"เอมิลี-ซิมา" 2 สาวสวีเดนผู้หลงรักกรุงเทพ จนได้ฝึกงานที่สถานทูตสวีเดนในไทย

   
    สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว
Dek-D.com  พบกับ พี่นิทาน ใน Humans of Dek-D ที่จะรวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจของชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในเมืองไทย หรือเคยทำอะไรเจ๋งๆ ในเมืองไทย มาเล่าให้น้องๆ ฟังกันค่ะ 

    วันนี้พี่ได้มีโอกาสพูดคุยกับสองสาวชาวสวีเดนที่มาฝึกงานที่สถานทูตสวีเดนในประเทศไทย หลายคนคงเคยสงสัยว่างานในสถานทูตเป็นแบบไหน ต้องทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะคนที่เรียนด้านรัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องก็ได้ เรามาดูกันดีกว่าว่าสาวๆ จะเล่าอะไรให้เราฟังบ้าง
   
   
    ตัวพี่จบสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านศิลปะมา เลยไม่ค่อยได้มีโอกาสพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่นๆ เกี่ยวกับคณะหรือสาขาวิชาที่แตกต่างกันออกไปมากเท่าไหร่ แต่วันนี้โชคดีมากที่ได้มาเจอเพื่อนๆ ชาวสวีเดนสองคน ที่กำลังเรียนอยู่ในสาขาเดียวกันด้านรัฐศาสตร์และการเมือง นั่นก็คือ.. 

    เอมิลี - Emelie Thunberg สาวสวีเดนจากเมืองคาร์ลสตัด เมืองเล็กๆ ที่อบอุ่นไปด้วยแสงแดด เอมิลีกำลังเรียนป.ตรี ปีสุดท้ายอยู่ที่ Karlstad University มหาวิทยาลัยประจำเมืองคาร์ลสตัด สาขา Political Science, Economics และ Law

    และ ซิมา - Sima Siadat สาวสตอกโฮล์มเมืองหลวงของสวีเดนที่กำลังเรียนป.ตรีอยู่ที่ Stockholm University สาขา Political Science และ Economics (จะเรียนลงลึกกว่าที่เอมิลีเรียนนิดหน่อย) 

 
ซิมา (คนที่สามจากซ้ายสุด) และเอมิลี (ขวาสุด)
Photo: Embassy of Sweden in Bangkok


การฝึกงานครั้งแรกในประเทศไทย 

   
    พี่เคยได้ยินมาว่าคนสวีเดนเนี่ยเขาชอบประเทศไทยมาก มากถึงกับว่าตอนที่พี่ไปเที่ยวสวีเดน เพื่อนหรือคนรู้จักประมาณ 90 เปอร์เซนต์ที่เป็นชาวสวีเดนเคยมาเที่ยวไทยกันแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งครั้ง

    แต่สำหรับสองสาวเอมิลีและซิมาก็จะแตกต่างกันตรงที่เอมิลีเคยมาไทยหลายครั้งมากกก และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 5 แล้ว! ส่วนซิมาจะเป็นครั้งแรกที่มาไทย และทั้งคู่ก็ดูตื่นเต้นมากที่ได้มาอยู่ที่นี่ตอนนี้  

    เมื่อลองถามว่าทั้งคู่รู้สึกอย่างไร และเพราะอะไรถึงเลือกมาฝึกงานที่นี่ ซิมาเล่าว่า

    “รู้สึกอยากมาฝึกงานที่สถานทูตอยู่แล้ว เราสองคนเรียนสาขาเหมือนกันมา แล้วก็เหลือเทอมสุดท้ายก่อนจบ ทางมหาลัยก็ให้เลือกว่าอยากเลือกเรียนคอร์สพิเศษหรือว่าจะฝึกงาน เราเลยตั้งใจจะมาฝึกงานที่สถานทูตสวีเดนในไทย เพราะอยากมากรุงเทพด้วย ด้วยความที่อยู่สวีเดนมาตลอด ก็เลยอยากลองมาหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างค่ะ” 

ซิมา

   ส่วนเอมิลีบอกว่า ก่อนหน้านี้เคยใฝ่ฝันไว้ว่าอยากมาอยู่กรุงเทพ เพราะเคยมาไทยหลายรอบแล้ว มาเที่ยวบ้าง มาเรียนคอร์สสั้นๆ บ้าง เช่น Evolutionary Biology ตอนนั้นคิดว่าอยากลองมาทำงานที่สถานทูตในกรุงเทพ จนกระทั่งได้ลองสมัครเข้ามาฝึกงานดู และก็แทบไม่เชื่อจนถึงตอนนี้ว่าได้มาฝึกงานที่นี่จริงๆ ค่ะ 



เจอแต่คนเก่งๆ และประสบการณ์ดีๆ


    เอมิลีหัวเราะร่าเริงเมื่อถามเธอว่างานที่สถานทูตเป็นยังไงบ้าง ยากมากไหมหรือว่าเครียดอย่างที่บางคนคิดหรือเปล่า เธอบอกว่าเธอสนุกมาก ชอบมากๆ ตามด้วยซิมาที่บอกว่า

    “งานที่นี่มีความผสมกันระหว่างความเป็น ‘สวีเดน’ และความเป็น ‘ไทย’ มีทั้งพนักงานที่เป็นคนสวีเดนที่ทำให้รู้สึกคุ้นเคยเหมือนอยู่สวีเดน และพนักงานคนไทย พอคนเหล่านี้มาทำงานร่วมกันก็มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน และในแต่ละวันจะมีเหตุการณ์ที่แตกต่างให้เราเจออยู่เสมอ” 

ภาพจากงานเรียนต่อนอก OCSC ที่สยามพารากอน

    เอมิลีนั่งฟังและเสริมต่อว่า “บางครั้งเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดีที่พวกเรามีหัวหน้าและที่ปรึกษาคอยแนะนำ และด้วยความที่เป็นงานในสถานทูต การทำงานจึงค่อนข้างจริงจัง ต้องเป็นทางการ 

    แต่เราก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่างานในสถานทูตจะสนุกและยังได้เจอผู้คนที่น่าสนใจต่างๆ และคนที่สถานทูตมีความรู้กันเยอะมากๆ เวลาได้คุยกับพวกเขาก็จะมีแต่บทสนทนาที่มีประโยชน์ทั้งนั้นเลยค่ะ รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่เรารู้สึกว่าเป็น 'เพื่อน' ที่สนิทใจกันจริงๆ แบบที่ว่าถ้าจบการฝึกงานและแยกย้ายกันกลับบ้านแล้วก็ยังอยากจะติดต่อกับเพื่อนๆ ที่นี่ต่อไปค่ะ” 



ไม่ต้องจบตรงสายก็ทำงานสถานทูตได้เหมือนกัน


    แน่นอนว่าหลายคนที่มีความใฝ่ฝันอยากทำงานในสถานทูต ย่อมคิดว่าคนที่นี่จะต้องเรียนเฉพาะด้านมาแน่ๆ แต่บางทีมันก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะต้องรู้ก่อนว่าเราอยากทำในตำแหน่งอะไร เอมิลีบอกว่าหลังจากที่ได้มาฝึกงานที่นี่ ความคิดบางอย่างของเธอก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน

ซิมากับเอมิลีที่งาน European Languages Cafe  

    “ก่อนหน้านี้เราคิดว่าคนที่จะมาทำงานในสถานทูตจะต้องจบอะไรที่เกี่ยวกับรัฐศาสตร์ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องเรียนเก่งๆ สูงๆ มาก่อน หรืออย่างน้อยก็ต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานทูตมาก่อน แต่ความเป็นจริงแล้วคือทุกคนสามารถเรียนอะไรก็ได้ที่สนใจมา และถ้าทางสถานทูตสนใจหรือเห็นความสามารถและคุณสมบัติเราพร้อม เราก็สามารถเข้ามาทำงานที่นี่ได้”

    ซิมาเสริมต่อเอมิลีว่า “ที่นี่ยังมีคนที่เคยทำงานในเบื้องหลังรายการทีวีมาก่อนด้วย บางคนก็เป็นนักเขียนควบคู่กับงานสถานทูตไป เป็นนักเขียนหนังสือวัยรุ่นด้วยนะ และที่นี่ก็จะทำงานแบบแบ่งกันเป็นหลายส่วน และของเราจะเป็น Trade and promotion ค่ะ” 



งานสถานทูตก็มีความ ‘สนุก’ และไม่ได้เครียดตลอดเวลานะ


    “Trade and promotion จะทำทุกอย่าง (ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการค้า) รวมไปถึงคอยโพสต์รูปในอินสตาแกรม หรือไม่ก็เพจเฟซบุ๊กของสถานทูตสวีเดนในไทย รวมถึงเขียนรายงานต่างๆ ที่เป็นงานในสถานทูต ตั้งแต่เรื่องเครียดๆ จนไปถึงเรื่องทั่วๆ ไป

    เช่น Cinnamon bun day (ขนมปังซินนามอนเป็นขนมขึ้นชื่อของชาวสวีเดน ที่สวีเดนเลยมีวันขนมปังซินนามอน น่ารักจริงๆ 555) เราก็เอามาโพสต์ลงโซเชียล ถ่ายรูปลงอินสตาแกรม ซึ่งมันก็สนุกและสำคัญไม่แพ้กัน เพราะบางครั้งคนเราก็เครียดกับงานมามากพอแล้ว” ซิมากล่าว 

ภาพจากอินสตาแกรมของสถานทูตสวีเดน

    เอมิลีเสริมต่อว่า “และก็ทำให้คนนอกมองว่าสถานทูตไม่ได้เครียดกันตลอดเวลานะ ถึงเราจะเป็นทางการและจริงจัง แต่เราก็ใส่ใจในเรื่องเล็กๆ และรายละเอียดต่างๆ เหมือนกัน”

    “ของเอมิลีจะอยู่ฝั่ง Administration (แผนกธุรการ บริหารจัดการทั่วไป และกงสุล - Consular) หน้าที่ทั่วไปของเราคือเตรียมเอกสารต่างๆ ที่สำคัญ คอยอัพเดต รวบรวมเอกสารและข้อมูลต่างๆ ที่ทุกคนทำมา และเอามาจัดการให้เข้าที่เข้าทาง

เอมิลี

    การได้ทำงานที่นี่ทำให้เราได้ข้อคิด คำแนะนำจากผู้คนต่างๆ ได้ความรู้ใหม่ๆ เยอะมากไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม โดยรวมถือว่าเป็นงานที่สนุกและได้เรียนรู้ระบบการทำงานของสถานทูต ได้เห็นวิธีการทำงานการติดต่อระหว่างคนไทยกับสวีเดน 



ฝึกงานทำให้เรียนรู้ในอีกมิติหนึ่ง 


    เอมิลีกับซิมาค่อนข้างมีความสุขและสนุกกับการฝึกงานที่สถานทูตมาก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีแต่ประสบการณ์ที่สนุกสนานและไม่ได้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เอมิลีเล่าว่า

    “ตั้งแต่มาฝึกงานก็ได้เจอเรื่องใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้เพิ่มเยอะแยะเลย เช่น ภาษาที่เค้าใช้กันในเอกสารเนี่ยค่อนข้างเป็นภาษาพูด ซึ่งตอนที่เราเรียนมาเราถูกฝึกให้ใช้ภาษาเขียนโดยเฉพาะ ที่แบบว่าต้องใช้คำยากๆ เป็นทางการมาก แบบที่คงไม่มีใครเอาภาษาทางการนั้นมาพูดกัน 

เอมิลีกับซิมาที่งาน European Languages Cafe

    แต่พอมาฝึกงานที่นี่ก็เห็นว่าเขาใช้ภาษาแบบสบายๆ ที่ค่อนข้างไปในทางภาษาพูด ไม่ต้องเยอะมาก และด้วยความที่เราชินกับภาษาจริงจัง พอเขียนเอกสารพวกนี้ก็จะดูจริงจังมาก แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องเปลี่ยนให้มันดูง่ายขึ้น เลยรู้สึกว่าที่เราเรียนๆ มาตลอดเนี่ยมันหลอกลวงกันชัดๆ เลยนี่นา!” เธอหัวเราะอย่างอารมณ์ดี  

    ซิมาพูดต่อว่า “นอกจากนั้นงานเอกสารที่สถานทูตจะต้องมีข้อมูลถูกต้องและครบถ้วน เช่น บางโปรเจคต์จะใหญ่และมีรายละเอียดเยอะมาก แต่เราต้องเขียนสรุปลงในกระดาษแผ่นเดียว ซึ่งตอนแรกมันดูเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลดให้เหลือแค่นั้น แต่มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ

    และอย่างที่เอมิลีบอกตอนแรกว่างานแต่ละอย่างที่นี่มันมีขั้นตอนของมัน ไม่ใช่แค่งานเอกสารเท่านั้น ขนาดการจะโพสต์อินสตาแกรมแต่ละโพสต์เนี่ยเราก็ต้องใช้เวลาคิดหรือรอตรวจเช่นกัน

    แต่ที่ต้องใช้เวลาเนี่ยเพราะข้อมูลทุกอย่างที่เราลงสื่อจะต้องไม่ผิดพลาด เราไม่สามารถโพสต์อะไรที่ทำให้คนมาทะเลาะหรือขัดแย้งกันได้ เพราะเราเป็นสถานทูต เราต้องทำให้คนเชื่อใจ”



แล้วก่อนหน้านี้ทำอะไรกันมา นอกจากเรียน?


    ถึงแม้ทั้งคู่จะยังเรียนป.ตรีกันอยู่ แต่แน่นอนว่าพวกเธอมีชีวิตที่น่าสนใจกันมาก่อนแน่ๆ เพราะเพื่อนชาวต่างชาติแต่ละคนที่พี่รู้จักไม่เคยมีใครใช้ชีวิตมาเป็นแพทเทิร์นเดียวกันหมดเลยสักคน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและค่อนข้างหลากหลาย พอพี่ลองถามทั้งคู่แล้วซิมาก็เล่าว่า

ซิมากับกรุงเทพ

    “ก่อนที่จะมาฝึกงานที่นี่เราเป็นครูสอนว่ายน้ำอยู่ที่สตอกโฮล์ม เป็นงานพาร์ทไทม์ หน้าที่หลักๆ คือสอนว่ายน้ำให้เด็กๆ และสอนแอโรบิคในน้ำ ซึ่งงานนี้ก็เป็นงานที่สนุก และเด็กๆ ก็น่ารักมาก

    แต่ถึงงานสอนหรือการเป็นครูมันจะดูน่าเบื่อ เราก็ได้อะไรจากงานนี้เยอะมาก เช่น ความอดทน ใจเย็น และการเรียนรู้เด็กแต่ละคน เพราะตอนสอนเราจะสอนเด็กกลุ่มใหญ่ เลยต้องหาวิธีเข้าถึงและสอนเด็กๆ แต่ละคนที่มีความสามารถและนิสัยแตกต่างกัน

    และงานนี้ก็ทำให้เราโตขึ้นมาก ที่จริงงานสอนแอโรบิคในน้ำเป็นงานที่เราเพิ่งได้มาทำตอนหลังและไม่เคยคิดว่าจะได้ทำมาก่อน เพราะบังเอิญตอนนั้นมีวันนึงที่ครูทุกคนไม่อยู่ มาไม่ได้ เขาเลยโทรมาบอกให้เราทำแทน เราก็เลยต้องสอนทั้งคอร์ส แต่สุดท้ายก็ผ่านมาด้วยดี” 

เอมิลีกับป้ายสถานทูตสวีเดน

    เอมิลีเล่าต่อว่า “ส่วนของเราก็.. มีทั้งเรื่องที่น่าสนใจและไม่น่าสนใจเช่นกัน เพราะตอนนี้ก็อายุ 27 แล้ว ที่ผ่านมาก็ใช้เวลาประมาณ 5 ปีไปกับการแบ็คแพ็คและเที่ยวก่อนจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

    ตอนจบ ม.ปลาย เราเริ่มจากการทำงานที่แมคโดนัลด์ การทำงานที่นี่ให้อะไรกับเราเยอะมากกกก และถือว่าเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะเราสนิทกับเพื่อนร่วมงานมาก ทำงานร่วมกันตลอดเวลา แชร์ความรู้สึกกันตลอดเวลา และถึงแม้ว่าเราจะเลิกทำที่แมคโดนัลด์มาปีกว่าแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังติดต่อและนัดเจอกันทุกเดือน

    ตอนทำแมคโดนัลด์เริ่มจากการเป็นแคชเชียร์ จากนั้นก็เริ่มทำงานเป็นกะ เป็นผู้ประสานงาน งานนี้ถ้าจะเปรียบก็อาจจะคล้ายๆ ว่าเราเป็นเหมือนคนเชิดหุ่นในโรงละคร หรือไม่ก็เหมือนเล่นเกมกีฬาที่ต้องมีฝ่ายรับ-ส่งลูกอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นงานที่ต้องทำกับผู้คน กับลูกค้าต่างๆ เจอสิ่งที่ต้องรับมือด้วยเยอะ ต้องใช้ความอดทน จะรู้สึกเหมือนคอยส่งคนไปตรงนั้น ตรงนี้ พร้อมกับบอกตัวเองตลอดเวลาว่า เฮ้ย เราต้องทำได้ ต้องไหวสิ สู้เค้า!” 

 
เอมิลี

    ซิมาเสริมว่า “งานแบบนี้ค่อนข้างยากและท้าทาย ในสวีเดนเราจะถูกคาดหวังว่าต้องบริการให้ดีมากๆ และแทบจะไม่ได้พัก ไม่ได้หยุดเลย บางวันกลับบ้านไปด้วยความรู้สึกภูมิใจ แบบว่า เออ วันนี้เรารับมือกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ดีแฮะ แต่บางวันก็เหนื่อยมาก เหนื่อยทั้งกายและใจแบบกลับไปร้องไห้ก็มี”

    เอมิลีเล่าเรื่องของเธอต่อว่า “หลังจากแมคโดนัลด์ก็ออกไปเที่ยวแบ็คแพ็คที่ออสเตรเลียประมาณ 1 ปี และหางานทำไปด้วย จากนั้นก็มาอยู่ไทยแถวๆ ภาคใต้ที่คนสวีเดนชอบไปอยู่ จากนั้นก็ลงคอร์สเรียนเรื่อง Evolutionary Biology ประมาณ 6 เดือน ตอนนั้นก็ทั้งเรียน ทั้งเที่ยว 

    หลังจากประเทศไทยก็ไปอยู่ที่นอร์เวย์ในช่วงหน้าหนาวประมาณ 6 เดือน แล้วก็ไปอังกฤษ จนกระทั่งกลับมาที่สวีเดนและตั้งใจเรียนมหา'ลัย ถึงจะไปนู่นนี่มาเยอะ เราคิดว่าช่วงที่สนุกและได้เรียนรู้มากที่สุดคือช่วงที่เรียนมหา'ลัยนี่แหละ เพราะนอกจากเรียนแล้วเรายังกิจกรรมต่างๆ กับเพื่อนๆ ในมหา'ลัยด้วย 

    กิจกรรมส่วนมากจะเป็นการช่วยงานในมหา'ลัย เป็นอารมณ์แบบกลุ่มสภานักเรียนที่คอยช่วยเหลือคน คอยดูว่าใครมีปัญหาอะไรด้านการเรียนหรืออะไรก็ตาม และคอยประชุมกันว่าจะพัฒนาเรื่องต่างๆ ในหมา'ลัยยังไง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สนุกมากๆ เลยค่ะ” 



กลับสวีเดนไปแล้วจะทำอะไรต่อ 


    สองสาวมาฝึกงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม และจะฝึกงานเสร็จประมาณช่วงปีใหม่ ถึงจะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ก็ยาวพอที่จะเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำในชีวิตได้เลยค่ะ และเมื่อถามว่าหลังจากฝึกงานเสร็จแล้วมีเป้าหมายอะไรต่อ ซิมาเลยตอบว่า 

    “ตอนนี้เหลืออีก 1 เทอมก็จะเรียนจบป.ตรีแล้ว ถ้าจบก็อยากหางานทำ หรือไม่ก็เรียนต่อป.โทด้าน International Law ที่สกอตแลนด์ หรือไม่ก็อาจจะไปเรียนหลักสูตรที่เรียกว่า Junior Professional Officer (JPO) ในสตอกโฮล์มที่พอเรียนไปแล้วเขาจะส่งเราไปฝึกงานตามที่ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาต่างๆ ในสังคม แล้วเราก็สนใจเรื่องพวกนี้ด้วย ส่วนงานสถานทูตคิดว่าถ้าอนาคตมีโอกาสก็อยากทำค่ะ” 

เอมิลี (คนที่สามจากขวาสุด) ที่งาน Nordic Film Festival ในกรุงเทพ

แล้วเอมิลีล่ะ? 

    “อยากกลับไปเรียนให้จบก่อน และหลังจากนั้นอาจทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศในสตอกโฮล์ม หรือไม่ก็อยากทำงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญๆ ในองค์กร (Information Safety) เพราะมันน่าสนใจมาก หรือถ้าไม่ใช่งานนั้นก็อาจจะหางานที่ใช้ความรู้ด้านชีวะมารวมกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ก็น่าจะดีค่ะ” 



ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ แต่การ ‘ลงมือทำ’ เนี่ย ไม่ยากเลย


    พอฟังเรื่องราวของทั้งคู่มาสักพักแล้วก็รู้สึกมีความสุขไปด้วย เพราะการที่เราได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ชอบนั้นเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยค่ะ พอพี่เห็นเอมิลีที่มองโลกแง่บวกมากขนาดนี้ กับซิมาที่ดูมุ่งมั่นจริงจังกับความฝัน ก็อดไม่ได้ที่ถามว่า ถ้าเราอยากทำตามความฝันหรือเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างเนี่ย มีคำแนะนำอะไรดีๆ ไหม 

    พอพูดจบ เอมิลีก็รีบตอบเลยว่า "Believe in yourself! จงเชื่อมั่นในตัวเองค่ะ เพราะการเชื่อมั่นในตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเลย อย่าไปคิดมากว่าคนนั้นคนนี้ดีกว่าเรา เพราะในโลกนี้มีอีกหลายคนที่เก่งกว่าเราในหลายๆ ด้านอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่า "You are the best in you" คือเราเจ๋งที่สุดในแบบของเราอยู่แล้ว” 

ซิมา

    ซิมาเสริมว่า “และอีกอย่างนึงก็คือ "Do it" คือลงมือทำซะ บางคนชอบคิดว่าทำไมคนอื่นถึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ เราอยากทำอยากมีแบบนั้นบ้าง ทำไมเราทำไม่ได้ดีเท่าเขา เอาเป็นว่าเลิกคิดแบบนั้นแล้วลงมือทำซะ เพราะถ้าเราไม่เริ่มทำ มันก็จะไม่เกิดขึ้น ฝันอะไรไว้ก็ให้ตั้งใจทำ อย่าล้มเลิก พยายามให้มากขึ้น และถึงแม้บางอย่างอาจจะยาก แต่มันก็ต้องมีการเริ่มต้น เหมือนเด็กที่กำลังเติบโตก็ต้องหัดเดิน แต่ก่อนจะเดินได้เราก็ต้องคลานก่อน”

    “บางครั้งบางเรื่องมันก็ไม่ได้มาง่ายๆ เราอาจจะมีล้มบ้าง มีเฟลบ้าง แต่ที่สำคัญคือความล้มเหลวเหล่านั้นก็เป็นบทเรียนที่สำคัญและนำพาเราไปสู่ความสำเร็จ อีกเรื่องที่สำคัญคือต้องไม่ลืมที่จะปฏิบัติกับคนรอบข้างให้เหมือนที่เราหวังว่าคนจะปฏิบัติกับเรายังไง อยากให้ใครดีกับเราก็ดีกับเค้าก่อนค่ะ” เอมิลีทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มมั่นใจ 

 

     ใครที่กำลังเรียนอยู่และรู้ว่าชอบอะไร ตั้งใจอะไรไว้ก็ขอให้เดินต่อไปเรื่อยๆ มุ่งมั่นและตั้งใจ ส่วนใครที่กำลังจะเรียนจบแล้ว พี่ก็ขอเชียร์ให้ได้ทำงานที่ชอบที่ต้องการ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว :) 
พี่นิทาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด