เล่าประเด็น #MeToo ในเกาหลีใต้ กับปัญหาล่วงละเมิดทางเพศที่ลุกลามไปทั่วสังคม

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ช่วงนี้น้องๆ น่าจะเห็นข่าวการเคลื่อนไหวของกระแส #MeToo ในเกาหลีใต้ว่ามีหลายฝ่ายออกมาแฉคนดังจากหลายวงการเกี่ยวกับเคสการล่วงละเมิดทางเพศที่สะสมมานานหลายปีจนกลายเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองไปแล้ว วันนี้ พี่บุ๋มบิ๋ม จะพาน้องๆ ไปรู้จักกับกระแส #MeToo ให้มากกว่าเดิมพร้อมอธิบายว่าทำไมเกาหลีใต้จึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ออกมาเคลื่อนไหวกันอย่างยิ่งใหญ่เช่นนี้ค่ะ
      
         

#MeToo คืออะไร 

      
 
Photo credit: telegraph.co.uk 
       
     ถ้าใครติดตามข่าวช่วงที่ผ่านมาน่าจะเห็นว่าข่าวหนึ่งที่ดังมากๆ เลยคือกระแส #MeToo ที่เริ่มจากข่าวการล่วงละเมิดทางเพศของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์มือทองของวงการฮอลลีวูดที่แม้จะทำผลงานดีๆ ประดับจอเงินไว้มากมายแต่รายชื่อผู้เสียหายที่ออกมาแฉฮาร์วีย์ก็ยาวเป็นหางว่าวพอๆ กันค่ะ 
      
 
Photo credit: abc.net.au 
      
     ดาราและนางแบบดังๆ ที่ออกมาแฉความอื้อฉาวของฮาร์วีย์ก็อย่างเช่น แอนเจลีนา โจลี, กวินเน็ธ พัลโทรว์, คาร่า เดอเลวีญ และ แอชลีย์ จัดด์ ค่ะ นี่แค่ยกตัวอย่างคนดังๆ นะคะเพราะความจริงมีผู้เสียหายจากการกระทำของฮาร์วีย์ร่วม 40 คนและยังมีผู้ที่ไม่เปิดเผยตัวอีกมากมาย 
      
      
     หลังจากที่เรื่องนี้ออกมา นักแสดงสาวชาวอเมริกันอย่าง อลิซซา มิลาโน (Alyssa Milano) ก็ได้ออกมาทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “หากใครเคยถูกคุกคามหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศก็ตอบทวิตนี้ด้วยคำว่า 'Me Too' ” หลังจากที่อลิซซาทวิตข้อความนี้ออกไปก็มีการตอบกลับข้อความพร้อมด้วยแฮชแท็ก #MeToo มากมายทั้งชายและหญิง อลิซซาตื่นขึ้นมาในเช้าวันรุ่งขึ้นก็ต้องตกใจที่พบว่ามีข้อความตอบกลับมากถึง 55,000 ข้อความ แถมแฮชแท็กนี้ยังขึ้นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์และมีการใช้งานจาก 85 ประเทศทั่วโลก 
      
     และไม่ใช่ว่าแฮชแท็กนี้จะดังแค่เฉพาะในต่างประเทศ แต่ในตอนนี้เริ่มมีหลายประเทศออกมาเคลื่อนไหวให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาในการล่วงละเมิดทางเพศมากมาย ซึ่งตอนนี้ที่เห็นจะดังสุดๆ ก็หนีไม่พ้นการเคลื่อนไหวที่เกาหลีใต้ค่ะ 
      
           

เรื่องราวสุดขมขื่นจากอดีตถึงปัจจุบัน 

      
 
Photo credit: reuters.com 
        
     หลังจากที่กระแส #MeToo เริ่มมีอิทธิพลในเอเชีย เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาในการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ และที่น่ากลัวคือบรรดาชายที่ล่วงละเมิดทางเพศนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลในเกาหลีใต้ จากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ผู้บริหาร หรือโปรดิวเซอร์รายการทีวี 
      
 
จางจายอน หนึ่งในนักแสดงสาวที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ
Photo credit: kpophot.com 
         
     หากย้อนไปหลายปีหน่อย พี่คิดว่าน้องๆ หลายคนน่าจะเคยดูซีรีส์เกาหลีที่ชื่อ Boys Over Flowers คนที่ดูซีรีส์เรื่องนี้น่าจะจำหนึ่งในแก๊งสาวๆ ของโรงเรียนที่ชอบเป็นหัวโจกกลั่นแกล้งนางเอกได้ ดาราสาวที่รับบทนั้นคือ จางจายอน (Jang-Ja Yeon) ซึ่งหลังจากที่ซีรีส์เรื่องนี้ออกฉายได้ไม่นาน ก็มีข่าวช็อกวงการว่า จางจายอนฆ่าตัวตาย พร้อมทิ้งจดหมายความยาวกว่า 7 หน้ากระดาษเอาไว้ เนื้อความในจดหมายกล่าวหาบริษัทต้นสังกัด ว่าเป็นคนบังคับให้เธอให้บริการทางเพศแก่แขกมากหน้าหลายตา กรณีของจางจายอนจึงกลายเป็นประเด็นที่ร้อนแรงในสังคมอยู่ช่วงหนึ่งค่ะ 
      
 
โจมินกิ นักแสดงชายที่ถูกแฉว่ากระทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงอย่างน้อย 8 คน
Photo credit: allkpop.com
          
     และเมื่อไม่กี่วันมานี้เองที่มีข่าวการฆ่าตัวตายของนักแสดงชายวัย 52 ปีอย่าง โจมินกิ (Jo-Min Ki) ที่ถูกพูดถึงกันมากในสังคมและเป็นประเด็นร้อนแรงมากในช่วงนี้ สื่อเกาหลีใต้ต่างคาดเดาว่า ที่เขาฆ่าตัวตายเป็นเพราะถูกกดดันและเกิดความเครียดหลังจากที่ตนตกเป็นข่าวล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงอย่างน้อย 8 คนในช่วงที่เป็นอาจารย์สอนการแสดง ซึ่งเจ้าตัวออกมายอมรับผิดในเรื่องนี้และเตรียมเข้าให้การในวันที่ 12 มีนาคม แต่เขาได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายเสียก่อน ซึ่งชาวเน็ตเกาหลีต่างโกรธแค้นและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมากมาย ถึงกับมีคนออกมาพูดด้วยว่า แม้โจมินกิจะฆ่าตัวตาย แต่ยังไงเสียความผิดที่เขาก่อก็ไม่มีทางตายตามตัวเขาไปด้วยแน่นอน 
      
 
อันฮีจอง นักการเมืองชาวเกาหลีใต้ที่เพิ่งประกาศยุติบทบาททางการเมืองหลังถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ
Photo credit: straitstimes.com 
        
     หรือถ้าดูในมุมมองของคนที่มีอิทธิพลระดับประเทศหน่อย แน่นอนว่าต้องเป็นข่าวของนาย อันฮีจอง (Ahn Hee Jung) นักการเมืองชื่อดังที่เคยท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้กับนายมุนแจอินเมื่อปีก่อน ตัดสินใจลาออกและยุติบทบาททางการเมือง หลังจากที่นางสาว คิมจีอึน (Kim Ji Eun) ออกมาตีแผ่เรื่องฉาวนี้ว่า เธอถูกนายอันข่มขืนสี่ครั้งในระยะเวลาแปดเดือนนับตั้งแต่ปี 2017 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเธอกล่าวว่ากระแส #MeToo ที่กำลังมีอิทธิพลในเกาหลีใต้ ได้ผลักดันให้เธอออกมาพูดถึงความร้ายกาจในครั้งนี้ ซึ่งหลังจากที่นายอันยอมรับผิด บรรดาคนที่สนับสนุนเขาในการเลือกตั้งครั้งก่อนออกมาบอกว่า รู้สึกราวกับถูกทรยศ “ฉันคิดว่าคุณจะเป็นคนเดียวที่สามารถนำประเทศนี้ได้ ไม่อยากเชื่อเลย ฉันพูดอะไรไม่ออกจริงๆ” ผู้ใช้งานรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ค 
      
 
Photo credit: pri.org 
           
     นอกจากคิมจีอึนแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่ออกมาพูดถึงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา อัยการหญิง โซจีฮยอน (Seo Ji Hyun) อ้างว่าเธอเคยถูกล่วงละเมิดโดยเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงยุติธรรม หรือกรณีของ โคอึน (Ko Un) นักกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเกาหลีและเป็นนักเขียนที่หลายคนในเกาหลีมองว่า เป็นความหวังชั้นนำของประเทศที่จะได้ชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดี ถูกกล่าวหาว่ากระทำการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งแม้ว่าตอนนี้โคอึนยังคงให้การปฏิเสธ แต่ผู้ที่ออกมาแฉเรื่องนี้กล่าวว่าเธอยินดีที่จะยื่นเรื่องนี้ต่อศาล

     ไม่เพียงเท่านี้นะคะ แต่กระแสการแฉเหล่านี้ยังมีพาดพิงไปถึงผู้กระทำผิดที่เป็นเพศหญิงด้วย นั่นคือผู้กำกับหญิง อีฮยอนจู (Lee Hyun Ju) ที่เพิ่งถูกเพื่อนร่วมงานของเธอออกมาแฉว่าเคยถูกเธอล่วงละเมิดทางเพศโดยหลอกให้ดื่มเหล้าก่อนพาเข้าโรงแรม เมื่อเรื่องนี้ดังขึ้นมา ท้ายที่สุดแล้วอีฮยอนจูจึงได้ประกาศลาออกจากวงการไปในที่สุดค่ะ 
      
          

กระแสสังคมเกาหลีใต้กับ #MeToo 

      
 
Photo credit: scmp.com 
        
     จากการออกมาต่อต้านการคุกคามทางเพศของเกาหลีใต้ ที่มีผู้ตกเป็นเหยื่อออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราสามารถเห็นได้ว่า เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศสูงมาก โดยในวงการบันเทิงถือเป็นอีกสังคมหนึ่งที่ต้องพบเจอกับปัญหาเหล่านี้มากเป็นอันดับต้นๆ ค่ะ มีหลายฝ่ายมองว่าการแข่งขันในวงการบันเทิงเกาหลีค่อนข้างสูง การจะก้าวหน้าในอาชีพดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้อาจถูกหลอกว่ามีเส้นทางที่จะสามารถพานักแสดงสาวๆ ไปสู่ความสำเร็จได้ แถมบรรดาคนใหญ่คนโตยังมีการ "จัดคลาส" นักแสดงเอาไว้ เผื่อเรียกให้มากินดื่มด้วยในยามว่างอีกต่างหาก 
       
     ที่น่าตกใจคือจากข่าวที่เราเห็นกันนั้น ไม่เพียงแต่จะมีเฉพาะในวงการบันเทิงหรือการเมืองเท่านั้น แต่โรงเรียนก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นเหมือนกันค่ะ เด็กๆ หลายคนทั้งที่ยังเรียนอยู่หรือจบการศึกษาไปแล้วต่างออกมาบอกเล่าถึงประสบการณ์อันน่าขมขื่นของตัวเองผ่านแฮชแท็ก #SchoolMeToo ว่าตนเคยถูกคุกคามทางเพศอย่างไรบ้างเมื่ออยู่ในโรงเรียน ซึ่งบางเรื่องนั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนก็มีนะคะ นั่นทำให้เราได้เห็นกันว่าจริงๆ แล้วในสังคมเกาหลีใต้พบเจอกับเรื่องพวกนี้อยู่เสมอและยังคงไม่สามารถขจัดปัญหาเหล่านี้ไปได้ 
      
 
Photo credit: huffingtonpost.com 
          
     กระแส #MeToo ในเกาหลีใต้ตอนนี้เป็นเหมือนกระแสที่ทำให้ผู้หญิงหรือผู้ชายหลายคนที่เคยตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศกล้าที่จะออกมาเปิดเผยเรื่องของตนมากขึ้น แต่ก็น่าเป็นห่วงตรงที่ ตามบริบทสังคมของเกาหลีใต้นั้น มีแนวคิดเรื่องของชายเป็นใหญ่ จากสาเหตุนี้เอง ทำให้ปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศไม่ได้รับการแยแสนักในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งเหยื่อส่วนใหญ่มักคิดว่าหากตนออกมาพูดแล้ว จากการที่เคยเป็นดาวเด่นในวงการก็สามารถกลายเป็นดาวดับได้เช่นกัน หรือที่ร้ายที่สุดเลยคืออาจกลายเป็นว่า เหยื่อกลายเป็นผู้ถูกกล่าวโทษจากสังคมแทนที่จะเป็นผู้กระทำอีกต่างหาก 
      
 
Photo credit: huffingtonpost.com  
       
     ในขณะที่ชาวเกาหลีส่วนใหญ่สนับสนุนสิทธิของความเท่าเทียมกันในสังคม แต่จากผลสำรวจของ Pew Research Centre พบว่าในช่วงปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้มีช่องว่างทางเพศที่เลวร้ายที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ถึงร้อยละ 93 โดยร้อยละ 63 ของผลสำรวจเป็นเพศหญิง อีกทั้งยังบอกอีกว่านอกจากผู้หญิงจะถูกเลือกปฏิบัติจากในที่ทำงานแล้ว ยังต้องอดทนกับเรื่องเหล่านี้ในชีวิตประจำวันของพวกเธอด้วย ดังนั้น #MeToo ในเกาหลีใต้จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าติดตามมากว่า สุดท้ายสังคมจะยังทำเป็นไม่รับรู้ต่อไป หรือจะมีมาตรการใดประกาศออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกเช่นนี้กัน 
      
             
     พี่คิดว่าปัญหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศไม่ว่าที่ไหนๆ ก็มีจุดหนึ่งที่เหมือนกันตรงเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางเพศค่ะ หากเราไม่เร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก่อน ความคิดหรือความเชื่อผิดๆ จะหยั่งรากลึกจนยากที่จะถอนออก ในเมื่อเราเป็นสังคมประชาธิปไตยเราก็ควรตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ เพราะหากไม่มีสิ่งนี้แล้วก็นับว่าสังคมเราไม่ได้เป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 
      
      
อ้างอิง
พี่บุ๋มบิ๋ม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

hanbyun Member 14 มี.ค. 61 08:47 น. 1

เกาหลีเป็นประเทศที่เจริญ แต่คนในประเทศ บางคน กลับทำตัวได้น่ารังเกียจมาก แม้เขาเหล่านั้นจะมีบทบาทสำคัญในสังคมก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้จิตใจสูงขึ้นเลย

0
กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

hanbyun Member 14 มี.ค. 61 08:47 น. 1

เกาหลีเป็นประเทศที่เจริญ แต่คนในประเทศ บางคน กลับทำตัวได้น่ารังเกียจมาก แม้เขาเหล่านั้นจะมีบทบาทสำคัญในสังคมก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้จิตใจสูงขึ้นเลย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด