเด็กผู้หญิง หากประจำเดือนมาครั้งแรกเร็วเกินไป อาจมีภาวะที่เด็กเป็นสาวก่อนวัยได้ แต่การที่ประจำเดือนมาเร็วเพียงอย่างเดียว ก็ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าจะเป็นสาวก่อนวัย อาจจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม
อาการเด็กผู้ชาย เปลี่ยนแปลงก่อนอายุ 9 ปี
- อัณฑะ และองคชาต มีขนาดใหญ่ก่อนอายุ 9 ปี
- เสียงแตกหนุ่ม หรือเสียงแหบ
- เริ่มมีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้
- มีสิว ผิวหน้ามัน หนวดขึ้น และมีกลิ่นตัว
- ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ
แม้ตัวเป็นผู้ใหญ่แต่ใจยังคงเป็นเด็ก
การที่เด็กเป็นหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ จะทำให้โตเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน เมื่อมีรูปร่างที่แตกต่าง ก็อาจทำให้เกิดการล้อเลียน ส่งผลให้มีพฤติกรรมแยกตัว จนทำให้กลายเป็นเด็กมีปัญหาได้ และยังส่งผลกระทบต่อด้านร่างกาย จิตใจและการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย
ด้านร่างกาย
- ระยะเวลาการเจริญเติบโตในวัยเด็กจะสั้นลงกว่าปกติ ทำให้เตี้ยเมื่อเป็นผู้ใหญ่
- เด็กผู้หญิงที่มีประจำเดือน อาจจะมีปัญหาในด้านการดูแลสุขอนามัย
- มีโอกาสถูกล่วงละเมิดทางเพศ อาจเกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรได้
ด้านจิตใจ
- อาจทำให้เกิดการล่อลวงได้ง่าย
- ทำให้รู้สึกว่าแปลกแยกจากเพื่อนวัยเดียวกัน ทำให้ขาดความมั่นใจ
- เด็กที่มีฮอร์โมนเพศสูงกว่าปกติ อาจมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง และมีอารมณ์ทางเพศสูง
เมื่อรู้ตัวว่าเป็น ควรทำอย่างไร?
เมื่อร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติและมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษา ซึ่งจะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ ได้อีกด้วย
ส่วนวิธีการรักษา แพทย์จะรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ หากตรวจไม่พบสาเหตุ แพทย์จะรักษาด้วยวิธีการฉีดยาฮอร์โมนสังเคราะห์ GnRH analogue โดยฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อ เพื่อชะลอการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเพศ โดยจะฉีดทุกๆ 4 สัปดาห์
ทางป้องกันที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ คือ ต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน กินอาหารให้เหมาะสม และให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย
ไม่ว่าจะเป็นเด็กเพศหญิงหรือเพศชาย เมื่อร่างกายเริ่มมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เราต้องรู้จักหมั่นสังเกตร่างกายตนเอง อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติจนปล่อยปละละเลย เพราะอาการเหล่านี้ กำลังเป็นสัญญาณเตือนว่า เรากำลังเป็นโรคหนุ่มสาวก่อนวัย หรือภาวะที่โตเร็วกว่าปกติ
เรื่องเพศศึกษา เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว หากพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายหรือจิตใจ อยากบอกน้องๆ ว่าอย่ากลัวหรืออายที่จะเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผู้ปกครองหรือคุณหมอฟัง เพื่อที่เราจะได้หาทางรักษาได้ทัน และครั้งหน้าพี่ปลิวจะเอาความรู้เรื่องเพศศึกษาอะไรมาฝากน้องๆ อย่าลืมติดตามกันด้วยน้าา
0 ความคิดเห็น