พลาดนิดเดียว แต่ถึงตาย! 5 อุบัติเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดใน "การแปลงหน่วย"

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com น้องๆ เคยรู้สึกว่ายุ่งยากมั้ยคะเวลาต้องแปลงหน่วยวัดจากนิ้วเป็นเซนติเมตร เวลาสั่งซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ พี่พิซซ่า รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหามากเลย วันนี้พี่ก็เลยลองหาคำตอบว่าการแปลงหน่วยวัดเคยสร้างปัญหาใหญ่ๆ อะไรบ้างรึเปล่า แล้วก็พบว่ามันสร้างปัญหาใหญ่จริงๆ ด้วยค่ะ


ยานอวกาศนาซ่าที่จากไปตลอดกาล



แผนภาพเปรียบเทียบระยะที่ควรเป็นกับระยะที่เกิดจากความผิดพลาด
By Xession (Own work) [CC BY 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/3.0)], via Wikimedia Commons

     นาซ่าส่งยาน Mars Climate Orbiter ขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม 1998 เพื่อศึกษาสภาพภูมิอากาศบนดาวอังคารและการเปลี่ยนแปลงบนผิวดาว แล้วก็เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารสำหรับยานลงจอดบนขั้วดาวอังคารในอนาคต ทว่าเมื่อถึงวันที่ 23 กันยายน 1999 ยานก็ขาดการติดต่อมื่อเข้าใกล้ดาวอังคาร นั่นเป็นเพราะทีมหนึ่งใช้ซอฟต์แวร์ที่คำนวณแรงเป็นหน่วยปอนด์-วินาทีที่เป็นหน่วยที่ใช้โดยทั่วไปในอเมริกา ในขณะที่อีกทีมใช้ซอฟต์แวร์คำนวณเป็นหน่วยนิวตัน-วินาทีตามหลักสากล เมื่อทีมแรกเอาข้อมูลมาให้อีกทีมต่อ ซอฟต์แวร์นั้นก็เอาตัวเลขมาเป็นหน่วยนิวตันเลย ไม่ได้แปลงหน่วยก่อน ทำให้การคำนวณตำแหน่งของยานคลาดเคลื่อนไปเยอะ ทำให้ยานเข้าใกล้ดาวอังคารมากเกินไปจนโดนดึงผ่านชั้นบรรยากาศเข้าไปและหายไปเลย
     จริงๆ มีนักวิเคราะห์สองคนที่สังเกตเห็นปัญหาเรื่องการเปลี่ยนหน่วยแต่แรก แต่ผู้ใหญ่กลับไม่สนใจ ทำให้ปฏิบัติการมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์ต้องล้มเหลว นอกจากนี้นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่นาซ่าเจอปัญหาจากการลืมแปลงหน่วยด้วยค่ะ ยานที่ชื่อ Solar and Heliospheric Observatory (SOHO) ที่ถูกส่งไปสำรวจดวงอาทิตย์ในวันที่ 2 ธันวาคม 1995 เคยเกือบจะต้องบ๊ายบายไปแล้วเหมือนกัน เพราะการทำงานของสองทีมที่ใช้คนละหน่วยวัดกัน ดีที่พอยานเริ่มออกนอกเส้นทางที่วางไว้ไม่นานก็มีทีมงานรีบเข้ามาแก้ปัญหาจนทำให้ยานกลับเข้าเส้นทางเดิมได้


เครื่องบินแคนาดาน้ำมันหมดกลางทาง



Episode of Air Crash Investigation, National Geographic

     แอร์แคนาดาเที่ยวบินที่ 143 เดินทางจากมอนทรีอัลไปเอ็ดมอนตันได้รับชื่อเล่นว่า Gimli Glider เพราะน้ำมันหมดกลางทางแล้วต้องร่อนลงจอดที่สนามบินในเมืองกิมลี่ รัฐมานิโตบา ส่วนสาเหตุที่น้ำมันหมดกลางทางก็เพราะเที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินแรกของสายการบินที่เปลี่ยนมาใช้มาตราเมตริก (ลิตรและกิโลกรัม) ในการคำนวณ แต่คาดว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่รู้เรื่องนี้ ทำให้มีบางคนยังใช้มาตราอิมพีเรียลอยู่ (แกลลอนและปอนด์) ปริมาณน้ำมันจึงไม่เป็นอย่างที่คิด
     ดีที่กัปตันโรเบิร์ต เพียร์สัน กัปตันของเที่ยวบินนี้เป็นกัปตันที่มีประสบการณ์การร่อนเครื่องบินลงจอดอย่างดี เขาจึงสามารถพาเครื่องลงฉุกเฉินที่สนามบินกิมลี่ได้อย่างปลอดภัย ไม่มีใครเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากการร่อนลง แต่มีผู้บาดเจ็บ 10 คนที่ได้รับบาดเจ็บขณะสไลด์ออกมาจากเครื่องบินหลังเครื่องลงจอดแล้ว


ว่าที่เรือรบที่ใหญ่ที่สุดจมแทบจะในทันทีที่ออกเดินทาง



By JavierKohen (Own work) [CC BY-SA 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons

     ในปี 1628 สวีเดนเปิดตัวเรือรบลำใหม่ล่าสุดที่มีชื่อว่า Vasa ผู้เชี่ยวชาญว่ากันว่ามันยิ่งใหญ่และเป็นเรือรบที่ทรงพลังมากที่สุดในยุคนั้นลำหนึ่งเลย ทว่าในการเดินทางครั้งแรก หลังเรือแล่นไปได้ประมาณ 1.5 กิโลเมตรจากท่า ผู้คนที่ยืนรอส่งอยู่ที่ริมฝั่งก็ต้องตกใจเมื่อเห็นเรือค่อยๆ จมลงไป ปืนใหญ่ทั้ง 64 กระบอกจมสู่ก้นทะเล ลูกเรือเสียชีวิตกว่า 30 ราย การสืบสวนในยุคหลังพบว่าเรือไม่สมมาตรกัน เพราะช่างต่อเรือแต่ละส่วนใช้ระบบการวัดคนละหน่วยกัน นักโบราณคดีค้นพบไม้บรรทัด 4 อันที่ใช้ในการต่อเรือลำนี้ สองอันเป็นไม้บรรทัดระบบฟุตแบบสวีเดนที่ยาว 12 นิ้ว แต่อีกสองอันเป็นไม้บรรทัดระบบฟุตแบบอัมสเตอร์ดัมที่ยาว 11 นิ้ว ทำให้ซีกด้านหนึ่งของเรือใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่ง


สะพานข้ามแม่น้ำระหว่างประเทศที่สองฝั่งสูงไม่เท่ากัน



สะพานหลังแก้ไขเสร็จแล้ว
© Chriusha (Хрюша) / CC-BY-SA-3.0 / (optional) Wikimedia Commons.

     "ระดับน้ำทะเล" ของแต่ละประเทศวัดมาไม่เหมือนกัน ของสหราชอาณาจักรจะวัดจากระดับน้ำทะเลที่คอร์นวอล ส่วนของฝรั่งเศสวัดจากระดับน้ำทะเลที่มาร์แซย์ ในขณะที่เยอรมนีดูตามระดับน้ำทะเลของทะเลเหนือ ส่วนสวิตเซอร์แลนด์วัดจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ฉะนั้นเมื่อถึงคราวต้องสร้างสะพาน Laufenburg เพื่อเชื่อมระหว่างเยอรมนีกับสวิตเซอร์แลนด์ก็เกิดปัญหาที่มาจากหน่วยวัดระดับน้ำทะเลที่ต่างกันค่ะ ต่างฝ่ายต่างสร้างฝั่งของตัวเองโดยให้มีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่เป็นเลขตัวเดียวกัน แต่เมื่อสะพานเริ่มจะมาเจอกันครึ่งทางก็เลยเห็นว่าฝั่งนึงสูงกว่าอีกฝั่งถึง 54 เซนติเมตร สุดท้ายฝั่งเยอรมนีก็ต้องไปลดความสูงของสะพานฝั่งตัวเองเพื่อให้สูงเท่ากัน


รถไฟเหาะในดิสนีย์แลนด์ตกราง



By Photo by ARICAD (Photo by ARICAD) [GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html) or CC-BY-SA-3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0/)], via Wikimedia Commons

     วันที่ 26 ธันวาคม 2004 เครื่องเล่นขึ้นชื่อของโตเกียวดิสนีย์แลนด์อย่าง Space Mountain เกิดปัญหาเมื่อเพลาล้ออันหนึ่งเกิดหักขณะที่กำลังเล่นอยู่ทำให้รถไฟตกราง ดีที่ระบบฉุกเฉินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หยุดรถไฟเหาะทั้งหมดในทันที ทำให้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จากการสืบสวนพบว่าสาเหตุเกิดจากเพลาที่เพิ่งสั่งมาเปลี่ยนใหม่ในปี 2002 เป็นเพลาที่สร้างโดยใช้ระบบมาตราวัดอังกฤษสมัยก่อน แต่ตัวเครื่องเล่นสร้างโดยใช้ระบบมาตราเมตริก ทำให้ขนาดคลาดเคลื่อนกัน


     พลาดแค่นิดเดียวก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ขนาดนี้เลย ฉะนั้นถ้าใครจะต้องวัดอะไรก็อย่าลืมเช็คหน่วยกันดีๆ นะคะ ว่าต้องการหน่วยอะไร หรือถ้าต้องแปลงหน่วยก็ควรแปลงให้ได้ความละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่งั้นเรื่องไม่คาดฝันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ค่ะ
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
Masayuki-kun Member 22 มี.ค. 60 18:32 น. 3

นึกถึงตอนที่เรียนฟิสิกส์ที่ อ. เขาย้ำเรื่องหน่วยนักหนา....

(สอบที ใส่หน่วยผิด ลืมเปลี่ยนหน่วยก็เอาศูนย์มาได้เลย.....)

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
Masayuki-kun Member 22 มี.ค. 60 18:32 น. 3

นึกถึงตอนที่เรียนฟิสิกส์ที่ อ. เขาย้ำเรื่องหน่วยนักหนา....

(สอบที ใส่หน่วยผิด ลืมเปลี่ยนหน่วยก็เอาศูนย์มาได้เลย.....)

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด