ส่องวิชาเรียนของ ‘เอกภาษาไทย’ ที่เปิดสอนในมหา’ลัยชั้นนำของ ‘เกาหลีใต้’

     น้องๆ ชาว Dek-D รู้มั้ยครับว่าในปัจจุบัน หลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเค้าเปิดสอนหลักสูตร “สาขาวิชาเอกภาษาไทย” เยอะมากขึ้น เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยเวแด (HUFS) ของประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้ทำการเปิดสอนเอกภาษาไทยมาหลายปีแล้ว อยากรู้มั้ยครับว่าพวกเค้าเรียนอะไรกันบ้าง ว่าแล้วก็ตาม พี่วุฒิ มาดูกันเลยครับ    



 

 


 
    “Department of Thai Interpretation and Translation” หรือ “สาขาการล่ามและการแปลภาษาไทย” นั้นเป็นสาขาย่อยของ วิทยาลัยการล่ามและการแปล แห่งมหาวิทยาลัยฮันกุ๊ก ภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies 한국외국어대학교) มักเรียกย่อๆ ว่า ‘HUFS’ หรือ ‘เวแด’ สถาบันบันนี้มีชื่อเสียงมากและขึ้นชื่อในเรื่องการฝึกอบรมภาษาต่างประเทศในประเทศเกาหลี จึงไม่น่าใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่ที่จะเปิดสอนภาษาไทยด้วย และนอกจากภาษาไทยแล้ว ยังเปิดสอนสาขาภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาอิตาเลียน ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอารบิก และภาษามลายู 
 
     สาขาภาษาไทยของที่นี่จะมีอาจารย์ผู้สอนทั้งคนเกาหลีและอาจารย์คนไทยสอนอยู่ด้วย ว่าแล้วเราก็มาดูตารางเรียนของแต่ละเทอมกันดีกว่า ว่าเค้าเรียนวิชาอะไรกันบ้าง 

 


 

ปี 1
 


 

- ไวยากรณ์ภาษาไทยเบื้องต้น และการอ่าน 1, 2 (Elementary Thai Grammar & Readings 1, 2)
 
     วิชานี้เป็นวิชาพื้นฐานที่จะเรียนกันตั้งแต่ปี 1 นักศึกษาจะได้เรียนเกี่ยวกับกฎพื้นฐานหลักไวยากรณ์ภาษาไทย และเข้าใจการออกเสียงภาษาไทยอย่างถูกต้อง รวมถึงเรื่องจังหวะการพูด และน้ำเสียงที่ใช้ในการพูด และเป็นการฝึกทักษะการอ่านภาษาไทยขั้นพื้นฐานอย่างเชี่ยวชาญ   
 
- ความเข้าใจเกี่ยวกับไทย 1, 2 (Understanding of Thai 1, 2)
 
     เนื้อหาของวิชาจะเรียนเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับลักษณะวัฒนธรรมของไทย เจาะลึกลงไปเกี่ยวกับเรื่องศาสนาและความเชื่อแบบไทย และก็จะมีการเปรียบเทียบความแตกต่างทางวัฒนธรรมของเกาหลีและไทย
 
- มัลติมีเดียไทยเบื้องต้น 1, 2 (Elementary Multimedia Thai 1, 2)
 
     นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการออกเสียง และการแสดงออก ผ่านสื่อมัลติมีเดียไทย เพื่อฝึกทั้งการฟังและการพูด
 
- การสนทนาภาษาไทยเบื้องต้น 1, 2 (Elementary Thai Conversation 1, 2)
 
     เป็นอีกวิชาพื้นฐานที่เรียนในปีการศึกษาแรก เนื้อหาหลักๆ ก็จะเกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการออกเสียงและการฟัง 

 


 

ปี 2 
 



 
- องค์ประกอบของภาษาไทยระดับกลาง 1, 2 (Intermediate Thai Composition 1, 2)
 
     เรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบและการประยุกต์ใช้ประโยคพื้นฐานภาษาไทย
 
- ไวยากรณ์ภาษาไทยระดับกลาง 1, 2 (Intermediate Thai Grammar 1, 2)
 
     วิเคราะห์โครงสร้างประโยคภาษาไทย โดยใช้ความรู้ไวยากรณ์พื้นฐานในการวิเคราะห์อย่างมีหลักเกณฑ์ ซึ่งวิชานี้เหมือนเป็นการฝึกเข้าใจและพัฒนาความสามารถในการพูดภาษาไทยนั่นเอง  
 
- การสนทนาภาษาไทยระดับกลาง 1, 2 (Intermediate Thai Conversation 1, 2)
  
     สำหรับวิชานี้นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทสนทนาในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงพวกคำศัพท์ภาษาไทย รวมไปถึงการแสดงออกแบบคนไทยมากขึ้นอีกด้วย  
 
- มัลติมีเดียไทย 1, 2  (Multimedia Thai 1, 2)
 
     วิชานี้ก็จะเหมือนๆ กับวิชามิลตีมีเดียเบื้องต้นที่เรียนในปี 1 แต่จะมีความเข้มข้นทางเนื้อหามากขึ้น ทั้งเรื่องการออกเสียง การพูดอย่างไรให้เหมือนคนไทย พูดอย่างไรให้เป็นธรรมชาติและน่าฟัง ซึ่งการเรียนส่วนใหญ่จะอิงจากสื่อมัลติมีเดียต่างๆ ของไทย เช่น ละคร ภาพยนตร์ เพลง เป็นต้น 
 
- การอ่านภาษาไทยระดับกลาง 1, 2 (Readings in Intermediate Thai 1, 2)
 
     วิชาการอ่านที่เรียนในปีที่ 2 ก็จะมีเนื้อหาเข้มข้นเพิ่มขึ้นเหมือนๆ กับวิชาอื่นๆ เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะของนักศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในการเรียนการอ่านในขั้นนี้ นักศึกษาจะได้ใช้ทักษะการตีความและการวิเคราะห์ โดยอ้างอิงจากความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทย

 


 

ปี 3 
 


 

- องค์ประกอบภาษาไทยระดับสูง 1, 2 (Advanced Thai Composition 1, 2)
 
     พอขึ้นปี 3 แล้ว เนื้อหาในการเรียนก็ยิ่งเพิ่มระดับความยากมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับวิชานี้ที่นักศึกษาจะได้ดึงศักยภาพและความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบโครงสร้างภาษาไทยมาใช้มากขึ้น ผ่านการเขียนหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ประโยคพื้นฐานมาใช้ในการเขียนที่หลากหลาย  
 
- การสนทนาภาษาไทยระดับสูง 1, 2  (Advanced Thai Conversation 1, 2)
 
    สำหรับวิชาการสนทนาภาษาไทยระดับสูง เนื้อหาของประเด็นที่จะใช้พูดก็จะมีความยากและเฉพาะทางมากขึ้น มีการดึงทักษะการวิเคราะห์และความรู้ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 
 
- เศรษฐกิจในประเทศไทย (The Economics in Thai)
 
     การเรียนเอกภาษาไทย ไม่ใช่แค่เรียนเฉพาะเรื่องไวยากรณ์ ฟัง พูด อ่าน เขียน แล้วทุกอย่างจบคอร์ส แต่ความจริงแล้วจะต้องเรียนเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม และรวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย ซึ่งวิชานี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในฐานะที่เป็น “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICS)” ซึ่งนักศึกษาเอกภาษาไทยจะได้เรียนไปถึงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมไปถึงเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมระหว่างไทยและเกาหลีอีกด้วย  
 
- ประวัติวรรณคดีไทย (History of Thai Literature)
 
     นักศึกษาจะได้เรียนวรรณคดีต่างๆ ของไทยเรื่องสำคัญๆ เพื่อให้เข้าถึงความเป็นไทยมากขึ้น เป็นการเรียนรู้แนวความคิดของคนไทยผ่านผลงานวรรณคดีในแต่ละยุค และความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในผลงานวรรณคดี รวมถึงเรียนรู้การประพันธ์วรรณคดีเชิงสร้างสรรค์ของคนไทยอีกด้วย  

 


 
- ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย 1, 2 (Understanding of Thai Society & Culture 1, 2)
 
     วิชานี้ก็จะเน้นเรียนรู้เพื่อเข้าถึงวิถีความเป็นไทยมากขึ้น เจาะลึกไปถึงพื้นฐานศาสนาที่คนไทยนับถือที่สะท้อนผ่านแนวความคิดของคนไทย พร้อมทั้งวิเคราะห์ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของไทยและเกาหลี 
 
- การเมืองและการทูตไทย (Thai Politics & Diplomacy in Thai)
 
     นอกจากเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ ของไทยแล้ว นักศึกษาจะได้เรียนเกี่ยวกับระบบการเมืองของไทยอีกด้วย อีกทั้งเรียนย้อนไปถึงความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่เริ่มสมัยราชวงศ์จักรี การเรียนการสอนทั้งหมดจะเป็นภาษาไทย 
 
- สถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบัน (Current Thai Information)
 
     การเรียนการสอนของวิชานี้จะสอนเป็นภาษาไทยผ่านหลากหลายมุมมมองต่างๆ ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น เนื้อหาที่เรียนส่วนใหญ่จะอิงจากสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทย  
 
- ผลงานบทกวีวรรณคดีไทย (Thai Poetic Literary Works)
 
      เมื่อมาเรียนเอกภาษาไทยแล้ว เราจะพลาดอีกไฮไลต์หนึ่งของสาขานี้ไปไม่ได้เลย ซึ่งก็คือ การเรียนบทกวีหรือกลอนในวรรณคดีเรื่องสำคัญของไทย นักศึกษาก็จะได้เรียนรู้ว่ากลอนมีกี่แบบ แต่ละแบบมีโครงสร้างอย่างไรบ้าง มีสัมผัสนอก สัมผัสไหน สัมผัสระหว่างบท พูดเลยว่าคนไทยเรียนแบบไหน เค้าก็เรียนแบบนั้นเหมือนกันครับ
 
- ธุรกิจไทย (Business Thai)
 
     สำหรับวิชานี้ก็จะเรียนเกี่ยวกับความรู้เชิงธุรกิจ รวมไปถึงการเรียนจดหมายเชิงธุรกิจแบบไทย 

 


 

ปี 4 
 


 
- การฝึกใช้ภาษาไทย (Practical Thai)
 
     พอเรียนในปีสุดท้าย ทุกอย่างที่เรียนมาก็ต้องเริ่มนำมาใช้จริง โดยคอร์สนี้จะเน้นในเรื่องการฝึกสนทนาเป็นภาษาไทยมากขึ้น
 
- การฝึกสทนาและการใช้ประโยคภาษาไทย (Practice in Thai Conversation & Composition)
 
     วิชานี้ก็เช่นเดียวกัน จะฝึกการพูดภาษาไทยและการใช้ประโยคภาษาไทยที่ในระดับที่สูงมากขึ้น โดยนักศึกษาจะได้ฝึกพูดในหลากหลายประเด็น และได้ฝึกพูดกับคนไทยจริงๆ ด้วย
 
- การสัมนาไทยศึกษา (Seminar on Thai Studies)
 
     เจาะลึกเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทยโดยอ้างอิงจากสถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบัน รวมไปถึงภาพรวมเกี่ยวกับประเทศไทยและอาเซียนในอนาคต
 
- นวนิยายไทยร่วมสมัย (Contemporary Thai Novels)
 
     นอกจากจะได้เรียนวรรณกรรมและวรรณคดีชื่อดังในอดีตแล้ว นักศึกษาจะได้เรียนเกี่ยวกับนวนิยายไทยที่เป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน  
 
- การใช้อินเทอร์เน็ตของไทย (Internet Information of Thai)
 
     การเรียนเอกภาษาไทยจะได้เรียนแม้กระทั่งการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย นักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่าเกี่ยวกับภาษาในโลกออนไลน์ของคนไทย คนไทยมีการพิมพ์เสิร์ชข้อมูลอย่างไร และยังได้เรียนรู้การเขียนอีเมลเป็นภาษาไทยอีกด้วย 
 
- วรรณกรรมไทยสมัยใหม่ (Modern Thai Literature)
 
     นักศึกษาจะเข้าใจสังคมไทยในปัจจุบันมากขึ้นผ่านงานวรรณกรรมสมัยใหม่ 
 
- การบรรยายพิเศษเกี่ยวกับไทยศึกษา (Special Lecture on Thai Studies) 
 
     วิชานี้จะเป็นการบรรยายเป็นภาษาไทยทั้งหมด ซึ่งประเด็นที่จะพูดถึงก็คือ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และมุมมองทางประวัติศาสตร์ของไทย
 
- ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองไทยในปัจจุบัน (Understanding of Current Thai Politics)
 
     วิชานี้จะโฟกัสเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองประเทศไทยในปัจจุบัน เรียนรู้ถึงกระบวนการการปกครองของไทย ซึ่งอาจย้อนไปตั้งแต่สมัยปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 

 


เว็บไซต์มหาวิทยาลัย http://builder.hufs.ac.kr/user/hufsenglish/



 
     เห็นวิชาเรียนแต่ละวิชาแล้ว ถ้าไม่บอกว่าเป็นสาขาที่เปิดสอนในเกาหลี ก็อาจจะคิดว่าสาขาเหล่านี้เปิดสอนในไทยนะเนี่ย ตอนแรกพี่ยอมรับเลยว่าคิดว่าพวกเค้าคงเรียนแค่หลักภาษาไทยทั่วๆ ไป คงไม่ได้เจาะลึกอะไรมากเท่าไหร่หรอก แต่จริงๆ แล้วคือเรียนเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและการเมือง เรียกว่าเรียนเพื่อเข้าถึงความเป็นไทยกันเลยทีเดียว
 
     จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยเวแด มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนเยอะมาก และมีอีกหลายสาขาน่าสนใจ และในแต่ละปีทางมหาวิทยาลัยก็มีการมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาต่างชาติด้วย ซึ่งปกติแล้วจะเปิดรับสมัครช่วงปลายปี ถ้าน้องๆ คนไหนสนใจก็รอติดตามได้เลย ถ้าทุนเปิดรับเมื่อไหร่ พี่จะนำมาอัปเดตให้ทราบแน่นอนครับ   

 
Source:
https://builder.hufs.ac.kr/user/hufsenglish/un_2_d_5.jsp
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด