ใกล้วาเลนไทน์เข้ามาทุกทีแล้ว สิ่งแรกที่หลายๆ คนนึกถึงคงไม่พ้นสัญลักษณ์รูปหัวใจ การสารภาพรัก และการแสดงความรักในรูปแบบต่างๆ และแน่นอนว่า คำว่า ‘ฉันรักเธอ’ คงเป็นคำที่ได้ยินบ่อยที่สุด และดูเหมือนว่าเราจะเริ่มพูดคำนี้กันบ่อยขึ้นด้วยค่ะ

แน่นอนว่า ไม่ว่าเราจะเป็นคนประเทศไหน การที่เรามีความรักก็ถือเป็นเรื่องปกติค่ะ แต่รู้มั้ยว่า การบอกรักของคนในแต่ละประเทศ ก็มีความหมายที่ต่างกันไปตามวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ด้วย อย่างคนไทยเอง จะใช้คำว่า รัก ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกว่ารัก ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แต่ประเทศอื่นๆ ล่ะ เค้าจะสื่อความหมายยังไงกันบ้าง

ญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่น จะไม่ค่อยพูดคำว่า รัก ออกมาตรงๆ ซักเท่าไหร่ค่ะ คำว่า ชอบ (suki) กับ รัก (ai) ในญี่ปุ่นค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก และคำว่า ฉันรักเธอ หรือ ai shiteiru ก็ไม่ได้เป็นคำที่นิยมใช้บอกรักกันในเวลาปกติค่ะ เรามักจะเห็นคำนี้อยู่ในซีรีส์หรือภาพยนตร์มากกว่า แทนที่จะพูดคำนี้ คนญี่ปุ่นมักจะใช้ประโยคที่แสดงถึงความใส่ใจและพร้อมจะสนับสนุนอีกฝ่าย อย่างเช่น “งานที่คุณทำดูยากนะ”, “ฉันรู้เลยว่าคุณพยายามมากแค่ไหน” หรือ “ฉันพร้อมสนับสนุนคุณเสมอนะ” เพื่อให้อีกฝ่ายรับรู้ว่ามีคนที่คอยเป็นห่วงและพร้อมอยู่ข้างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงความรักอย่างจริงใจค่ะ

ฝรั่งเศส

คนฝรั่งเศสค่อนข้างให้อิสระกับตัวเองในการเดทกับใครซักคน เราสามารถเดทกับคนที่เพิ่งเจอกันไม่กี่ครั้ง และสำหรับบางคนก็สามารถออกเดทพร้อมกันหลายๆ คนได้ คำว่า ฉันรักเธอ ของคนฝรั่งเศสจึงไม่ได้เป็นคำที่มีแรงกดดันอะไรมาก และคนส่วนใหญ่มักจะพูดกันหลังจากเดทได้ประมาณสองเดือน และถ้าจริงจังมากขึ้น ก็จะมีการไปพบเพื่อนและครอบครัวหลังจากนั้นด้วยค่ะ

อิรัก

คำว่า ชอบ และคำว่า รัก ในภาษาอาหรับถือว่าเป็นคำเดียวกันค่ะ และไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ผู้ชายจะบอกรักผู้หญิง แม้จะเป็นการเจอกันครั้งแรก แม้ปกติเราจะต้องค่อยๆ ไต่ลำดับขั้น ว่าต้องเริ่มจากชอบก่อนแล้วค่อยไปรัก แต่ในอิรักจะเป็นการออกเดท บอกรัก แล้วพาไปเจอพ่อแม่เลย (โอ้โห สุดปังมาก) ก็คือครอบครัวผู้ชายจะไปเจอบ้านฝ่ายหญิง แล้วคุยเรื่องแต่งงานกันเลย ถือว่าเป็นการแสดงความจริงใจและจริงจังแบบสุดๆ นอกจากนี้ คนอิรักก็ยังมีประโยคอื่นๆ นอกจากคำว่า ฉันรักเธอ (ahibbik) อย่างเช่น ฉันรักเธออย่างสุดซึ่ง (a'shaqich) หรือ ฉันรักเธอแทบจะตายอยู่แล้ว (amoot alaych) อีกด้วย

จีน

คำว่า ฉันรักเธอ (wo ai ni) มักจะเป็นฝ่ายชายที่เริ่มพูดก่อนค่ะ เพราะว่าผู้ชายจีนส่วนใหญ่ต้องการให้ความสัมพันธ์นั้นพิเศษมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าในเดทแรก อาจจะเป็นผู้หญิงที่ชวนไปดูหนังหรือเริ่มจับมือก่อน แต่พวกเธอก็บอกว่าอยากจะได้ยินประโยคนี้ ก่อนที่จะเปิดตัวว่าเป็นแฟนกันให้คนอื่นรู้ รวมถึงก่อนที่จะมีเซ็กซ์กันด้วย หลังจากการบอกรักครั้งแรกผ่านไป หลายๆ คู่ก็มักจะบอกรักกันทุกวันในช่วงแรก แต่นี่ก็เป็นเพียงพฤติกรรมในช่วงวัย 20-35 ปี เป็นส่วนใหญ่ ส่วนคนที่อายุมากกว่านี้ก็ไม่ค่อยจะพูดกันแล้วล่ะค่ะ

เกาหลีใต้

สังคมเกาหลีเรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาค่ะ อย่างเมื่อก่อนการบอกรักกันจะไม่ค่อยจะเกิดขึ้นระหว่างคู่สามีภรรยา หรือพ่อแม่กับลูก จะเน้นไปที่ความเข้าใจกันมากกว่า แต่ในช่วงหลังที่ซีรีส์เกาหลีเป็นที่นิยมมากขึ้น ก็ส่งผลต่อการบอกรักในชีวิตจริงเหมือนกันค่ะ และคู่รักก็มักจะแสดงความรักต่อกันมากขึ้นด้วย หรือคนสมัยก่อน (ก่อนยุค 80s-90s) จะไม่นิยมเดินจับมือกันเหมือนอย่างตอนนี้ค่ะ

จริงๆ แล้วการแสดงความรัก ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบของการกระทำหรือคำพูด ความหมายก็อยู่ตรงที่ความจริงใจของเรามากกว่าค่ะ เพราะต่อให้เราบอกรักกันมากแค่ไหน แต่เจตนาไม่ได้ทำด้วยความห่วงใย อีกฝ่ายก็คงไม่สามารถรับรู้ถึงความรักของเราได้ เพราะฉะนั้น เริ่มทุกอย่างด้วยใจ แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติดีกว่าเนอะ

ข้อมูลอ้างอิงจาก : https://www.ndtv.com

 

พี่โอ๊ต
พี่โอ๊ต - Columnist คอลัมนิสต์สายบิวตี้ ชอบอัปเดตเมคอัพ และศึกษาเรื่องสกินแคร์ เพื่อผิวสวยอย่างปลอดภัย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด