รวม 4 คดี ‘จับแพะ’ ทั่วโลก ที่ทำลายชีวิตคนทั้งชีวิต จบด้วยการประหาร

       สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com การลงโทษด้วยการประหารชีวิตมีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาลแล้วค่ะ ถือว่ามีประวัติมาอย่างยาวนานมากเลยทีเดียว และยิ่งในปัจจุบันกว่าจะตัดสินลงโทษประหารชีวิตได้ แต่ละคดีจะต้องใช้เวลานานในการสืบหาหลักฐาน มีหลายขั้นตอน และผ่านการเห็นชอบจากหลายฝ่าย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีหลายครั้งที่กระบวนการยุติธรรมได้ทำลายหลายๆ ชีวิต ด้วยการตัดสินผิดพลาด วันนี้ พี่ภรณ์ จะพามาดูอดีตคดี ‘จับแพะ’ ที่น่าสนใจกันค่ะ

 
Photo: stuffnobodycaresabout.com

คดีพี่น้องกริฟฟิน

       ในปี 1913 ตำรวจพบศพ จอห์น คิว. ลูอิส (John Q. Lewis) ทหารผ่านศึกวัย 75 ปีถูกยิงเสียชีวิตในบ้านของตนที่เขตเชสเตอร์ รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา อาวุธที่ใช้ฆ่าผู้เสียชีวิตถูกเชื่อมโยงไปยังนายม้อง สตีเวนสัน (Monk Stevenson) แต่แล้วสตีเวนสันกลับเลือกที่จะให้ปากคำว่า ผู้ร้ายตัวจริงคือ โทมัส กริฟฟินส์ (Thomas Griffins) และ มีกส์ กริฟฟิน (Meeks Griffins) เพื่อแลกกับคำตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแทน 

       โทมัสและมีกส์ เป็นสองพี่น้องชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่รวยที่สุดในเขตด้วยการครอบครองที่ดินกว่า 138 เอเคอร์ โชคร้ายที่พวกเขาตกเป็นจำเลยในคดีนี้ เนื่องจากในยุคนั้นมีการเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง และสมาชิกของศาลล้วนเป็นคนผิวขาวและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่คนผิวสีเป็นเจ้าของที่ดินค่ะ ทำให้พวกเขาทั้งคู่ถูกตัดสินให้เป็นฆาตกรฆ่าลูอิส แม้จะมีหลักฐานที่ไม่แน่ชัดมากก็ตาม หลังจากคำตัดสินให้ประหารชีวิตทั้งคู่ ประชาชนกว่า 120 คน ออกมาลงชื่อเรียกร้องให้ลดหย่อนโทษให้พวกเขา แต่คำร้องขอดังกล่าวกลับถูกปฏิเสธ พวกเขาจึงถูกประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าในวันที่ 29 กันยายน 1915

Photo: stuffnobodycaresabout.com

       ภายหลังการเสียชีวิตของทั้งคู่ สตีเวนสันได้สารภาพว่าพี่น้องกริฟฟินส์ไม่ได้เป็นฆาตกร แต่ที่เขาโยนความผิดเพราะเห็นว่าทั้งสองเป็นคนรวยมาก และน่าจะสามารถใช้เงินประกันตัวออกมาได้ จนกระทั่งเกือบ 100 ปีต่อมา ทอม จอยเนอร์ (Tom Joyner) นักจัดรายการวิทยุชาวอเมริกัน ออกมาเปิดเผยว่าตนเป็นเหลนของโทมัสและมีกส์ กริฟฟิน เขาได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรื้อคดีขึ้นมาสืบใหม่ และเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2009 จอยเนอร์และครอบครัวเดินทางไปยังศาลของโคลัมเบีย รัฐเซาท์แคโรไลนาเพื่อฟังคำประกาศว่า โทมัสและมีกส์ กริฟฟินเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีนี้นั่นเอง


คดีฮุกจิลถู

       ในวันที่ 6 เมษายน ปี 1996 ฮุกจิลถู (Huugjilt) ชายชาวมองโกเลียวัย 18 ปี ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องออกมาจากห้องน้ำสาธารณะ เมื่อเขาเข้าไปช่วยกลับพบว่า เธอถูกข่มขืนและถูกรัดคอเสียชีวิต เขาจึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ แต่ผลปรากฏว่าเขากลายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมนี้แทน แม้จะพยายามปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่การถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายทำให้เขาต้องยอมรับสารภาพว่าตนเป็นคนทำ ก่อนจะถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในวันที่ 10 มิถุนายน 1996

       10 ปีหลังจากนั้น จ้าว จื้อหง (Zhao Zhihong) ได้เขียนคำร้องขอให้ประหารชีวิตตน พร้อมสารภาพกับเจ้าหน้าที่ว่าเขาเป็นผู้ข่มขืนและฆ่าผู้หญิงคนนั้นเอง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ฮุกจิลถูถูกประหารชีวิตจนถึงวันที่จ้าว จื้อหงยอมรับสารภาพ เขาได้ข่มขืนผู้หญิงและเด็กรวมแล้ว 13 คน และ 10 คนในจำนวนนั้นถูกเขาฆ่าตาย นั่นเป็นเหตุให้คดีของฮุกจิลถูถูกรื้อขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ก่อนที่ศาลจะประกาศให้ฮุกจิลถูเป็นผู้บริสุทธิ์ และสั่งตัดสินโทษประหารชีวิตจ้าว จื้อหงฆาตกรตัวจริงในปี 2015

       แม้คดีนี้จะเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี แต่ความสูญเสียของครอบครัวของฮุกจิลถูไม่อาจถูกลบเลือนได้ ทางรัฐบาลทำได้แต่เพียงมอบเงินจำนวน 2,059,621 หยวน (ประมาณ 10 ล้านบาท) ให้แก่พ่อและแม่ของเขาเพื่อชดเชยกับสิ่งที่เกิดขึ้น




Photo: unsplash.com

คดีคาเมรอน วิลลิงแฮม

       คดีนี้เป็นอีกหนึ่งคดีที่ดังก้องไปทั่วโลกเลยล่ะค่ะ เมื่อคาเมรอน วิลลิงแฮม (Cameron Willingham) ถูกศาลสั่งประหารชีวิตในข้อหาฆ่าลูกสาวของตัวเอง เนื่องจากวันที่ 23 ธันวาคม 1991 เกิดไฟไหม้ขึ้นที่บ้านวิลลิงแฮม ในเมืองคอร์ซิคานา รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ตำรวจพบศพเด็กผู้หญิงวัย 2 ขวบ 1 คน และฝาแฝดวัย 1 ขวบเสียชีวิตอยู่ในบ้านหลังนั้น แต่คาเมรอน วิลลิงแฮมที่เป็นพ่อของพวกเด็กๆ กลับหนีออกมาจากเหตุเพลิงไหม้ได้โดยมีบาดแผลรอยไหม้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนภรรยาของเขาออกไปซื้อของสำหรับวันคริสต์มาส ในตอนแรกอัยการตั้งข้อสันนิฐานว่า คาเมรอนต้องการวางเพลิงเพื่อฆ่าลูกๆ ของตนเพื่อปกปิดหลักฐานที่เขาทำร้ายพวกเธอ แต่ผลปรากฏว่ากลับไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันเรื่องการใช้ความรุนแรงของเขาได้ และภรรยาเองก็ยืนยันว่าไม่เคยมีเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้น

       ตลอดระยะเวลาการสืบสวน แม้คาเมรอนจะตกเป็นจำเลยในคดีนี้ แต่เขากลับให้การปฏิเสธมาตลอด จนท้ายที่สุด คาเมรอนถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2004 หลังจากนั้น 5 ปี คณะกรรมการนิติวิทยาศาสตร์ของรัฐเท็กซัสได้ค้นพบหลักฐานเพิ่มเติมที่เพียงพอต่อการพิสูจน์ได้ว่า เหตุเพลิงไหม้ที่บ้านวิลลิงแฮมเป็นเพียงอุบัติเหตุเท่านั้น



Photo: pixabay.com

คดีทิโมธี อีแวนส์

       ทิโมธี อีแวนส์ (Timothy Evans) และเบริล ภรรยาของเขาอาศัยอยู่ที่ชั้นบนสุดของแฟลตในนอตติ้ง ฮิลล์ ประเทศอังกฤษ แม้ทั้งคู่จะมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขาก็ไม่ค่อยดีนัก กระทั่งวันหนึ่งที่เบริลท้องลูกอีกคน พวกเขาตัดสินใจว่าจะทำแท้ง แต่ตอนนั้นการทำแท้งในประเทศอังกฤษยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่ พวกเขาเลยต้องแอบทำกันอย่างลับๆ

       และในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1949 ตำรวจได้รับแจ้งจากทิโมธีว่า จอห์น คริสตี (John Christie) ผู้พักอาศัยอยู่ชั้นล่างสุดของแฟลต เป็นคนทำให้เบริลแท้ง และเธอเสียชีวิตระหว่างทำแท้ง ตำรวจจึงเริ่มสืบหาหลักฐานที่แฟลตของพวกเขา ก่อนจะพบศพของเบริลและลูกสาวถูกห่อด้วยผ้าอยู่ในโรงซักรีด และในระหว่าง 3 วันที่ใช้ในการเก็บหลักฐานนั้น เจ้าหน้าที่จึงจับกุมทิโมธีและตั้งข้อหาว่าเขาเป็นคนฆ่าภรรยาและลูกของตัวเอง ก่อนจะถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในวันที่ 9 มีนาคม 1950 แม้ว่าแทบจะไม่มีหลักฐานอะไรบอกได้เลยว่าเขาเป็นฆาตกร

       3 ปีหลังจากนั้น ตำรวจได้พบศพผู้หญิง 6 ศพซ่อนอยู่ในโรงซักผ้าและใต้พื้นห้องของคริสตี ชายที่ทิโมธีเคยให้การไว้ เขาจึงให้คำสารภาพว่าตนเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าผู้หญิงพวกนั้น รวมไปถึงภรรยากับลูกของทิโมธี และภรรยาของตนเองด้วย ส่วนสาเหตุการฆาตกรรมนั้นส่วนใหญ่มาจากเรื่องทางเพศ ในท้ายที่สุดคริสตีถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ส่วนทิโมธีก็ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในเดือนตุลาคม ปี 1966 ค่ะ


       โทษประหารชีวิตเป็นเหมือนดาบสองคมที่ในแง่หนึ่งคือ บทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอย่างไม่น่าให้อภัย ส่วนอีกแง่คือ การทำลายชีวิตคนคนหนึ่งหากกระบวนการยุติธรรมไม่มีความชัดเจนเพียงพอ แต่ไม่ว่าบทสรุปของกระบวนการยุติธรรมบ้านเราจะเดินไปไหนทางไหน ก็ขอให้สร้างความยุติธรรมแก่คนทุกคนนะคะ
 




ข้อมูล
youtube.com
atlantablackstar.com
edition.cnn.com
forejustice.org
shanghaiist.com
innocenceproject.org
bbc.co.uk
พี่ภรณ์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด