เช็คก่อนสมัคร! รวมมหาวิทยาลัยที่ค่าสมัคร "แพงที่สุด" ในสหรัฐอเมริกา

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ใครที่มองหาที่เรียนต่อในต่างประเทศอาจจะกำลังเจอปัญหาเรื่องค่าสมัครเรียนที่แพงเอามากๆ วันนี้ พี่พิซซ่า มีลิสต์มหาวิทยาลัยที่ค่าสมัครเข้าเรียนแพงที่สุดในอเมริกามาฝากค่ะ บอกเลยว่ามีแต่มหาวิทยาลัยในฝันทั้งนั้น

     การสมัครเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ทางสถานศึกษาจะเก็บค่าธรรมเนียมการสมัครหรือไม่ก็ได้ บางแห่งก็เก็บ บางแห่งก็ไม่เก็บ บางแห่งเก็บไม่เท่ากันในแต่ละหลักสูตรที่สมัคร และบางแห่งก็เก็บค่าธรรมเนียมการสมัครไม่เท่ากันระหว่างเด็กอเมริกันและเด็กต่างชาติ ดังนั้นต้องตรวจสอบกับเว็บไซต์มหาวิทยาลัยที่สนใจเองนะคะว่าเก็บค่าธรรมเนียมการสมัครเท่าไหร่

     จากผลสำรวจของสื่ออเมริกันชื่อดังอย่าง U.S. News พบว่าค่าเฉลี่ยของค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในปี 2015 อยู่ที่ $41 หรือประมาณ 1,670 บาท ส่วนค่าธรรมเนียมที่เจอได้มากที่สุดคือ $50 หรือประมาณ 1,790 บาทค่ะ แต่รายชื่อมหาวิทยาลัยต่อไปนี้ที่จะนำมาให้ดูคือมหาวิทยาลัยที่เก็บค่าธรรมเนียมการสมัครสูงที่สุดในอเมริกา มาดูกันว่ามหาวิทยาลัยในฝันของน้องๆ เก็บที่กี่บาท


$75

     มหาวิทยาลัยที่เก็บค่าธรรมเนียม $75 หรือประมาณ 2,687 บาท ถือว่าเป็นระดับราคาที่แพงเป็นอันดับ 4 ในตารางค่ะ จำนวนมหาวิทยาลัยที่เก็บในอัตรานี้มีมากกว่า 30 มหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาเลย แต่พี่จะเลือกมาให้ดูแค่ 10 ที่ที่ดังมากๆ ละกันค่ะ
 
Brown University California Institute of Technology (CalTech)
Carnegie Mellon University Cornell University
Harvard University Massachusetts Institute of Technology (MIT)
Northwestern University University of Chicago
University of Pennsylvania Washington University in St. Louis
     มหาวิทยาลัยในไอวีลีกคิดราคานี้เยอะอยู่เหมือนกันทั้งบราวน์ คอร์เนลล์ ฮาร์วาร์ด และเพนน์ซิลเวเนีย นอกจากนี้ 2 สถาบันด้านเทคโนโลยีชื่อดังของประเทศอย่าง MIT และ CalTech ก็คิดราคานี้เช่นกัน $75 จึงเป็นราคายอดฮิตของมหาวิทยาลัยชื่อดัง


$80

     แพงขึ้นมาอีก 5 ดอลลาร์กับราคา 2,865 บาท มีมหาวิทยาลัยที่คิดค่าธรรมเนียมเท่านี้เพียง 6 แห่งค่ะ ได้แก่
 
Boston University Dartmouth College
University of North Carolina—Chapel Hill University of Southern California
Villanova University Yale University
     ราคานี้มี 2 มหาวิทยาลัยในกลุ่มไอวีลีกค่ะ นั่นคือวิทยาลัยดาร์ธมัธและเยล ส่วนมหาวิทยาลัยที่น่าจะไม่คุ้นชื่อที่สุดในกลุ่มนี้ก็คงเป็น Villanova University แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับท้องถิ่นในรัฐเพนน์ซิลเวเนีย แต่วิลลาโนวาก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่ดีที่สุดในภาคเหนือ ดังนั้นก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจค่ะ


$85

     สำหรับราคาค่าสมัครเข้าเรียนต่อ $85 หรือประมาณ 3,050 บาท มีมหาวิทยาลัยชื่อดังเพียง 2 แห่งที่คิดเท่านี้ค่ะ นั่นคือ Columbia University ที่เป็นอีกหนึ่งสมาชิกของกลุ่มไอวีลีกและ Duke University มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการและกีฬาแห่งหนึ่งของประเทศ


$90

     และมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาที่เก็บค่าธรรมเนียมการสมัครแพงที่สุดก็คือ Stanford University ในรัฐแคลิฟอร์เนียค่ะ ค่าธรรมเนียมของปริญญาตรีว่าแพงแล้วเพราะอยู่ที่ 3,230 บาท แต่ของปริญญาโทแพงกว่าเยอะค่ะ เพราะบางหลักสูตรแพงถึง $275 หรือประมาณ 9,870 บาท เห็นแล้วก็ขอปาดเหงื่อเลย


การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการสมัคร


     เห็นค่าสมัครก็อยากจะถอดใจแล้ว อยากจะสมัครหลายที่ แต่สมัครทีนึงก็เสียครั้งละสามพันแน่ะ ฉะนั้นบางมหาวิทยาลัยก็มีทางออกในเรื่องนี้ให้ค่ะ นั่นคือการยกเว้นค่าสมัครเข้าเรียนให้กับนักศึกษาที่ทางครอบครัวจะต้องเดือดร้อนแน่ๆ ถ้าเสียค่าสมัครเท่านี้ แต่สิ่งที่น้องต้องรู้ก่อนก็คือ

     1. ไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยที่มีการยกเว้นค่าสมัคร
     2. บางมหาวิทยาลัยไม่ยกเว้นค่าสมัคร แต่ให้ส่วนลดค่าสมัครแทน
     3. บางมหาวิทยาลัยยกเว้นค่าสมัครให้แค่เด็กในประเทศเท่านั้น ต่างชาติอด
     4. บางมหาวิทยาลัยที่ยกเว้นค่าสมัครให้เด็กต่างชาติต้องการเอกสารหลักฐานและหนังสือรับรองมากมายจนค่าดำเนินการเรื่องทั้งหมดนี้แพงพอๆ กับค่าสมัครเรียน
     5. เกณฑ์การยกเว้นค่าธรรมเนียมการสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัยแตกต่างกัน วิธีการขอยกเว้นก็แตกต่างกัน ให้ตรวจสอบจากหัวข้อ Fee Waivers ของเว็บไซต์แต่ละมหาวิทยาลัยเองค่ะ

     แต่มหาวิทยาลัยที่พี่พิซซ่าคิดว่าใจดีในเรื่องนี้ก็คือ Harvard และ Yale ค่ะ ของฮาร์วาร์ดน้องๆ สามารถเขียนเรียงความอธิบายมาเองได้เลยว่าทำไมจึงควรได้รับการยกเว้นนี้ หรือจะขอแบบฟอร์มจากฝ่ายรับสมัครนักศึกษามาให้อาจารย์ที่โรงเรียนกรอกข้อมูลและยืนยันว่าน้องต้องได้รับการยกเว้นนี้จริงๆ ก็ได้ ส่วนของเยลก็คล้ายๆ กันคือให้ขอแบบฟอร์มจากทางมหาวิทยาลัยเอาไปให้อาจารย์หรือนายอำเภอรับรองให้ โดยที่ไม่ต้องส่งหลักฐานทางการเงินของผู้ปกครองหรือหลักฐานด้านการเงินอื่นๆ ประกอบค่ะ ตัวอย่างเกณฑ์การเป็นผู้ได้รับการยกเว้นค่าสมัครของเยลคือ

     ครอบครัวขนาด 1-2 คน ต้องมีรายได้รวมต่อปีไม่เกิน $65,000 (2,332,000 บาท)
     ครอบครัวขนาด 3 คน ต้องมีรายได้รวมต่อปีไม่เกิน $70,000 (2,511,000 บาท)
     ครอบครัวขนาด 4 คน ต้องมีรายได้รวมต่อปีไม่เกิน $75,000 (2,690,000 บาท)
     ครอบครัวขนาด 5 คน ต้องมีรายได้รวมต่อปีไม่เกิน $80,000 (2,870,000 บาท)
     ครอบครัวขนาด 6 คนขึ้นไป ต้องมีรายได้รวมต่อปีไม่เกิน $85,000 (3,049,000 บาท)
     แม้ว่าเกณฑ์นี้จะคำนวณจากค่าครองชีพในอเมริกาแต่เยลยืนยันว่านักศึกษาจากประเทศอื่นก็ให้ใช้เกณฑ์เดียวกันนี้ได้เลยค่ะ

     ถ้าใครมองว่าของฮาร์วาร์ดกับเยลก็ถือว่ายากอยู่ดีเพราะต้องเอาเอกสารไปให้คนอื่นรับรองให้ แต่ของบางที่ต้องใช้ทั้งหนังสือรับรองจากทางราชการ รวมทั้งหนังสือรับรองเงินเดือนผู้ปกครองและหลักฐานการเสียภาษี เสร็จแล้วต้องเอาแต่ละอย่างไปแปลอีก ยุ่งยากแถมต้องใช้เงินพอๆ กับค่าสมัครเลย

     **ใครตาดีจะสังเกตเห็นว่าชื่อมหาวิทยาลัยไอวีลีกหายไป 1 แห่งจากลิสต์ค่าสมัครสุดแพงนี้นั่นคือ Princeton University ค่ะ พรินซ์ตันคิดค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีเพียง $65 หรือประมาณ 2,330 บาท ทำให้ไม่มีรายชื่อติดโผมาด้วย


     หากน้องๆ สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าสมัครหรือการยกเว้นค่าสมัคร สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เราสนใจเลยค่ะ หรือจะส่งอีเมลสอบถามไปทางฝ่ายรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัยก็ได้ เจ้าหน้าที่เต็มใจตอบข้อสงสัยให้เราอยู่แล้ว

*ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2558


 


อ้างอิง
www.usnews.com, college.harvard.edu
undergrad.admissions.columbia.edu
admission.stanford.edu
admissions.yale.edu
admission.princeton.edu
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

Dark of days Member 4 ธ.ค. 58 20:42 น. 1

อุ๊ย ขอบคุณมากค่ะ แล้วถ้าเราอยู่มหาลัยที่ไทยอยู่แล้ว แล้วอยากไปต่อโดยขอทุนไปมหาลัยพวกนี้ ต้องทำยังไงบ้างหรอคะ 

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด