ความแตกต่างของ "เสียงสัตว์" ในภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com มีน้องคนนึงเคยส่งเมลมาถามพี่ว่าทำไมหมูในอังกฤษถึงไม่ร้องอู๊ดๆ แบบบ้านเรา พี่ก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่าเสียงสัตว์ในแต่ละภาษามีความต่างกันนี่นา วันนี้ พี่พิซซ่า เลยอยากพูดเรื่องเสียงต่างๆ ในภาษาอังกฤษให้ฟังกันค่ะ


     จากประสบการณ์ส่วนตัว พี่เคยได้ยินเสียงหมูในไทยกับที่อเมริกาเท่านั้น พี่รู้สึกว่าหมูมันร้องเหมือนกันทั้ง 2 ประเทศนะ ถ้าจะให้ถอดเสียงที่หมูร้องออกมาเป็นตัวอักษรก็ยากมากเลย แต่รู้ว่ามันไม่ได้ร้องอู๊ดอู๊ดชัดๆ แบบนี้ และไม่ได้ร้อง oink oink (อวิ๊งค์อวิ๊งค์) เป๊ะเลยด้วยเช่นกัน เพราะฟังยังไงมันก็ร้องไม่เหมือนเสียงที่มนุษย์ถอดออกมาเป็นคำเลย ส่วนเรื่องที่ว่าหมูไทยกับหมูอเมริกันคุยกันรู้เรื่องมั้ย อันนี้พี่ก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ 555 แต่สาเหตุที่แต่ละภาษากำหนดเสียงร้องของสัตว์แตกต่างกันไป น่าจะเป็นเพราะหูของคนแต่ละภาษาและเสียงในภาษานั้นๆ มากกว่า จะให้คนไทยถอดเสียงหมูเป็นอวิ๊งค์ๆ ก็ไม่ใช่ เพราะภาษาเราไม่มีเสียงแนวนี้เลย ดังนั้นจึงสะกดเสียงออกมาแตกต่างกัน ว่าแล้วก็มาดูเสียงสัตว์ในภาษาอังกฤษกันค่ะ


หมา

     โดยทั่วไปเสียงหมาเห่าคือเสียง woof (วูฟ) หรือไม่ก็ ruff (รัฟ) หมาตัวใหญ่มากจะเห่าเสียง bow wow (บาววาว) แต่ถ้าเป็นลูกหมาหรือหมาพันธุ์เล็กเห่าจะเป็นเสียง yap (แยพ) หรือ arf (อาร์ฟ) แต่ถ้าเป็นเสียงหมาหอนจะเป็นเสียง howl (ฮาวล์) ส่วนเวลาหมาขู่จะเป็นเสียง growl (กราวล์) หรือ grrr (เกอร์) ในขณะที่เสียงเอ๋งเอ๋งจะเป็น whimper (วิมเปอร์) หรือ whine (ไวน์)


ม้า

     เสียงม้าร้องฮี้คือเสียง neigh (เน้) ส่วนเสียงม้าพ่นลมทางปากที่ปากจะสั่นๆ นั้นคือเสียง brrr (เบรอ)  ในขณะที่เสียงกีบเท้าม้าเวลาเดินคือเสียง clip clop (คลิปคลอป)


ลา

     ลาเป็นสัตว์ที่มีเสียงที่แปลกมาก เพราะหูคนอังกฤษกับคนอเมริกันได้ยินไม่เหมือนกันค่ะ ในอังกฤษได้ยินเป็น eeyore (อียอร์) ชื่อเพื่อนของหมีพูห์นั่นเอง ส่วนที่อเมริกาได้ยินเป็น hee-haw (ฮี้ฮอ)


ยุง

     เสียงเวลายุงบินคือเสียง buzz (บัซ) แมลงอื่นๆ อย่างแมลงวันหรือผึ้งก็บินด้วยเสียงนี้เช่นกัน


แมว

     เสียงแมวปกติก็คือ meow (เมียว) แต่ถ้าเป็นเสียงครางเวลามีความสุขจะเป็นเสียง purr (เพอร์) แต่ถ้าแมวร้องโหยหวนเสียงดังๆ จะเป็น yowl (ยาวล์)


แกะและแพะ

     แกะกับแพะที่ร้องแบะๆ นั้น ในภาษาอังกฤษเขียนเป็นเสียง baa (บา) ทำเสียงสั่นๆ เหมือนของเราเช่นกัน


หมู

     อู๊ดๆ คือ oink (อวิ๊งค์) แต่ถ้าเป็นเสียงร้องคีย์สูงๆ ของหมูจะเป็นเสียง wee wee (วี้วี้)


วัว

     เสียงร้องมาตรฐานของวัวก็คือ moo (มู) แต่ถ้าเป็นเสียงลมขึ้นจมูกที่วัวทำเวลาอารมณ์ไม่ดีจะเป็นเสียง snort (สนอร์ต)


ไก่

     แม่ไก่กุ๊กกุ๊กจะร้องว่า cluck cluck (คลักคลัก) ในขณะที่พ่อไก่ร้องว่า cock-a-doodle-doo (ค็อกกะดูเดิลดู) ส่วนลูกไก่จะร้อง cheep (จี๊บ) หรือ peep (พีพ) แต่ถ้าเป็นไก่งวงตัวเมียจะร้องว่า yelp (เยลพ์) ส่วนตัวผู้ร้องว่า gobble gobble (ก๊อบเบิลก๊อบเบิล)


นก

     นกตัวเล็กๆ จะร้อง chirp (เชิร์พ) chirrup (เชอร์รัพ) หรือ peep (พีพ) ตัวใหญ่ขึ้นมาอีกจะร้อง tweet (ทวีต) หรือ twitter (ทวิตเตอร์) บ้างก็ร้อง warble (วาร์เบิล) ถ้าเป็นพันธุ์ใหญ่ๆ ที่มีเสียงใหญ่ๆ ดังๆ จะถือว่าเป็นเสียง squawk (สควอก)
     แต่นกบางพันธุ์ก็มีเสียงเฉพาะของตัวเองอีกค่ะ เช่นการ้องว่า caw (คอ) หรือ kaak (คัก) นกฮูกร้อง hoot (ฮูต) hoo hoo (ฮูฮู) หรือ whit woo (วิทวู) ประมาณนี้ นกพิราบร้อง coo (คู) ส่วนนกที่ออกมาจากนาฬิกาจะร้องว่า cuckoo (คุกคู)


เป็ดและห่าน

     แม้จะรู้สึกว่าเสียงเป็ดและห่านไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ แต่ในภาษาอังกฤษเขียน 2 เสียงนี้ต่างกันสุดๆ เป็ดร้อง quack (แควก) ในขณะที่ห่านร้อง honk (ฮ้องก์)


กบ

     เสียงอ๊บอ๊บของกบนั้น ในภาษาอังกฤษใช้เป็นเสียง croak (ครุก) หรือ ribbit (ริบบิท) จริงๆ แล้วว่ากันว่าเสียงครุกๆ ฟังดูคล้ายเสียงกบร้องมากกว่า แต่เป็นเพราะหนังฮอลลีวูดที่ทำให้เสียงริบบิทกลายเป็นเสียงมาตรฐานกลางของกบไป ทั้งที่จริงๆ แล้วมีกบพันธุ์เดียวเท่านั้นที่ร้องเสียงเหมือนคำว่าริบบิท


สิงโต

     สิงโตร้องว่า raa (รา) หรือ grrr (เกรอ) ถ้าเป็นเสียงขู่ต่ำๆ หน่อยก็ growl (กราวล์) แต่ถ้าคำรามดังๆ แสดงความเป็นเจ้าป่าก็ roar (รอ) นึกถึงเพลง Roar ของเคที่ เพอรี่


หนู

     หนูส่วนมากไม่ว่าจะหนูบ้านทั่วไป แฮมสเตอร์ หนูตะเภา หรือชินชิลล่าร้องว่า squeak (สควีก)


งู

     เสียงงูฟ่อๆ นั้น ในภาษาอังกฤษเขียนเป็น hiss (ฮิซ)



     จริงๆ ยังมีอีกหลายเสียงที่น่าสนใจนะคะ เสียงสัตว์บางชนิดอาจแตกต่างกันไปได้อีกตามภาษาถิ่น เช่นชาวออสเตรเลียกับอเมริกันอาจได้ยินบางเสียงต่างกันไปอีกก็ได้ น้องๆ สามารถเพิ่มเติมเสียงสัตว์ในภาษาอังกฤษแต่ละที่ได้เลยนะคะ ส่วนปริศนาที่ว่าสัตว์ในแต่ละประเทศคุยกันรู้เรื่องมั้ยเนี่ย อาจจะต้องให้น้องๆ ไปหาคำตอบเองแล้วละค่ะ


หมายเหตุ: การถอดเสียงร้องของสัตว์ออกมาเป็นคำเรียกว่า onomatopoeia 


อ้างอิง
www.eleceng.adelaide.edu.au
www.fluentu.com, www.oxforddictionaries.com
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด