9 ศัพท์ภาษาอังกฤษที่เป็น "สุดยอดคำแห่งปี" โดยพจนานุกรม Oxford

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com เผลอแป๊บเดียวก็ใกล้จะสิ้นปีอีกแล้ว ปฏิญาณปีใหม่ที่ พี่พิซซ่า สัญญากับตัวเองว่าจะลดน้ำหนักยังทำไม่ได้เลย แถมยังเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ 555 นอกเรื่องแล้ว พจนานุกรมภาษาอังกฤษที่ทั่วโลกไว้ใจมากที่สุดฉบับหนึ่งอย่าง Oxford Dictionaries ก็มีธรรมเนียมที่จะเลือกสุดยอดคำแห่งปีมาทุกปีค่ะ แต่หลังประกาศคำแห่งปีไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมากลับมีเสียงวิจารณ์มากมายเลย มาดูกันว่าสุดยอดคำแห่งปี 2015 นี้คือคำว่าอะไรกัน




     การคัดเลือกสุดยอดคำแห่งปีของ Oxford นั้น ไม่ได้เลือกจากคำที่ดูสวยๆ หรือมีประวัติเก่าแก่ แต่จะเลือกคำที่โดดเด่นขึ้นมากในปีนั้นๆ เป็นคำที่สะท้อนถึงความนิยมในสังคมอารมณ์ของปีนั้น และมีการใช้อย่างแพร่หลายในวงกว้างรวมทั้งใช้บ่อยมาก และคำที่ได้เป็น Word of the Year 2015 ก็คือ...

     อีโมจิรูปหัวเราะจนน้ำตาเล็ดหรือตัว Face with Tears of Joy ค่ะ พอผลออกมาว่าอีโมจิได้รางวัลสุดยอดคำแห่งปีไปก็มีเสียงวิจารณ์มากมายเลยว่ามันไม่ใช่คำซะหน่อย หรือไม่ก็บ่นว่า Oxford ฝีมือตกแล้วหรอ แต่ทางพจนานุกรมเองก็มีเหตุผลในการเลือกคำนี้มานะคะ

     Oxford บอกว่าอีโมจินั้นมีใช้กันมาตั้งแต่ปี 1997 แล้วแต่ในปี 2015 นี้มีการใช้เพิ่มขึ้นเยอะมากๆๆๆ และเจ้าหน้าหัวเราะจนน้ำตาเล็ดนั้นก็เป็นอีโมจิที่ใช้มากที่สุดทั่วโลกในปี 2015 ค่ะ แม้แต่ตัวคำว่า emoji เองนั้นก็มีการใช้มากขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนใครที่บอกว่ามันไม่ใช่คำซะหน่อยก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะอีโมจิใช้สื่อความหมายได้เหมือนคำศัพท์ แถมส่งอีโมจิตัวเดียวก็ทำให้เข้าใจได้ชัดเจนกว่าการต้องใช้คำมาขยายกันไปมาเพื่อสื่อความให้ตรงอารมณ์ซะอีก ดังนั้นถ้าพูดถึงยุคนี้และโดยเฉพาะในปีนี้แล้ว การสื่อสารกันด้วยสัญลักษณ์แทนคำศัพท์มาแรงมากจริงๆ ค่ะ (ลองนึกถึงสติ๊กเกอร์ไลน์ที่เราชอบกันดูสิ ส่งแทนการพิมพ์คำได้เลย แถมได้อารมณ์กว่าเยอะ)

     นอกจากนี้อีโมจิไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ฮิตของวัยรุ่นเฉพาะกลุ่มอีกต่อไปแล้ว ปีนี้คนทุกเพศทุกวัยใช้อีโมจิกันมากขึ้นเลยค่ะ บุคคลสำคัญหรือนักการเมืองดังๆ ก็ใช้อีโมจิคุยในโซเชียลมีเดียเพื่อทำให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นเช่นกัน อีโมจิจึงกลายมาเป็นเครื่องมือช่วยสื่อสารที่มาแรงมากๆ ในปีนี้ค่ะ

มาดูคำอื่นที่เข้ารอบสุดท้ายกันบ้าง

     เดี๋ยวจะคิดว่าปีนี้ลั้ลลากันอย่างเดียวเพราะอีโมจิตัวนั้น ปีนี้มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นมากมายทำให้มีคำที่เข้ารอบอีกถึง 8 คำค่ะ มาดูคำน่าสนใจอื่นๆ ในปีนี้กัน

ad blocker [N]
ซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันโฆษณาที่จะแสดงบนหน้าเว็บ
     ปีนี้มีผู้ใช้โปรแกรมบล็อกโฆษณาเพิ่มขึ้นเยอะมาก การใช้คำว่า ad blocker ก็เพิ่มขึ้นในปีนี้มากกว่าปีที่แล้วหลายเท่าตัวเลย

Brexit [N]
คำนี้คนไทยไม่น่าจะคุ้นหูกันเท่าไหร่ แต่เป็นศัพท์เฉพาะที่พูดถึงความเป็นไปได้ที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป
     ช่วงต้นปี 2015 ชาวยุโรปจะคุ้นเคยกับคำว่า Grexit (มาจาก Greek + exit) ซึ่งเป็นศัพท์ที่หมายถึงความเป็นไปได้ที่จะถอนประเทศกรีซออกจากสหภาพยุโรป แต่เมื่อถึงเดือนกรกฎาคมข้อตกลงการช่วยเหลือทางธุรกิจฉบับใหม่ที่ออกมาทำให้ความคิดเรื่องที่กรีซจะออกไปลดลงไปค่ะ คำว่า Grexit ก็ลดการใช้ลงเรื่อยๆ เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร คนจึงหันมาสนใจทางนี้แทนค่ะ พอพรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้งทำให้สังคมยุโรปกังวลเกี่ยวกับอนาคตของสหราชอาณาจักรในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 2017 ทำให้เกิดคำว่า Brexit ขึ้นมา (Brit + exit) เพราะเกรงว่าสหราชอาณาจักรจะออกจาก EU ไป

Dark Web [N]
เว็บไซต์ที่สามารถเข้าถึงได้เมื่อใช้ซอฟต์แวร์พิเศษที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้และผู้ให้บริการเว็บสามารถใช้ได้โดยไม่มีใครตามรอยเจอ
     หลายคนน่าจะรู้จัก Deep Web มาก่อนแล้ว นั่นคือส่วนหนึ่งของโลกอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถหาเจอได้โดยการใช้ search engine (เช่น google) แต่ Dark Web นี้คือเว็บไซต์ที่มีการเข้ารหัสบางอย่างเพื่อซ่อนตัวตนของผู้ให้บริการและผู้ใช้งานค่ะ ดังนั้นส่วนมากจึงมักเป็นเว็บที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผิดกฎหมาย คำนี้ใช้เยอะมากในข่าวที่รายงานเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์

lumbersexual [N]
หนุ่มชาวกรุงที่มีสไตล์และนิยมแต่งตัวคล้ายคนตัดไม้ของฝรั่ง หนุ่มๆ ประเภทนี้มักไว้เคราหนาๆ และใส่เสื้อลายตาราง
     จริงๆ แล้วคำว่า lumbersexual เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2008 โดยนำคำว่า lumberman (คนตัดไม้) มารวมกับ metrosexual (หนุ่มที่ดูแลตัวเองดี) โดยสื่อถึงชายหนุ่มที่รู้จักดูแลตัวเองดี เจ้าสำอาง แต่มักไว้หนวดเคราหนาๆ และใส่เสื้อลายตารางคล้ายสไตล์คนตัดไม้ของฝรั่ง คำนี้เพิ่งฮิตจริงจังช่วงปลายปี 2014 จนมาถึงปี 2015 นี้ค่ะ ดูได้จากแฟชั่นผู้ชายปีนี้เลยมีหนวดเคราทั้งนั้น


Chris Evans เป็นนักแสดงที่ไว้ลุคคนตัดอ้อย เอ๊ย คนตัดไม้อยู่เรื่อยๆ
(tumblr.com)

on fleek [adj phrase]
ดีเลิศ, เตะตามาก, โคตรมีสไตล์, งานดีงานปราณีต, เป๊ะเว่อร์
     คำอธิบายวลีนี้มีค่อนข้างเยอะเพราะในภาษาไทยเองปีนี้ก็เกิดวลีที่ใช้อธิบายลักษณะแบบนี้เยอะเหมือนกันค่ะ คำนี้เกิดจากคลิปวิดีโอในปี 2014 ของผู้หญิงคนหนึ่งที่อธิบายถึงคิ้วที่เป๊ะเว่อร์ของเธอ เมื่อคลิปนี้ถูกแชร์จนโด่งดังคำว่า on fleek ของเธอก็กลายเป็นวลีใหม่สุดฮิตเช่นกัน ฮิตจนไปอยู่ในเพลงของนิคกี้ มินาจเลยทีเดียว จากนั้นก็ฮิตกันมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้

refugee [N]
ผู้อพยพ, คนที่จำเป็นต้องออกจากประเทศตัวเองเพื่อหนีจากสงคราม การถูกข่มเหงหรือภัยธรรมชาติ
     คำนี้ไม่ใช้คำเพิ่งเกิดค่ะ แต่เพราะว่าตลอดปี 2015 นี้มีเหตุการณ์ร้ายค่อนข้างเยอะทำให้มีผู้อพยพมากมายในหลายส่วนของโลก คำนี้จึงมีการใช้พุ่งขึ้นจากในปี 2014 ถึง 110% ดังนั้นการที่คำนี้ติดรอบสุดท้ายมาได้ก็เพราะมันสื่อถึงเหตุการณ์และอารมณ์ในปีนี้ได้นั่นเอง

sharing economy [N]
ระบบเศรษฐกิจที่สินทรัพย์หรือบริการถูกแบ่งปันกันระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะแบ่งกันฟรีๆ หรือมีค่าธรรมเนียมก็ตาม โดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ
     คำนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องความหมายอยู่ค่ะว่าตกลงมันคืออะไรกันแน่ แต่ถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็เช่นการใช้บริการเว็บไซต์ Airbnb ที่ถ้าเราไม่อยู่บ้านเราก็ลงประกาศในเว็บให้คนอื่นมาเช่านอนได้ช่วงสุดสัปดาห์ หรือจะเป็นเว็บไซต์อย่าง kickstarter ก็ได้ที่ถ้าเรามีสิ่งประดิษฐ์เจ๋งๆ อยากทำขายเยอะๆ แต่ไม่มีทุนก็ลองเสนองานในเว็บให้คนมาร่วมออกเงินลงทุนให้ แล้วเราก็ตอบแทนด้วยสินค้ารุ่นพิเศษหรือส่วนลดพิเศษอะไรประมาณนี้ค่ะ

they [pronoun]
สรรพนามเอกพจน์แทนบุรุษที่ 3 แบบไม่ระบุเพศ
     น้องๆ อาจจะงงว่าทำไมเป็น they ในเมื่อ they คือสรรพนามบุรุษที่ 3 พหูพจน์ไม่ใช่หรอ มันใช้แทนพวกเขาหรือพวกมันต่างหาก ใช่ค่ะ แต่ปีนี้มีการใช้ they ในความหมายเอกพจน์เยอะมากเลย จริงๆ แล้ว they เคยเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 เอกพจน์แบบไม่ระบุเพศมาตั้งแต่ปี 1375 แล้ว พจนานุกรม Oxford ยุคนั้นระบุไว้อย่างนี้ แต่หลังจากนั้นด้วยการพัฒนาของภาษาตามกาลเวลาและอะไรหลายๆ อย่างแล้ว they ที่พวกเรารู้จักกันและเรียนมาทั้งชีวิตจึงเป็น they พหูพจน์ค่ะ
     แล้วปีนี้เนี่ยเป็นปีที่มีทั่วโลกสนใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น แต่เดิมบุรุษที่ 3 เอกพจน์ที่เป็นคนมีแค่ he กับ she และถ้าจะใช้แบบไม่เจาะจงเพศสามารถก็มีหลายคนเลือกใช้ he แทนไปเลย (แทนที่จะเขียน one หรือ he or she) จึงเหมือนเป็นการเหยียดเพศค่ะ ทำให้มีการใช้ they เพื่อแทนบุรุษที่ 3 เอกพจน์แบบไม่ระบุเพศขึ้นแทน ทีนี้จะได้เป็นกลางสุดๆ เลย **แต่เวลาสอบใช้ they เป็นพหูพจน์เท่านั้นนะคะ



     อีโมจิกับอีโมติค่อนต่างกันยังไง

     emoji เป็นคำยืมจากภาษาญี่ปุ่นค่ะ หมายถึงตัวอักษรภาพ (e + moji) ก็คือตัวอักษรที่เป็นภาพไปเลยนั่นแหละ (พูดซ้ำทำไมเนี่ย 555) อย่างหน้ายิ้มสีเหลืองๆ รูปต้นไม้ รูปบ้าน
     emoticon เป็นคำที่สร้างจากภาษาอังกฤษเองคือ emotion + icon แปลว่าไอคอนแสดงอารมณ์ค่ะ คือพวกหน้ายิ้มที่เกิดจากการรวมสัญลักษณ์ต่างๆ บนคีย์บอร์ดเข้าด้วยกันเช่น :) หรือ ;)

     ก่อนจากกันก็มาโหวตกันค่ะว่าอยากให้คำไหนเป็น Word of the Year มากที่สุด

ҡ˹ Word of the Year

โหวดทั้งหมด 701 คน

 




อ้างอิง
blog.oxforddictionaries.com/2015/11/word-of-the-year-2015-emoji/
blog.oxforddictionaries.com/2015/11/word-of-the-year-2015-shortlist/
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด