วัยรุ่นท้องไม่ควรปกปิด! การยุติการตั้งครรภ์ - การฝากครรภ์ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์
สวัสดีครับน้องๆ ชาว Dek-D พบกันที่คอลัมน์ Sex Education อีกแล้ว วันนี้พี่หมอมาชวนคุยเรื่องการตั้งครรภ์และการฝากครรภ์ ไม่ได้เจตนาอยากให้น้องๆ มีลูกกันเยอะๆ นะครับ แต่อยากให้อ่านและตระหนักถึงการมีลูกเมื่อพร้อมที่ต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างดี เพราะการมีลูก 1 คน ไม่ใช่แค่ท้องแล้วคลอดออกมา จบ แต่ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างดีตั้งแต่อยู่ในท้อง ดังนั้น ไม่ว่าน้องๆ จะท้องไม่พร้อมด้วยสาเหตุจากการป้องกันผิดพลาด ลืมกินยา ถุงยางขาดรั่ว หรือขาดความรู้เรื่องการป้องกันก็ตาม เมื่อตั้งครรภ์ด้วยความไม่พร้อมแล้ว น้องๆ มีทางเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยครับ แต่สำหรับคนที่พร้อมหรือตัดสินใจว่าจะให้เด็กเกิดมาและเลี้ยงดูอย่างดีละก็มาอ่านกันเลยว่าต้องทำอย่างไรต่อ
วัยรุ่นตั้งท้องไม่ควรปกปิด
วัยรุ่นตั้งท้องไม่ควรปกปิด เพราะอาจเกิดอันตรายกับตัวแม่และเด็กในท้อง หากตั้งใจจะให้เด็กเกิดมา จะต้องมีสูติแพทย์ดูแลการตั้งครรภ์ แต่หากไม่พร้อมที่จะมีลูก สามารถตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้
การยุติการตั้งครรภ์นั้นทำได้หลายวิธี พี่หมอขอไม่ลงรายละเอียดนะครับ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เราไม่ควรทำด้วยตนเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์และอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น ปัจจุบันไทยสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ถูกกฎหมายแล้ว ภายใต้กฎเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น อายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ต้องผ่านการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติม) ซึ่งหากน้องๆ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ ป้องกันไม่ทัน หรือการป้องกันผิดพลาด อันดับแรกคือกินยาคุมฉุกเฉิน (ไม่ควรกินบ่อยเกิน 2 ครั้ง/เดือน และไม่ใช้เป็นยาคุมกำเนิดแบบประจำ) จากนั้นสิ่งที่น้องๆ ไม่ควรพลาดคือการสังเกตตนเอง การขาดประจำเดือน และตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง เพื่อให้ทราบว่าเราตั้งครรภ์จริงและตัดสินใจว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่
ซึ่งการยุติการตั้งครรภ์แม้จะถูกกฎหมายแต่ก็ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมไทย บางครั้งน้องๆ ไม่อาจตัดสินใจด้วยตนเองได้ หรืออายที่จะไปปรึกษาแพทย์ หรือเหตุผลอื่นๆ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจ แต่ที่พี่หมออยากแนะนำคือ ไม่ควรปกปิดการตั้งครรภ์ เพราะอาจเกิดอันตรายทั้งต่อแม่และเด็กครับ ดังนั้นวันนี้พี่หมอจึงขอพูดถึงการตั้งครรภ์ หรือการตัดสินใจเก็บเด็กในท้องเอาไว้ โดยเป็นเรื่องของความสำคัญในการฝากครรภ์และดูแลทารก ไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเมื่อคลอดออกมานะครับ
ส่วน การตั้งท้อง หรือมีอีกสักหนึ่งชีวิตเกิดมาในตัวเรานั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากๆ เราจึงจำเป็นจะต้องมีคุณหมอสูติแพทย์ (Obstetric physician) ที่คอยดูแลคนที่ตั้งครรภ์ (Pregnancy) เพื่อให้การคลอด ออกมาเป็นไปตามธรรมชาติ
แม้ในอดีต เหมือนอย่างหนังเรื่องแม่นาคพระโขนง (เก่าไปหรือเปล่านะ) ก็มีการคลอดเองตามธรรมชาติได้ แต่ก็อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เหมือนกัน เพราะความรู้เหมือนสมัยหมอตำแย หมอชาวบ้านนั้น อาจจะไม่เพียงพอสำหรับยุคสมัยนี้แล้ว แน่นอนว่ามีคนที่คลอดเองได้ตามธรรมชาติที่บ้าน แต่ก็มีอีกหลายเหตุผลที่ควรเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์นั่นเอง
การฝากครรภ์คืออะไร?
การฝากครรภ์ (ANC – Antenatal Care) เป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับคุณแม่ ส่วนใหญ่แล้วคุณหมอจะรับฝากครรภ์ก็ต่อเมื่อผ่านไปแล้ว 1 ไตรมาส (First Trimester) หรือประมาณ 12 สัปดาห์ โดยนับจากวันแรกที่มีประเดือนครั้งล่าสุด (LMP – Last Mestrual Period) ซึ่งอาจจะยากเล็กน้อยสำหรับคนที่ประจำเดือนไม่ได้สม่ำเสมอ หรือไม่ได้จดประจำเดือนไว้ หรือบางครั้ง ตั้งครรภ์ไปแล้ว ยังมีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้ หรือที่ชอบเรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding) หรือเลือดออกจากการแท้ง (Abortion) ได้ ซึ่งค่อนข้างซับซ้อนเหมือนกันนะครับ
แต่หากถามว่า มีไหม? คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองท้อง ก็ต้องบอกว่า มีีครับ! อาจจะเนื่องด้วยปัญหาสุขภาพ ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือหลายสาเหตุ แต่ก็มีจำนวนน้อย เพราะหากเรามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การตั้งครรภ์หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไ่ด้
ควรท้องเมื่อพร้อม เพราะต้องมีการฝากครรภ์
อย่างที่พี่หมอบอกไปครับว่าการท้องควรพร้อมจริงๆ เพราะการมีลูกต้องมีการดูแลเอาใจใส่ การฝากครรภ์เป็นการดูแลขั้นแรก เพื่อให้การท้องนั้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก โดยแพทย์ที่รับฝากครรภ์จะดูแลเรา ดังนี้
1. เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับตัวเอง
ทางโรงพยาบาลจะเตรียมตัว วางแผนว่าคุณแม่จะมีโอกาสมีภาวะแทรกซ้อนจากกตั้งครรภ์หรือไม่ คลอดปกติได้ไหม หรือต้องผ่าตัดคลอด เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัยของมารดา
2. เพื่อตรวจว่ามีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์หรือไม่
บางคนก็มีภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากสรีระที่เปลี่ยนไปจากการตั้งครรภ์ เช่น เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Melitus) หรือความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Hypertension in pregnancy) ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ หากไม่ควบคุบหรือได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง (Pre-Eclampsia)
3. เพื่อตรวจดูการเจริญเติบโตและความผิดปกติของเด็ก
ในแม่ที่มีความเสี่ยง ก็อาจจะทำให้เด็กที่อยู่ในท้องมีความเสี่ยงได้เช่นกัน ดังนั้นการติดตามหรือดูว่าน้ำหนักของเด็กเป็นไปตามเกณฑ์ตามอายุครรภ์ (Gestational Age) หรือไม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญ หรือบางครั้ง เด็กที่อยู่ในท้องมีข้อบ่งชี้ในการนำออก เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อแม่ หรือคลอดออกมาแล้วก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
4. การเตรียมตัว เพื่อวางแผนการคลอด
เพราะในบางคนอาจจะมีน้ำหนักตัวน้อย หรือส่วนสูงน้อย ทำให้มีปัญหาในการคลอด เพราะอุ้งเชิงกรานเล็กและแคบ ทำให้การคลอดทางช่องคลอด (Vaginal delivery) มักจะมีปัญหาในคนที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ได้ จำเป็นต้องเตรียมตัวผ่าตัดคลอด (Caesarean section) เป็นต้น ทำให้การคลอดเด็กออกมานั้น ไม่เจ็บปวดทรมาณ มากกว่าที่ควร
นอกจากการฝากครรภ์แล้ว หากตัดสินใจที่จะมีลูก สิ่งที่ควรให้ความสำคัญในลำดับต่อไปคือ ความพร้อมในการเลี้ยงดู ทั้งการเลี้ยงให้เจริญเติบโต และการเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม เป็นต้น
นี่ก็เป็นสาเหตุหลักๆ ที่หากรู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้วควรไปพบแพทย์ แม้ว่าเราจะอยากมีหรือไม่อยากมีลูกก็ตาม แต่การจัดการหรือวางแผนต่อไปในอนาคต ก็ควรจะให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ช่วยวางแผน เพื่อความปลอดภัยของเราเองและเด็กในท้องได้ครับ ส่วนใครที่ประจำเดือนขาดแล้วรีบไปฝากท้องที่โรงพยาบาลแต่พบว่าคุณหมอไม่รับฝากท้อง นั่นเป็นเพราะต้องรอให้แน่ชัดว่าจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน เพื่อทำการดูแลได้อย่างถูกต้องต่อไปนั่นเองครับ
นพ.ชนม์พิสิฐ มณฑล
0 ความคิดเห็น