10 วิวัฒนาการมงกุฎ 'มิสยูนิเวิร์ส' จากมงกุฎราชวงศ์สู่มงกุฎนางงาม

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com การประกวด Miss Universe 2017 ก็จบลงอย่างสวยงามพร้อมชัยชนะของ Demi-Leigh Nel-Peters สาวงามจากประเทศแอฟริกาใต้ค่ะ ส่วนปีนี้ก็เป็นอีกปีที่สาวงามตัวแทนจากประเทศไทย ทำได้ถึงรอบตอบคำถาม 5 คนสุดท้ายค่ะ แต่บนเวทีที่เต็มไปด้วยสาวงามนั้น มีอีกสิ่งหนึ่งที่งดงามไม่แพ้กัน และเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ นั่นคือมงกุฎประจำตำแหน่งค่ะ เรามาย้อนดูมงกุฎแต่ละรุ่นกันดีกว่าค่ะ


มงกุฎแรก: มงกุฎจากราชวงศ์รัสเซีย


     การประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งแรกจัดขึ้นในปี 1952 ค่ะ และเจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สคนแรกของโลกคือ Armi Kuusela สาวงามจากประเทศฟินแลนด์ ส่วนมงกุฎประจำตำแหน่งในปีนั้นเป็นมงกุฎที่เคยเป็นของซาร์แห่งราชวงศ์โรมานอฟที่ล่มสลายไปแล้วค่ะ มงกุฎนี้ว่ากันว่าเป็นมงกุฎที่เตรียมให้เจ้าหญิงที่จะมาแต่งงานกับราชวงศ์ด้วย ฉะนั้นก็เหมาะแล้วที่จะเป็นมงกุฎสำหรับผู้หญิงที่สวยที่สุดในจักรวาล


Armi Kuusela (1952) ขณะรับตำแหน่ง
Credit: www.missuniverse.com/past-winners

     ตัวมงกุฎประกอบด้วยเพชรไร้ตำหนิถึง 1,529 เม็ด มีน้ำหนักรวมกันถึง 300 กะรัตเลยทีเดียว มงกุฎนี้มีมูลค่ามากถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐตามค่าเงินในตอนนั้น แต่มงกุฎนี้ใช้แค่ปีนั้นปีเดียวค่ะ



มงกุฎรุ่นที่ 2: มงกุฎที่ดูทื่อที่สุดในประวัติศาสตร์


     มงกุฎที่สองที่ใช้เป็นมงกุฎประจำตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สถือว่าเป็นมงกุฎที่หน้าตาดูทื่อที่สุดในประวัติศาสตร์ค่ะ มงกุฎนี้เรียกกันว่ามงกุฎทองสัมฤทธิ์ หรือ Metallic Bronze Crown ตามชื่อวัสดุที่ใช้ทำมงกุฎค่ะ มงกุฎนี้เป็นโลหะสีบรอนซ์ดีไซน์เป็นแผ่นๆ ที่ทำให้นึกถึงชุดซูเปอร์ฮีโร่มากกว่ามงกุฎนางงาม แถมไม่มีอัญมณีหรือคริสตัลใดๆ ประดับเลยด้วย


Christiane Martel (1953) ขณะรับตำแหน่ง
Credit: MissUniversePageant.org

     มิสยูนิเวิร์สที่ได้สวมมงกุฎนี้มีเพียงคนเดียวในโลกค่ะ คือ Christiane Martel สาวงามจากประเทศฝรั่งเศส เจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สประจำปี 1953 ทำให้มีบางคนเรียกมงกุฎนี้ว่า Christiane Martel Crown ตามชื่อของสาวเจ้าของตำแหน่งเลย



มงกุฎรุ่นที่ 3: มงกุฎดวงดาราแห่งจักรวาล


     พอถึงมงกุฎที่สามนี้ ก็มีกฎแล้วค่ะว่าผู้ได้รับตำแหน่งไม่สามารถครอบครองมงกุฎไว้กับตัวเองตลอดไปได้ จะต้องส่งต่อให้ผู้ได้ตำแหน่งในปีถัดๆ ไป สาวงามจากสหรัฐอเมริกา Miriam Stevenson เจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สคนที่ 3 ของโลก คือคนแรกที่ได้สวมมงกุฎนี้ในปี 1954 ค่ะ

     มงกุฎนี้เป็นมงกุฎที่ทำจากทองคำและแพลตตินัม ประดับด้วยไข่มุกเลี้ยงและไข่มุกดำประมาณ 1,000 เม็ด มงกุฎหนักประมาณ 567 กรัม และมีมูลค่าถึง 500,000 ดอลลาร์ตามค่าเงินในยุคนั้น และเวลามิสยูนิเวิร์สไปออกงานไหนพร้อมมงกุฎ ก็จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยส่วนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ปกป้องมงกุฎตามไปด้วยทุกครั้ง


Miriam Stevenson (1954) ขณะรับตำแหน่ง
Credit: www.missuniverse.com/past-winners

     ด้วยรูปลักษณ์ของมงกุฎที่มีดวงดาวขนาดใหญ่ประดับอยู่ด้านหน้า ทำให้มงกุฎนี้มีชื่อเรียกว่า Star of the Universe ค่ะ ผู้ที่ได้สวมมงกุฎนี้เป็นคนสุดท้ายคือ Linda Bement จากสหรัฐอเมริกา เจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สในปี 1960



มงกุฎรุ่นที่ 4: มงกุฎรุ่นฉลองครบรอบ 10 ปี


     มงกุฎนี้มีผู้ได้สวม 2 คนคือ Marlene Schmidt จากเยอรมนีตะวันตก มิสยูนิเวิร์สประจำปี 1961 และ Norma Nolan จากอาร์เจนติน่า มิสยูนิเวิร์สประจำปี 1962 ค่ะ ตอนนั้นเป็นช่วงฉลองครบรอบ 10 ปีของการประกวด ทางกองประกวดจึงอยากให้เป็นที่จดจำโดยการสั่งทำมงกุฎใหม่มาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ทำให้มงกุฎนี้ได้ชื่อว่าเป็น 10th Anniversary Crown


Marlene Schmidt (1961) และ Norma Nolan (1962) ขณะรับตำแหน่ง (ตามลำดับ)
Credit: Angara blog

     หลังจากใช้มงกุฎที่ 3 ที่เป็นมงกุฎประดับไข่มุกมานานหลายปี ปีนี้ผู้คนก็ฮือฮาไปกับการใช้ไรน์สโตนหรือพลอยเทียมเป็นครั้งแรกในการประดับมงกุฎค่ะ ตัวโครงของมงกุฎก็เป็นทองคำขาวด้วย ทำให้มงกุฎนี้ดูขาวบริสุทธิ์และวิบวับเอามากๆ เลย (แม้รูปดาวบนมงกุฎนี้จะทำให้นึกถึงวิชาเคมีขึ้นมาก็ตาม)



มงกุฎรุ่นที่ 5: จุดเริ่มต้นของยุคมงกุฎประดับรูปร่างผู้หญิง


     น้องๆ น่าจะเคยเห็นภาพมิสยูนิเวิร์สหลายๆ คนสวมมงกุฎที่มีรูปร่างผู้หญิงประดับอยู่บนมงกุฎค่ะ รุ่นนี้ถือว่าเป็นรูปแบบคลาสสิกรูปแบบหนึ่งของมงกุฎนางงามเลย มงกุฎรุ่นนี้ถูกเรียกว่า The Lady Crown หรือ The Queen Crown เพราะมีเงาร่างของผู้หญิงถือคฑาประดับอยู่ (ซึ่งเงานั้นก็คือโลโก้ขององค์กรที่จัดประกวดนั่นเอง) แต่ก็มีบางคนเรียกว่า Sarah Coventry Crown ตามชื่อบริษัทเครื่องประดับที่เป็นจัดทำมงกุฎรุ่นนี้ค่ะ


Ieda Maria Vargas (1963), อาภัสรา หงสกุล (1965), Georgina Rizk (1971) และ Kerry Anne Wells (1972)
Credit: www.missuniverse.com/past-winners

     มิสยูนิเวิร์สคนแรกที่ได้สวมมงกุฎรุ่นนี้คือ Ieda Maria Vargas มิสยูนิเวิร์สประจำปี 1963 จากประเทศบราซิลค่ะ คนไทยก็น่าจะคุ้นเคยกับมงกุฎรุ่นนี้ดี เพราะคุณอาภัสรา หงสกุล มิสยูนิเวิร์สประจำปี 1965 ก็สวมมงกุฎนี้เช่นกันค่ะ

     มงกุฎนี้ได้รับการปรับปรุงเล็กน้อยตรงช่วงปีกมงกุฎในปี 1970 ค่ะ จากนั้นก็ใช้ต่อเนื่องจนถึงปี 1973 ค่ะ มิสยูนิเวิร์สคนสุดท้ายที่ได้สวมมงกุฎรุ่นนี้คือ Margarita Moran จากประเทศฟิลิปปินส์ค่ะ



มงกุฎรุ่นที่ 6: รุ่นคลาสสิกที่เป็นที่จดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์


     มงกุฎรุ่นที่ 6 นี้ยังเป็นผลงานของ Sarah Coventry เจ้าเดิมค่ะ มีชื่อเล่นว่า Chandelier Crown เป็นรุ่นที่พัฒนาจากรุ่นที่ 5 มาอีกที โดยยังคงรูปร่างผู้หญิงถือคฑาที่เป็นโลโก้ขององค์กรจัดประกวดเหมือนเดิม แต่ปรับลวดลายต่างๆ บนมงกุฎให้ดูนุ่มนวลมากขึ้นด้วยเส้นโค้ง แถมรุ่นนี้ยังสามารถปรับขนาดเส้นรอบวงได้ด้วยนะคะ จะได้สะดวกต่อการสวมค่ะ เผื่อติดทรงผมของนางงาม


Mona Irene Lailan Saez Conde (1981) และ Yvonne Ryding (1984)
Credit: www.missuniverse.com/past-winners

     มงกุฎรุ่นนี้ใช้ไรน์สโตนในการตกแต่งเช่นกัน และด้วยความที่ไรน์สโตนราคาถูก ทำให้สามารถสร้างมงกุฎจำลองที่หน้าตาเหมือนกันเป๊ะๆ ให้มิสยูนิเวิร์สแต่ละคนเก็บเป็นของตัวเองได้เลย มิสยูนิเวิร์สทั้ง 28 คนจากปี 1974 - 2001 จึงได้มงกุฎแบบนี้กลับไปเป็นของตัวเองคนละมงกุฎเลย


ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก (1988) และ Lara Dutta (2000)
Credit: www.missuniverse.com/past-winners

     คนแรกที่ได้สวมมงกุฎรุ่นนี้คือ Amparo Muñoz มิสยูนิเวิร์สจากประเทศสเปน และคนสุดท้ายที่ได้สวมมงกุฎรุ่นนี้คือ Denise Quiñones มิสยูนิเวิร์สจากประเทศเปอร์โตริโก คุณภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก มิสยูนิเวิร์สประจำปี 1988 ก็ได้สวมมงกุฎรุ่นนี้เช่นกันค่ะ



มงกุฎรุ่นที่ 7: รุ่นสปอนเซอร์จัดให้ที่ประทับใจไม่รู้ลืม


     ตอนที่มีข่าวว่าบริษัท Mikimoto จะมาเป็นสปอนเซอร์ด้านเครื่องประดับให้ในการประกวด และจะเป็นผู้ออกแบบมงกุฎใหม่ให้มิสยูนิเวิร์สเอง ตอนนั้นก็มีดราม่าพอสมควรค่ะ เพราะหลายคนยังชื่นชอบมงกุฎสุดคลาสสิกรุ่นที่ 6 อยู่ แต่มงกุฎของ Mikimoto ก็ออกมาสวยจนทุกคนลืมที่ด่าล่วงหน้าไปเลย

     มงกุฎออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากนกฟีนิกซ์ แสดงถึงทั้งพลังและความงดงาม ตกแต่งด้วยเพชร 500 เพชรหนักรวมเกือบ 30 กะรัต ไข่มุกจากเกาะในญี่ปุ่นอีก 120 เม็ด มีเส้นผ่าศูนย์กลางคละกันไปตั้งแต่ 3 - 18 มิลลิเมตร รวมมูลค่าแล้วอยู่ที่ประมาณ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐค่ะ


Denise Quiñones (2001) ในมงกุฎรุ่นคลาสสิก ขณะมอบมงกุฎรุ่นมิกิโมโตะให้ Oxana Fedorova (2002) ตอนรับตำแหน่ง
Credit: Missosology.com

     คนแรกที่ได้สวมมงกุฎนี้คือมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2002 Oxana Fedorova จากประเทศรัสเซียค่ะ แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือนเธอก็สละตำแหน่ง Justine Pasek รองอันดับ 1 จากประเทศปานามาจึงรับตำแหน่งและสวมมงกุฎต่อจากเธอ ส่วนคนสุดท้ายที่ได้สวมมงกุฎมิกิโมโตะคือมิสยูนิเวิร์สปี 2007 Riyo Mori จากประเทศญี่ปุ่นค่ะ


Riyo Mori (2007)
Credit: www.missuniverse.com/past-winners

     ตอนแรกอาจจะยังไม่ค่อยพอใจกันเท่าไหร่ที่เปลี่ยนรูปแบบมงกุฎไป แต่พอได้เห็นของจริงแล้วส่วนมากก็ชื่นชอบหน้าตากันนะคะ ทำให้มงกุฎรุ่นนี้เป็นรุ่นที่มีคนตามหาของเลียนแบบอยู่ตลอดเวลา ตัวนางงามเองแม้ตอนได้ตำแหน่งจะไม่ได้สวมมงกุฎนี้ แต่ถ้ามีโอกาสได้ถ่ายแบบก็พยายามขอมงกุฎนี้มาสวมเช่นเดียวกันค่ะ



มงกุฎรุ่นที่ 8: มงกุฎที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด


     ตั้งแต่มงกุฎรุ่นที่ 7 เป็นต้นมาก็เป็นมงกุฎจากสปอนเซอร์เป็นหลักค่ะ มงกุฎรุ่นที่ 8 นี้ออกแบบโดย CAO Fine Jewelry บริษัทอัญมณีจากประเทศเวียดนามค่ะ มีมูลค่าเพียง 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำจากทองเหลืองและทองคำขาว 18 กะรัต ประดับด้วยเพชรสีขาว 555 เม็ด รวม 30 กะรัต  เพชรสีคอนญัค 375 เม็ด รวม 14 กะรัต หินควอร์ตซ์สีขุ่น 10 เม็ด รวม 20 กะรัต และพลอยมอร์กาไนต์อีก 19 เม็ด รวม 60 กะรัต


Dayana Mendoza (2008)
Credit: Miss Universe Organization

     ดีที่รุ่นนี้ได้ใช้เพียงปีเดียว นั่นคือการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2008 ผู้ที่ได้สวมมงกุฎคือ Dayana Mendoza จากประเทศเวเนซุเอล่าค่ะ และโชคดีมากที่ชุดราตรีของเธอเป็นสีเหลือง ก็เลยเข้ากับสีมงกุฎพอดี สีเหลืองของมงกุฎสื่อถึงระบบเศรษฐกิจของเวียดนามที่กำลังรุ่งเรืองขึ้น ส่วนสีอื่นๆ ในมงกุฎทั้งสีขาว ชมพู และคอนญัค สื่อถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นต่างๆ ของมิสยูนิเวิร์ส



มงกุฎรุ่นที่ 9: มงกุฎสันติภาพที่ไม่ทำลายธรรมชาติ


     มงกุฎรุ่นนี้มีชื่อว่า Peace Crown ค่ะ จัดทำโดย Diamond Nexus Labs และมีสโลแกนด้วยว่าเป็นมงกุฎที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพราะหินสวยๆ ทั้ง 1,371 เม็ดในมงกุฎเป็นสิ่งที่สังเคราะห์ขึ้นมาค่ะ


Stefanía Fernández (2009) ขณะรับตำแหน่ง ด้านหลังคือ Dayana Mendoza (2008) ที่สวมมงกุฎมิกิโมโตะมามอบตำแหน่งให้
Credit: Miss Universe Organization

     นอกจากนี้เม็ดทับทิมสีแดงตรงกลางวงกลมแต่ละวงก็สื่อถึงงานของมิสยูนิเวิร์สที่ต้องให้ความรู้คนอื่นเกี่ยวกับเชื้อ HIV และโรคเอดส์ รวมถึงการรณรงค์เพื่อป้องกันการติดต่อเชื้อนี้ด้วย


Ximena Navarrete (2010) และ Leila Lopes (2011)
Credit: www.missuniverse.com/past-winners

     คนแรกที่ได้สวมมงกุฎนี้คือ Stefanía Fernández มิสยูนิเวิร์สประจำปี 2009 จากประเทศเวเนซุเอล่า และคนสุดท้ายคือ Gabriela Isler มิสยูนิเวิร์สประจำปี 2013 จากประเทศเวเนซุเอล่าเช่นกัน



มงกุฎรุ่นที่ 10: มงกุฎรุ่นตึกระฟ้าในนครนิวยอร์ก


     ใครที่เพิ่งเริ่มดูการแข่งขันมิสยูนิเวิร์สเมื่อไม่กี่ปีมานี้ต้องคุ้นเคยกับรุ่นนี้ค่ะ มงกุฎรุ่นนี้จัดทำโดย Diamond International Corporation (DIC) มีมูลค่าสูงถึง 300,000 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียวค่ะ มงกุฎประกอบด้วยแซฟไฟร์สีน้ำเงินเข้ม 198 เม็ด บลูโทปาซขนาดใหญ่ 5 เม็ด และคริสตัลโบฮีเมียนไร้สีอีก 33 เม็ด มงกุฎหนักรวม 411 กรัมค่ะ

     แท่งสี่เหลี่ยมทั้งหลายบนมงกุฎสื่อถึงตึกระฟ้าต่างๆ ในมหานครนิวยอร์ก ที่เป็นที่ตั้งขององค์กรจัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสัญลักษณ์ของความงาม ความมั่นคง ความมั่นใจ และพลังของผู้หญิงจากรอบโลกด้วยเช่นกันค่ะ


Paulina Vega (2014) และ Pia Wurtzbach (2015)
Credit: Miss Universe Organization

     คนแรกที่ได้สวมมงกุฎนี้คือ Paulina Vega มิสยูนิเวิร์สประจำปี 2014 จากประเทศโคลอมเบีย และคนสุดท้ายคือ Iris Mittenaere มิสยูนิเวิร์สประจำปี 2016 จากประเทศฝรั่งเศส



Miss Universe 2017


     การประกวดในปีนี้ มงกุฎที่ว่ากันว่าสวยถูกใจหลายๆ คนมากที่สุดอย่างมงกุฎมิกิโมโตะได้คัมแบ็กค่ะ Demi-Leigh Nel-Peters ดูงดงามมากๆ เมื่อได้สวมมงกุฎมิกิโมโตะขณะรับตำแหน่ง ส่วนการประกวดในปีหน้าก็ต้องมาลุ้นกันอีกนะคะว่าจะเป็นมงกุฎรุ่นใหม่ หรือว่ารุ่นไหนจะได้กลับมาอีกครั้ง


Iris Mittenaere (2016) ขณะมอบมงกุฎมิกิโมโตะให้ Demi-Leigh Nel-Peters (2017)
Credit: Miss Universe Organization


     น้องๆ ชอบมงกุฎรุ่นไหนกันมากที่สุดคะ พี่พิซซ่าชอบรุ่นของมิกิโมโตะมากที่สุดค่ะ รู้สึกว่ามีความสวยหวานแต่ก็ยังชิคทันสมัยด้วยดี มาแสดงความคิดเห็นกันได้นะคะว่าชอบมงกุฎไหนมากที่สุดและเพราะอะไร (แต่ตอบแล้วพี่ก็ไม่มีมงมอบให้นะคะ)
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด