15 ศัพท์ในภาษาอังกฤษที่มีที่มาจากภาษาเอเชีย

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com หลายคนน่าจะทราบแล้วเนอะว่าภาษาอังกฤษยืมคำมาจากหลายๆ ภาษา ทั้งกรีก ละติน เยอรมัน ฝรั่งเศส และภาษายุโรปอื่นๆ อีกมากมาย แต่จริงๆ แล้วก็มีศัพท์ในภาษาอังกฤษอีกเยอะที่มาจากภาษาในเอเชีย English Issues เลยรวบรวมมาฝากค่ะ



chop chop

     ช็อปช็อป เป็นภาษาพูดที่ผู้ใช้ภาษาอังกฤษหลายคนใช้ติดปากเวลาจะบอกว่า "รีบๆ เข้าสิ" คำนี้มีที่มาจากภาษาจีนกวางตุ้งว่า 速速 (ฉุกฉุก) ที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน คนเรือชาวจีนมักใช้คำนี้พูดกันจนคนเรือชาวอังกฤษติดมา และก็ติดกันมาเรื่อยๆ จนกลับมาถึงบ้านเกิด


ketchup

     ไม่น่าจะมีใครไม่รู้จัก ketchup หรือซอสมะเขือเทศ ซอสที่นิยมกินกับเมนูอาหารตะวันตกกัน ซอสมะเขือเทศนี้มีที่มาจากซอสหมักจากปลาดองและเครื่องเทศ ที่เรียกว่า 鮭汁 ( ในภาษาจีนฮกเกี้ยน) ทำโดยชาวจีนเซี่ยเหมินในสมัยศตวรรษที่ 17 เมื่อถืงศตวรรษที่ 18 ซอสชนิดนี้ก็แพร่หลายไปถึงบริเวณประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ในปัจจุบันซึ่งตอนนั้นนักล่าอาณานิยมจากอังกฤษกำลังคุมอยู่ ตอนนั้นภาษามาเลย์เรียกซอสชนิดนี้ว่า kecap (เคแชบ) ชาวอังกฤษก็รับซอสชนิดนี้ต่อมาและเรียกว่า ketchup เมื่อชาวอังกฤษเข้าไปสร้างอาณานิคมในอเมริกาก็พาซอสชนิดนี้ไปด้วย


rickshaw

     rickshaw หรือรถลากเป็นพาหนะ 2 ล้อที่ใช้คนลาก ขนาดสำหรับผู้โดยสาร 1 คน มีใช้ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1869 เรียกว่า 人力車 (จินริคิฉะ) จากนั้นก็แพร่หลายไปอีกหลายประเทศในเอเชีย โดนในจีนเรียกว่าเหรินลี่เชอ และเมื่อชาวอังกฤษรับไปอีกต่อก็กลายเป็นริกชอว์นั่นเอง


tycoon

     tycoon (ไทคูน) ที่แปลว่านักธุรกิจที่มีอิทธิพลและร่ำรวยมาก แบบที่เราเคยได้ยินกันว่า Bill Gates is a business tycoon. จริงๆ คำนี้ก็มีที่มาจากภาษาญี่ปุ่นเช่นกันค่ะ 大君 (ไทคุน) แปลว่าผู้ยิ่งใหญ่หรือนายท่าน เช่นท่านโชกุน


soy

     soybean หรือ soya bean ที่แปลว่าถั่วเหลืองก็มีที่มาจากญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งคำที่มาจากภาษาญี่ปุ่นคือ soy นะ ไม่ใช่ bean คำว่า soy มาจากคำว่า 醤油 (โชหยุ) หรือซอสถั่วเหลืองที่เรากินกับอาหารญี่ปุ่นนั่นเอง



amok

     amok แปลว่าคลุ้มคลั่ง, อาละวาด มักเจออยู่คู่กับ run amok หรือ go amok นอกจากนี้ยังหมายถึงภาวะคลุ้มคลั่งที่อยากทำลายข้าวของหรือผู้คนหลังจากที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้ามาระยะหนึ่ง คำว่า amok นี้มาจากคำเดียวกันในภาษามาเลย์ที่แปลว่าอาละวาดแบบควบคุมไม่ได้ และค่อนข้างไปทางความเชื่อที่ว่าการอาละวาดนี้เกิดจากวิญญาณร้ายเข้าสิงคนคนนั้น


compound

     ปกติเรารู้จักคำนี้ที่แปลว่าส่วนผสม, คำผสม หรือสารประกอบ คำว่า compound ตามความหมายนี้มาจากรากศัพท์ในภาษาละตินว่า componere แต่ compound ที่จะพูดถึงนี้คือ compound ที่ใช้ในทางทหารที่แปลว่าป้อมปราการที่เกิดจากการสร้างกำแพงล้อมรอบอาคารหลายๆ หลังเข้าด้วยกัน คำนี้มีที่มาจากคำว่า kampong (กำปง) ในภาษามาเลย์ ที่แปลว่ากลุ่มอาคาร จากนั้นคำนี้ก็ถูกนำไปใช้ต่อในภาษาดัตช์หรือโปรตุกีสก่อนจะเข้าไปถึงภาษาอังกฤษ


mangosteen

     หลายคนน่าจะสงสัยมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าทำไมมังคุดถึงมีชื่อภาษาอังกฤษแบบนี้ mangosteen มีที่มาจากชื่อมังคุดในภาษามาเลย์ที่เรียกว่า manggis (มังกิส) แล้วก็มีสำเนียงนึงในภาษามาเลย์เรียกว่า mangisutan (มังกิสตาน) เมื่อฝรั่งมารับจากสำเนียงนี้ไปก็ทำให้กลายเป็น mangosteen


rambutan

     ชื่อเงาะในภาษาอังกฤษมาจากภาษามาเลย์เช่นเดียวกันค่ะ rambūtan แปลว่าสิ่งที่ขนดก


avatar

     คอเกมคอหนังต้องรู้จักคำนี้ avatar หรืออวตารในภาษาอังกฤษรับมาจากภาษาฮินดีหรือไม่ก็อูรดู ที่รับคำนี้มาจากภาษาสันสกฤตอีกที अवतार (อวาตาระ)



jungle

     jungle ที่แปลว่าป่าก็เป็นคำที่รับมาในเวลาไล่เลี่ยกันกับอวตารค่ะ ภาษาอังกฤษรับมาจากภาษาฮินดีและอูรดู ซึ่งรับมาจากภาษาสันสกฤตอีกที जङ्गल (จันกาละ) ทั้งที่ในภาษาสันสกฤตคำนี้แปลว่าพื้นที่แห้งแล้งหรือทะเลทราย


nirvana

     nirvana แปลว่านิพพานค่ะ คำนี้จึงมีที่มาจากภาษาสันสกฤตเช่นกัน


punch

     punch ในที่นี้คือเครื่องดื่มพันช์ ไม่ใช่ที่แปลว่าชกต่อยนะคะ ชื่อเครื่องดื่มนี้มีที่มาจากภาษาฮินดีในคำเดียวกัน มีความหมายว่าห้า เพราะต้นตำหรับเลยทำจากส่วนผสม 5 อย่างได้แก่ แอลกอฮอล์ น้ำตาล มะนาว น้ำเปล่า และชาหรือเครื่องเทศ


shampoo

     คำว่าแชมพูที่เป็นคำนามหมายถึงยาสระผมเนี่ย จริงๆ เกิดหลังจากคำว่า shampoo ที่เป็นกริยาในภาษาอังกฤษอีกนะคะ แชมพูที่เป็นคำนามเกิดในปี 1866 แต่แชมพูที่เป็นกริยาเกิดในปี 1762 แปลว่านวดค่ะ ซึ่งกริยาว่าแชมพูนี้มาจากภาษาฮินดีว่าชัมโพที่แปลว่ากดหรือนวดกล้ามเนื้อ


orange

     orange ในภาษาอังกฤษใช้พูดถึงตัวผลไม้กับต้นไม้มานานหลายร้อยปีก่อนที่จะใช้เป็นชื่อสี orange เข้ามายังภาษาอังกฤษยุคกลางในศตวรรษที่ 13 ผ่านภาษาฝรั่งเศสยุคเก่าที่เรียกว่า orenge โดยเป็นชื่อเรียกผลส้ม เชื่อกันว่าภาษาฝรั่งเศสรับคำนี้มาจากภาษาอิตาเลียนอีกที และอิตาเลียนรับมาจากภาษาอาหรับว่า نارنج (นารันจ์) ซึ่งรับมาจากภาษาเปอร์เซียอีกทีว่า نارنگ (นารัง) แต่ต้นตำรับจริงๆ คาดว่ามาจากคำว่า "ต้นส้ม" ในภาษาสันสกฤตว่า नारङ्ग (นารันกาห์) ตัว n ที่อยู่ข้างหน้าสุดหายไปตอนมาถึงภาษาอิตาเลียนเพราะขนบการเขียนในสมัยนั้น แต่ในภาษาสเปนปัจจุบันยังเรียกส้มว่า naranja อยู่



     การศึกษาที่มาของคำศัพท์ต่างๆ เรียกว่า etymology นอกจากสนุกแล้ว ยังให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ด้วย ว่าผลไม้บางอย่างเริ่มแพร่หลายจากจุดไหน หรือตอนนั้นใครตกเป็นเขตอาณานิคมของใคร หรือแม้แต่เส้นทางการค้าสมัยก่อนที่พาคำศัพท์ต่างๆ เดินทางไปด้วย ชอบคำไหนกันเป็นพิเศษก็คอมเมนต์ได้เลยนะคะ


อ้างอิง
www.etymonline.com
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด