10 สำนวนน่ารู้จาก "ข่าวการเมือง" ของอเมริกา

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ช่วงนี้ พี่พิซซ่า ยังคงเกาะติดกับเรื่องการเมืองอยู่ค่ะ English Issues วันนี้เลยมีสำนวนน่ารู้เกี่ยวกับการเมืองมาฝาก เชื่อว่าถ้าใครตามอ่านข่าวต่างประเทศหรือฟังปราศรัยมาบ้างก็น่าจะเคยได้ยินหลายสำนวนมาบ้างแล้ว



POTUS

     คำแรกนี้ไม่ได้เป็นสำนวนจริงๆ แต่เป็นตัวย่อที่ควรรู้ไว้ค่ะ ย่อมาจาก President of the United States หมายถึงประธานาธิบดีนั่นเอง ส่วนสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งจะใช้ตัวย่อว่า FLOTUS ที่มาจาก First Lady of the United States แต่ถ้าเกิดประธานาธิบดีเป็นผู้หญิงและสามีกลายเป็นสุภาพบุรุษหมายเลขหนึ่งแทนล่ะก็ ตัวย่อก็คงเปลี่ยนไป


road to 270

     หมายถึงเส้นทางสู่ 270 คะแนนค่ะ เพราะจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐได้นั้นต้องได้คะแนนอย่างต่ำ 270 คะแนน ถ้าสงสัยว่าทำไม 270 เองทั้งที่คนทั้งประเทศมีตั้งหลายล้าน หาคำตอบได้ที่บทความนี้เลยนะคะ https://www.dek-d.com/studyabroad/43455/


presumptive nominee

     หมายถึงผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคและมหาชนมากที่สุดค่ะ เป็นคนที่แม้จะยังไม่มีผลแน่ชัดออกมาแต่ทุกคนก็คาดการณ์เลยว่าคงได้เป็นบุคคลที่พรรคจะเสนอชื่อแน่ๆ


broaden his appeal beyond the base

     เพื่อให้เข้าใจสำนวนนี้ได้ง่ายขึ้นเราต้องมาแยกส่วนมันซักนิดค่ะ base ในที่นี้หมายถึงผู้สนับสนุนหลักของพรรคการเมือง แต่ละพรรคจะมีผู้สนับสนุนเยอะมากตั้งแต่ประชาชนธรรมดาไปจนถึงคนใหญ่คนโต base จะใช้เรียกกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคที่ค่อนข้างแอ็คทีฟค่ะ เช่นไปแทบทุกงานหาเสียง ช่วยทุกงานระดมทุน และมักใช้สื่อต่างๆ สนับสนุนกิจกรรมของพรรคบ่อยๆ เป็นกลุ่มขาประจำหรือจะเรียกว่าสาวกของพรรคเลยก็ได้
     ส่วน broaden his/her appeal คือการทำให้คนอื่นที่ไม่ใช่แค่คนในพรรคหันมาเลือกและสนับสนุนคนนั้นให้ชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยการระบุปัญหาที่คนนอกพรรคกำลังสนใจหรือหาเสียงโดยชูนโยบายที่คิดว่าใครๆ ก็อยากฟัง เมื่อรวมกันแล้วสำนวนนี้ก็หมายถึงพยายามทำให้คนมากมายเลือกคนนั้นโดยที่ไม่ได้หวังแค่จากคะแนนของสาวกในพรรค


flip-flop

     คำนี้ไม่ได้แปลว่านักการเมืองใส่รองเท้าแตะขึ้นเวทีนะคะ แต่ flip-flop ในภาษาการเมืองแปลว่าเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อประเด็นบางอย่างแบบทันทีทันใดค่ะ เช่น ผู้สมัครคนนี้หาเสียงไปซักพักแล้วพบว่าผู้คนดูไม่ชอบนโยบายเดิมของเขาเรื่องต่อต้านการแต่งงานเพศเดียวกัน แต่ด้วยความที่อยากชนะการเลือกตั้ง อยู่ๆ เขาก็เปลี่ยนใจมาบอกว่าจะสนับสนุนนโยบายให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้แบบถูกกฎหมาย ฉะนั้นก็พูดได้ว่า He has flip-flopped.


Where does he fit in to the conversation?

     ประโยคนี้มักได้ยินจากนักข่าวค่ะ นักข่าวมักถามคำถามนี้กับพรรคการเมืองเวลาที่พรรคนั้นๆ ประกาศส่งผู้สมัครคนนี้เป็นตัวแทนเพื่อลงแข่งในสนามการเลือกตั้ง โดยที่ดูๆ แล้วก็มีผู้สมัครที่ลงสนามไปแล้วอีกเยอะแยะมากมาย จึงเป็นสำนวนที่ใช้ถามประมาณว่า "มีผู้สมัครไปแล้วตั้งเยอะแยะมากมาย พรรคคุณส่งคนนี้ไปแข่งอีกทำไม เขามีอะไรที่ต่างจากคนอื่นๆ ที่สมัครไปแล้วยังไงบ้าง"


two horse race

     สำนวนนี้ใช้กับการเลือกตั้งที่ดูแล้วผู้ชนะคงเป็น 1 ใน 2 คนนี้เท่านั้น หรือจะมองว่าที่ดูแข่งกันจริงจังมีแค่ 2 คนนี้เท่านั้น ไม่ได้มีตัวเลือกอื่นที่น่าลุ้นความเป็นไปได้อีก อย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาก็พูดได้ว่า This election is a two horse race.


a political football

     ใช้พูดถึงประเด็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ซะทีเพราะมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นประเด็นเรื่องปืน เป็นปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ซะที เพราะเกมทางการเมืองทำให้มีเรื่องของผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องเสมอ เลยคาอยู่แบบนี้ That problem is a political football. ปัญหานั้นก็เหมือนลูกบอลที่ถูก 2 ฝั่งผลัดกันเตะไปมา ไม่ได้แก้ให้มันสำเร็จซะที


throw in the towel

     แปลว่ายอมแพ้ค่ะ เหมือนนักมวยที่รู้ว่าตัวเองไม่ไหวแล้ว ก็ให้โยนผ้าเข้ามาเพื่อแสดงว่าจะยอมแพ้แล้ว สำนวนนี้ก็ใช้กับนักการเมืองได้เช่นกัน หลายคนที่รู้ตัวว่าจะไม่ได้เป็นตัวแทนพรรคแน่ๆ ก็เลือกที่จะยอมแพ้ก่อนที่ผลคะแนนสุดท้ายจะออกอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ


media firestorm

     วลีนี้หมายถึงการที่สื่อระดมยิงคำถามเพราะต้องการถามหาความรับผิดชอบที่บุคคลหนึ่งได้ทำอะไรไม่ดีลงไป เช่นมีคลิปหลุดของผู้สมัครคนหนึ่งกำลังพูดจาลวนลามลูกน้องในที่ทำงาน ทำให้เรื่องนี้เป็นที่สนใจไปทั่ว บรรดาสื่อต่างๆ ก็มารุมยิงคำถามใส่ผู้สมัครคนนี้มากมาย เราก็บอกได้ว่า He came under a media firestorm after the video was released.


     คราวนี้อ่านข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็น่าจะเข้าใจสำนวนมากขึ้นแล้วนะคะ หลายสำนวนในนี้สามารถปรับใช้กับเรื่องอื่นได้ด้วย เช่นรายการแข่งขันความสามารถพิเศษ การแข่งกีฬา หรือข่าวที่เป็นที่สนใจของคนจำนวนมากอื่นๆ


 


อ้างอิง
jenebaspeaks.com
learningenglish.voanews.com
www.learnenglish.de
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด