‘ปูน’ เด็กทุนรัฐบาลญี่ปุ่น 7 ปี กับการเรียนและทำงานที่ทำให้เป็นผู้ใหญ่ขึ้น!

             สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึงแดนอาทิตย์อุทัย หลายคนน่าจะนึกถึงภาพบ้านเมืองที่เจริญ แหล่งท่องเที่ยวน่าดึงดูด แถมยังมีบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในไทยด้วย จึงไม่แปลกที่คนเริ่มสนใจเรียน  “ภาษาญี่ปุ่น”  กันมากขึ้น และบางคนขอเข้าใกล้ชิดภาษาญี่ปุ่นกับระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปอีกขั้นด้วยการบินไปเรียนถึงที่เลยค่ะ  ในวันนี้จะได้พูดคุยกับหนุ่มนักเรียนทุนรัฐบาลที่ไปเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชื่อดังของญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากกลับมาแล้ว เขาบอกว่าตนซึมซับการใช้ชีวิตและโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น! จะเป็นยังไงตามไปอ่านกันค่ะ><


Photo Credit: Osaka University

 
แนะนำตัว
 
             “สวัสดีครับ ชื่อ ‘ปูน’ สิระ ศิลธรรม อายุ 24 ปี ได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนปริญญาตรีกับโท เป็นเวลา 7 ปี ที่คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารของ Osaka University ครับ” สำหรับระยะเวลา 7 ปีนั้น = เรียนปรับภาษา 1 ปี + เรียน ป.ตรี 4 ปี จากนั้นยื่นขอทุนต่อ ป.โท 2 ปี ค่ะ การจะยื่นขอทุนต่อโทได้ต้องเรียนในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น และทำเกรดได้ดีตามเกณฑ์

             ทุนที่ผมได้คือทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ครอบคลุมค่าเทอมและให้เบี้ยเลี้ยงรายเดือน ตอนนั้นผมได้อยู่ที่ 120,000 เยน/เดือนครับ แต่ถ้าไปอยู่ไกลๆ อาจต้องลดตามค่าครองชีพ (แต่ลดไม่เยอะ)" ทำไมเราถึงตัดสินใจสมัครทุนนี้? “จริงๆ ทุนนี้ดังอยู่แล้วนะ ตอนนั้นเรียนอยู่ ม.6 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพื่อนเค้าก็ชวนๆ กันสอบครับ ผมสอบตามเพื่อน 555 ตอนสอบไม่ต้องใช้ความรู้ภาษาญี่ปุ่นเลย แต่ต้องสอบวิชาภาษาอังกฤษด้วย”
 


 
ความมหัศจรรย์ของอาจารย์สอนภาษา
 
             “สถานทูตจะทำเรื่องให้ตั้งแต่ซื้อตั๋ว มีคนรับไปสนามบิน พาไปทำเอกสาร และมีหอให้ใกล้ๆ โรงเรียน เริ่มมาช่วงปีแรกเราจะได้ปรับตัวทั้งเรื่องภาษา การเรียน และการใช้ชีวิต หลังจากนั้นเค้าจะปล่อยเราเข้าโหมด Survivor แล้ว เราต้องสอบเอนทรานซ์ว่าจะได้อยู่มหา’ลัยไหน ต้องติดต่อมหา’ลัยเอง ติดต่อเรื่องบ้าน เรื่องใช้ไฟใช้น้ำ ถือเป็นเรื่องท้าทายในการใช้ภาษาเลยครับ แต่เราเองก็คิดไว้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เรียนมาจะไม่เหมือนตอนใช้ชีวิตจริงๆแน่นอน”
 
             ช่วงปรับภาษา เราต้องเรียนอะไรบ้าง? นอกจากวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะเศรษฐศาสตร์ต้องเรียนเลข ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับญี่ปุ่น เศรษฐศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์ เรียนเต็มวัน เช้าเรียนภาษา บ่ายเรียนสัก 1 ตัวครับ ^^”


 
             ภาษาช่วงแรกลำบากแน่นอน แต่ถ้าตั้งใจเรียนยังไงก็เรียนได้ครับ เพราะระบบสอนภาษาดีมาก มีภาพ มีสมุดดิกชันนารีญี่ปุ่น-อังกฤษ แต่สำคัญสุดคืออาจารย์ที่สอนครับ เค้าจะชำนาญ รู้ว่าควรอธิบายยังไงให้เราเข้าใจ พี่เทียบง่ายๆ ว่าสมมติเราเรียนภาษาอังกฤษถึงเรื่องแกรมมาร์ V.to be เวลาสอนเค้าจะไม่เผลอใช้แกรมมาร์ระดับเหนือกว่าที่สอนเลย ตอนเรียนตัวภาษาเราเลยไม่มีปัญหา แต่ติดตรงอาจารย์สอนวิชาอื่นเค้าไม่ใช่อาจารย์สอนภาษา เลยใช้ภาษาแปลกๆ หน่อย บางทีสอนเหมือนแร็ปบ้างฮิปฮ็อปบ้าง เวลาเราเจอจะคุยกับเค้าไม่รู้เรื่อง พี่เอ๋อไปเกือบครึ่งปีเลยครับ”
 
             นอกจากเรียนในห้อง พี่ปูนยังมีเทคนิคที่ใช้นอกเวลาเรียนด้วย “ตอนเรียนภาษาญี่ปุ่น ผมเคยติดโน้ตคำศัพท์ตามกำแพงห้อง และพยายามไม่เอาแต่เล่นคอมเล่นมือถือในห้องครับ เดี๋ยวปรับตัวยาก เราต้องทำยังไงก็ได้ให้เราได้ใช้ภาษาญี่ปุ่น พยายามออกไปซื้อของในห้าง จ่ายกับข้าว ทำให้ได้เห็นของ ได้อ่าน ได้คุยกับคนขาย และได้ซึมซับวัฒนธรรมเค้ามาครับ”
 

Photo Credit: Osaka University

 
เริ่มต้นชีวิตมหา’ลัย กับครูหลากสไตล์ที่เราต้องเลือกเรียนด้วย
 
             "พอเรียนปรับภาษาไปได้ค่อนปี ตอนปลายปีจะมีสอบวัดระดับผลการเรียน ซึ่งก็คือสอบเอนทรานซ์เข้ามหาลัยญี่ปุ่นนั่นเอง การสอบจะแข่งกันเองในบรรดาเด็กต่างชาติ ใครได้คะแนนดีกว่าก็จะได้เข้ามหาลัยดีกว่า มีสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น (เขียน อ่าน แกรมมาร์) และสอบเลขกับประวัติศาสตร์ คะแนนใครสูงสุดจะได้เข้ามหาวิทยาลัยตามที่ตัวเองเลือก”
 
             “การเรียนมหา’ลัย ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ ม.ปลายเท่าไหร่ครับ เข้าไปสอนใหม่หมด เช่น เศรษฐศาสตร์ จะเริ่มต้นว่าเศรษฐศาสตร์คืออะไร สินค้าคืออะไร ฯลฯ เรามีหน้าที่ต้องอ่านให้ทัน บางทีถ้าไม่เตรียมตัวไปก็ต้องพยายามฟังแล้วกลับมาอ่านว่าครูมีพูดถึงอะไรตรงไหนบ้าง สำหรับนักเรียนต่างชาติ ช่วงแรกๆ จะหนักสุด เพราะครูพูดไปเรื่อยๆ ขนาดคนญี่ปุ่นเองยังเก็ตบ้างไม่เก็ตบ้างเลยครับ แต่วิชาที่ฝึกภาษาญี่ปุ่นได้ดีคือ คาบภาษาอังกฤษ เพราะเรากับเค้าได้แลกภาษากัน”
 
             “เราเรียนสายเศรษฐศาสตร์ เวลาอาจารย์พูดเรื่องเศรษฐกิจ สินค้า เราฟังรู้เรื่อง แต่พออาจารย์หลุด เราแยกไม่ออกละว่าเป็นเนื้อหาเรียนมั้ย สำเนียงแต่ละคนไม่เหมือนกันด้วย ผ่านไปสักเทอมนึงถึงจะชินกับวิธีพูด รู้แล้วว่าตอนนี้เค้าเม้าท์นะ ตอนนี้เค้าจริงจัง ต้องตั้งใจฟัง”


 
               บางคณะ อย่างเช่นหมอ จะเจอวิชาบังคับสัก 90% แต่คณะผมลงฟรีสไตล์ 70% อาจต้องเป็นวิชาคณะเราสัก 50% แล้วเสรี 20% ตอนปี 1 เทอมแรกผมเจอเศรษฐศาสตร์จุลภาคกับมหภาค (Microeconomics and Macroeconomics) จากนั้นจะเริ่มให้เรียนวิชาบังคับอีกแบบนึง เช่น สถิติ ประวัติเศรษฐกิจโลก และมีให้เรียนแมคโครไมโครภาคต่อ แล้วมีวิชานึงที่ผมชอบคือ ‘Game Theory’ คือ การวิเคราะห์ฝ่ายตรงข้ามว่าเค้าจะเลือกทำแบบไหน แล้วเราต้องทำแบบไหน เพื่อให้ได้โปรดักส์ดีที่สุด”
 
             ที่ญี่ปุ่นเราเลือกวิชาเรียนเองได้ และเลือกครูที่อยากเรียนด้วยได้ด้วยครับ แม้ระบบการเรียนจะคล้ายไทย แต่ครูที่ญี่ปุ่นมีหลายท่านหลายสไตล์ เช่น ครูคนนึงให้นักเรียนเลือกวิธีการให้คะแนนตัวเองได้ 4 แบบ คือ 1.สอบล้วน 2.มาเช็กชื่อ 3.เช็กชื่อ+ทำการบ้าน 4.ไม่มาเช็กชื่อแต่ทำการบ้าน ซึ่งเค้าจะดูว่าเลือกแบบไหนแล้วเราได้มากที่สุด เช่น พวกแรก คะแนนสอบ 100% คือไม่มาเรียนแต่สอบผ่าน อีกพวกคือเรียนไม่เก่งแต่ตั้งใจเรียนมาก มาทุกคาบ เค้าจะใช้เกณฑ์คะแนนค่าเช็กชื่อ 30% และคะแนนสอบ 70% แทน ผมไปเรียนกับครูคนนี้มาแล้วประทับใจการให้คะแนนแบบนี้มากๆ เพราะให้โอกาสทั้งนักเรียนที่ไม่มาเรียนแต่ตั้งใจอ่านสอบ และให้โอกาสนักเรียนที่อาจหัวไม่ค่อยดีแต่มาเรียนตลอดทุกคาบ ทำการบ้านทุกชิ้น
 
             “แล้วมีธรรมเนียมอย่างนึงด้วยครับ ถ้าอาจารย์สอนเสร็จแล้วเราไปยกมือถามตอนท้ายคาบ จะโดนคนมองคนด่าได้ ดังนั้นตอนอาจารย์ถามจะไม่มีใครยก แต่ถ้าเลิกคาบแล้วค่อยแห่กันไป” ถ้าใครมีโอกาสไปเรียนญี่ปุ่น ลองสังเกตดีๆ ก่อนนะคะว่าคลาสเรียนของน้องเป็นเหมือนกันรึเปล่า ถ้าเผลอยกมือก่อนหมดคาบภัยอาจมาถึงตัวได้ 5555


Photo Credit: Osaka University


Photo Credit: Osaka University

 
 
เลือกใช้ชีวิตแบบไม่ให้ตัวเองยุ่งเกินไป
 
             “ผมเองไม่ค่อยอยากทำกิจกรรมอะไรมากมายครับ เลยออกแนวว่างๆ มีเวลาทำการบ้านสบายๆ ถ้าเกิดใครอยู่เมืองไทยมานานอาจรู้สึกแปลกๆ นิดนึง เพราะจากที่เคยใช้เวลาอยู่กับเพื่อนๆ หรือพ่อแม่ พอมาอยู่คนเดียวที่นี่ เวลาจะเป็นของเราทั้งหมด อย่างผมเลิกเรียน 4 โมงแล้วจะทำอะไรก็ได้ และลักษณะพิเศษของคนญี่ปุ่นคือ เค้าให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคล ความชอบส่วนบุคคลห้ามกันไม่ได้ สมมติเพื่อนชวนไปกินเหล้า ถ้าบอกไม่ไปก็จบ ไม่มีการคะยั้นคะยอ
 
               ถึงบอกไม่ค่อยทำกิจกรรม แต่พี่ปูนใช่จะเรียนอย่างเดียว “ผมหาเพื่อนผ่านกิจกรรมพวกเตะบอล วอลเล่ย์บอล สักอาทิตย์ละวัน ทำให้ได้คุยกับเพื่อนๆ แรกๆ คนญี่ปุ่นอาจกลัวชาวต่างชาตินะครับ แต่ถ้าเราประสงค์ดีให้ลองพยายามเข้าหาเค้าดู"

                 "นอกจากนั้นยังมีทำงานพิเศษด้วย เช่น งานล่าม งานไกด์พาเที่ยวคนกลุ่มเล็กๆ ทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้าง หรือแม้แต่เชิญเราไปสัมภาษณ์ว่าข้าวญี่ปุ่นกับข้าวไทยแตกต่างกันยังไง ส่วนหลังๆ มาได้ไปทำงานประเภทกิจกรรมสนับสนุนให้เด็กญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น ผมได้ไปช่วยสอนภาษาอังกฤษให้เด็ก แล้วค้นพบว่าเด็กญี่ปุ่นมีทั้งคนพูดเก่งและไม่พูดเลย กลัวคนต่างชาติ แล้วยังมีเด็กที่พูดภาษาญี่ปุ่นใส่คนที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น 5555”
 

 
             ทั้งเรียนทั้งทำงานพิเศษแบบนี้ พี่ปูนรู้สึกได้ถึงพัฒนาการเรื่องภาษาญี่ปุ่นยังไงบ้าง?    “รู้สึกโอเคขึ้นกว่าตอนแรกเยอะมากก และส่วนใหญ่จะได้จากการทำงานด้วยครับ ตอนแรกฟังพูดนี่ไม่ได้เลย สำเนียงก็ไม่ได้ หลังๆ เรียนรู้ไปก็ อ๋อออ ต้องพูดแบบนี้ ถึงว่าสิทำไมคนญี่ปุ่นฟังเราแล้วไม่เข้าใจ 5555 ตอนที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น ผมให้ความสำคัญกับแกรมมาร์กับการเขียนอักษรคันจิซะเยอะ แต่มารู้ตอนหลังว่าจริงๆ สิ่งสำคัญที่สุดในการเรียนภาษาคือการพูดกับการฟัง เพราะสุดท้ายแล้วเราใช้ภาษาเพื่อสื่อสารกับคนอื่น เลยต้องเรียนรู้จากคำที่เจ้าของภาษาใช้พูดคุยกันจริงๆ" 

 

การเรียนญี่ปุ่นช่วยให้โตขึ้น
 
             “เรื่องแรกคือการจัดการตัวเอง มันจะมีโมเมนต์เหงา ขี้เกียจ ตื่นมาแล้วไม่รู้จะทำอะไรดี เราต้องควบคุมตัวเองและผ่านตรงนั้นไปให้ได้ ทำยังไงให้ตัวเองไม่ขี้เกียจแล้วลุกขึ้นมาอ่านหนังสือ แล้วยังมีเรื่องชีวิตประจำวันที่ต้องติดเน็ต ซื้อเฟอร์นิเจอร์ หาบ้าน ที่ไม่ใช่ว่าจะมีรุ่นพี่มาช่วยเราได้ตลอดเวลา เรารู้สึกได้เลยว่าอะไรที่เคยกลัวสมัยก่อน เช่น กลัวคุยกับคนญี่ปุ่นไม่รู้เรื่อง พอมาเจอสถานการณ์นี้ ถ้าไม่โทรคุยกับเค้าเราจะไม่มีน้ำใข้นะ มันทำให้เราก้าวข้ามความกลัวมาได้ครับ”
 
             “อีกเรื่องที่ชอบสุดเลยคือ ประสบการณ์ทำงาน ถ้าเรียนที่ไทยกับอเมริกาอาจไม่มีโอกาสทำงานพิเศษด้านภาษาแบบพวกล่าม ไกด์ ทัวร์ หรือการสอนภาษาอังกฤษให้เด็ก จริงๆ มีงานแปลกๆ อีกเยอะเลยนะ ดังนั้นผมรับประกันเลยว่าทุกคนกลับมาแล้วโตขึ้น"



 
ถ้าไม่ทำตามกฎระเบียบ อาจโดนมองเป็นตัวประหลาด
 
             “อย่าหวังว่าถ้าไปเรียนญี่ปุ่นแล้วจะได้อยู่ในโลกอิสระขนาดนั้น ในญี่ปุ่นอาจใช้ชีวิตยังไงก็ได้ แต่โดยรวมจะมีกฎระเบียบและความเครียดในตัว การทำผิดกฎหรือทำตัวให้โดดเด่นอาจโดนคนมองเป็นตัวประหลาดได้ หรือบางทีอาจไม่ถึงขั้นเป็นกฏหรอก เช่น ควรขี่จักรยานบนฟุตบาธ แต่เราดันไปขี่บนถนน อาจโดนมองแปลกๆ  อีกอย่างคือเรื่องข้อจำกัดของภาษาด้วย เช่น ชื่อธาตุทางเคมี เค้าใช้ภาษาญี่ปุ่นนะ เราต้องยอมรับ ถ้าใครไม่ค่อยเปิดรับอะไรแบบนี้ คิดจะเป็นตัวของตัวเอง อาจอยู่ยากครับ”
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
Nanoeiei Member 3 มี.ค. 65 02:37 น. 3

สวัสดีครับ ขอถามหน่อย ตอนเรียนเตรียมเรียน สายไหนครับ ตอนนี้ เรียนสายวิทย์ ปีหน้าว่าจะลองสอบทุนแต่ลังเล จะไปสอบของ วิทย์ หรือศิลป์ดีครับ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด