'อาร์ท' กับชีวิตนักเรียนแพทย์ใน "รัสเซีย" ที่สกิลภาษาเริ่มจากศูนย์!

        สวัสดีค่ะชาว Dek-D พอได้ยินคำว่า “สาขาแพทย์” แวบแรกคงไม่มีใครคิดว่าเบๆ ชิลล์ๆ ใช่มั้ยคะ คราวนี้ลองจินตนาการต่อว่าถ้าต้องไปนั่งเรียนเป็นภาษาที่เราไม่คุ้นเคยล่ะ มันจะเป็นช่วงชีวิตที่ท้าทายแค่ไหน? เดี๋ยวจะพาน้องๆ ไปพูดคุยกับหนุ่มนักเรียนทุนรัฐบาลรัสเซียที่ได้ไปเรียนสาขาแพทย์ เพื่อหาคำตอบแบบครบวงจรว่า เนื้อหาเรียน ภาษา สภาพแวดล้อม และสังคมเป็นยังไงบ้าง แล้วสวัสดิการแบบฉบับนักเรียนในรัสเซีย ถือว่าน่าคบรึเปล่า!
 

แนะนำตัว
 

        “สวัสดีครับ ‘อาร์ท’ ชูพงศ์ เกษมณี อายุ 26 ปี จบ ป.ตรี คณะแพทย์จาก Moscow State University of Medicine and Dentistry (MSUMD) หลักสูตรที่เรียน 6 ปีและปรับพื้นฐานอีก 1 ปีครับ ^^”


 
        เขาเล่าจุดเริ่มต้นการขอทุนให้ฟังว่า “ตอนแรกผมนั่งหาในเน็ตว่ามีที่ไหนให้ทุนเต็มบ้างครับ พอมาเจอของรัสเซียก็เห็นว่าน่าสนใจดี เพราะวงการเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ของเค้าก้าวหน้ามาก ตอนนั้นผมเลือกไป 3 คณะ เลือกหมอไว้อันดับ 1 เลย หลักๆ วิธีขอทุนคือต้องติดต่อสถานทูตรัสเซียในไทยก่อน”
 
        “ทุนที่ผมได้ครอบคลุมค่าเล่าเรียนทั้งหมด + ค่ากินอยู่ (ช่วงปรับพื้นฐาน ให้ 1,000 RUB ต่อเดือน) แต่ผมใช้ไม่พอ ที่บ้านเลยช่วยบ้าง พอขึ้นปี 1 ผมย้ายมหา’ลัย เค้าให้เพิ่มเป็น 1,200 RUB”


Photo Credit: http://wikimapia.org/

 

นิสัยชอบอ่านหนังสือคือตัวช่วยสำคัญ
 

        อาร์ทเล่าสตอรี่การปรับตัวเรื่องภาษาให้ฟังว่า “ผมเคยซื้อหนังสือมาอ่านก่อนก็จริง แต่พอไปถึงต้องเริ่มใหม่หมดครับ ภาษารัสเซียถือว่ายากพอสมควร และคนที่นั่นไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษด้วย  ระยะแรกต้องใช้ภาษามือ ถ้าไปซื้อของก็จ่ายราคาตามตัวเลขที่เห็น ถ้าไปร้านอาหาร รุ่นพี่จะช่วยแปลเมนูให้ด้วยครับ”
 
        “ผมเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะ อ่าน Text แล้วมาจดเป็นโน้ตภาษารัสเซียของตัวเอง ทำให้ได้ศัพท์ใหม่ๆ ตลอดครับ และวิธีการสอบของรัสเซียทำให้เราต้องฝึกพูดด้วย เรากับเมทคนไทยช่วยๆ กันเรื่องภาษา และมีเมทของรุ่นพี่ที่เป็นคนรัสเซียคอยช่วยด้วยครับ” พอเรียนจบเราเห็นพัฒนาการเรื่องภาษายังไงบ้าง? “เรารู้สึกเลยว่าเข้าใจมากขึ้นๆๆ ในแต่ละปีครับ ซึ่งผมทำงานพิเศษด้วยเพื่อหารายได้เสริม ปีนึงรับสัก 2 ครั้ง งานไกด์บ้างล่ามบ้าง ได้ใช้ทั้งภาษาอังกฤษ รัสเซีย ไทย”


Moscow State University of dentistry. Delegatskaya street building.
Photo Credit: https://ru.wikipedia.org


Photo Credit: www.hqpictura.co.uk

 

ต้องท่อง Anatomy เป็นภาษารัสเซียและละติน!
 

        “เริ่มแรกต้องเรียนปรับพื้นฐานก่อน 1 ปี ถ้าจำไม่ผิดคณิตสอบเป็นข้อเขียน แต่วิทย์จะมีสอบปากเปล่าด้วย ถ้าเป็นภาษารัสเซียจะมีทั้งเขียนและพูดครับ ซึ่งพอมาเรียนกับคนรัสเซียตอนปี 1 สิ่งที่เรียนมาตอนปรับภาษามันใช้ได้จริงๆ นะ อาจารย์ตอนปรับภาษาก็พูดรัสเซีย ภาษาจะไม่ไกลกันมาก แล้วช่วงปรับเค้าจะเอาศัพท์แพทย์มาใส่ให้เราเรียนด้วย”
 
        อาร์ทเล่าภาพรวมให้ฟังก่อนว่า “ตอนปี 1-2 เรียนหลายวิชา พอขึ้นปี 3-4 จำนวนวิชาต่อวันน้อยลง ส่วนปี 5-6 วิชานึงจะเรียนยาวไปจนกว่าจะจบคอร์สที่มหา'ลัยกำหนด บางวิชาเป็นสัปดาห์ บางวิชาเป็นเดือนเลยครับ"
 
        เนื้อหาเรียนปี 1 เรียนวิทย์พื้นฐาน คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ (เราเข้าใจได้เร็วเพราะมีเรียนตอนปรับพื้นฐานมาแล้ว ในขณะที่คนรัสเซียเค้าจบ ม.ปลายแล้วขึ้นปี 1 เลย) เรียน Anatomy ต้องท่องทุกส่วนของร่างกายเป็นภาษารัสเซียและภาษาละติน เค้าจะมีภาษาละตินให้เราเรียนด้วย เพื่อให้เราเข้าใจเรื่องรากศัพท์ วิธีการผันตามเพศ เพราะภาษารัสเซียจะมีทั้งเพศชาย-หญิง-กลาง และปีหลังจากนั้นจะเรียนพวกโครงสร้างการทำงานของร่างกาย ไบโอเคมี และเริ่มเรียนแพทย์แต่ละแขนง เช่น ศัลกรรม สูติเวช ฯลฯ ครับ


 
        ถ้าให้เล่าทุกวิชาเลยคงเยอะมากกก ดังนั้นอยากให้ยกตัวอย่างวิชาที่ชอบสุดและหินที่สุดสำหรับเราหน่อย “ผมชอบวิชาด้าน Therapy ที่เรียนตอนปี 2 ครับ เพราะถือว่าแปลกใหม่สำหรับเรามาก เราจะต้องวินิจฉัยร่างกายภายนอกของคนไข้ก่อน แล้วซักประวัติว่ามีอาการอะไร เค้าจะมีวิธีการเคาะ-คลำ-ฟัง ที่ถูกต้องด้วย ส่วนวิชายากสำหรับอาร์ทคือปรัชญา เพราะเข้าถึงยาก ภาษาไทยก็ว่ายากแล้ว ไหนจะต้องเรียนเป็นภาษารัสเซียอีก ถ้าเพื่อนไม่ช่วยนี่ผมแย่แน่ๆ ไม่ถนัดอะไรแบบนี้เลยยย T_T”
 
        “ภาพรวมการเรียนที่รัสเซียจะเน้นเนื้อหา อ่านตาม Text และเลกเชอร์ มีให้เราเจอคนไข้บ้าง แต่อาจทำอะไรไม่ได้มาก ได้ทำพวกหัตถการ แล้วมีอาจารย์คุมข้างๆ มีหุ่นให้ทดลองทำ จากที่ผมเคยถามเพื่อนในไทย รู้สึกว่าที่ไทยจะได้สัมผัสกับคนไข้มากกว่า ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นข้อดีของที่ไทยครับ



 

ว่าด้วยวิธีการสอบสุดระทึก
 

        “บางวิชามีแค่สอบเก็บคะแนนหรือสอบในคลาส และวิชาสำคัญๆ จะมีการสอบปิดวิชาครับ วิธีการคือเค้าจะมีกระดาษหลายๆ ชุดมาให้เราเลือก โจทย์จะต่างกันในแต่ละวิชา เช่น ผลแล็บ กราฟการอ่านค่าหัวใจ ฯลฯ ซึ่งกระดาษมันจะอยู่ในซองนะ เราไม่เห็น ต้องเสี่ยงดวงว่าได้ง่ายหรือยาก จากนั้นต้องไปเตรียมตัวอีกห้อง อ่านโจทย์ทั้งหมดแล้วทำให้เสร็จภายใน 20-30 นาที พอถึงเวลาเค้าจะเรียกชื่อเราให้ไปสอบพูดกับอาจารย์อีกทีนึงครับ เช่น เค้าอาจถามว่า ทำไมเราถึงคิดว่าเป็นโรคนี้? ไหนลองอ่านค่านั้นค่านี้ซิ?"
 
        “แล้วพอจบปี 6 ต้องสอบเพื่อให้ได้ใบจบ วัดว่าเราจะนำความรู้ปี 1-6 มาประยุกต์ได้มั้ย”

 

ต้องฝึกงานตั้งแต่ปีแรกจนปีสุดท้าย
 

        “ปีแรกๆ ฝึกงานทั้งปิดเทอมเล็กและใหญ่ แต่ปีหลังจะทำแค่ปิดเทอมใหญ่ครับ ตอนฝึกปี 1 ยังไม่มีอะไรมาก เป็นแค่ผู้ช่วยพยาบาล เตรียมยาให้ผู้ป่วย พอขึ้นปี 3 จะได้ฉีดยาคนไข้ ยังไม่ยากเพราะมีพยาบาลคอยสอน ส่วนปีหลังๆ เราต้องอยู่ที่นั่น แยกตามแผนก เช่น สัปดาห์นี้ไปเด็ก สัปดาห์นี้ไปสูติ เราอาจได้เข้าห้องผ่าตัดไปช่วยอาจารย์ ทำให้เห็นวิธีการผ่า สิ่งที่ได้ทำกับคนจริงๆ เลยคือลองเคาะตามท้อง ปอด หน้าอก ฟังหัวใจคนไข้ แต่พวกฉีดยา มหา’ลัยผมจะทำตอนปี 5-6 ตอนฝึกงานครับ”


 
        ถามตรงๆ เลยว่าเราเหนื่อยกับการเรียนมากแค่ไหน? “อดหลับอดนอนพอสมควรเลยครับ ก่อนเรียนแต่ละครั้ง อาจารย์จะไปเตรียมตัวมาก่อน แล้วมาถามในคาบ อ่านทีหลายๆ หน้า แล้วเกรดห้ามต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่เค้าวางไว้ด้วย แต่โชคดีที่ผมได้เพื่อนดี คนไทยในรัสเซียก็ช่วยเหลือกันดีมากๆ ครับ ^^”

 

จบหมอที่รัสเซีย กลับมาเป็นหมอที่ไทยได้มั้ย?
 

         "เราสามารถเช็กรายชื่อโรงเรียนแพทย์ในต่างประเทศที่ผ่านการรับรองโดยแพทยสภา (มีอายุการรับรอง 5 ปี) ได้จากเว็บไซต์แพทยสภา หากมหาวิทยาลัยของเราผ่านการรับรองแล้ว เราจะมีสิทธิ์กลับมาสอบใบประกอบที่ไทยได้ หากเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีใครเคยไปเรียนเลย เราสามารถทำเรื่องรับรองกับแพทยสภา แต่ถ้าขอแล้วไม่ผ่าน แปลว่าหลักสูตรไม่ผ่าน = ไม่สามารถสอบใบประกอบที่ไทยได้ ดังนั้นเราจะทำงานที่ไทยไม่ได้"
 
        "ก่อนไปเรียนแพทย์ในต่างประเทศ เราต้องติดต่อสำนักงานเลขาธิการแพทยสภาเพื่อยื่นคำขอให้รับรองมาตรฐานหลักสูตรของโรงเรียนแพทย์ก่อนเป็นรายบุคคลครับ"   พูดง่ายๆ ว่าต้องไปเช็กรายชื่อว่ามีมหาวิทยาลัยของเรามั้ย จากนั้นไปยื่นเรื่องกับแพทยสภาเพื่อรับรองตัวบุคคลด้วยค่ะ แนะนำให้น้องๆ เข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์แพทยสภานะคะ ^^

        หลักสูตรหมอทั้ง 2 ประเทศแตกต่างกันตรงไหน? “มีเรื่องสภาพอากาศครับ ปี 1-5 ผมได้เรียนกับรัสเซีย แต่ปี 6 จะแยกออกมาเรียนกับคนต่างชาติด้วยกันเอง กลุ่มผมส่วนใหญ่เป็นเอเชีย ได้เรียนโรคฤดูร้อน เช่น ไข้เลือดออก ซึ่งที่รัสเซียจะไม่มีครับ (อันนี้แล้วแต่บางมหา’ลัยนะ บางที่อาจแยกตั้งแต่ปีแรกๆ เลย)"



 

อย่าเพิ่งตัดสินคนรัสเซียจากสีหน้าและระดับเสียง


        “ตอนแรกผมตกใจนะ คนรัสเซียพูดเหมือนทะเลาะกัน ขนาดอาจารย์ยังพูดดังมาก แต่เพื่อนบอกว่าเนี่ยบุคลิกเค้า เป็นเรื่องธรรมดาของคนรัสเซียเลย บางคนอาจคิดว่าเค้าไม่ค่อยยิ้ม แต่พอมาเป็นเพื่อนกันเรารู้เลยว่าเค้าดีมาก ไปไหนไปกัน” เคยเจอคนที่แย่ๆ มั้ย? “มีบ้างนะ อย่างเวลาเข้าแถวซื้อตั๋วแล้วมาเนียนแซงเฉยเลย”
 
        วัฒนธรรมอะไรที่เราคิดว่าต่างจากไทยมากๆ “คนรัสเซียจะถือมากถ้าเราใส่ชุดที่เราใส่ออกไปข้างนอกมานั่งหรือนอนบนเตียงเลย เพราะเขาจะถือว่าชุดที่เราใส่ไปข้างนอกสกปรกแล้ว แต่เตียงต้องเป็นที่ที่สะอาดครับ"
 


 

ว่าด้วยเรื่องปากท้อง
 

        - ในรัสเซีย สวัสดิการนักศึกษาดีมาก บัตรนักศึกษาแลกได้ทั้งส่วนรถค่าเดินทาง ร้านอาหาร มิวเซียม ร้านหนังสือ ร้านขายยา ฯลฯ
 
         - การเดินทางหลักของคนรัสเซียคือ ‘Moscow Metro' ระยะห่างต่อขบวนแค่ประมาณ 3 นาที สภาพดีและตกแต่งสวยเหมือนในวังเลย  มีมานานตั้งแต่สมัยโซเวียต แถมราคาถูกกว่ามากๆ ครับ ครั้งนึงแค่ 55 RUB บางทีมีบัตรลดอีกเหลือ 37 RUB นั่งไกลแค่ไหนก็ได้ ผมใช้อีกบัตรนึงของนักศึกษาแค่เดือนละ 360 RUB
 
ตัวอย่างสถานี Metro Moscow สวยๆ
Photo Credit: Travel.rambler.ru
 
        - เรื่องนึงที่ชอบคือการข้ามถนน ที่ไหนมีทางม้าลายแล้วเราไปยืน รถจะจอดให้เราข้ามเลยโดยไม่ต้องโบก ไม่ต้องรอไฟจราจร
 
        -    ผมคิดถึงอินเทอร์เน็ตที่นั่นเหมือนกันนะครับ ทั้งถูกและเร็วกว่า
 
        - ที่นั่นมีสวนสาธารณะเยอะมากครับ มีเกือบทุกที่ และสวยมากด้วย คนรัสเซียจะชอบอากาศร้อนๆ เค้าเลยชอบพาเด็กพาหมามาเดินเล่นกัน ดูต้นไม้ดอกไม้ บางสวนจะเล่นโรลเลอร์เบลดหรือสเกตบอร์ดได้ หน้าร้อนอาจไว้เดินเล่น แต่ถ้ามีหิมะตกแล้วมันทับถม ก็เปิดเป็นลานไอซ์สเก็ต 


 
        มาถึงเรื่องปากท้องกันบ้าง! “สำหรับคนอื่น เค้าจะบอกว่าอาหารเด็ดคือซุปบอร์ช (ซุปบีทรูท) แต่สำหรับผมชอบสลัดรัสเซียมากกว่าครับ มีผักต่างๆ แคร์รอตต้ม มันฝรั่ง น้ำราดเป็นมายองเนส ส่วนอาหารทั่วๆ ไปก็มันฝรั่ง ขนมปัง ส่วนใหญ่เป็นอาหารจานเดียว ปกติร้านอาหารที่นั่นมีทั้งถูกทั้งแพง (ร้านอาหารไทยก็มีนะ) ผมอยากประหยัดเลยมาทำอาหารเองที่บ้านครับ ส่วนเรื่องที่อยู่ มหา’ลัยเค้าจัดหอให้เลย ตอนปรับภาษาหอฟรี พอขึ้นปี 1 หอผมปีละ 2,000 RUB อันนี้แล้วแต่มหา’ลัยด้วย”
 
(บน: สลัดรัสเซีย Cr. Maggi.ru / ล่าง: ซุปบอร์ช Cr.Yendex.com)

 

ถึงปรับตัวยากแต่อย่าเพิ่งรีบถอนตัว


        "ถ้าอยากไปเรียนรัสเซีย อาจไม่ต้องเรียนหมอก็ได้ ทุนเค้าจะมีเปิดให้หลายสาขาวิชาเลยครับ พอไปถึงที่นั่น ถ้ายังปรับตัวไม่ได้ก็อย่าเพิ่งท้อ พยายามช่วยเหลือตัวเองหรือขอความช่วยจากเพื่อน รุ่นพี่ ส่วนการใช้ชีวิตช่วงแรกๆ ปรับตัวยากแน่นอน ต้องค่อยเป็นค่อยไป หลังๆ ถ้าเราชินจะสนุกกับมันเองครับ แล้วอย่าลืมเลือกคบเพื่อนดีๆ หาสังคมดีๆ แล้วทุกอย่างที่ดีจะเข้ามาหาเรา”


 

 
     ส่วนตัวนิ่งไปตั้งแต่รู้ว่าต้องท่องอนาโตมี่เป็นภาษารัสเซียกับภาษาละตินแล้วนะคะ 5555  ถ้าจบมาได้แสดงว่าเก่งจริงๆ ต้องเรียนหมอและภาษาที่ไม่คุ้นเคย สุดท้ายพอผ่านความท้าทายมาและ ได้ภาษาที่สามกลับมาต่อยอดด้านอาชีพให้ตัวเองได้ด้วย เจ๋งสุดๆ ไปเลยค่ะ!
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

kookkaii :3 Columnist 19 เม.ย. 64 09:12 น. 1-1

สวัสดีค่ะ สำหรับทุนรัฐบาลรัสเซียรอบล่าสุดได้ปิดรับเอกสารของผู้สมัครไปเมื่อ 20 ก.พ.64 ที่ผ่านมาค่ะ แต่สามารถศึกษารายละเอียดการรับสมัครเพื่อเตรียมตัวได้ที่ลิงก์นี้นะคะ https://www.dek-d.com/studyabroad/57092/


ทั้งนี้ ทางเราขอแนะนำให้ติดตามข่าวสารการรับสมัครรอบถัดไปที่ "เพจสถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย" (https://www.facebook.com/RussiaInThai/posts/1619114141606438) และคอลัมน์เรียนต่อนอกของเราก็จะอัปเดตข่าวทุนเรื่อยๆ เช่นกันค่ะ ^^

https://image.dek-d.com/27/0667/0798/131844290


0
กำลังโหลด
อยากเรียนหมอรัสเซีย 12 มิ.ย. 64 12:20 น. 2

ผมขอคอนเเทคติดต่อพี่ได้ไหมครับ คือผมสงสัยว่า เราจะทำงานเป็นหมอที่รัสเซียเลยได้มั้ย มันจะยากว่าคนในประเทศเขาไรงี้ไหมอะครับ

1
kookkaii :3 Columnist 25 มิ.ย. 64 14:07 น. 2-1
ขออภัยที่ตอบกลับล่าช้านะคะ ไม่ทราบว่าพอจะมีแอค Dek-D รึเปล่าคะ พอดีพี่ต้องแจ้งข้อมูลติดต่อให้ทาง message ส่วนตัวค่ะ :)
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด