เคล็ดลับการขอ Recommendation Letter(จดหมายแนะนำ)

   สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com หลังจากที่น้องๆ ได้ทำความรู้จักกับเรียงความสมัครเข้าเรียนต่อแล้ว วันนี้ พี่พิซซ่า จะพาไปรู้จักเอกสารอีกหนึ่งฉบับ (หรือสอง) ที่ต้องส่งไปพร้อมกับใบสมัครด้วย นั่นก็คือ Recommendation Letter หรือจดหมายแนะนำจากอาจารย์นั่นเองค่ะ แม้ว่าการเขียนจดหมายฉบับนี้นั้นไม่ใช่งานของน้อง แต่การกระทำของน้องสามารถส่งผลถึงสิ่งที่อาจารย์จะเขียนลงไปได้ ถ้าอยากได้จดหมายแนะนำเลิศๆ น้องก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมตามนี้เลยค่ะ

 

คณะกรรมการรับเข้าศึกษาต่อขอ Recommendation Letter ไปทำไม

   บทบาทของ Recommendation Letter นั้น ไม่ใช่บอกว่าน้องมีทักษะความสามารถในการเป็นผู้เรียนมากเท่าไหร่ แต่เพื่อบอกว่าลักษณะนิสัย จรรยาบรรณการทำงาน ความซื่อสัตย์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่มองผ่านสายตาของผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับคณะกรรมการเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งบางทีก็อาจให้รายละเอียดข้อดีบางอย่างที่น้องอาจมองข้ามไปในเรียงความของตัวเอง แต่ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ ผ่านประสบการณ์มาพอสมควรมองเห็นในจุดนี้ก็ได้ค่ะ

 



เคล็ดลับการขอ Recommendation Letter

ขอใคร?

   ผู้ที่จะเขียนจดหมายแนะนำให้น้องได้นั้นควรเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา, อาจารย์ที่น้องเรียนด้วย, โค้ช, นายจ้าง หรือใครก็ตามที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลน้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งต้องรู้จักน้องเป็นอย่างดี รู้จักผลงานของน้อง และค่อนข้างมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับตัวน้อง และที่สำคัญที่สุดคือเป็นผู้ที่เชื่อถือได้และมีความรับผิดชอบ ผู้เขียนจดหมายแนะนำที่ดีต้องเป็นผู้ที่ตั้งใจเขียนด้วยตนเอง และส่งเอกสารได้ทันเวลา

   ผู้ที่ห้ามขอ: พ่อแม่, ญาติ, เพื่อน, หรือบุคคลมีชื่อเสียงที่ไม่รู้จักน้องเป็นอย่างดี นั่นก็คือคนที่เข้าข้างน้องอย่างเห็นได้ชัด และคนที่ไม่รู้จักตัวตนน้องเลย ห้ามเด็ดขาดเลยค่ะ อาจารย์ที่ปล่อยเกรดบางท่านก็อาจไม่เหมาะสมได้ เพราะคณะกรรมการอาจพิจารณาพร้อมกับทรานสคริปต์แล้วสงสัยว่าทำไมน้องได้เกรดสี่จากอาจารย์ท่านนี้ทุกเทอม เลยไม่เชื่อถือจดหมายแนะนำฉบับนั้น (แต่ถ้าน้องมีผลการเรียนดีโดยทั่วไปก็ไม่ต้องกังวลในจุดนี้ค่ะ) รวมถึงอาจารย์ที่สอนน่าเบื่อ สอนเหมือนอ่านหนังสือเรียนให้ฟัง หรือชอบเข้าสาย ตรวจงานช้า หรือทำการบ้านนักเรียนหาย เพราะส่อแววเลยว่าอาจารย์ท่านนั้นอาจจะคัดลอกจดหมายเก่าๆ หรือไม่ตั้งใจเขียน หรือเสร็จไม่ทันกำหนดเวลา

 



ขออะไร?

   แน่นอนค่ะว่าน้องกำลังขอให้อาจารย์เขียนจดหมายแนะนำให้ โดยน้องต้องอธิบายว่าน้องอยากไปเรียนอะไร ที่ไหน ทำไมและลองถามว่าอาจารย์จะช่วยเขียนจดหมายแนะนำดีๆ ให้ได้ไหม ถ้าอาจารย์ตกลงจะเขียนให้น้องก็ต้องให้ลิสต์สิ่งดีๆ ในตัวน้องแก่อาจารย์ ซึ่งลิสต์นี้อาจรวมรายงานหรือโครงงานดีๆ ที่เคยทำมา หรืออะไรดีๆ ที่เคยแสดงออกมาตอนอยู่ในห้องเรียน การให้ลิสต์นี้จะช่วยให้อาจารย์เขียนได้สะดวกมากขึ้น ยิ่งสะดวกอาจารย์ก็ยิ่งยินดีเขียนให้มากขึ้น ถ้าอาจารย์บอกว่าให้น้องลองร่างจดหมายมาให้ดูก่อน น้องค่อยร่างไปให้ แต่อย่าเสนอความคิดนี้ไปเองนะคะ เพราะอาจารย์จะมองว่าน้องไม่เคารพท่าน แค่เห็นเป็นคนที่จะเซ็นให้กับอะไรก็ได้ที่น้องเขียนมาเอง นอกจากนี้น้องๆ อย่าลืมแนบแบบฟอร์มการเขียน (ถ้ามี) แล้วก็ซองจดหมายที่พร้อมส่งไปมหาวิทยาลัยนั้นๆ ให้อาจารย์ด้วยเพื่อความสะดวกค่ะ ถ้าอาจารย์ขอดูทรานสคริปต์หรือเรียงความเข้าเรียนต่อของน้อง น้องก็ต้องมีสำเนาพร้อมให้อาจารย์ดูได้เสมอเช่นกันค่ะ

 

ขอเมื่อไหร่?

   เร็วที่สุด ขอล่วงหน้าให้ไกลจาก Deadline ส่งเอกสารให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ อย่าลืมนะคะว่าอาจารย์ที่น้องเคารพรัก ท่านก็มักจะเป็นอาจารย์ที่นักเรียนแทบทั้งรุ่นรักเหมือนกัน และก็คงอยากให้เขียนจดหมายให้เช่นกัน ยิ่งน้องขอเร็วเท่าไหร่ อาจารย์ท่านยิ่งมีเวลาให้กับจดหมายของน้องมากเท่านั้น ทำให้จดหมายของน้องมีรายละเอียดดีๆ ครบถ้วนมากกว่าค่ะ แต่ไม่ต้องกระตือรือร้นถึงขั้นขอกลางชั่วโมงเรียน ขอในขณะที่อาจารย์กำลังคุยกับนักเรียนคนอื่นอยู่ ขอหลังจากที่ตกเทสต์ในห้องอย่างไม่มีชิ้นดี หรือขอหลังจากที่ไม่ได้ตั้งใจเรียนมาตลอดคาบ ไม่เวิร์คแน่ๆ ค่ะ

 



ขอที่ไหน?

   สถานที่ที่เหมาะสมที่สุดที่จะขอร้องให้อาจารย์ช่วยเขียนจดหมายให้นั้นคือในห้องทำงานของอาจารย์ค่ะ อาจเป็นช่วงพักหรือหลังเลิกเรียน อย่าตามไปขอที่โรงอาหาร หรือวิ่งตามขณะที่อาจารย์กำลังจะขับรถกลับบ้านนะคะ

 

ขออย่างไร?

   เมื่อมีโอกาสให้ขออนุญาตเข้าพบอาจารย์ที่ห้องทำงานในช่วงพักหรือหลังเลิกเรียนแล้วแต่อาจารย์สะดวกค่ะ สังเกตดีๆ นะคะ การขอครั้งนี้เป็นแค่การขอเข้าพบแบบเป็นส่วนตัว ซึ่งน้องจะขอตอนไหนก็ได้ จะเป็นตอนที่เจออาจารย์นอกห้องเรียนแล้วก็ได้ แต่การขอให้เขียนจดหมายนั้น ควรถามเมื่อน้องได้เข้าพบอาจารย์แบบสองต่อสองแล้วค่ะ

 



หลังจากขอแล้ว จะติดตามผลอย่างไรไม่ให้น่าเกลียด

   ที่แน่ๆ เลยคือห้ามถามว่า “อาจารย์เขียนไปถึงไหนแล้วครับ เสร็จยัง” ไม่สุภาพค่ะ ถึงจะสนิทสนมกับอาจารย์ท่านนี้มากแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ควรรู้จักกาละเทศะค่ะ น้องควรเปลี่ยนเป็นถามว่า “อาจารย์ครับ ผมจะมาถามว่าอาจารย์ต้องการเอกสารหรือข้อมูลอะไรเพิ่มเติมไหมครับ ก่อนที่จะต้องส่งเดือนหน้า” อาจารย์ก็จะไม่รู้สึกว่าถูกน้องเร่งแล้วค่ะ

   หลังจากที่อาจารย์ส่งจดหมายให้แล้ว น้องควรขอบคุณด้วยตัวเอง มีการ์ดเขียนด้วยลายมือสวยๆ เพื่อแสดงความขอบคุณและของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ให้อาจารย์ ไม่ต้องเว่อร์หรือใหญ่โตก็ได้ค่ะ แค่ให้อาจารย์ทราบว่าน้องซึ้งใจมากแค่ไหนแล้วก็จดหมายฉบับนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตน้องมากเพียงใด อาจจะฟังดูดราม่าไปนิดนะคะ แต่วินาทีนั้นน้องจะรู้สึกตื้นตันใจจริงๆ ที่อาจารย์เขียนให้

 

   รู้อย่างนี้แล้ว การขอจดหมายแนะนำไม่ใช่เรื่องยากเลยใช่ไหมคะ บางคนบอกว่าจดหมายนี้เป็นสิ่งที่ง่ายสุดในการสมัครเลยเพราะน้องไม่ต้องเขียนเอง จุดสำคัญอยู่ที่การขอให้ถูกคนถูกเวลาเท่านั้นเอง ส่วนเนื้อหาในจดหมายนั้น สุดแท้แต่อาจารย์ผู้เขียนค่ะ แค่น้องๆ รวบรวมข้อดีของตัวเองไปให้ และเป็นนักเรียนที่ดีในห้องเรียนให้อาจารย์ได้เห็นจริงๆ แค่นี้เนื้อหาก็ออกมาดีเองแล้วค่ะ



ข้อมูล

www.getintocollegeblog.com
ภาพประกอบ
ugaadmissions.blogspot.com, www.sophisticatededge.com
sarahoremadvises.wordpress.com, www.ehow.com

พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

6 ความคิดเห็น

5678 4 ม.ค. 61 16:10 น. 1-1

ก็ถ้าต่อนอกก็ภาษาอังกฤษครับ หรือถ้าเป็นประเทศที่อาจารย์ใช้ภาษานั้นๆได้ (เช่นต่อญี่ปุ่น อาจารย์สอนญี่ปุ่น) ก็เขียนภาษานั้นๆไป แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับ requirement ของที่ที่จะไปด้วย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Nuttachai 30 พ.ค. 57 22:35 น. 5
ข้อมูลที่รวบรวมมานี้เป็นประโยชน์มากครับ ลูกสาวผมกำลังจะต่อป.โท ที่ UC Berkeley อยากได้คำแนะนำอื่นๆอีกครับ เช่น STATEMENT OF PURPOSE , PERSONAL HISTORY STATEMENT ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ
1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด