เคล็ดลับปรับตัวเข้าสู่วัยทำงานของเด็ก Work&Travel

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com น้องๆ ที่สมัครโครงการเวิร์คแอนด์ทราเวลตอนนี้น่าจะอยู่ในช่วงสัมภาษณ์งานกับนายจ้างอยู่ใช่มั้ยคะ ใครที่ยังกังวลเรื่องสัมภาษณ์งานอ่านเคล็ดลับการสัมภาษณ์งานกับนายจ้างได้ค่ะ บางคนแม้ไม่กังวลตอนสัมภาษณ์ แต่เมื่อไปทำงานจริงแล้วกลับมีปัญหาทันที เพราะโลกของวัยเรียนกับวัยทำงานต่างกันค่ะ วันก่อนยังเรียนกันอยู่ดีๆ อีกวันต้องมาทำงานเฉยเลย แถมเป็นการทำงานกับชาวต่างชาติอีกด้วย พี่พิซซ่า เลยอยากแนะนำเรื่องชีวิตการทำงานในอเมริกาให้ค่ะ





การตรงต่อเวลา

     จะเรื่อยเปื่อยจนเข้าห้องเรียนนาทีสุดท้ายแบบที่ไทยไม่ได้นะคะ ต้องจำให้แม่นๆ เลยว่าที่นั่นค่อนข้างเคร่งครัดกับการตรงต่อเวลาค่ะ สายนาทีเดียวก็เกิดปัญหาได้แล้ว จึงต้องไปถึงที่ทำงานก่อนเวลางานเสมอ หรือถ้ามีเหตุให้ต้องไปสายก็ต้องโทรบอกหัวหน้าล่วงหน้าค่ะ หรือถ้าจำเป็นต้องขาดงานวันนั้นก็ยิ่งต้องโทรบอกหัวหน้าล่วงหน้านานๆ เลยค่ะ ถ้ารู้สึกว่าป่วยจนไปทำงานไม่ไหว ก็ควรโทรบอกหัวหน้าทันทีที่ตื่น ไม่ใช่ฝากเพื่อนที่ต้องไปทำงานพร้อมกันไปบอก เพราะเพื่อนก็จะไปถึงที่ทำงานก่อนถึงเวลางานไม่กี่นาที หัวหน้าจึงไม่สามารถตามพนักงานคนอื่นมาเข้างานแทนเราได้ทัน ส่วนการลากิจหรือลาพักผ่อนควรแจ้งหัวหน้าอย่างต่ำสองสัปดาห์ล่วงหน้าค่ะ



การทำงานเป็นทีม

     ฝึกสังเกตบรรยากาศและสไตล์การทำงานของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน และพยายามปรับตัวให้เข้ากับพวกเขาด้วย ถ้าเห็นเพื่อนร่วมงานขอความช่วยเหลือ แม้ไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่ก็ควรช่วยเสมอเมื่อมีโอกาส เพื่อแสดงความตั้งใจในการทำงาน และแม้จะไม่มีใครขอให้ช่วย ถ้ามองแล้วว่าช่วยได้ก็ควรช่วยอยู่ดีค่ะ เป็นการแสดงน้ำใจที่ดีมากๆ เลย





การสื่อสาร

     จุดเด่นของเราคือรอยยิ้ม ฉะนั้นยิ้ม ยิ้ม ยิ้มเข้าไว้ค่ะ แต่ก็ต้องระวังเวลาที่เรากำลังโดนดุอยู่ก็ไม่ควรยิ้มค่ะ คนอเมริกันจะมองว่าเรายิ้มท้าทาย ไม่สนใจฟัง หรือเห็นว่าการทำงานที่นี่ไม่ใช่เรื่องจริงจัง อีกเรื่องที่ควรระวังคือพยายามอย่าพูดภาษาไทยกับเพื่อนคนไทยที่ทำงานด้วยกันค่ะ เพราะต่างชาติจะคิดว่าเราต้องนินทาเขาอยู่แน่ๆ เลย ส่วนภาษากายก็ท่องไว้ว่าคนอเมริกันไม่ถือเรื่องการจับมือหรือการกอด เพราะเป็นการทักทายปกติของเขาอยู่แล้ว ถ้าไม่แน่นเกินหรือไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดก็อย่าเพิ่งคิดว่าโดนแต๊ะอั๋งนะคะ ใจเย็นนิดนึง ส่วนเรื่องการใช้เท้าเขาก็ไม่ถือเช่นกัน ฉะนั้นอย่าช็อคเมื่อเพื่อนร่วมงานใช้เท้าสะกิดเรา เขี่ยหรือคีบสิ่งของให้เรา หรือใช้เท้าชี้อะไรบางอย่างให้เราดู 



ตรงไปตรงมา

     คนอเมริกันตรงไปตรงมา อะไรที่ไม่ชอบก็บอกทันที หรือถ้าชอบก็บอกทันทีเช่นกัน แต่คนไทยจะมีนิสัยขี้เกรงใจไปซะทุกเรื่อง ดังนั้นก็ไม่ควรเก็บเอาทุกอย่างที่เขาไม่เห็นด้วยมาคิดมาก ในทางกลับกันถ้าเราไม่ชอบใจอะไรบางอย่าง เช่น เพื่อนร่วมงานคนนึงจับมือทักทายเรานานจนรู้สึกอึดอัด ก็ควรบอกไปเลยว่าอึดอัดและขอให้เขาปล่อยมือ อย่าคิดว่าช่างเถอะเดี๋ยวเขาจะมองว่าเราหลงตัวเอง ไม่ใช่เลยค่ะ ถ้าเขาจับนานแต่เราไม่ได้ว่าอะไร เขาจะตีความไปว่าเราชอบให้ทำแบบนี้และอาจคิดอะไรไปไกลก็ได้ ฉะนั้นต้องบอกแต่แรกเลยค่ะเพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย 

     สำหรับในวงสนทนา ชาวอเมริกันชอบแสดงความคิดเห็นถึงแม้ว่าจะคิดต่างจากคนอื่นก็ตาม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเห็นว่าเพื่อนร่วมงานเราเหมือนจะโต้แย้งกันอยู่ เพราะจริงๆ แล้วพวกเขาแค่พูดในสิ่งที่คิดเท่านั้น แต่ไม่ได้มองว่าความคิดคนอื่นจะผิดหรือบังคับให้คนอื่นต้องเห็นด้วย ทั้งหมดคือการแลกเปลี่ยนความชอบไม่ชอบของแต่ละคนค่ะ เพื่อที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจมุมมองของกันและกัน และง่ายต่อการทำงานร่วมกันบนความแตกต่าง แต่อย่าคุยกันเรื่องศาสนาและการเมืองนะคะ เพราะหัวข้อนี้ทำให้คนตีกันได้เสมอ





การแต่งกาย

     เครื่องแบบพนักงานแต่ละที่เป็นอย่างไรก็ต้องแต่งกายให้ถูกต้องตามนั้น อย่าให้ความสำคัญกับการสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของตัวเอง เรื่องนี้รวมไปถึงทรงผมและเครื่องประดับด้วยนะคะ ส่วนมากงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารจะต้องรวบผมให้เรียบร้อย หรืออาจต้องเก็บผมขึ้นให้หมดไม่ให้มีผมปรกหน้า หรือกำหนดว่าสามารถใส่ต่างหูได้คู่เดียวและต้องเป็นแบบติดหู ไม่ห้อยระย้า และเป็นสีเรียบๆ งานหลายตำแหน่งห้ามไว้เล็บยาวหรือตกแต่งเล็บ บางงานห้ามใส่กำไลหรือนาฬิกาสีสดใสก็มีเหมือนกัน ฉะนั้นอ่านระเบียบเครื่องแต่งกายให้ดีนะคะ อย่าให้พลาดจนเกิดปัญหาในภายหลัง



การปกป้องสิทธิเสรีภาพของตัวเอง

     ถ้าถูกเหยียดสีผิว เหยียดเพศ เหยียดสัญชาติหรือถูกคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาหรือการกระทำ เรามีสิทธิเท่าเทียมกับเขา เพราะมนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคเหมือนกัน เราจึงสามารถแจ้งเรื่องนี้กับนายจ้างหรือผู้มีอำนาจได้ค่ะ ในทางกลับกัน อย่ามัวแต่เรียกร้องสิทธืให้ตัวเองแต่ไม่ยอมดูว่าเราละเมิดสิทธิคนอื่นอยู่หรือไม่ ดังนั้นต้องระวังเรื่องคำพูด อย่าใช้คำว่าคนดำหรืออินเดียแดง แต่ให้เรียกว่าแอฟริกันอเมริกันกับเนทีฟอเมริกันแทนค่ะ หรืออย่าเอาประเทศคนอื่นมาใช้แทนลักษณะบางอย่าง เช่น ใช้คำว่า "ลาว" แทนคำว่าเชย ล้าสมัย หรือรสนิยมประหลาด





อย่าดูถูกงาน

     มีโอกาสสูงที่จะไม่ได้ทำงานที่เราเลือกไว้ตอนแรก หรือหน้าที่ของงานนั้นอาจไม่ตรงกับที่เราคาดไว้ แต่อย่าไปคิดว่าทำไมต้องมาทำงานเยี่ยงทาส ทำไมต้องทนลำบากพาตัวเองมาทรมานตั้งไกล หรือทำไมต้องจ่ายเงินเป็นแสนเพื่อมาเป็นขี้ข้า ถ้าเอาแต่คิดแบบนี้รับรองว่าอยู่ยากแน่ๆ ค่ะ พยายามมองในแง่มุมดีๆ มองว่านี่คือบทเรียนหนึ่งของการก้าวสู่โลกของผู้ใหญ่ เป็นบททดสอบว่าเราพร้อมเผชิญกับโลกแห่งความจริงที่มีแต่ความโหดร้ายหรือยัง ฉะนั้นไม่ว่าจะงานเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ต้องทำเต็มที่และทำให้ดีที่สุดเสมอค่ะ



พยายามคิดบวกเสมอ

     อย่าเอาทุกอย่างมาคิดมากค่ะ อย่าคิดว่าอุตส่าห์ทำเต็มที่แล้วทำไมยังโดนดุอีก แต่ให้เปลี่ยนไปมองว่ามันเป็นงานของหัวหน้าอยู่แล้วที่ต้องคอยว่ากล่าวตักเตือนลูกน้อง หรือถ้าโดนเพื่อนร่วมงานนินทาลับหลังเพราะหมั่นไส้เรา ก็ให้คิดว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะแปลว่าเรามีดีมากพอจนมีคนอิจฉา หรือถ้าเจอลูกค้างี่เง่าเอาแต่ใจ ก็อย่าเอากลับมาคิดต่อหลังเลิกงานค่ะ ให้ถือซะว่าเดี๋ยวก็ไม่เจอกันแล้ว ช่างเถอะ






     ในระยะเวลา 3 เดือนนี้น้องๆ จะต้องเจอความกดดัน ความเครียด ความผิดหวัง และความอ้างว้าง แต่ทุกอย่างมันขึ้นกับใจเราเองนะคะ ถ้าใจเราเข้มแข็ง มองเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก รู้จักปล่อยวาง และอยู่กับปัจจุบัน ก็ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ และรับรองว่ากลับไทยไปแล้ว ทุกคนจะต้องบอกว่าน้องโตขึ้นเยอะจริงๆ และการไปเวิร์คครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่าสุดๆ ไปเลยค่ะ
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

azumeow sunthia Member 15 ก.ย. 56 14:48 น. 1

ซึ้ง  เจ๋ง แต่ละข้อสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งการไปทำงานที่ต่างประเทศหรือว่าที่ไทยเองก็ตาม

การตรงต่อเวลา ข้อนี้สำคัญมากๆ ใช้ได้ทุกเรื่องเล้ยยยยย

0
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

azumeow sunthia Member 15 ก.ย. 56 14:48 น. 1

ซึ้ง  เจ๋ง แต่ละข้อสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งการไปทำงานที่ต่างประเทศหรือว่าที่ไทยเองก็ตาม

การตรงต่อเวลา ข้อนี้สำคัญมากๆ ใช้ได้ทุกเรื่องเล้ยยยยย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด