10 ศัพท์อังกฤษที่มีความหมายขัดแย้งในตัวเอง

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com พบกับ English Issues และความรู้ดีๆ เกี่ยวกับภาษาอังกฤษเช่นเคย วันก่อนมีน้องส่งคำถามมาถาม พี่พิซซ่า ว่า The alarm goes off. แปลว่าอะไรกันแน่ มันคือเสียงเตือนดังขึ้นมาหรือเราไปกดปิดกันแน่ เพราะ off ต้องให้ความรู้สึกว่าปิดนี่นา พี่ก็เลยนึกถึงกลุ่มคำที่มีความขัดแย้งในตัวเองขึ้นมาได้ค่ะ ลองมาทำความรู้จักคำที่มีความหมายขัดแย้งในตัวกัน



คำที่มีความหมายตรงแย้งในตัวเอง

     คำประเภทนี้มีชื่อเรียกมากมายค่ะ ไม่ว่าจะ contronym, auto-antonym, antagonym หรือ self-antonym และก็มีอีกหลายชื่อที่พอมีคนเรียกอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่อไหน มันก็หมายถึงคำศัพท์ที่มีหลายความหมายในตัวเอง แต่ดันมีความหมายคู่นึงที่ขัดแย้งกันในตัวเอง เช่นคำว่า off เหมือนที่พี่เกริ่นไปแล้วค่ะ
     ปกติคำว่า off โดยทั่วไปหมายถึงปิดหรือใช้การไม่ได้ เช่น Lights off. คือไฟปิด แต่ก็มีความหมายในแง่นึงที่ตรงข้ามกัน คือความหมายว่าใช้งานได้หรือมีชีวิตขึ้นมา อย่างนาฬิกาปลุกที่พอถึงเวลาที่เราตั้งมันจะทำงานโดยร้องขึ้นมา เราใช้ว่า The alarm goes off. แสดงว่า off จัดเป็น contronym คำหนึ่ง ลองมาดู contronym คำอื่นๆ ที่น่าสนใจกันค่ะ


left

     ไม่นับรวมความหมายที่แปลว่าซ้ายนะคะ ดูแค่ความหมายที่มันขัดแย้งในตัวเองค่ะ นั่นคือความหมายที่ว่าจากไป เป็นช่อง 2 ของ leave นั่นเอง เช่น We left the house yesterday. เราออกจากบ้านเมื่อวาน ส่วนอีกความหมายนึงคือเหลืออยู่หรือทิ้งเอาไว้ เช่น A few students were left behind. นักเรียนบางคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เจอสองความหมายที่ตรงข้ามกันขนาดนี้เข้าไป ทำให้เวลาเจอในบทเรียนต้องพิจารณาดีๆ ว่ามันออกไปแล้วหรือยังอยู่กับที่


oversight

     หลายคนน่าจะรู้จักความหมายของกริยา oversee และ overlook อยู่แล้ว oversee คือตรวจสอบหรือเฝ้าสังเกตการณ์จากเบื้องบน ส่วน overlook คือมองข้ามไปหรือมองพลาดไป หรือจะใช้ในความหมายเดียวกับ oversee ก็ได้เช่นกัน (ฉะนั้น overlook ก็จัดเป็น contronym คำหนึ่ง) แต่รูปคำนามของมันทั้งคู่คือ oversight เหมือนกัน oversight จึงมีความหมาย 2 แบบที่ตรงข้ามกันเพราะเหตุนี้ค่ะ ต้องดูดีๆ ว่าจะเป็นการตรวจสอบดูแลอย่างดีหรือเป็นการมองข้ามอะไรบางอย่างไป


stone

     ถ้าเป็นคำนาม stone เป็นได้ทั้งก้อนหินหรือเมล็ดผลไม้ แต่พอเป็นกริยามันดันเป็น 2 กริยาที่ทำตรงข้ามกัน ถ้าเรา stone ผลไม้ จะแปลว่าเราเอาเมล็ดในผลไม้นั้นออก แต่ถ้าเรา stone ผู้คน จะแปลว่าเราโยนก้อนหินใส่คนอื่นค่ะ


seed

     ถ้าเป็นคำนาม seed ก็คือเมล็ด แต่ถ้าเป็นกริยามันมี 2 ความหมายตรงข้ามกันค่ะ นั่นคือโปรยเมล็ดเพื่อปลูก เช่น seed a lawn คือนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในสนาม แต่ seed a tomato คือแกะเมล็ดออกจากมะเขือเทศ


fast

     ความหมายที่รู้จักกันดีของ fast คือเร็วหรือว่องไว มีความเคลื่อนไหวเข้ามาอยู่ในภาพ แต่อีกความหมายนึงของมันคือจับแน่นๆ ยึดแน่นหรืออยู่กับที่แบบที่ไม่ขยับไปไหนเลย เช่น holding fast เป็นสำนวนหมายถึงจับแน่นๆ นะ ความหมายนึงคือเคลื่อนที่เร็วๆ อีกความหมายคืออยู่กับที่แบบไม่ขยับเขยื้อน ช่างตรงกันข้ามซะจริง


screen

     screen ก็คือจอหรือฉาก แต่พอเป็นกริยาก็มี 2 ความหมายขัดแย้งกันค่ะ ได้แก่ ปกปิดหรือซ่อนเร้นไม่ให้เห็น buiding high wall to screen the school สร้างกำแพงสูงๆ ไว้บังโรงเรียนไม่ให้คนนอกเห็น ส่วนอีกความหมายนึงคือฉายภาพยนตร์ให้คนเห็น This film had been screened on television. ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายบนทีวี แสดงว่า screen เป็นได้ทั้งไม่ให้คนเห็นและให้คนเห็น


dust

     dust เป็นได้ทั้งปัดฝุ่นปัดผงออกไป หรือจะเติมผงเข้ามาก็ได้ เช่น dusting the specks of dirt off pants คือปัดฝุ่นปัดเศษอะไรที่เปื้อนอยู่บนกางเกงออก แต่ dust the surface with flour and icing sugar คือเติมแป้งและน้ำตาลไอซิ่งลงไปบนหน้าขนม เป็นการเพิ่มเศษเล็กๆ น้อยๆ ลงไปนั่นเอง


out

     เป็นได้ทั้งทำให้เห็นหรือทำให้ไม่เห็นค่ะ ถ้า The stars are out. คือคืนนี้มีดาวเยอะมาก (ดาวออกมาให้เห็น) แต่ถ้า The lights are out. จะแปลว่าไฟดับ (มองไม่เห็นอะไรเลย) out จึงเป็นอีกคนที่มีความหมายขัดแย้งในตัวเอง และยังเป็นคำที่เจอได้บ่อยมากๆ ด้วย


buckle

     ความหมายที่คุ้นเคยกันคือรัดให้แน่นๆ ให้อยู่กับที่ เช่น buckle your seat belt คือรัดเข็มขัดนิรภัย แต่อีกความหมายคือพังทลายลง (แปลว่ามันไม่แน่นอยู่กับที่นั่นเอง) เช่น The truck buckled the gate. รถบรรทุกพังทลายประตูลงมา


skin

     ผิวหนังของเราใช้ปกปิดร่างกายของเรา ดังนั้นความหมายหนึ่งของกริยา skin คือปกปิดค่ะ แต่อีกความหมายหนึ่งของกริยานี้และเป็นความหมายที่ได้ยินกันบ่อยว่าด้วยคือถลกหนังหรือปลอกเปลือก แปลว่าเอาผิวออกนั่นเอง ลองดูตัวอย่างกันนะคะ The wound was skinned. แผลถูกผิวหนังปิดแล้ว และ I skinned the tomatoes. ฉันปลอกเปลือกมะเขือเทศ


     ทั้งหมดนี้ก็เป็น 10 คำที่มีความหมายตรงข้ามในตัวมันเอง และเป็นคำที่เจอได้ง่ายในข้อสอบต่างๆ ด้วยค่ะ จริงๆ ยังมีคำประเภทนี้อีกเยอะมาก บางคำสามารถเจอทั้ง 2 ความหมายได้บ่อยพอๆ กัน แต่บางคำเราอาจจะรู้จักกันดีแค่ความหมายเดียว ฉะนั้นถ้าไปอ่านหนังสือแล้วเจอคำที่เราแปลแล้วความหมายดูไม่เข้ากับบริบทตรงนั้น ให้ลองเปิดพจนานุกรมดูความหมายอื่นๆ ของมันนะคะ มันอาจจะเป็น contronym คำหนึ่งก็ได้


 


ข้อมูล
www.oxforddictionaries.com
www.dailywritingtips.com
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด