6 สิ่งประดิษฐ์ที่เกิดในยุคสงคราม และยังนิยมมาถึงยุคปัจจุบัน

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ถ้าพูดถึงสงครามก็มีแต่ความสูญเสีย แต่บางครั้งในช่วงสงครามก็เกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้นได้เหมือนกัน และสิ่งประดิษฐ์บางอย่างก็กลายมาเป็นของธรรมดาทั่วไปในชีวิตประจำวันที่พวกเรามักมองข้าม พี่พิซซ่า มีของใช้ที่เกิดจากยุคสงครามมาฝากค่ะ มาดูกันว่าทุกวันนี้พวกเราได้ประโยชน์จากมันจริงหรือเปล่า


1. เทปกาว


     เจ้าเทปกาวหนาๆ หรือแล็คซีนหลากสีที่เหนียวมากๆ และเรามักทำมาทำสันหนังสือเรียนกันนั้นมีที่มาจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่ะ Vesta Stoudt ที่รับราชการเป็นทหารเรืออยู่สังเกตว่าทหารทุกคนมักมีปัญหาเวลาเปิดกล่องเก็บลูกกระสุน เพราะที่ฝากล่องจะมีกระดาษติดกาวแผ่นเล็กๆ แปะเอาไว้เพื่อไม่ให้ฝากล่องหลุด แต่กระดาษนี้ก็เล็กและบอบบางมากจนถึงขนาดที่ต่อให้วางไว้เฉยๆ ก็มีโอกาสขาดได้โดยไม่ต้องเปิดฝากล่อง เธอจึงทดลองอะไรหลายๆ อย่างจนประดิษฐ์เทปผ้าแบบนี้ได้สำเร็จ หลังจากนั้นเธอก็เขียนจดหมายไปถึงประธานาธิบดีเพื่อเล่าถึงสิ่งประดิษฐ์นี้ จากนั้นไม่นานเหล่านายพลก็ติดต่อบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันให้ผลิตของชิ้นนี้ตามที่เวสต้าเขียนมาเป็นจำนวนมากเพื่อแจกจ่ายไปยังค่ายทหารทุกแห่ง และในที่สุดเทปกาวนี้ก็กลายมาเป็นของใช้สามัญที่แทบทุกบ้านต้องมีติดไว้เพื่อติดปะซ่อมแซมทุกอย่างแบบสะดวกรวดเร็ว


2. อาหารกระป๋อง



     ตอนที่กองทัพนโปเลียนเดินทางข้ามทวีปยุโรปเพื่อขยายอำนาจในยุคสงครามนโปเลีย ทุกคนต่างก็พยายามหาทางที่จะส่งอาหารไปให้ทหารแนวหน้าได้โดยที่อาหารไม่เน่าเสียก่อน และต้องสามารถ
ส่งได้เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ดังนั้นในปี 1809 รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจัดประกวดสิ่งประดิษฐ์ที่จะมาแก้ปัญหานี้ โดยมีเงินรางวัลให้ผู้ชนะมากถึง 12,000 ฟรัง และผู้ชนะการแข่งขันนี้คือ Nicholas Appert ผู้ออกแบบโหลแก้วแบบมีฝาปิดที่สามารถผลิตในโรงงานได้สะดวกและเยอะในคราวเดียวกัน เขาเองก็ใช้เงินรางวัลนั้นสร้างโรงงานเพื่อผลิตโหลแบบนี้ขึ้นด้วย ส่วนกระป๋องโลหะนั้นถูกพัฒนาต่อในภายหลังโดย Philippe de Girard ชาวฝรั่งเศสอีกคนที่นำแนวคิดเดิมมาต่อยอดค่ะ


3. ผ้าอนามัย



     บริษัท Kimberly-Clark ที่เรามักเจอชื่อนี้บนกล่องใส่ทิชชู่ในห้องน้ำตามห้าง เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า Cellucotton มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าเซลลูคอตตอนนี้ก็คือผ้าที่สามารถซึมซับได้ดีกว่าผ้าทั่วๆ ไปและใช้เป็นผ้าก๊อซพันแผลให้กับทหารในสงครามไม่นานนักพยาบาลทหารก็ได้นำผ้านี้มาประยุกต์เป็นผ้าสำหรับรองรับประจำเดือน หลังสงครามจบความต้องการใช้เซลลูคอตตอนในโรงพยาบาลก็ลดลงไปเยอะ แต่สาวๆ พยาบาลบอกว่ายังต้องการอยู่ ทางบริษัทจึงปล่อยผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ออกมาแทนโดยใช้ชื่อว่าโกเต๊กซ์ หรือ Kotex ที่เป็นการเล่นคำจาก cotton-like texture (วัสดุผ้าที่เหมือนคอตตอน) และนั่นก็เป็นจุดกำเนิดของผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งที่วางขายโดยแพร่หลายค่ะ


4. กระดาษเช็ดหน้า



     กระดาษเช็ดหน้าหนานุ่มเนื้อเนียนที่เราเห็นผู้เข้าแข่งขัน The Face ใช้ซับน้ำตาในแต่ละสัปดาห์นั้นก็มีที่มาจากเซลลูคอตตอนเช่นกันค่ะ แม้โกเต๊กซ์จะแพร่หลายและทำกำไรให้คิมเบอร์ลีย์-คล้ากได้พอตัว แต่ทางบริษัทก็เล็งเห็นว่าประโยชน์ของเจ้าเซลลูคอตตอนไม่ได้มีแค่นี้หรอก พวกเขาจึงพยายามหาทางประยุกต์ใช้อยู่เรื่อยๆ และไม่นาน Bert Fourness ก็พบว่าถ้าเอาเซลลูคอตตอนไปรีด มันจะกลายเป็นทิชชู่เหนียวนุ่มเนื้อเนียนน่าใช้มากกว่าเดิม เหมาะเป็นกระดาษเช็ดปากเช็ดหน้าตามร้านอาหารด้วย จนในที่สุดก็เกิดเป็นคลีเน็กซ์ (Kleenex) กระดาษเช็ดหน้าที่ทุกคนรู้จักกัน


5. นาฬิกาข้อมือ



     อันที่จริงนาฬิกาข้อมือมีมานานก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว แต่สมัยก่อนจะมีแต่ผู้หญิงที่ใส่นาฬิกาข้อมือเท่านั้น ส่วนผู้ชายจะใช้นาฬิกาพกที่ห้อยไว้กับเสื้อ แต่เมื่อเข้าช่วงสงครามทหารจำเป็นต้องมีเวลาที่ตรงกันหมดเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการรบว่าใครจะบุกตรงไหนเมื่อไหร่ แต่จะให้ถือปืนไปและถือนาฬิกาพกไปในขณะเดียวกันก็จะไม่สะดวก ทำให้ต้องใส่นาฬิกาข้อมือบ้าง เมื่อบริษัทผู้ผลิตเห็นว่าทหารนิยมใส่นาฬิกาข้อมือเพื่อประโยชน์ในการรบแล้วก็ผลิตนาฬิกาข้อมือรุ่นสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะออกมามากมาย หลังสงครามจบผู้ชายหลายคนก็ยังติดใจความสะดวกของนาฬิกาข้อมือที่ไม่ต้องควักออกมาจากเสื้อให้ยุ่งยาก ทำให้นิยมใส่นาฬิกาข้อมือกันมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าสงครามทำให้นาฬิกาข้อมือเป็นที่นิยมและแพร่หลายมากขึ้นสุดๆ


6. M&M's



     Forrest Mars Sr. ลูกชายเจ้าของบริษัทช็อคโกแลต Mars ได้ย้ายไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษและผลิตขนมแท่ง Mars ให้กับกองทัพอังกฤษ แต่พอถึงช่วงสงครามสเปนเขาบังเอิญไปเห็นทหารกำลังกินช็อคโกแลตเคลือบน้ำตาลเปลือกแข็งๆ อยู่พอดี (นั่นคือสมาร์ทตี้ส์) เขาก็คิดขึ้นมาได้ว่าช่วงหน้าร้อนที่ยอดขายช็อคโกแลตไม่ค่อยดีเพราะมันละลายง่ายนั้น ถ้าทำตามแบบนี้ก็น่าจะขายได้เยอะขึ้น เขาจึงรีบนำความคิดนี้ไปบอก Bruce Murrie เพื่อนที่อเมริกาผู้เป็นลูกชายของหนึ่งในผู้บริหารบริษัทช็อคโกแลต Hersey's จึงเกิดเป็น M&M's ที่ตัวเอ็มแต่ละตัวมาจากอักษรตัวแรกในนามสกุลของทั้งคู่ ตอนแรกขนมชนิดนี้ผลิตออกมาเพื่อขายกองทัพสหรัฐโดยเฉพาะเพราะกองทัพสหรัฐเข้าร่วมสงครามโลกพอดี เพื่อที่ทหารจะได้พกไปกินกลางสนามรบได้โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าช็อคโกแลตจะละลายไปก่อน หลังสงครามจบทหารส่วนใหญ่ติดใจขนมมาก ทำให้ต้องผลิตขายทั่วไปเป็นจำนวนมหาศาล


     นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีอีกมากมายเลยนะคะที่พัฒนามาจากเทคโนโลยีเพื่อการทหาร จริงๆ แล้วสงครามไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่นักแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามเป็นแหล่งกำเนิดของใหม่ๆ และเป็นตัวผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวไกลมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยค่ะ ส่วนตอนนี้พี่ขอตัวไปกินช็อคโกแลตก่อนแล้วกันนะคะ 


ข้อมูล
all-that-is-interesting.com, www.bbc.com
www.mms.com, www.expertreviews.co.uk
www.warhistoryonline.com
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด