ในยุคนี้พี่โอ๊ตแน่ใจเลยค่ะ ว่าไม่มีน้องๆ คนไหนที่ไม่มีมือถือ เพราะตอนนี้เราเองก็ใช้มือถือเป็นทุกอย่างแล้วค่ะ ซึ่งน้องๆ อาจจะไม่รู้ว่า ถึงเราจะสามารถใช้มือถือทำทุกอย่างได้ แต่ก็ควรจะจำกัดการใช้ของตัวเองด้วยนะ 
 
'โนโมโฟเบีย' อันตรายจากการเล่นมือถือมากเกินไป
          การเล่นมือถือทุกๆ วันอาจจะทำให้เราเคยชินค่ะ จนไม่รู้ว่าจุดไหนที่เรียกว่า อันตราย พี่โอ๊ตอยากให้ทุกคนลองสังเกตตัวเองง่ายๆ ว่า เมื่่อไหร่ที่เราเริ่มแยกจากมือถือไม่ได้ ต้องมีติดมือตลอดเวลา ไม่สามารถวางให้ห่างตัวได้เลย ก็เสี่ยงที่จะเป็น “โรคโนโมโฟเบีย” ได้แล้วล่ะค่ะ 
  
          โนโมโฟเบีย (Nomophobia)  ย่อมาจาก No Mobile Phone Phobia นั่นเองค่ะ เป็นชื่อที่องค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร (YouGov) บัญญัติขึ้น เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัวจากการขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสาร และจัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งนั่นเองค่ะ โดยอาการที่เห็นได้ชัดคือ ถ้ามือถือแบตฯใกล้จะหมด หรืออยู่ในพื้นที่อับสัญญาณ เราจะเริ่มรู้สึกกังวล เครียด คลื่นไส้ หายใจไม่ออกนั่นเองค่ะ
 

วิธีสังเกตว่าเราเริ่มเข้าข่ายเป็นโรคนี้รึยัง ให้ทุกคนลองเช็คตามนี้เลย
 
  • ต้องพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ไม่งั้นจะรู้สึกกระวนกระวายใจและหงุดหงิด
  • ต้องอัปเดตโซเชียลตลอดเวลา หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็คดูบ่อยๆ แม้จะรู้ว่าไม่มีเรื่องด่วนก็ตาม
  • เสียงเตือนโทรศัพท์ดังปุ๊บ ต้องหยิบดูทันที ไม่ว่าตอนนั้นจะทำอะไรอยู่ก็ต้องหยุดทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นจะเสียสมาธิไปเลย 
  • ตื่นมาหยิบมือถือเป็นอย่างแรก ก่อนนอนก็เล่นมือถือจนกว่าจะง่วง
  • เล่นโทรศัพท์ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะกินข้าว เข้าห้องน้ำ ระหว่างเดินทาง นั่งรอรถเมล์ หรือขึ้นรถไฟฟ้า แม้แต่เดินก็ยังต้องเล่นโทรศัพท์ไปด้วย
  • กลัวว่าจะทำโทรศัพท์หาย ทั้งที่ก็วางไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว
  • ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย 
  • ใช้เวลาคุยกับเพื่อนผ่านมือถือ มากกว่าเพื่อนที่เจอกันตรงหน้า
  • ตั้งใจจะไม่เล่นมือถือสักแป๊บนึง ก็ทนไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องหยิบขึ้นมาเล่นจนได้
 
            ถ้าเช็คแล้วว่ามีพฤติกรรมแบบนี้เกินครึ่ง หรือถ้าเป็นทั้งหมดยิ่งน่ากลัวค่ะ บอกเลยว่าต้องเริ่มปรับตัวเองใหม่แล้วล่ะค่ะ พี่โอ๊ตแค่อ่านยังนึกภาพไม่ออกเลยว่าในหนึ่งวันเราใช้ชีวิตได้ยังไง หรือได้คุยกับใครบ้างมั้ย ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าผลต่อเนื่องจากการที่เราติดโทรศัพท์ขนาดนี้ มันทำให้เกิดอะไรตามมาได้อีกบ้าง
 
5 โรคที่คนติดมือถือต้องเจอ!
 

1. นิ้วล็อก
          อันนี้พี่โอ๊ตเคยเป็นค่ะ เกิดจากช่วงวันหยุดที่ว่างๆ ก็ชอบไถดูอะไรไปเรื่อย ติดกันหลายชั่วโมง ทำให้เกิดอาการนิ้วชา ปวดข้อมือ ซึ่งเกิดจากการที่เราจิ้มมือถือหรือสไลด์หน้าจอนานเกินไปนั่นเอง ถ้าใครเป็นถึงขั้นที่นิ้วมือเริ่มแข็งจนเหยียดนิ้วไม่ได้ รีบไปหาคุณหมอด่วนเลยค่ะ
 
2. ตาแห้ง หรือตาล้า
เวลาเพ่งหน้าจอเล็กๆ นานเกินไป เราจะเริ่มรู้สึกตาแห้งเวลากะพริบตา หรือรู้สึกว่าล้าจนไม่สามารถมองจอต่อได้ ถ้าทิ้งเอาไว้นานๆ ก็อาจทำให้จอประสาทตาและวุ้นในตาเสื่อมได้ค่ะ
 
3. ปวดเมื่อยบริเวณคอ บ่า ไหล่
เวลาเล่นมือถือ เรามักจะอยู่ในท่าก้มหน้า ค้อมตัว เพื่อจะได้เล่นมือถือได้ถนัด การอยู่ในท่านี้นานๆ ทำให้คอ บ่า ไหล่ เกิดอาการเกร็งจนปวด เพราะเลือดไหลเวียนไม่สะดวก และอาจจมีอาการปวดหัวตามมาได้ค่ะ
 
4. หมอนรองกระดูกเสื่อม
โรคนี้ไม่จำเป็นว่าต้องรออายุมากถึงเป็นได้นะคะ ถ้าเรานั่งผิดท่า หรือนั่งเกร็งเป็นเวลานานๆ ทำจนเคยชิน จะเริ่มมีอาการปวดมากๆ จนถึงขนาดต้องผ่าตัดได้เลยค่ะ
 
5. โรคอ้วน
ลองสังเกตว่าเวลาที่เราติดโทรศัพท์มากๆ เราแทบจะไม่ขยับตัวไปทำอย่างอื่นเลย นั่นแปลว่าร่างกายของเราก็จะไม่ได้เผาผลาญพลังงานเท่าที่ควรค่ะ อะไรที่เรากินเข้าไปในแต่ละวัน ก็จะเริ่มกลายเป็นไขมันสะสมจนโรคอ้วนเริ่มถามหาแน่นอนค่ะ
 
           การติดมือถือมากๆ ไม่ใช่แค่ทำให้สุขภาพของเราเสียและทรุดโทรมไปทุกวันเท่านั้น แต่อาจจะทำลายความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างด้วยค่ะ พี่โอ๊ตยืนยันว่า ยังไงก็ตาม การได้พูดคุยสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนโดยตรงก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าแน่นอน    
พี่โอ๊ต
พี่โอ๊ต - Columnist คอลัมนิสต์สายบิวตี้ ชอบอัปเดตเมคอัพ และศึกษาเรื่องสกินแคร์ เพื่อผิวสวยอย่างปลอดภัย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น