'บ้านในสุสาน' ทางเลือกเดียวของชาวอียิปต์ ที่ประสบปัญหายากจนอย่างรุนแรง

    สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ตอนเด็กๆ เราอาจเคยคิดกันบ้างแหละ ว่าทำไมบ้านคนนั้นคนนี้ใหญ่กว่า มีข้าวของเครื่องใช้สะดวกสบายกว่า บ้านเพื่อนบางคนมีสระว่ายน้ำ บางคนก็มีสนามกว้างมากเลย พี่ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะคิดค่ะเพราะทุกคนมีชีวิตที่แตกต่างกันไป

    แต่ไม่ต้องคิดน้อยใจไปนะคะ เพราะบนโลกนี้ยังมีอีกหลายคนเลยที่ไม่มีแม้แต่บ้านอยู่ วันนี้ พี่นิทาน ก็เลยมีเรื่องจริงที่น่าเห็นใจของชาวไคโร ประเทศอียิปต์ที่มีที่อยู่อาศัย หรือ 'บ้าน' ในสุสาน มาเล่าให้น้องๆ อ่านค่ะ 

 
Photo: http://www.middleeasteye.net

    "แรกเริ่มที่เข้ามาอยู่ พวกเรากลัวมากเพราะต้องอยู่กับคนตาย แต่พออยู่ไปอยู่มาก็เหมือนตายแล้วทั้งเป็น ไม่ได้ต่างอะไรจากคนตายเลย" -ชาวสุสานในไคโรกล่าวไว้

    ในกรุงไคโร เมืองหลวงของประเทศอียิปต์เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 19 ล้านคน แต่เชื่อไหมคะว่ามีคนจำนวน 1 ล้านคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย จึงต้องอาศัยทางเลือกเดียวคือการอยู่อาศัยในสุสาน ซึ่งแน่นอนว่าแย่กว่าสลัม เพราะมีพื้นที่จำกัด และที่เลี่ยงไม่ได้เลยคือ การอยู่อาศัยร่วมกับหลุมศพคนตายนั่นเองค่ะ 


บ้านในสุสาน 


Photo: http://www.middleeasteye.net

    บ้านในสุสานที่ว่านี้คือการมาใช้พื้นที่หรือห้องเล็กๆ ในสุสาน ที่มีไว้เพื่อให้ญาติพี่น้องของคนตายมาพักผ่อนระหว่างการมาเยี่ยมและเคารพศพคนตาย ห้องเล็กๆ นี้จะใช้กันแดด กันฝนต่างๆ ใครจะไปคิดว่าจะกลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของคนได้ เพราะความหัวใสของเจ้าของสุสานนั่นเองค่ะ เมื่อเห็นว่ามีคนแอบเข้ามาอยู่กันก็เลยเก็บตังค์ซะเลย เลยกลายเป็น 'บ้านเช่า' ในอีกแบบอย่างช่วยไม่ได้ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนไร้ทางเลือกอื่นแล้วจริงๆ ค่ะ 

    ชาวไคโรจำนวนมากเกิดที่สุสานและอาศัยอยู่ที่บ้านสุสานนี้ทั้งชีวิต ยกตัวอย่างเช่นนางนาริมาน (Nariman Al Samra) วัย 66 ปีที่เล่าว่าเธออยู่ที่บ้านสุสานนี้มากว่า 60 ปีแล้ว ทุกๆ วันจะต้องตื่นมาเห็นวิวสุสานที่เต็มไปด้วยหลุมศพของคนตายที่ไม่รู้จักเรียงรายจนกลายเป็นวิวที่เคยชิน แต่มีอีกสิ่งที่ไม่ค่อยชินก็คือการอยู่ร่วมกับหลุมศพคนตายนี่แหละค่ะ

 

    ภายในบ้านของชาวสุสานส่วนมากจะเป็นห้องเล็กๆ ไม่กว้างขวางมากนัก แต่ยังดีที่พวกเขาสามารถหาเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มาเติมเต็มความสะดวกสบายให้สมเป็น 'บ้าน' มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ตู้ โต๊ะ เตียง พัดลม และอื่นๆ แล้วแต่ฐานะของแต่ละบ้าน แต่อีกเรื่องที่อาจจะไม่ค่อยสะดวกสบายนักก็คือ พวกเขาไม่ได้มีห้องอาบน้ำเป็นส่วนตัว และอาจจะหายากกว่าห้องน้ำด้วยซ้ำ แถมไฟฟ้าก็ไม่ค่อยมีใช้ ถ้าใครจะใช้ก็อาจต้องเช่าเครื่องปั่นไฟแบบแชร์กันกับเจ้าของเครื่องที่อาศัยอยู่แถวนั้น ทุกอย่างที่นี่เลยดูเป็นเงินเป็นทองไปหมดเพราะชีวิตที่ลำบากแบบนี้นั่นเองค่ะ


ความหวังลมๆ แล้งๆ จากรัฐบาล 



    สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนจำนวนมากในไคโรต้องมาอยู่ในบ้านสุสานอย่างไม่มีทางเลือกนี้ก็เพราะ 'รัฐบาล' ในไคโรค่อนข้างเพิกเฉยต่อชาวสุสานค่ะ หลายครั้งก่อนจะมีการจัดเลือกตั้งต่างๆ ตัวแทนจากพรรคการเมืองมักจะมาพูดคุยกับชาวสุสานว่าจะช่วยเหลือในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่การหาบ้านให้อยู่ดีๆ สิทธิ์การรักษาพยาบาล และเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต่อชีวิต แต่ที่สุดแล้วพอชาวบ้านลงคะแนนให้นักการเมืองพวกนั้น... กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย 

    เกือบทุกคนที่อยู่อาศัยในบ้านสุสานนั้นมีงานทำกันหมด เพราะต้องใช้เงินประทังชีวิตและจ่ายค่าเช่า งานต่างๆ ที่พวกเขาพอจะทำได้ก็มีตั้งแต่เจ้าหน้าที่ในสุสานที่คอยขุด-ฝังศพให้ญาติผู้ตาย ขายของต่างๆ ใครโชคดีได้งานที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ดีกว่านี้ก็มีโอกาสย้ายออกไป มีหลายบ้านที่มีลูกหลานได้งานทำที่ดีกว่าและย้ายไปอยู่ในบ้านที่ดีกว่านี้ แต่หลายบ้านก็ไม่สามารถพึ่งพาลูกหลานที่ย้ายออกไปได้ เพราะพวกเขาก็มีอย่างอื่นในชีวิตที่ต้องรับผิดชอบไปอีก 


อยู่ยังไงกับหลุมศพคนตาย?


Photo: Tamara Abdul Hadi

    "คนตายก็คือคนตาย แต่ทุกครั้งเวลาตกกลางคืน เราก็กลัวทุกที" นางนาริมานเล่า เธอบอกว่าการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางหลุมศพนับร้อยแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้ว่าเธอจะรู้ดีว่าคนตายก็คือคนตาย เขาตายไปแล้ว ทำอะไรเราไม่ได้ แต่ทุกๆ ครั้งที่พระอาทิตย์ตกดินและความมืดเข้ามาแทน เด็กๆ ชาวสุสานจะกลัวกันมากๆ ถึงกับว่าเวลาจะต้องไปเข้าห้องน้ำก็ต้องปลุกพ่อแม่ให้เดินไปเป็นเพื่อนด้วย 

    นอกจากนั้นในแต่ละเดือนพวกเขาจะต้องเจอกับคืนที่นอนไม่หลับ (หรือจะเรียกว่าหลับไม่ลงก็ได้) เวลาที่มีศพคนตายใหม่ๆ มาฝัง ชาวสุสานจะกลัวและไม่ค่อยกล้าเดินไปไหนมาไหนตอนกลางคืนตลอดสัปดาห์นั้นเลยค่ะ 

    แต่นอกเหนือจากความน่ากลัวและข้อจำกัดในหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไฟฟ้า ห้องน้ำ ชีวิตที่นี่ก็มีสีสันในตอนกลางวันเช่นกัน พอมีแสงสว่างเด็กๆ ก็กล้าวิ่งเล่นกัน และชาวบ้านก็จะทำกิจวัตรประจำวันของพวกเขาไปในแบบที่ควรจะเป็น 


สุสาน = เป้านิ่งของการก่ออาชญากรรม 


Photo: http://www.middleeasteye.net

    หลายคนมองว่าชาวบ้านที่เข้ามาอยู่ในสุสานเป็นคนน่ากลัวและอาจก่ออาชญากรรมได้ แต่หารู้ไม่ว่าจริงๆ แล้วชาวสุสานนั่นแหละค่ะที่กลัวอาชญากรรมและโจรผู้ร้ายกันมากๆ เพราะการมาอยู่อาศัยในสุสานแบบนี้ แน่นอนว่าโจรจะต้องมองว่าเป็นเป้านิ่งที่จะก่ออาชญากรรมได้ตลอดเวลา ทั้งไม่ค่อยมีไฟฟ้า มืดๆ และเงียบๆ แบบนี้ เหตุการณ์ขโมยของและปล้นก็เกิดขึ้นเป็นระยะๆ และแม้ว่าสุสานใหญ่ๆในไคโรบางแห่งจะอยู่ใกล้สถานีตำรวจแค่ไหน พอแจ้งความไปก็ไม่ได้รับความสนใจจากตำรวจเลย 

    ชาวสุสานมีงานทำแต่ได้เงินกันไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย หากเกิดเหตุร้ายหรือโดนปล้นขึ้นมา พวกเขาอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีใครช่วยได้ และถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าในสุสานต่อไป พวกเขาก็ต้องโดนไล่ออก และทางเลือกสุดท้ายที่เหลือก็คือไปอยู่ตามข้างถนน ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งแย่ไปกว่าในสุสานอีกค่ะ 


การช่วยเหลือจากองค์กรและผู้คนต่างๆ 


Photo: Tamara Abdul Hadi

    อย่างที่เล่าไปตอนต้นค่ะว่าถ้าจะหวังพึ่งรัฐบาลไคโรให้มาช่วยก็อาจจะไม่มีวันนั้นเกิดขึ้น เพราะชาวสุสานหลายคนเคยได้รับเอกสารการช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายจากรัฐบาลมา แต่พอกรอกเอกสารและส่งไป ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็มีองค์กรอิสระต่างๆ มากมายที่รู้ข่าวแล้วก็อยากมาช่วยเหลือบ้าง 

    แต่การทำงานขององค์กรพวกนี้ก็ค่อนข้างซับซ้อนและมีขั้นตอนเยอะ เช่น การจะกรอกเอกสารเพื่อรับเงินช่วยเหลือนั้น ชาวบ้านในสุสานจะต้องใช้เวลาทั้งวันเพื่ออ่านทำความเข้าใจและเซ็นเอกสารเหล่านี้ ซึ่งในความเป็นจริงพวกเขาแทบจะเจียดเวลาไปทำอย่างอื่นที่นอกเหนือจากงานไม่ได้เลย เพราะรายได้ที่น้อยทำให้ทุกอย่างจำกัด ถ้าไม่ไปทำงาน 1 วันก็อาจแปลว่าวันนั้นจะไม่มีเงินหาซื้ออาหารและใช้จ่ายสิ่งสำคัญค่ะ 

    ชาวบ้านหลายคนเล่าว่ามีนักท่องเที่ยวและหลายๆ คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่เพื่อถ่ายรูปไปโปรโมต ไปเขียนข่าว เพื่อจะให้คนทั่วโลกรับรู้ถึงความเป็นไปที่นี่ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ได้มีใครมาช่วยจริงๆ จังๆ สักที แต่เรื่องนี้ก็อาจพูดยากเหมือนกันค่ะ เพราะจริงๆ แล้วคนที่ควรจะมาดูแลแก้ไขที่สุดก็คือรัฐบาลอียิปต์ แต่พวกเขากลับเพิกเฉยไปแบบนี้ 

    หนึ่งในสาเหตุหลักๆ ก็อาจเป็นเพราะเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาค่าเงินอียิปต์ลอยตัวจึงทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในประเทศแพงขึ้น และประชากรกว่า 27.8 เปอร์เซนต์ของประเทศก็มีฐานะยากจนมากๆ ด้วยค่าเฉลี่ยนเงินเดือนต่อปีคือประมาณ 6,000 EGP หรือประมาณ 10,628 บาทค่ะ 


ชีวิตคนเป็นที่อยู่ในสุสานคนตาย


Photo: https://www.theislamicmonthly.com/

    ปัญหาของผู้คนที่อยู่อาศัยในสุสานนั้นเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะรัฐบาลอียิปต์จะต้องให้ความสำคัญกับชาวสลัมก่อน ซึ่งชาวสลัมเองก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากอยู่แล้วด้วย แต่ถึงยังไงชาวสุสานเองก็คิดว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจริงๆ และในเมื่อคนเกือบทั้งหมดเกิดที่สุสาน มีลูกที่สุสาน และตายที่สุสาน เลยคิดว่าอาจจะต้องเป็นแบบนี้ต่อไป ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนได้ นอกจากจะโชคดีหางานที่ให้เงินได้เยอะขึ้น จะได้ไปเช่าที่อยู่ที่ดีกว่านี้

    การใช้ชีวิตที่สุสานนั้น แรกเริ่มก็ดูยาก และไม่มีใครคิดว่าจะอยู่ที่นี่ได้ เพราะมันเป็นที่ของคนตาย และสุดท้ายแล้วเมื่อไม่มีทางเลือก พวกเขาก็ต้องยอมรับและชินกับมันไป อย่างที่ชาวสุสานคนหนึ่งพูดไว้ว่า...

"การใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ทำให้บางครั้งฉันรู้สึกเหมือนตายไปแล้วจริงๆ แต่แค่ยังไม่ถูกฝังเท่านั้นเอง"

 

    อ่านแล้วก็รู้สึกเห็นใจชาวสุสานมากๆ เลยค่ะ แต่ปัญหาความยากจนและไร้บ้านแบบนี้ก็มีเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การแก้ไขที่ควรจะเกิดขึ้นจริงๆ ก็ต้องมาจากรัฐบาล และของประเทศนั้นๆ นั่นเองค่ะ ยังไงก็หวังว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ในอนาคตค่ะ 

อ้างอิง
https://www.vice.com/
http://www.middleeasteye.net/ (1)
http://www.middleeasteye.net/ (2)

 
พี่นิทาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Lula Lula Mae Member 19 เม.ย. 61 05:20 น. 2

เรารู้ว่ามันมีกรณีนอนในป่าช้านี้เกิดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ แต่เพิ่งรู้ว่าอียิปต์ก็ประสบปัญหานี้เหมือนกัน https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/yy-05.png

1
nitannitan Member 19 เม.ย. 61 10:18 น. 2-1
ที่ฟิลิปปินส์เคยดูสารคดีเหมือนกัน คิดว่าประเทศที่มีปัญหาความยากจนอะไรพวกนี้ น่าจะมีคล้ายๆ กันเยอะค่ะ
0
กำลังโหลด
Pa-Pong Member 9 ธ.ค. 61 00:50 น. 3

ที่น่าเศร้าคือรัฐบาลไม่ให้การใส่ใจเลย แต่อย่างว่า ปัญหาไม่ได้มีแค่ชาวสุสาน แต่มีปัญหาเกือบทั้งประเทศ สังเกตจากบทความ เขาไม่แม้เลยที่จะน้อยใจองค์กรอิสระ และกล่าวอีกว่ามันควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล


“ฉันเหมือนตายทั้งเป็น ตายแล้วแต่ยังไม่ได้ฝัง”


อ่านแล้วรู้สึกหดหู่ เมื่อไหร่ในโลกเราจะมีความเท่าเทียมทางด้านปัจจัย4เสียที

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด