น้องๆ ชาว Dek-D รู้จัก อาเซียน กันอยู่แล้ว่ไหมคะ แล้วก็คงรู้จัก "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ด้วย เวลาเราพูดถึงสองคำนี้...อย่างไรเราก็นึกออกว่าหมายถึง 10 ประเทศแถบใกล้เคียงบ้านเราในภูมิภาคเดียวกับเราเนอะ แต่นอกจากคำว่า เอเชียตะวันอกเฉียงใต้ แล้ว เรายังเรียกรวมดินแดนในแถบนี้ได้ว่าอะไรอีกบ้างนั้น พี่เกียรติขอพาไปเรียนรู้ร่วมกัน เผื่อเราไปเจอคำเหล่านี้ในตำราเรียน หนังสือใดๆ หรือได้ยินจากไหน เราจะได้ไม่พลาด และเข้าใจมันค่ะ
สุววรณภูมิ |
มีเอกสารโบราณต่างๆ กว่า 2,500 ปีมาแล้วทั้งจากสายอินเดีย ลังกา เปอร์เซีย ที่เรียกดินแดนในแถบบ้านเรานี้ว่า "สุวรรรภูมิ" ซึ่งหมายถึง แผ่นดินทอง ซึ่งเชื่อกันว่าหมายถึงว่า ดินแดนที่สมบูรณ์ เต็มไปด้วยอาหาร ป่าไม้ และแร่ธาตุชั้นดี เป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติมาแต่โบราณกาล สุวรรณภูมิเป็นคำที่หมายรวมถึงหลายชาติพันธุ์ในแถบเดียวกันนี้ทั้งหมด ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ที่ขนาบด้วย 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิกด้านทิศตะวันออก กับมหาสมุทรอินเดียด้านตะวันตก มีบันทึกว่าสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็เคยส่งพระโสณเถระและพระอุตตรเถระมาเผยแผ่พุทธศาสนายังดินแดนที่ชื่อ สุวรรณภูมิ (ยังคงมีการตีความว่าสุวรรณภูมิที่พระเจ้าอโศกส่งสมณทูตมานั้น เป็นไปได้หลายพื้นที่นะ ตั้งแต่อินเดียเอง แถบมลายู หรือแถวเมียนมาร์) ในบันทึกชาวฮั่น (จีนโบราณ) ก็เอ่ยถึงดินแดนแถบนี้ว่า จินหลิน หรือ กิมหลิน ก็แปลว่าแผ่นดินทองเหมือนกัน
แม้ว่าจะมีบันทึกเกี่ยวกับดินแดนสุวรรณภูมิในตำนานหรือจารึกแถบตะวันตก อินเดีย และจีนก็ตาม แต่ในตำนานหรือจารึกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเราเองกลับไม่ค่อยมีหลักฐานนะคะ จึงยังมีผู้โต้แย้งทฤษฎีสุวรรณภูมิว่าอยู่ที่ไหนกันแน่อยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าเราเชื่อว่าสุวรรณภูมิคือแถบบ้านเรา ตามข้อมูลเท่าที่ตอนนี้เชื่อถือกันมากที่สุดก็ถือว่า สุวรรณภูมิ คือบริเวณผืนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นี้เองค่ะ
|
อินโดจีน |
Indochina เป็นชื่อเรียกที่นักวิชาการเรียกดินแดนที่ขนาบด้วยประเทศ อินเดีย และจีน ซึ่งนอกจากขนาบข้างทางภูมิศาสตร์แล้ว อีกทั้งยังรับวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศมาประยุกต์จนกลมกลืนอีกด้วย เป็นชื่อเรียกที่ปรากฎในช่วงยุคล่าอาณานิคม มาจากภาษาฝรั่งเศสคำว่า Indochine ซึ่งปัจจุบันคำนี้มีนิยามแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
(1) อินโดจีนของฝรั่งเศสตามที่มาของชื่อที่ก็คือประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม มักกล่าวอ้างถึงในแง่ประเด็นสงครามอินโดจีน
(2) ในทางภูมิศาสตร์ หมายถึงพื้นที่ผืนใหญที่ขนาบข้างด้วยอินเดีย และจีน ซึ่งก็จะรวมไทย เมียนมาร์ และพื้นที่ในคาบสมุทรมลายู (สิงคโปร์ และมาเลเซียบางส่วน) ซึ่งในความหมายหลังนี้เป็นความเข้าใจในปัจจุบันมากกว่าค่ะ ก็เรียกว่าเป็นส่วนใหญ่ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบันแล้วค่ะ
Image: PHGCOM, commons.wikimedia.org
|
Image: Scottish Geographical Magazine, 1886
เอเชียอาคเนย์ |
สำหรับพี่เกียรติ คำว่าเอเชียอาคเนย์นี้ ดูเป็นคำเก๊าเก่ามากๆ เลยล่ะ แถมถ้าไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์เท่าไหร่ พี่ว่าพวกเราหลายๆ อาจไม่รู้จักคำนี้กันก็ได้เนอะ
เอเชียอาคเนย์
เอเชีย ก็คือ asia คำฝรั่งนี่แหละค่ะ แต่คำว่า อาคเนย์ มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ทิศตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าในความคิดพี่เกียรติคำนี้จะดูเก่ามาก แต่ทั้งคำว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เรานิยมเรียกกันในปัจจุบัน และคำว่า เอเชียอาคเนย์ นี้ ล้วนเพิ่งปรากฎใช้เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อกำหนดชื่อเรียกพื้นที่ในแถบนี้ทั้งหมดเองค่ะ
ภาพหน้าปก สุภัทรดิศ ดิศกุล : แปลและเรียบเรียง, สมาคมประวัติศาสตร์ฯ จัดพิมพ์โดยการสนับสนุนของกองทุน วอลเตอร์ เอฟ เวลลา, 2549 (พิมพ์ครั้งที่4)
|
อุษาคเนย์ |
พี่เกียรติว่า "เอเชียอาคเนย์" นี่ก็ไม่ค่อยมีคนนิยมใช้แล้วนะ เจอ "อุษาคเนย์" เข้าไปอีก เริ่มสับสนแฮะ ฮ่าๆ อาจเป็นเพราะ อุษาคเนย์ คำนี้มันดูสละสวยกว่า อ่านแล้วรู้สึกเหมือนภาษาที่ใช้ในกาพย์กลอน เลยพาลคิดไปว่าน่าจะเป็นคำเก่าแก่กว่า เอเชียอาคเนย์ แต่จริงๆ เป็นคำใหม่กว่าอีกนะคะ มีอธิบายไว้ชัดเจนในบทความของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ พี่เกียรติขอยกส่วนหนึ่งนี้มาเลยนะคะ
"อุษาคเนย์ เป็นชื่อที่คุณไมเคิล ไรท์ ผูกขึ้นจากภาษาบาลี-สันสกฤต ตั้งใจจะหมายถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้... เพื่อใช้แทนคำว่าเอเชียอาคเนย์ ซึ่งหัวมังกุ ท้ายมังกร เพราะเอเชียเป็นคำฝรั่งได้จากคำบาลี-สันสกฤต อุษา (เช้าตรู่, ตะวันออก) กับ อาคเนย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้)
ทั้งนี้โดยไม่มีเจตนาสร้างศัพท์บัญญัติขึ้นใหม่ให้วงการใดๆ แค่ผูกคำใช้เองในข้อเขียนของเขาเองที่ลงพิมพ์เฉพาะนิตยสารรายเดือนศิลปวัฒนธรรม ช่วงเริ่มต้นราว 30 กว่าปีมาแล้วเท่านั้น..." มติชนรายวัน ฉบับประจำวันอังคารที่ 4 กันยายน 2555 -อ้างอิง
|
อุษาคเนย์ ในทางภาษาแล้วจริงๆ คำว่า อุษา มีความหมายว่า รุ่งอรุณ รุ่งเช้า แสงตะวันยามรุ่ง มองๆ แลๆ แล้วเมื่อรวมกับ อาคเนย์ ที่แปลว่าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก็แปลแบบง่ายๆ ว่า ทิศอาคเนย์แห่งอรุณรุ่ง ซึ่งก็ยังไม่ได้หมายความว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตรงเสียทีเดียว แต่ก็มีผู้พิจารณาว่า อุษา ในที่นี่อาจตีความหมายได้ว่าหมายถึง ตะวันออก หรือ เอเชีย
(อุษา = อรุณรุ่ง = แสงแดดเริ่มส่อง = ตะวันออก = เอเชีย*)
พี่เกียรติก็ไม่ใช่ผู้รู้ทางภาษาเสียด้วย แต่โดยสรุปแล้ว อุษาคเนย์ ในความเข้าใจทั่วไปตอนนี้ก็คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นี้แหละค่ะ
*มีข้อสันนิษฐานหนึ่งว่า asia อาจเป็นภาษากรีก ที่มาจากคำว่า asus ในภาษาอัสซีเรียที่หมายความว่า ตะวันออก
|
ภาพหน้าปก ปรานี วงษ์เทศ, เรือนแก้วการพิมพ์, 2543.
ภาพหน้าปก วรรณวรรธน์, ณ บ้านวรรณกรรม,
ภาพหน้าปก เริงวุฒิ มิตรสุริยะ, ยิปซีสำนักพิมพ์, 2557.
ถ้าเราข้ามคำว่าสุวรรณภูมิ และอินโดจีนไป เพราะอาจจะไม่สามารถอ้างถึงประเทศในอาเซียนได้ทั้งหมด พอเรามาดูระหว่างคำที่เหลือ คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียอาคเนย์ และอุษาคเนย์ ผู้รู้หลายๆ คนอาจนิยมใช้คำว่า "อุษาคเนย์" มากกว่า ด้วยคำสละสลวยกว่า เพราะทั้งคำว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียอาคเนย์ เป็นการรวมคำข้ามภาษา เอเชียอาคเนย์ คือการรวมกันของคำฝรั่งและแขก (asia + สันสกฤต) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็รวมกันระหว่างฝรั่งและไทย (asia + ตะวันออกเฉียงใต้/ไทย) รวมคำข้ามภาษาไม่สละสลวยเท่า อุษาคเนย์ ที่เป็นภาษาแขกสมาสกันเองอย่างสวยงามว่างั้น
พี่เกียรติขอเล่าคร่าวๆ ถึงความหมายของ 4 คำนี้นะจ๊ะ อยากรู้เพิ่มเติมต้องติดตามในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยของน้องๆ นะจ๊ะ แต่เอ๊ะ ตอนนี้ได้เน้นสาระประวัติศาสตร์หรือเปล่านะ เห็นหลายๆ คนต้องนั่งตอบคำถามสาระพลเมืองกันหัวหมุนเลยนี่
น้องๆ ชาว Dek-D รู้จักคำไหนกันบ้างเอ่ย?
แหล่งข้อมูล, ภาพประกอบ:
- th.wikipedia.org/wiki/ทวีปเอเชีย
- en.wikipedia.org/wiki/Indochina
- en.wikipedia.org/wiki/Indochina_Wars
- 164.115.22.25/ojs222/index.php/tuj/article/download/201/203
- sujitwongthes.com/2012/09/siam04092555/ (อ้างอิง)
4 ความคิดเห็น
มีคำว่า "สุวรรณทวีป" ด้วยค่ะ
รู้จักหมดทุกคำนะค่ะ แต่พึ่งเคยได้ยิน " อุษาคเนย์ "
ขอบคุณความรู้ดีค่ะ
ขอบคุณคะ อยากให้ลงบทความแบบนี้เยอะๆคะ แบบพวก apec asean recp ttp aec อะไรแบบนี้อะคะ ว่ามีไปทำไม แตกต่างยังไง
คำว่า อาเซียน