10 หนังสืออ่านนอกเวลาที่เด็กมัธยมอเมริกันทุกคนต้องเคยเจอ

        พี่ไม่แน่ใจว่าน้องๆ ชาวเด็กดียุคนี้ยังต้องอ่านหนังสือนอกเวลาในวิชาภาษาไทยกันอยู่หรือเปล่า แต่รุ่นพี่นี่จำได้ว่าได้อ่าน "น้ำพุ" ค่ะ (สำหรับคนที่ไม่รู้จริงๆ นะ น้ำพุเป็นเรื่องจริงของลูกชายของคุณสุวรรณี สุคนธาที่ติดยาเสพติด และเสียชีวิตในที่สุด)

        หนังสือนอกเวลานี่ไม่ได้มีแค่ในไทยนะคะ ที่อเมริกาก็มีเหมือนกัน นักเรียนมัธยมของที่นั่นก็เรียนภาษาอังกฤษเหมือนอย่างที่เราเรียนภาษาไทยนั่นแหละค่ะ คือได้อ่านวรรณคดีทรงคุณค่ายุคก่อนๆ ให้จับใจความ ตีความ ถ้าบ้านเรามีกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บ้านเขาก็มีแมคเบธให้นั่งถอดรหัสคำกลอนกันไป

        หนังสือนอกเวลาของนักเรียนมัธยมที่อเมริกาส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นวรรณคดีเก่าๆ ของนักเขียนอังกฤษบ้าง ของนักเขียนอเมริกันบ้าง ถ้าเป็นยุคหลังๆ นี่อาจจะได้อ่านงานของนักเขียนต่างประเทศที่ชนะรางวัลพูลิตเซอร์ หรือรางวัลโนเบลกันด้วย

       
พี่น้องจะไม่พูดมากละ ไปดูกันเลยดีกว่าว่าหนังสือเล่มไหนที่โดนจับมาเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาบ่อยสุดๆ และเด็กทุกคนต้องได้อ่านอย่างน้อย 1 เล่มในนี้
 

1. Lord of the Flies - วิลเลียม โกลดิ้ง

Castle Rock Entertainment

        นิยายเรื่องนี้เป็นผลงานของนักเขียนชาวอังกฤษ วิลเลียม โกลดิ้ง ค่ะ บอกก่อนนะว่าถึงแม้จะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา แต่เนื้อหานี่เผ็ดมากกกก

        Lord of the Flies เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กชายชาวอังกฤษที่เครื่องบินตกแล้วต้องมาติดเกาะอยู่ร่วมกันโดยไม่มีผู้ใหญ่ควบคุม สัญชาตญาณเอาตัวรอดของมนุษย์จึงเกิดขึ้น มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งหน้าที่กันหาอาหาร เฝ้ายาม ตามปกติ แต่ก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้น และลงเอยด้วยการฆ่ากันแบบคนป่า

        หนังสือเล่มนี้จะคล้ายๆ กับพวก Battle Royale หรือ Hunger Games คือคนที่ได้รับการศึกษาแล้วและใช้ชีวิตในสังคมปกติจะไม่ค่อยแสดงความรุนแรงออกมาเท่าไร แต่พอได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเอาตัวรอด โดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมาควบคุม คนๆ นั้นก็อาจจะแสดงด้านมืดในตัวออกมาได้

        (เรื่องนี้มีเป็นหนังด้วย ถ้าใครสนใจก็ไปหามาดูได้ เก่ามากแล้ว)
 

2. To Kill a Mocking Bird - ฮาร์เปอร์ ลี

Universal International Pictures
 
        นี่ก็เป็นวรรณกรรมในตำนานอีกเรื่องของชาวอเมริกันเลยค่ะ เพราะทำให้นักเขียนได้รางวัลพูลิตเซอร์ และคนยังยกย่องให้เป็นวรรณกรรมที่สุดของชาวอเมริกันอีกด้วย (พี่น้องชอบเรื่องนี้มากเลย)

        To Kill a Mocking Bird เล่าเรื่องผ่านมุมมองของเด็กหญิงวัย 6 ขวบ จีน หลุยส์ ฟินช์ ซึ่งมีพี่ชายอีกคนชื่อเจ็ม และมีคุณพ่อชื่อแอตติคัส เป็นทนายความ

        ตัวเรื่องแตกออกเป็น 2 ประเด็น คือ ทอม คนผิวดำคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าข่มขืนและทำร้ายร่างกายสาวผิวขาวที่ชื่อมาเยลล่า แอตติคัสรับว่าความแก้ต่างแทนทอม ทั้งๆ ที่คนในเมืองคัดค้าน ทำให้เขาโดนชาวบ้านนินทาว่าเป็นพวกเดียวกับคนผิวดำ (สมัยนั้นยังมีการเหยียดสีผิวกันอย่างเปิดเผยค่ะ)

        ในขณะเดียวกัน จีน กับเจม ก็ชอบไปด้อมๆ มองๆ แถวบ้าน "บู" หรืออาเธอร์ แรดลีย์ หนุ่มใหญ่ที่ชอบเก็บตัวอยู่ในบ้าน ไม่ค่อยมีใครได้เห็นเขา เด็กๆ ก็จินตนาการไปไกลว่า "บู" ต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ

        พี่น้องจะไม่เล่าอะไรต่อนะ ไปอ่านกันเองว่าเรื่องนี้สุดท้ายแล้วมันมาบรรจบกันยังไง แต่จะบอกว่าที่วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับการยกย่องมาก เพราะมันพูดถึงประเด็นการเหยียดสีผิวในอเมริกา ที่แม้ในปัจจุบันก็ยังไม่หายไปจากใจคนอเมริกันสักที

        และไม่ใช่แค่เรื่องเหยียดสีผิว แต่เป็นการตัดสินคนจากเสียงลือเสียงเล่าอ้าง เหมือนอย่างที่ชาวบ้านตัดสิน ทอม ว่าต้องผิดแน่ๆ ส่วนจีนกับเจมก็ตัดสินว่า "บู" ต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ

        (เรื่องนี้ก็มีเป็นหนังเช่นกัน คนเล่นเป็นแอตติคัสหล่อมาก จอบอ)
 

3. Romeo & Juliet - เชคสเปียร์


Bazmark Films
 
        แน่นอนที่สุดว่านักเรียนมัธยมที่อเมริกาต้องได้เจอบทละครของเชคสเปียร์อย่างน้อย 1 เรื่องในชีวิต จะโรมิโอ กับจูเลียต, แมคเบธ หรือ โอเธลโล่ ก็แล้วแต่

        เนื่องจากว่ามันเป็นบทละคร ก็จะมีการเล่นคำ เล่นภาษา คล้ายๆ กับที่เราอ่านรามเกียรติ์กันนั่นแหละค่ะ ความยากของมันก็จะอยู่ตรงที่ต้องแกะภาษาเก่าให้ออก จับใจความให้ได้ แล้วถึงค่อยมาวิเคราะห์ว่าแต่ละเรื่องพูดถึงอะไร ยังไม่นับคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เชคสเปียร์เป็นคนคิดค้นขึ้นมาใช้เป็นคนแรก เพราะเขาเป็นเจ้าแห่งการสร้างคำค่ะ

        (เรื่องนี้ก็มีเป็นหนังเช่นกัน พี่ต้องบอกมั้ยเนี่ย 5555 โรมิโอหล่อมากเช่นกัน ก็ลีโอนาโดนั่นแหละ)
 

4. Fahrenheit 451 - เรย์ แบรดเบอร์รี่

Vineyard Film
 
        ถ้าใครไม่รู้จักนิยายเรื่องนี้ พี่น้องจะใบ้ให้ว่ามันคือนิยายแนว Hunger Games หรือ Divergent ยุคแรกๆ เลยค่ะ (แค่ไม่มีพระเอกหล่อๆ กับฉากสู้หวือหวาแค่นั้น) เขาเรียกนิยายแนวนี้ว่า Dystopian Literature เป็นนิยายที่พูดถึงโลกในอุดมคติ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้อุดมคติอย่างที่คิด

        ฟาเรนไฮต์ 451 พูดถึงมอนทาก ที่ทำอาชีพ 'fireman' แต่ไม่ใช่นักดับเพลิงอย่างที่เราเข้าใจนะคะ เขาเป็นนักวางเพลิงหนังสือค่ะ งานของเขาคือเผาหนังสือทุกเล่มที่เจอในบ้านคน เพราะรัฐมองว่าหนังสือมีเนื้อหาเก่า ในขณะที่สื่ออื่นๆ ไปไกล ถ้าคนอ่านหนังสืออาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ก็เผาไปให้หมดเลยแล้วกัน
 
        แน่นอนว่าความอยากรู้ทำให้มอนทากแอบขโมยหนังสือออกมาบ้างระหว่างการทำงาน และเขาก็เริ่มอ่าน เนื้อหาในหนังสือทำให้เขาเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง ยิ่งช่วงนี้ใกล้จะมีสงคราม เขาเชื่อว่าหนังสือจะให้คำตอบได้ว่าเขาควรทำอย่างไรกับชีวิตของเขาดี

        เรื่องนี้นอกจากจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างโลกในอุดมคติแบบสุดโต่งแล้ว ยังทำให้เราเข้าใจคุณค่าของหนังสือเล่ม แม้จะเป็นหนังสือที่เก่าเก็บมานานแต่ก็มีคุณค่าต่อเราทุกคน ถ้าใครได้อ่านเรื่องนี้ช่วงนี้จะอินมากค่ะ เพราะเรากำลังเข้าสู่ยุคที่สิ่งพิมพ์กำลังมาถึงขาลงแล้ว
 

5. Animal Farm - จอร์จ ออร์เวล

Halas & Batchelor
 

        นักเขียนคนนี้จริงๆ แล้วคือ อีริก อาเธอร์ แบลร์ เป็นคนอังกฤษที่นิยมการปกครองแบบประชาธิปไตย และไม่ชอบการปกครองที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จและใช้ความรุนแรงของรัสเซียในยุคสตาลิน เขาเลยเขียนเรื่อง Animal Farm โดยจำลองภาพการปกครองของรัสเซีย และการเมืองระหว่างประเทศ ผ่านสัตว์ต่างๆ (ไอเดียดีนะ)

        Animal Farm จะทำให้เราเข้าใจสภาพการปกครองที่จำกัดเกินไป และสุดโต่งเกินไป ผ่านการเปรียบเปรียเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ แบบจิกกัดล้อเลียนนิดๆ คนอ่านจะได้ไม่รู้สึกเหมือนกำลังอ่านหนังสือการเมืองเล่มหนึ่งอยู่นั่นเองค่ะ
 

6. Great Expectations - ชาร์ลส์ ดิกเกนส์

BBC Films
 
        ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากๆ ของอังกฤษ สำหรับผลงานของเขาเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กกำพร้าชื่อ พิพ ที่จับพลัดจับผลูได้เงินสนับสนุนก้อนใหญ่จากผู้ไม่ประสงค์ออกนามให้ไปเรียนศาสตร์ชั้นสูงแบบผู้ดีอังกฤษ แล้วมารู้ทีหลังว่าคนที่ให้เงินก้อนนี้คือนักโทษชาวออสเตรเลียที่เคยหนีการจับกุมแล้วมาเจอเขาสมัยเด็ก แถมยังเป็นพ่อของคนที่เขารักอีก

        นิยายเรื่องนี้เน้นไปที่การพยายามไต่เต้าจากสังคมระดับล่างไปสู่สังคมชั้นสูงผ่านวิธีการต่างๆ อย่างพิพก็ต้องอาศัยเงินจากผู้ไม่ประสงค์ออกนามให้ไปอยู่ในสังคมชั้นสูง พอตัวเองไปอยู่แล้วก็รังเกียจลุงที่เคยเลี้ยงตัวเองมา หรือเอสเตลล่าที่พิพหลงรัก ก็ไปแต่งงานกับผู้ชายที่มีฐานะเพื่อจะได้ยกระดับตัวเอง แต่กลายเป็นว่าเขาไม่ใช่คนดีนัก
 

7. Catcher in the Rye - เจ.ดี. ซาลิงเจอร์

        นิยายอเมริกันที่โดนแบนจากห้องสมุดมากที่สุด โดนผู้ปกครองร้องเรียนมากที่สุด และได้รับเลือกให้เป็นหนังสือนอกเวลามากที่สุดอีกเช่นกัน

        Catcher in the Rye (หรือชื่อไทยเพราะๆ ว่า "จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น") เล่าถึงเด็กหนุ่มวัยกลัดมันชื่อโฮลเด็นที่กำลังสับสนในชีวิต และต้องก้าวผ่านระหว่างความเป็นวัยรุ่น ไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ทำเรื่องเหลวไหลบ้าง ยืนเพ้อมองนั่นมองนี่ไปบ้าง

        นิยายเรื่องนี้โดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้คำหยาบ และมีเรื่องเพศ แต่ในขณะเดียวกันครูๆ ในโรงเรียนอเมริกาก็ชอบหยิบมาสอน เพราะมันเป็นหนังสือที่พูดถึงการก้าวผ่านระหว่างความเป็นวัยรุ่นเข้าสู่วัยที่ต้องรับผิดชอบอะไรมากขึ้น และต้องคิดให้ได้มากขึ้น

        เคยมีครูที่โดนไล่ออกเพราะเลือกหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาด้วยนะ แต่ก็ได้กลับมาสอนอีกครั้งหลังจากประเด็นเงียบหายไป
 

8. 1984 - จอร์จ ออร์เวล

Umbrella-Rosenblum Films Production
 
        นักเขียนคนนี้น่าจะเกลียดการถูกควบคุมชีวิตพอสมควรนะพี่ว่า เพราะนอกจากเรื่อง Animal Farm แล้ว ผลงานอีกเรื่องที่โดดเด่นมากๆ ของเขาก็คือ 1984 ซึ่งเป็นนิยายแนว Dystopia คล้ายๆ Farenheit 451 แต่เรื่องนี้รัฐบาลจะคอยจับตาดูประชาชนทุกฝีเก้า เรียกได้ว่าคุณไม่ต้องคิดเป็น คุณแค่ทำตามคำสั่งที่รัฐบาลสั่งให้ทำก็พอ

        เมื่อใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา เด็กๆ จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีอิสระในการแสดงความเห็นและการตัดสินใจด้วยตัวเอง

        นิยายเล่มนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดรายการทีวีเรียลลิตี้โชว์ยอดฮิตในยุคก่อนชื่อ Big Brother ที่ให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกันในบ้าน โดยที่ผู้ชมทางบ้านจะได้จับตาดูคนในบ้านแล้ววิพากษ์วิจารณ์กันได้สนุกปาก
 

9. Pride & Prejudice - เจน ออสติน

Universal Pictures
 
        สาวๆ ต้องชอบนิยายเรื่องนี้ จัดว่าเป็นโฉมงามกับเจ้าชายอสูรเวอร์ชั่น เจน ออสตินเลยทีเดียว เรื่องนี้เกี่ยวกับอลิซาเบธ สาวน้อยที่ค่อนข้างจะมีนิสัยต่างจากพี่ๆ น้องๆ ของเธอตรงที่เธอไม่ได้ชอบความสวยความงาม แต่ชอบการอ่านมากกว่า

        และก็เป็นไลฟ์สไตล์ของสาวๆ ยุคนั้นที่ต้องแต่งองค์ทรงเครื่องไปงานเต้นรำเพื่อหาผู้ชายรวยๆ ที่จะยกฐานะพวกเธอได้ เรื่องเลยเริ่มที่งานเลี้ยงเต้นรำซึ่งพี่สาวของอลิซาเบธได้คู่กระหนุงกระหนิง ส่วนอลิซาเบธได้เจอคุณดาร์ซี่ ผู้ชายที่ไม่ชอบเข้าสังคมและขวานผ่าซากสุดๆ

        ความอคติแต่แรกพบ ทั้งฝั่งคุณดาร์ซี่และอลิซาเบธทำให้ทั้งคู่ไม่รักกันซะที จนอลิซาเบธมารู้ความจริงในภายหลังว่าเธอเข้าใจผิดหมด (ทาดาาาา)
 

10. The Grapes of Wrath - จอห์น สไตน์แบ็ก

Twentieth Century Fox
 
        มาถึงเรื่องสุดท้ายที่อาจไม่คุ้นตากันเท่าไร แต่ก็จัดว่าเป็นนิยายระดับรางวัลพูลิตเซอร์ และมีเนื้อหาที่เด็กอเมริกันทุกคนต้องอ่าน คล้ายๆ กับอ่านหนังสือประวัติศาสตร์นี่แหละค่ะ

        The Grapes of Wrath เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวชาวนาชื่อ โจด ที่ต้องตกระกำลำบากไร้ที่ทำกินเนื่องจากอเมริกาเข้าสู่ยุค Great Depression เป็นยุคที่สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ไปหมด เขาเลยตัดสินใจเดินทาง to the left, to the left ไปตายเอาดาบหน้าที่แคลิฟอร์เนีย

        จุดประสงค์ของการให้อ่านนิยายเรื่องนี้เป็นหนังสือนอกเวลาก็เพื่อให้เด็กๆ อเมริกันเข้าใจประวัติศาสตร์อเมริกันในยุค Great Depression และสภาพความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษนั่นเอง
 
        และทั้งหมดนี้ก็คือหนังสืออ่านนอกเวลาที่โดนจับมาให้อ่านกันบ่อยสุดๆ จริงๆ แล้วยังมีอีกเป็นร้อยๆ เรื่องเลยค่ะ แถมเดี๋ยวนี้ตามโรงเรียนต่างๆ ก็เริ่มหยิบเอานิยายร่วมสมัยมาเป็นหนังสือนอกเวลาอย่างนิยายแฟนตาซีเรื่อง Dune หรือ ซิลมาริลเลียน ของโทลคีน (คนเขียน Lord of the Rings) ด้วย

        ถ้าน้องๆ คนไหนสนใจจะเรียนคณะอักษรศาสตร์หรือสายนี้ จะต้องได้อ่านนิยายพวกนี้ในวิชาวรรณคดีอย่างแน่นอน แต่สำหรับคนที่ไม่ได้จะเรียนอักษรแต่สนใจภาษาอังกฤษ พี่น้องก็อยากแนะนำให้หามาอ่านสักเรื่องสองเรื่องเพื่อเป็นการฝึกภาษานะคะ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นนิยายที่อ่านง่าย ระดับเด็กมัธยมของอเมริกาก็อ่านได้แล้ว

        ถึงแม้ว่านิยายพวกนี้จะไม่ค่อยหวือหวาเท่า Harry Potter หรือ Hunger Games แต่พออ่านจบแล้วจะรู้สึก "เต็ม" ค่ะ เหมือนเราได้คำตอบบางอย่างในชีวิต

        ถ้าให้พี่น้องแนะนำเรื่องที่อ่านง่ายและสนุกที่สุด คงเป็น
To Kill a Mocking Bird เพราะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเด็ก ก็จะมีศัพท์ง่ายๆ หน่อย และมีองค์ประกอบของความฟินอยู่ (แอตติคัส ฟินช์นี่เท่มากจริงๆ ><) ไปลองหามาอ่านกันนะ
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

มัณทนา Member 21 ธ.ค. 59 14:38 น. 1

หนังสือเรียนวิชาภาษาไทยรุ่นแก้วกับกล้าของชั้นป.5-ป.6 (รู้อายุของเจ้าของคอมเมนต์เลย)

มีหนังสืออ่านนอกเวลาอยู่ท้ายๆเล่มตั้งใจ

0
กำลังโหลด

8 ความคิดเห็น

มัณทนา Member 21 ธ.ค. 59 14:38 น. 1

หนังสือเรียนวิชาภาษาไทยรุ่นแก้วกับกล้าของชั้นป.5-ป.6 (รู้อายุของเจ้าของคอมเมนต์เลย)

มีหนังสืออ่านนอกเวลาอยู่ท้ายๆเล่มตั้งใจ

0
กำลังโหลด
เกียรติ์ Member 21 ธ.ค. 59 21:05 น. 2
Pride & Prejudice นี่อมตะมาก หนุ่มอเมริกันที่เราเคยเรียนภาษาอังกฤษด้วยชอบเรื่องนี้มาก และดีใจที่คนที่เรียนภาษาอังกฤษอ่านเล่มนี้กันค่ะ เพราะเป็นหนังสือที่ถือว่าใช้ภาษาสละสลวย
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
editor_nong Member 26 ธ.ค. 59 22:43 น. 4-1
หาซื้อตามร้านขายหนังสือ Asia Books หรือคิโนะคุนิยะ ได้เลยจ้า เยี่ยม ไม่งั้นรองานหนังสือปลายเดือนมีนาคมปีหน้า จะมีสนพ.เอาหนังภาษาต่างๆ มาลดราคาเพียบเลย
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด