โรงเรียนอนุบาล 'ไร้เพศ' Egalia Preschool ที่ประเทศสวีเดน

    สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com หลายคนอาจจะเคยอ่านบทความก่อนหน้านี้ของ พี่นิทาน กันไปแล้ว ที่พูดถึงเรื่องการเลี้ยงดูเด็กๆ แบบแนวคิดอิสระ ไม่จำกัดพวกเขาด้วยสิ่งต่างๆ ที่แบ่งแยกเพศสภาพ เช่น เสื้อผ้า การแต่งตัว ของเล่น และหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวัน (เช่น ให้เด็กผู้ชายแต่งตัวแมนๆ ใช้สีฟ้า เด็กผู้หญิงใส่ชุดสวยๆ เจ้าหญิง สีชมพู เป็นต้น)

    วันนี้พี่ก็จะมาพูดถึงเรื่องคล้ายๆ กัน แต่เป็นเรื่องของ 'โรงเรียน' อนุบาลในประเทศสวีเดน ที่มีแนวคิดสอนเด็กทุกคนแบบ 'ไร้เพศ' หรือ 'เพศตรงกลาง' แต่คำว่าเพศตรงกลางคืออะไร แล้วโรงเรียนนี้จะสอนอย่างไร เรามาหาคำตอบกันเลยค่ะ 

Photo : http://www.nerve.com/

    คำว่า gender-neutral นภาษาอังกฤษแปลว่า ไม่ระบุเพศ หรือเพศตรงกลาง นั่นก็คือไม่ใช่ทั้งเพศหญิงและเพศชายเหมือนที่ธรรมชาติและสังคมกำหนดไว้ให้มีสองแบบ แน่นอนว่าโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และปัจจุบันก็มีครอบครัวในหลายๆ ประเทศที่มีแนวคิดเลี้ยงลูกตัวเองแบบไม่ระบุเพศหรือเพศตรงกลางเช่นกันค่ะ

    แต่ในความเปลี่ยนแปลงหรือความก้าวล้ำไปจากสิ่งที่เคยเป็นแบบนี้ก็ทำให้หลายๆ คนไม่ค่อยเข้าใจแนวคิดแบบนี้สักเท่าไหร่ แต่เหตุผลที่พ่อแม่หลายคนอยากเลี้ยงลูกแบบไร้เพศนั้นก็มีมากมายต่างกันไป ถ้าจะยกมาให้เข้ากันใจก็เช่น การมีเพศนั้นทำให้มีข้อจำกัดในหลายๆ อย่าง เช่น การประกอบอาชีพ (อย่างที่เห็นว่าในบางสังคมก็มักจะยอมรับอาชีพบางประเภทเฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น เช่น แพทย์ ทหาร และอื่นๆ เป็นต้น) และการมี 'บทบาททางเพศ' ในหน้าที่ต่างๆ 

      ตัวอย่างง่ายๆ เลยก็เช่นการเป็นพ่อ แม่คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า พ่อ ควรเป็นผู้นำ แข็งแรงกว่า เข้มแข็งกว่า และแม่ จะเป็นคนอ่อนโยนกว่า ละเอียดอ่อนกว่า หรือ พ่อ ควรจะทำงานช่าง งานหนักต่างๆ ในบ้าน แม่ จะทำแต่งานบ้าน ฯลฯ ดังนั้นการอยู่ในเพศตรงกลางหรือไม่ระบุว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องง่ายที่จะไม่ถูกสังคมกำหนดหรืออยู่ภายใต้กรอบความคิดเดิมๆ ค่ะ 

    *ขอหมายเหตุไว้ก่อนว่า ยังไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับแนวคิดแบบนี้ค่ะ และบทความนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สนใจในแนวคิดนี้ หากใครมีความเห็นต่างอย่างไรก็สามารถคอมเมนต์พูดคุยกันได้ค่ะ*
 
Photo : Wikimedia 


โรงเรียนไร้เพศ Egalia 


    Egalia เป็นโรงเรียนอนุบาลที่ตั้งอยู่ในเขต Södermalm ในสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน โดยโรงเรียนก่อตั้งขึ้นในปี 2010 เปิดรับเด็กตั้งแต่อายุ 1 ขวบจนไปถึง 6 ขวบค่ะ ถ้าหากไม่ได้รู้จักโรงเรียนนี้มาก่อน หลายๆ คนอาจจะคิดว่าก็เป็นแค่โรงเรียนอนุบาลทั่วไปที่ตั้งอยู่ในเขตไฮโซของสตอกโฮล์มเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้ Egalia แตกต่างจากโรงเรียนอนุบาลที่มีอยู่ก็คือแนวคิดการเลี้ยงดูเด็กๆ ให้เท่าเทียมกันทางเพศ หรือ Neutral gender

    ดังนั้นการเรียนการสอนที่นี่ก็จะแตกต่างจากที่อื่น และครูทุกคนจะไม่เรียกเด็กๆ ว่า 'เขา' หรือ 'เธอ' (him กับ her) แต่จะใช้คำว่า 'hen' ที่แปลประมาณว่า they หรือ 'พวกเขา' ในภาษาอังกฤษ (สวีเดนใช้คำสรรพนามในการเรียกเพศชายว่า han (ฮาน) และ hon (ฮอน) สำหรับเพศหญิง ส่วน hen เป็นศัพท์ใหม่ที่เพิ่งได้รับการยอมรับไม่กี่ปีมานี้ค่ะ) 
 
Photo : https://comitatoarticolo26.it/


เด็กๆ เรียนกันยังไง? 


    เมื่อออกตัวว่าเป็นโรงเรียนที่สอนเด็กแบบไร้เพศแล้ว แน่นอนว่าการเรียนการสอนจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) การเลือกซื้อหนังสือนิทานหรือหนังสือเรียนต่างๆ ที่ใช้สอนเด็ก จะต้องไม่ใช่หนังสือปกติทั่วไปที่ตัวละครต่างๆ มักถูกกำหนดบทบาทที่แบ่งแยกเพศชัดเจนในครอบครัว เป็นต้น

    หนังสือที่ว่าก็เช่น หนังสือเรื่อง 'เจ้าหญิงนิทรา' หรือ 'ซินเดอเรลล่า' ที่น้องๆ น่าจะเดาออกว่าเนื้อหาในสองเรื่องนี้จะกำหนดบทบาทของ 'นางเอก' อย่างชัดเจนว่าต้องตกอยู่ภายใต้การเลือกคู่ของเพศชาย หรือเจ้าชายนั่นเอง ส่วนหนังสือที่ทางโรงเรียนสนใจเลือกมาสอนเด็กๆ นั้นก็ยกตัวอย่างเช่นนิทานเรื่องครอบครัวยีราฟที่เจอลูกจระเข้ถูกทิ้ง และตัดสินใจนำมาเลี้ยงไว้เอง จากเนื้อเรื่องแค่นี้ก็แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในหลายๆ อย่างเลยนะคะ 

    นอกจากหนังสือแล้วก็จะเป็นเรื่องของ 'ของเล่น' ต่างๆ ที่มีให้เห็นเหมือนโรงเรียนอื่นๆ ทั่วไป ทั้งตุ๊กตา ชุดเจ้าหญิง รถของเล่นต่างๆ หรือชุดเครื่องมือช่างของเด็กที่ไม่แบ่งแยกและไม่ห้ามถ้าหากเด็กชายอยากจะแต่งเป็นเจ้าหญิงหรือแต่งตัวให้ตุ๊กตา หรือเด็กหญิงอยากจะเป็นช่างไม้ เด็กทุกคนสามารถเป็นอะไรก็ได้ตามใจชอบโดยไม่มีเรื่องเพศสภาพมากำหนด

Photo : Egalia, https://www.businessinsider.com.au/


แนวคิดไร้เพศสำคัญตรงไหน? 


    ลอตตา รายาลิน (Lotta Rajalin) ผู้อำนวยการของโรงเรียน Egalia ให้สัมภาษณ์กับทางเว็บไซต์ BBC ว่าการเรียนการสอนแบบไร้เพศนี้เป็นการเปิดโอกาสและเปิดกว้างทางความคิด ส่งเสริมการเป็นตัวตนให้กับเด็กๆ โดยไม่มีการจำกัดหรือคาดหวังเรื่องใดก็ตามโดยใช้เพศเป็นหลัก 

    ถ้าฟังดูงงๆ ก็ลองคิดในอีกแง่ที่ต่างกันว่า ในบางสังคมในโลกนี้ (หรืออาจจะส่วนมาก) หลายๆ ครอบครัวมักคาดหวังว่าลูกชายจะต้องโตมาเป็นผู้ชายที่ดี แมนๆ ดูแลและปกป้องผู้หญิง มีภรรยาที่ดี อ่อนโยน เลี้ยงลูกให้เขาได้ เป็นต้น หรือหากมองในแง่ของสังคมใหญ่ๆ ก็อาจจะคาดหวังว่าผู้ชายจะต้องโตไปเป็นวิศวกร หมอ ส่วนผู้หญิงก็อาจจะเป็นพยาบาล เป็นครู หรืออะไรก็ตามแต่ที่สภาพสังคมนั้นนิยมกัน ดังนั้นการเลี้ยงดูเด็กๆ แบบไร้เพศสภาพเป็นตัวกำหนดพวกเขาตั้งแต่เด็กนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจค่ะ 

Photo : Pixabay

    ลอตตายังเล่าอีกว่าทั้งครูและเจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงเรียน Egalia ล้วนมีความตั้งใจและเห็นด้วยกับแนวคิดนี้มาก เธอยังบอกอีกว่าเป้าหมายหลักของโรงเรียน Egalia ก็คือ "ต้องการให้เด็กๆ เข้าใจชีวิตและมีมุมมองที่กว้างขวาง (ในทุกเพศ) ไม่ใช่แค่ครึ่งใดครึ่งหนึ่งเท่านั้น"

    และครูบางคน เช่น เอมิลี่ (Emelie Andersson) ก็ให้สัมภาษณ์ว่าเธออยากจะเปลี่ยนบางอย่างในสังคมให้ดีขึ้น เพราะเวลาที่พวกเราเกิดมานั้นจะโดนผู้ใหญ่ใช้เพศสภาพเป็นตัวกำหนดความคาดหวังทั้งนั้น และนั่นก็เป็นการจำกัดอิสรภาพของเด็กๆ สำหรับเธอแล้ว เธอคิดว่าในโลกของเราไม่ควรมีใครมากำหนดว่า 'นี่คือสิ่งที่ผู้ชายควรทำ' หรือ 'นี่คือสิ่งที่ผู้หญิงควรทำ'


ไร้เพศแต่ไม่ได้เปลี่ยนเพศ 


Photo : Pixabay

    อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็อย่างเพิ่งเข้าใจผิดกันนะคะ เพราะการที่โรงเรียน Egalia หรือพ่อแม่เด็กหลายๆ คนเห็นด้วยกับแนวคิดสอนเด็กแบบไร้เพศนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนแปลงเพศของพวกเขา พวกเด็กๆ รู้ดีอยู่แล้วว่าเกิดมาเขาเป็นเพศไหนระหว่างชายและหญิงจากสภาพร่างกาย แนวคิดไร้เพศไม่ได้จะพยายามเปลี่ยนแปลงเพศสรีระ (Biological gender) แต่ต้องการกำจัดกรอบด้านความคิดเท่านั้นค่ะ 

    แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวคิดการเลี้ยงดูเด็กๆ แบบไร้เพศก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ยกตัวอย่างเช่นนักจิตวิทยาคลินิกท่านหนึ่งให้เหตุผลที่น่าสนใจไว้ดังนี้ "เรื่องนี้เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ฉันก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นไปในทางที่ถูกต้องเสมอไป เพราะเด็กๆ ในช่วงอายุ 3-7 ขวบกำลังอยู่ในช่วงวัยที่ค้นหาตัวตน และส่วนสำคัญของการหาตัวตนนั้นก็คือเพศสภาพ" 

 
Photo : Pixabay

    ที่สุดแล้ว เรื่องเพศสภาพและการกำหนดตัวตนนั้นก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงของคนหลายๆ กลุ่มอยู่ดี ปัจจุบันสวีเดนก็ออกตัวว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เท่าเทียมกันที่สุดในโลก ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าค่อนข้างจะเป็นจริง แต่คนบางกลุ่มในประเทศก็มีความเห็นว่าสวีเดนหมกมุ่นกับเรื่องเพศสภาพมากเกินไป และใช้เงินทุนกับการวิจัยหรือเปลี่ยนแปลงในเรื่องเพศสภาพอย่างสิ้นเปลือง และโรงเรียน Egalia เองก็ค่อนข้างมั่นใจกับแนวคิดของตัวเอง อีกทั้งยังมีรายชื่อเด็กนักเรียนเป็นร้อยๆ ที่ต่อคิวรอเข้าเรียนที่นี่

     ส่วนตัวพี่เองคิดว่าแนวคิดนี้ค่อนข้างน่าสนใจและสอดคล้องกับครอบครัวเพศเดียวกัน เช่น ชายรักชายแต่งงานกันและมีลูก หรือหญิงรักหญิงแต่งงานกันและมีลูกมักโดนวิพากย์วิจารณ์จากสังคมว่าแล้วลูกจะโตมาอย่างไร ถ้าขาดตัวอย่างของบทบาททางเพศในแบบหนึ่งไป (เช่น แม่กับแม่ แล้วลูกจะมีตัวอย่างแบบห้าวหาญจากพ่อได้ไง)

    ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันก็ไม่ได้เป็นปัญหาหลักเท่าเด็กๆ ถูกเลี้ยงมาแบบไหนมากกว่าค่ะ อย่างที่ว่านะคะ ว่าโลกนี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้อาจไม่ได้มีคนเห็นด้วยกับแนวคิดใหม่ๆ ไปซะหมด แต่อย่างน้อยถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปค่ะ 
 
อ้างอิง
http://www.bbc.com/news/world-europe-14038419
https://www.vice.com/en_uk/article/ppxjvb/raising-children-genderneutral-876
พี่นิทาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

CiNdErElLa&Me Member 2 พ.ย. 60 08:04 น. 1

แนวคิดน่าสนใจค่ะ คิดว่าเป็นการpromote เรื่อง gender equality ได้ดี

ส่วนตัวคิดว่าจะให้ไทยทำอาจจต้องรอไปอีกนานแน่นอน แต่ก็อยากให้ลองมีนะคะ

0
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

CiNdErElLa&Me Member 2 พ.ย. 60 08:04 น. 1

แนวคิดน่าสนใจค่ะ คิดว่าเป็นการpromote เรื่อง gender equality ได้ดี

ส่วนตัวคิดว่าจะให้ไทยทำอาจจต้องรอไปอีกนานแน่นอน แต่ก็อยากให้ลองมีนะคะ

0
กำลังโหลด
pooh 8 พ.ย. 60 18:11 น. 2

ชอบเเนวคิด เเต่ถ้าทำในไทยคงยาก เพราะถึงเเม้ประเทศไทยจะเปิดกว้างเรื่องเพศเเต่ ยังมีสังคมบางส่วนยังมีการตั้งเเง่ และเหยียด ไม่ใช่เเค่โรงเรียนที่จะสอน สถาบันครอบครัวต้องสร้างเด็กให้พร้อมรับมือกับความกดดันที่จะเจอ ให้เด็กมีจิตใจที่เข้มเเข็งมากพอที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมที่หลากหลาย

1
pooh 8 พ.ย. 60 18:15 น. 2-1

สังคมสิ่งแวดล้อมรอบข้างก็ด้วย ไม่ใช่ว่าโรงเรียนกับที่บ้านสอน เเต่สังคมเเวดล้อมไม่เอื้อ ถ้าเด็กไม่เข้มเเข็งหรือเข้าใจมากพออาจจะทำให้เด็กสับสนได้

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด