'ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์' เภสัชกรหญิงไทยผลงานระดับโลก ที่ 'บิล เกตส์' ถึงกับทำคลิปยกย่อง

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ... ใครที่ชอบติดตามคนดังในโลกออนไลน์ อาจจะสังเกตว่าตอนต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มหาเศรษฐีคนหนึ่งของโลกอย่างบิล เกตส์ โพสต์ข้อความพร้อมคลิปยกย่องสตรีชาวไทยคนหนึ่งว่าเป็นหนึ่งใน Heroes in the field หลายคนอาจจะสงสัยว่าสุภาพสตรีท่านนี้คือใคร วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกันค่ะ



วีรสตรีผู้กล้าหาญ


     สุภาพสตรีท่านนี้คือศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรมของไทยค่ะ ท่านเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ และยังมีชื่อเสียงในด้านความทุ่มเทและตั้งใจทำงานเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงยาเหล่านี้ได้ แม้ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีเงินเลยก็ตาม

     ดร.กฤษณาเป็นชาวสมุย ต่อมาได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโทสาขาเภสัชวิเคราะห์ ที่มหาวิทยาลัยสตรัธไคลด์ และจบปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี จากมหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ จากนั้นทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ระยะหนึ่งก่อนจะมาทำงานที่องค์การเภสัชกรรมค่ะ

     ดร.กฤษณาเป็นผู้ริเริ่มการวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ในประเทศไทย และประสบความสำเร็จในการผลิตยา ZIDOVUDINE (AZT) ที่มีฤทธิ์ลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก หลังจากนั้นก็มียาอีกหลายชนิดตามมาค่ะ รวมถึงยา GPO-VIR ที่รู้จักกันในชื่อยาค็อกเทล เพราะเป็นการรวมตัวยารักษาโรคเอดส์ 3 ชนิดในเม็ดเดียวกันเป็นครั้งแรกของโลก ถือว่าช่วยลดความลำบากที่จะต้องกินยาหลายเม็ด และยังลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยา แถมยังทำเองขายเองได้ในเมืองไทย ราคาเลยถูกมากๆ ด้วย

     ตอนนั้นข่าวการผลิตยาตัวนี้สำเร็จถือว่าดังในระดับโลกเลยค่ะ ในที่ประชุมองค์การอนามัยโลก ไทยก็ไปประกาศว่าจะให้ความช่วยเหลือกับประเทศในทวีปแอฟริกา ตอนนั้นทั่วโลกก็ชื่นชมใหญ่เลย ทว่า ดร.กฤษณาบอกว่าคนพูดเขาพูดแล้วก็จากไป แต่ตัว ดร.กฤษณาเองเป็นคนที่เขียนโครงการนี้ขึ้นมา รู้สึกว่าตัวเองควรจะไปตามสัญญา จึงลาออกจากองค์การเภสัชกรรมในปี พ.ศ. 2545 เพื่อจะไปช่วยชาวแอฟริกาตามสัญญา


ที่มาของ "เภสัชกรยิปซี"


     ดร.กฤษณาบอกว่าที่เลือกไปช่วยที่แอฟริกาเพราะ "ในโลกนี้มีคนติดเชื้อเอดส์อยู่ 38 ล้านคน อยู่ที่ทวีปนี้ 30 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 90 และแต่ละปีคนตายเพราะมาลาเรีย 2 ล้านคน ตายมากกว่าโรคเอดส์ 2 เท่า ก็มองว่าถ้าไปอยู่ตรงนั้น น่าจะช่วยเขาได้มาก" ท่านจึงไปช่วยสร้างโรงงานทำยา สอนการผลิตยา ให้สูตรที่เหมือนกับของไทยแต่ต่างกันที่วัตถุดิบ

     เริ่มแรกไปที่ประเทศคองโกค่ะ เพราะมีเจ้าของโรงงานยาที่นั่นติดต่อมา ว่าเขาสนใจทำยาตัวนี้ และเขาต้องการจะช่วยผู้คนในประเทศฟรีๆ พวกค่าเดินทางค่าที่พัก ดร.กฤษณาต้องออกเอง แต่หนึ่งปีผ่านไปก็ได้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมนีในด้านเครื่องจักรต่างๆ

     ช่วงที่อยู่คองโกเป็นช่วงที่มีสงครามพอดี รบกันตลอดเวลา ดร.กฤษณาเล่าว่าไม่รู้เลยว่าจะมีคนมายิงเมื่อไหร่ บางทีทำงานประเทศนึง แต่ต้องข้ามไปนอนในอีกประเทศนึง โดนจี้ก็เคยมาแล้ว เจอระเบิดก็เหมือนกัน

     หลังจากช่วยให้คองโกผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ได้เองแล้วอย่างยา "AFRIVIR" ท่านก็เดินทางไปช่วยประเทศอื่นๆ ต่อ เช่น ช่วยเหลือที่ประเทศแทนซาเนียจนสามารถผลิตยารักษาโรคมาลาเรีย "Thai-Tanzunate" และยาเหน็บทวาร “อาร์เตซูเนท” เพื่อรักษาโรคมาลาเรียในเด็กได้

     การเดินทางไปช่วยเหลือที่โน่นที่นี่และไม่ได้มีบ้านจริงจัง ทำให้เหมือนร่อนเร่ไปเรื่อยๆ นั้น ทำให้ท่านได้รับฉายาว่า "เภสัชกรยิปซี" (ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหมอดูไพ่ยิปซีนะคะ)



Photo: www.krisana.org


ความมุ่งมั่นในการสู้เพื่อความยุติธรรม


     ดร.กฤษณาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตอนอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม ท่านมักจะมีปัญหากับฝ่ายการตลาดค่ะ เพราะทางนั้นจะกีดกันไม่ใช่ซื้อวัตถุดิบมาวิจัยยา เพราะมองว่าทำยาไปไม่นานเชื้อก็ดื้อยาจนขายต่อไม่ได้ ค่าวิจัยจะไม่คุ้มเอา แต่ดร.กฤษณาก็จะดื้อทำอยู่เสมอ

     ตอนคุยกับองค์กรต่างประเทศว่าจะขอใช้ประเทศนั้นเป็นที่ผลิตยา ก็โดนแย้งว่าไม่คุ้ม เพราะมีข้อตกลงระหว่างประเทศว่า ประเทศนี้สามารถผลิตยาโดยไม่มีสิทธิบัตรได้อีกเพียง 9 ปีเท่านั้น ตอนนั้นดร.กฤษณาโกรธมาก แย้งว่า 9 ปีทำอะไรได้ตั้งเยอะ วันเดียวยังมีคนตายตั้งเยอะเลย ท่านแสดงจุดยืนเลยว่า "ถึงจะมีวันเดียวฉันก็จะทำ" เพราะมองว่าอยากให้ทุกคนพึ่งตนเองได้ ไม่ต้องซื้อยาจากต่างประเทศมากิน

     ครั้งหนึ่งในการประชุมนานาชาติ มีผู้เข้าร่วมชาวแอฟริกันคนหนึ่ง เขาพูดในที่ประชุมว่าเขารู้จักนิสัยคนแอฟริกันดี และรู้ว่าดร.กฤษณาจะไม่มีวันทำอะไรได้แน่ๆ ตอนนั้นดร.กฤษณาก็รู้สึกอายเหมือนกันที่โดนพูดแบบนั้นต่อหน้าคน 200 คน แต่ก็มุ่งมั่นที่จะทำยิ่งกว่าเดิม โดยลงพื้นที่เองเลยทันที

     ดร.กฤษณาเป็นคนที่โนสนโนแคร์ใดๆ ไม่ว่าใครจะห้าม จะว่า จะดูถูกอะไรก็ตาม ท่านก็ไม่แคร์ เพราะแคร์แค่ผู้ป่วยที่จะได้รับประโยชน์เท่านั้น ท่านเคยให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า "คนอื่นจะชอบหรือไม่ชอบก็ไม่เห็นเป็นไรนะคะ ฉันไม่ได้มีชีวิตติดกับเขานะคะ คนเราเกิดมาคนเดียวตายคนเดียวชีวิตไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับใครอยู่แล้ว"



Photo: www.krisana.org


ผลงานอื่นๆ


     ดร.กฤษณามีผลงานการเขียนด้วยนะคะ เป็นหนังสือชุด "เภสัชกรยิปซี" มีทั้งหมด 5 เล่มค่ะ

     นอกจากนี้เรื่องราวของท่านยังถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง A Right to Live - AIDS medication for Millions (2006) ที่ได้รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ รวมถึงยังถูกนำไปสร้างเป็นละครเวทีบรอดเวย์เรื่อง Cocktail ด้วยค่ะ

     ในไทยเองก็เคยมีหนังสั้นที่นำเรื่องราวของ ดร.กฤษณามาเล่าค่ะ เป็นหนึ่งในซีรี่ส์ชุด คน…บันดาลใจ ตอน "แสงปลายฟ้า" ฉายทางช่อง Thai PBS ในปี พ.ศ. 2558 ค่ะ นอกจากนี้ก็มีหนังสือการ์ตูนเล่าเรื่องราวของ ดร.กฤษณาด้วย ในชื่อชุด "คนไทยระดับโลก" ค่ะ

     พี่พิซซ่าได้เรียนบทละครเรื่อง Cocktail สมัยเรียนปริญญาตรีด้วย แถมยังเคยมีโอกาสได้ชมละครเวที "นางฟ้านิรนาม" ของภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แปลจากเรื่อง Cocktail อีกด้วย บทละครมีฉากให้ลุ้นเยอะมากเลยค่ะ ไหนจะฉาก "หมารุม" ที่เป็นสัญลักษณ์เหมือนโดนบริษัทยาต่างๆ รุมเล่นงาน รวมถึงฉากที่อยู่ท่ามกลางสงครามในแอฟริกาอีก ลุ้นมากๆ เลยค่ะ


โปสเตอร์ละครเวทีเรื่อง "นางฟ้านิรนาม"


ชื่อเสียงในระดับนานาชาติ


     อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่าบิล เกตส์ ทำคลิปยกย่อง ดร.กฤษณานั้น อธิบายก่อนว่าเป็นคลิปที่บิล เกตส์ ทำเนื่องในโอกาสวันเอดส์โลกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาค่ะ บิลยกย่องฮีโร่ 2 ท่านที่ต่อสู้กับโรคเอดส์ หนึ่งในนั้นคือ ดร.กฤษณา ส่วนอีกท่านคือ Jonathan Eshiloni Mumena ผู้นำของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยบริเวณชายแดนของประเทศแซมเบียที่ติดกับประเทศคองโก น้องๆ สามารถอ่านบทความเต็มๆ ของบิลได้ที่ www.gatesnotes.com เลยนะคะ เป็นบล็อกส่วนตัวของบิล เกตส์ ที่มีอะไรดีๆ ให้อ่านเยอะมากเลยค่ะ

     นอกจากนี้ ดร.กฤษณายังได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย เช่น รางวัลเหรียญทอง จากยูเรก้านิทรรศการนวัตกรรมโลกครั้งที่ 50 ประเทศเบลเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2544,  รางวัล Global Scientific Award จากมูลนิธิเลตเท่น ประเทศนอร์เวย์ ในปี พ.ศ. 2547,  รางวัล Asian of the Year 2008 จากนิตยสารรีดเดอร์สไดเจสต์ ในปี พ.ศ. 2548  รวมถึงรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ จากประเทศฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ. 2552  ทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นนะคะ จริงๆ มีอีกเยอะเลย


Photo: www.krisana.org


     โดยส่วนตัวพี่พิซซ่าชื่นชมความ "ไม่แคร์" คนอื่นในการทำสิ่งที่ถูกต้องค่ะ เพราะคนเราทุกวันนี้สนใจกับความคิดคนอื่นมากเกินไปจนตัวเองไม่มีความสุขกันซักเท่าไหร่ บางครั้งอยากทำอะไรที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็กังวลกันไปอีกว่าคนอื่นจะมองยังไงจนสุดท้ายเลยไม่ได้ลงมือ ฉะนั้นถ้าน้องๆ เห็นว่าอะไรเป็นเรื่องที่ถูกที่ควร เป็นเรื่องที่จะช่วยเหลือผู้คนได้เยอะ ก็ขอให้มีความมั่นใจในตัวเองและลงมือทำสิ่งที่ถูกต้องไปเลยนะคะ สู้ๆ ค่ะ
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

lookkaew_11 Member 9 ธ.ค. 60 12:17 น. 2

ไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกได้ยังไง นอกจากท่านเป็นผู้หญิงเก่งที่เท่มากๆเลย ชื่นชมท่านมากค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด

7 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
lookkaew_11 Member 9 ธ.ค. 60 12:17 น. 2

ไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกได้ยังไง นอกจากท่านเป็นผู้หญิงเก่งที่เท่มากๆเลย ชื่นชมท่านมากค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
ประชากรจิ้งจอก Member 17 ธ.ค. 60 10:48 น. 5

บอกได้คำเดียวเลยว่าสุดยอด ชอบตรงที่ ดร. อุทิศตนให้คนอื่นจริง ๆ และอย่างหนัก โดยไม่สนอุปสรรคอะไรนี่แหละ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด