“เบล” นักศึกษาไทยกับภารกิจสอนเด็กอนุบาล ในเมืองเล็กๆ ที่ประเทศโปแลนด์

       สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ทุกคน สำหรับเด็กมหา’ ลัยแล้ว ช่วงปิดเทอมใหญ่ 2 - 3 เดือนแบบนี้จะปล่อยทิ้งว่างๆ ก็คงเสียดายแย่ แต่พอคิดว่าจะหากิจกรรมทำก็ไม่รู้จะทำอะไรอีก พี่ภรณ์ เลยอยากแนะนำโครงการ AIESEC ที่พานักเรียนจากทั่วโลกไปทำกิจกรรมจิตอาสาในต่างแดนกันค่ะ วันนี้เราก็อยู่กับหนึ่งในอาสาสมัครชาวไทยที่ไปสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กอนุบาลที่ประเทศโปแลนด์ค่ะ ถ้าอยากรู้ว่าการไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในประเทศที่แทบไม่มีคนพูดภาษาอังกฤษเลยจะเป็นอย่างไร และวันๆ หนึ่งเธอต้องทำอะไรบ้างก็ไปอ่านกันเลย!


แนะนำตัว 


       “สวัสดีค่ะ ชื่อ ‘เบล’ จิตติธร สกุลศรีประเสริฐนะคะ กำลังศึกษาอยู่คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาเอกภาษาเยอรมัน สาขาวิชาโทภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชั้นปีที่ 4 ค่ะ เคยเข้าร่วมโครงการจิตอาสากับ AIESEC โดยการไปสอนภาษาอังกฤษและเผยแพร่วัฒนธรรมให้เด็กอนุบาลที่ประเทศโปแลนด์ เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน ถึง 22 กรกฎาคม 2018 ค่ะ”


เพราะอยากลองไปใช้ชีวิตในต่างแดนบ้าง แม้จะมีงบอยู่อย่างจำกัดก็ตาม


       “เราเป็นคนหนึ่งที่อยากลองไปใช้ชีวิตในต่างแดนบ้าง อยากเรียนรู้วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ในต่างประเทศจริงๆ ตอนแรกเราก็มองโครงการ Work & Travel ไว้เหมือนกัน แต่ด้วยความที่เรามีงบจำกัด เลยต้องล้มเลิกความคิดที่จะไปโครงการนี้ เราเลยหาโครงการอื่นๆ ไปเรื่อยๆ จนมาเจอคนเขียนรีวิวโครงการ  AIESEC ว่าเป็นองค์กรที่บริหารงานโดยกลุ่มนิสิตในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยมีหน้าที่หลักๆ คือส่งนักศึกษาไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในต่างประเทศและได้ฝึกภาษาไปในตัว ซึ่งเราคิดว่าโครงการนี้ตอบโจทย์เรามากๆ เลยตัดสินใจสมัครเข้าโครงการนี้ค่ะ”


โปแลนด์ ประเทศที่ค่าครองชีพไม่สูงนัก 


       “โปแลนด์เป็นประเทศเล็กๆ ที่คนไม่ค่อยพูดถึง เวลาบอกคนอื่นว่าจะไปโปแลนด์นะ เขาก็ชอบถามว่า ‘ไปทำไม ทำไมไม่ไปประเทศข้างๆ โปแลนด์ อย่างเยอรมนี หรือสวีเดนล่ะ ประเทศนี้ดูน่ากลัว ดูเงียบๆ ’ ตอนแรกเราก็คิดนะว่า จริงหรือเปล่า แต่ก็อยากพิสูจน์ดู เลยตัดสินใจไป อีกอย่างคือค่าครองชีพไม่สูงนัก แถมเราสามารถเที่ยวประเทศรอบๆ แชงเก้นได้สบายๆ อีกด้วย” ซึ่งการไปทำอาสาสมัครครั้งนี้ นอกจากเบลจะได้ไปเที่ยวมาทั่วโปแลนด์แล้ว ยังเดินทางไปตอนใต้ของเยอรมนีและเช็กด้วยค่ะ 


1 วันในฐานะของครูอนุบาลต้องทำอะไรบ้าง


       “โปรเจกต์ที่ไปทำคือ International Kintergarten ค่ะ เป็นอาสาสมัครอยู่โรงเรียนอนุบาล เด็กๆ ก็จะอายุประมาณ 4 - 7 ขวบ ซึ่งจะสอนในวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลาประมาณ 8.30 – 15.00 น. โดยมีหน้าที่หลักๆ ก็คือ สอนภาษาอังกฤษ และเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศเราให้เด็กๆ ฟังค่ะ” 

       เบลเริ่มเล่าให้ฟังว่าหน้าที่หลักๆ ที่เธอต้องทำคืออะไร “เด็กโปแลนด์จะพูดภาษาโปลิชกับเรา พวกเขาจะพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ เลยจะชี้ถามเราว่าอันนี้คืออะไร เราก็ต้องบอกเขาเป็นภาษาอังกฤษ บางครั้งครูที่โรงเรียนจะมาขอคำปรึกษา และให้เราช่วยคิดเกมให้ เขาถามเราว่า ที่ประเทศไทยเล่นเกมอะไรกัน เราก็เอาการละเล่นไทยเนี่ยแหละไปสอนครูเขา ก่อนที่ครูจะเอาไปสอนเด็กอีกที อย่างมีวันหนึ่ง ครูจะสอนคำศัพท์เกี่ยวกับสัตว์ เขาจะเอารูปภาพสัตว์มา แล้วทำเป็นฉลากให้เราเป็นคนจับ แล้วทำท่าทางให้เด็กทาย เด็กๆ จะตอบกลับมาเป็นภาษาโปลิช บางคนถ้าตอบเป็นอังกฤษได้ก็จะตอบ หลังจากนั้นจะสลับให้เด็กเป็นคนทำท่าบ้าง ส่วนเราจะตอบเป็นภาษาอังกฤษค่ะ”


เลนบอร์ก เมืองเล็กๆ ที่ผู้คนเป็นมิตรสุดๆ


       สภาพแวดล้อมที่ไปอยู่มีส่วนสำคัญที่จะทำให้การไปเป็นจิตอาสาครั้งนี้ประทับใจหรือไม่ “เมืองที่เราอยู่คือเมืองเลนบอร์ก (Lebork) เป็นเมืองเล็กๆ อยู่ทางตอนเหนือของประเทศโปแลนด์ ซึ่งเราสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ทั่วเมืองเลย คนในเมืองส่วนมากก็จะรู้จักกัน ยิ้มให้กัน และเราก็เป็นคนไทยคนเดียวในเมืองนั้น”


       เบลเล่าว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีอาสาสมัครชาวต่างประเทศมาที่เมืองนี้ ทำให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของคนในเมืองมาก ซึ่งจะมีเธอที่เป็นชาวไทยและบัดดี้อีก 1 คนชาวเม็กซิกันค่ะ เรียกว่าชาวเมืองเลนบอร์กตื่นเต้นกันมากถึงขนาดมีนักข่าวมาขอสัมภาษณ์ไปลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเลยทีเดียว 

       การใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวโฮสต์ทำให้เธอสามารถปรับตัวและซึมซับวัฒนธรรมได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น “เราอยู่กับโฮสต์ 2 บ้าน บ้านละ 3 สัปดาห์ โฮสต์ทั้ง 2 ครอบครัวดูแลเราดีมากกกกก เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันจริงๆ เลย โฮสต์บ้านแรกมีลูก 2 คน คนโต 10 ขวบ คนเล็ก 5 ขวบ ซึ่งน้องๆ น่ารักกันมาก  ส่วนโฮสบ้านที่ 2 ค่อนข้างสูงอายุหน่อย แต่แกน่ารักและใจดีกับเราเช่นกัน เราถือว่า เราค่อนข้างโชคดีที่ได้มาอยู่เมืองนี้”


ภาษาที่ต่างกัน ก็เป็นอุปสรรคอยู่บ้าง 

       “แรกๆ ที่มามันก็มีปัญหาบ้างนิดหน่อย อย่างตอนที่เรามาวอร์ซอ (Warsaw) แล้วไม่รู้ทาง พอจะไปถามทาง บางคนที่กลัวคนต่างชาติจะรีบเดินหนีเรา เพราะเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ บางคนก็พูดใส่เราว่า ‘I don’t speak English’ แล้วก็เดินไปเลย 5555 เราเลยต้องไปถามวัยรุ่นแทน ส่วนใหญ่วัยรุ่นที่นู่นจะพูดภาษาอังกฤษได้ค่ะ” 

       “พอไปทำงาน ครูส่วนมากก็พูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อยเอง แค่ 20% เท่านั้น ส่วนเด็กๆ ก็พูดกันไม่ได้เลย ทำให้แรกๆ เราสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เลยต้องใช้ Body Language แทน หลังๆ เราก็ได้เรียนรู้คำภาษาโปลิชง่ายๆ ซึ่งถ้าเรายังไม่เข้าใจอีก เขาก็จะชี้ หรือไม่ก็จูงมือพาไปเลย แต่ถ้าคุยกับครูแล้วไม่รู้เรื่องจริงๆ ก็จะใช้ Google Translate ค่ะ ช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรกหูเรายังไม่ชินกับภาษาโปลิชนะ พออยู่ไปนานๆ เราก็เริ่มเข้าใจบ้าง เพราะเราได้เรียนรู้ไปแล้วบางคำ แถมบางคำก็คล้ายกับภาษาเยอรมันอีกด้วย มันเลยเข้าใจง่ายขึ้น”

       ไม่ได้มีแค่ปัญหาด้านภาษาและการสื่อสารเท่านั้นนะคะ แต่ยังมีเรื่องวุ่นๆ ที่เธอต้องเผชิญและแก้ไขอีกด้วย “มีเด็กคนหนึ่งชอบมาดึงผมและตบหัวเรา ซึ่งเราเป็นคนไม่ชอบเวลามีคนมาเล่นผม เราเลยบอกเขาเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘มันไม่โอเคนะที่มาทำแบบนี้’ แต่น้องกลับไม่เข้าใจ ครั้งแรกเราก็ปล่อยไปก่อน พอต่อๆ มายังทำอีก เราเลยต้องบอกครูให้จัดการให้ สิ่งที่เราชอบมากของครูที่นี่คือ เขาจะบอกเด็กดีๆ เขาจะพยายามอธิบายและสอนให้เด็กเข้าใจว่า เขาทำอะไรผิดและทำไมถึงไม่ควรทำแบบนั้น ครูจะไม่ดุ หรือต่อว่าเด็กแรงๆ


ความแตกต่างระหว่างการศึกษาของไทยและโปแลนด์


       แน่นอนว่าแต่ละประเทศจะมีกระบวนการสอนที่แตกต่างกัน และการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาของต่างประเทศทำให้เบลเห็นถึงความแตกต่าง และได้เรียนรู้ว่าทั้ง 2 ประเทศมีข้อดีและข้อเสียที่ควรนำมาปรับใช้ร่วมกัน นั่นก็คือ “ส่วนมากที่โปแลนด์จะฝึกให้เด็กตั้งคำถามและตอบ มีวิชาที่ครูจะอ่านเรื่องหรือเล่าสถานการณ์ให้เด็กฟัง แล้วถามคำถามว่าถ้าเป็นแบบนี้จะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหาอย่างไร นอกจากนี้ จะเน้นให้เด็กทำกิจกรรม วาดรูป ระบายสี ทำอาหาร เล่นกีฬา

       “ที่นี่ไม่ค่อยเน้นวิชาการค่ะ หรือถ้ามี ก็จะคาบเกี่ยวกับกิจกรรมที่ให้ทำ เรารู้สึกว่าที่ไทยจะเน้นวิชาการมากกว่ากิจกรรม เด็กที่นี่มักจะเล่นดนตรีเป็น เล่นกีฬาเป็น แต่ข้อเสียก็มี คือ กับเด็กอนุบาลเขาจะไม่ค่อยเน้นภาษาอังกฤษ เราว่าที่ไทยเด็กน่าจะพูดภาษาอังกฤษได้มากกว่า และมีชั่วโมงที่ครูจะพูดภาษาอังกฤษให้เด็กฟังหรือสอนภาษาอังกฤษ แต่ที่นู่นจะไม่มีเลย เพราะครูเองก็พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่เด็กโปแลนด์กล้าแสดงออกมาก กล้าคิด กล้าพูด สงสัยอะไรก็จะถามเลยต่างจากเด็กไทยมาก เพื่อนของโฮสต์เราก็รู้ว่าเด็กเอเชียจะไม่ค่อยกล้าแสดงออก เขาเลยบอกกับเราว่า ‘เอานิสัยของฝรั่งไปใช้บ้างก็ได้นะ’” 

       นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์เล็กๆ ที่ประทับใจเบลมาก เกิดขึ้นในห้องเรียนนี้ค่ะ “มีครั้งหนึ่งที่เป็นวันเกิดของเด็กในชั้นเรียน ครูจะเตรียมของขวัญให้เด็ก และเด็กที่เป็นเจ้าของวันเกิดก็จะเตรียมขนมมาแจกเพื่อน ก่อนจะร้องเพลงด้วยกัน ทำให้เรารู้ว่า ครูที่นี่รู้จักเด็กทุกคน ทำเซอร์ไพรส์วันเกิดให้ แต่ที่ไทยห้องหนึ่งมีเด็กเยอะมาก ทำให้ครูอาจดูแลไม่ทั่วถึง พอมีวันเกิดก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าวันนี้วันเกิดเขา ถ้าไม่บอก มันเป็นความประทับของเรา มันทำให้รู้สึกว่า เด็กคนนั้นกลายเป็นคนพิเศษในวันเกิดของเขาเอง”


แล้วถ้าน้องๆ คนอื่นสนใจจะไปบ้างล่ะ


       “ชมรม AIESEC มีเกือบทุกมหา’ ลัยเลยค่ะ สามารถสมัครกับทางมหาวิทยาลัยเลยก็ได้ แต่ตอนแรกเราไม่รู้ว่ามหา’ ลัยเรามีชมรม AIESEC ด้วย 5555 เราเลยสมัครในเว็บไซต์ของ AIESEC โดยตรงเลย เริ่มแรกจะต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกก่อน หลังจากนั้นเราก็เลือกโครงการที่เราสนใจ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ Global Volunteer, Global Talent และ Global Entrepreneur ค่ะ จากนั้นจึงเลือกประเทศที่อยากไป”

       “แล้วหลังจากนั้น ทาง AIESEC ของที่เราอยากไปจะส่งอีเมลนัดวันสัมภาษณ์ อย่างเราตอนแรกสมัครไปหลายประเทศมาก ก็มีสัมภาษณ์ทาง Skype หรือ Facebook หรือทำวีดีโอส่ง แล้วก็รอประกาศผลไม่เกิน 1 สัปดาห์ค่ะ ซึ่งของเรารอแค่ 2 วันเท่านั้น”


       อีกหนึ่งเรื่องที่ขาดไม่ได้เลยอย่างค่าใช้จ่ายค่ะ “ที่เราไปเป็น Global Volunteer ค่ะ โปรเจ็กต์ที่เราไปจะมีที่พักและอาหารให้ฟรี แต่ไม่มีเบี้ยเลี้ยง แปลว่าที่เหลือเราต้องออกเองหมด เราจะจ่ายค่าโครงการ 11,000 บาท ตั๋วเครื่องบินของเราไป-กลับประมาณ 26,000 บาท ค่าวีซ่า 3,500 บาท และค่าเที่ยวจิปาถะอีกประมาณ 20,000 บาทค่ะ”

       สุดท้ายแล้ว เบลก็ขอฝากถึงน้องๆ ชาว Dek-D.com ที่กำลังสนใจโครงการนี้หน่อย “สำหรับโครงการ AIESEC แน่นอนว่า เป็นโครงการที่เน้นพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าแสดงออก อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หากใครอยากจะพัฒนาทักษะด้านนี้ เราแนะนำว่า AIESEC เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งไม่ต่างจากโครงการอื่นๆ เลย อีกทั้งได้เพื่อน มิตรภาพ แถมทักษะทางภาษาไปอีก  การเตรียมตัวก็ไม่มีอะไรมากค่ะ แค่เตรียมกายกับใจให้พร้อม 555555 แล้วก็วางแผนการเดินทางดีๆ ศึกษาประเทศที่เราจะไปว่าเป็นยังไง สภาพอากาศ การเดินทาง แล้วก็ที่สำคัญคือ ‘ใจ’ ค่ะ เราต้องถามตัวเองด้วยว่า พร้อมไหมที่จะเปิดรับประสบการณ์ และสังคมใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เช่น เรื่อง Culture Shock  อาหาร ความเป็นอยู่ หรือเปล่า ต้องใช้ใจล้วนๆ แต่ถ้าพร้อมทุกอย่างแล้ว ก็ลุยโลดด!”



       อ่านแล้วก็อยากจะบินไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพร้อมฝึกภาษาแบบเบลเหมือนกันนะคะ แม้จะเป็นโครงการสั้นๆ ที่ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 6 สัปดาห์ แต่ได้รับประสบการณ์มากมาย แถมยังช่วยฝึกฝนทักษะการใช้ชีวิตและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่น้อยเลยล่ะค่ะ น้องๆ คนไหนที่อยากจะใช้เวลาช่วงปิดเทอมให้ได้ประโยชน์และสนุกสุดๆ แบบนี้บ้างก็ลองสมัครหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้เลยค่ะ
พี่ภรณ์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด