ตีแผ่ 5 ความจริงเกี่ยวกับ ‘เกอิชา’ ที่ใครหลายๆ คนเข้าใจผิดมาโดยตลอด

      สวัสดีค่ะชาว Dek-D เชื่อว่าทุกคนจะต้องเคยเห็นภาพผู้หญิงญี่ปุ่นใส่ชุดกิโมโนสวยๆ ทาหน้าขาวๆ เดินตามถนนในประเทศญี่ปุ่นกันอย่างแน่นอน หลายๆ คนคงจะรู้ว่าผู้หญิงพวกนี้คือ ‘เกอิชา’ แต่จริงๆ แล้วอาชีพนี้คืออะไรกันแน่? บางคนมีความเชื่อผิดๆ ที่ว่าเกอิชาคือพวกขายบริการก็มี วันนี้พี่หมิวจะพาน้องๆ ไปสืบหาความจริงกันว่า แท้จริงแล้วพวกเธอเหล่านี้เป็นใครกัน ตามมาโลดดด


1. เกอิชาไม่ใช่โสเภณี
 


Photo Credit: Unsplash

      ‘We sell art, not body’ (พวกเราขายศิลปะ ไม่ใช่ร่างกาย) นี่คือคติของเกอิชาค่ะ หลายๆ คนอาจจะเข้าใจว่าเกอิชาก็คือโสเภณีของญี่ปุ่น แต่ในความจริงแล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยค่ะ เกอิชาเป็นอาชีพที่คอยต้อนรับให้ความบันเทิงแก่พวกลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ อย่างเช่น เล่นเดนตรี ขับร้อง ร่ายรำ ชงชา ปรนนิบัติลูกค้า หยอกล้อกับลูกค้า แต่ไม่ได้ถึงขนาดหลับนอนกับพวกผู้ชายค่ะ 
 
      การจะเป็นเกอิชาได้ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนักมากๆ พวกเธอไม่ได้รับเงินจากการขายบริการทางเพศ แต่รับเงินจากการให้ความบันเทิงใจแก่ลูกค้า โดยผ่านการแสดงทางศิลปะเเละวัฒนธรรมมากกว่าค่ะ 
 
      ถ้าพูดถึงการขายบริการ ที่ญี่ปุ่นเขาจะมีคนอีกกลุ่มที่เรียกว่า ‘โอริรัน’ เราสามารถเเยกความแตกต่างระหว่างเกอิชากับโอริรันได้ค่ะ อย่างเช่น การแต่งตัวของพวกเธอจะไม่เหมือนกัน สังเกตง่ายๆ อย่างการผูก ‘โอบิ’ (ผ้าผูกเอว) โอริรันจะผูกโอบิไว้ด้านหน้า เกอิชาจะผูกเอาไว้ที่ด้านหลังแทนค่ะ
 


2. เกอิชา แปลว่า ศิลปิน


      คำว่า ‘เกอิชา’ 芸者 (Geisha)  มาจากตัวอักษรญี่ปุ่น 芸 (gei) ที่แปลว่า 'ศิลปะ' รวมกับ 者 (sha) ที่แปลว่า 'คน/ผู้ที่' ซึ่งมารวมกันแล้วก็ได้ว่า ‘ผู้ที่เป็นศิลปะ’ หรือ ‘ศิลปิน’ นั่นเองค่ะ 

      การเป็นเกอิชาไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ ส่วนใหญ่แล้วทางโรงเรียนฝึกเกอิชาจะรับซื้อเด็กผู้หญิงที่ฐานะทางบ้านยากจนมาเลี้ยงดู เกอิชาจะมีโรงเรียนฝึกที่จริงจัง โดยปกติแล้วการฝึกจะอยู่ที่ประมาณ 5 ปี หรือมากกว่านั้นจนกว่าจะได้เป็นเกอิชาเต็มตัว การฝึกจะเริ่มต้นตั้งแต่วัยรุ่น เรียนคลอบคลุมหลากหลายรูปแบบของศิลปะแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ทั้งฝึกด้านการร้อง เล่นดนตรี การร่ายรำแบบดั้งเดิม การท่องบทกวี แต่งกลอน จัดดอกไม้ ฝึกมารยาท การเดิน การพูด ท่าทางต่างๆ และที่สำคัญ พวกเธอจะต้องฝึกจนออกมาเป็นเกอิชาที่สง่างามและฉลาดอีกด้วยค่ะ พูดง่ายๆ ก็คือ เกอิชาเป็นเหมือนศิลปะชั้นดีอย่างนึงของญี่ปุ่นนั่นเองค่ะ 
 

      เรื่องการเล่นดนตรีถือว่าสำคัญมากๆ สำหรับเกอิชาเลยค่ะ พวกเธอจะต้องเรียนดนตรีแทบจะทุกวัน โดยเกอิชาจะเล่น ‘ซามิเซ็ง’ (Shamisen) เครื่องดีด 3 สายเพื่อบรรเลงเพลง บางคนถึงกับแต่งเพลงเองก็มี ส่วนใหญ่แล้วพวกเธอจะเล่นเพลงช้าๆ เศร้าๆ แสดงแบบเข้าถึงอารมณ์สุดๆ เลยค่ะ 
 


3. เกอิชาที่ทาหน้าขาว = เด็กที่ยังไม่มีประสบการณ์  


    น้องๆ รู้มั้ยว่าการทาหน้าขาวของเกอิชาเนี่ย มันบ่งบอกถึงอะไร? จริงๆ แล้วผู้หญิงที่ทาหน้าขาวๆ ใส่ชุดกิโมโนสวยๆ คือ ‘ไมโกะ’ (Maiko) หรือที่เราเรียกว่าเกอิชาฝึกหัดค่ะ พวกเธอยังไม่ได้เป็นเกอิชาเต็มตัว การทาหน้าขาวนั้นเป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่ายังไม่มีประสบการณ์ ยังอยู่ในระหว่างฝึกหัด (Inexperience) ในทางกลับกัน ยิ่งเกอิชาที่แต่งตัวหรือแต่งหน้าธรรมดาๆ มากเท่าไหร่ เกอิชาคนนั้นจะถือว่ามีประสบการณ์ที่สูงมากๆ ค่ะ (ยิ่งประสบการณ์เยอะ ยิ่งค่าตัวแพงค่ะ)
 
      คนญี่ปุ่นบอกว่าเกอิชายิ่งแก่จะยิ่งดีค่ะ เหมือนกับว่าพวกเธอมีประสบการณ์มามากแล้ว พวกเธอจะยิ่งแต่งตัวธรรมดาๆ แต่งหน้าบางๆ โดยมีความเชื่อที่ว่า เมื่อเราอายุมากขึ้น ความสวยแบบธรรมชาติจะดีที่สุดค่ะ 

      ในปัจจุบัน เกอิชาที่อายุมากที่สุดมีอายุถึง 94 ปี เธอทำงานเป็นเกอิชาตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยเธอได้เล่าว่า เธอมักจะถูกจ้างโดยพวกนักการเมืองชื่อดัง นักธุรกิจที่ใหญ่โต ลูกค้าจะยอมจ่ายราคาแพงเพื่อที่จะได้เกอิชาที่มากประสบการณ์มาปรนนิบัติค่ะ  


4. เกอิชาคนแรกคือ 'ผู้ชาย' 


      จริงๆ แล้วอาชีพเกอิชานั้นพัฒนาขึ้นมาจาก ‘โฮกัง’ ซึ่งคล้ายๆ กับพวกตลกหลวงในราชสำนัก ที่ต้องคอยให้ความบันเทิงกับคนในราชสำนัก ต่อมาได้พัฒนากลายเป็นเกอิชา เกอิชาในสมัยแรกจึงล้วนเป็นผู้ชายทั้งสิ้นค่ะ 
 

      ผู้ชายเหล่านี้ทำกิจกรรมทั่วไปอย่างที่เกอิชาผู้หญิงทำกันเลยค่ะ ทั้งให้ความบันเทิงลูกค้าผู้ชาย ชงชาให้ เล่นดนตรี ร่ายรำ เล่าเรื่องสนุกๆ ให้ฟัง และทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่สำคัญที่สุดในโลก แต่พอเวลาผ่านไป เกอิชาผู้ชายเริ่มลดน้องลง ผู้หญิงกลับเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนกลายเป็นสัญลักษณ์ไปแล้วว่าเกอิชาก็คือผู้หญิงนั่นเองค่ะ  


5. ปัจจุบันยังมีเกอิชา ‘ผู้ชาย’ อยู่ 


      ในอดีต ผู้ชายญี่ปุ่นเป็นหัวหน้าครอบครัวเต็มตัวและผู้หญิงญี่ปุ่นมักอยู่ติดบ้านเพื่อทำหน้าที่แม่บ้าน  พวกเธอจึงเริ่มจ้างเกอิชาผู้ชายมาปรนนิบัติพวกเธอ หน้าที่ของเกอิชาผู้ชายก็คล้ายๆ กันกับแบบผู้หญิงค่ะ โดยจะดูแลพวกลูกค้าผู้หญิงที่เข้ามาใช้บริการ ให้ความบันเทิง เเต่ในปัจจุบันนี้ เกอิชาผู้ชายเริ่มหมดไป เเละได้กลายมาเป็นพวก 'โฮส' แทนค่ะ 
 

      แต่ถ้าพูดถึงโฮสสมัยนี้ พวกเขาไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนด้านศิลปะมาแบบเกอิชานะคะ พวกโฮสแค่นั่งคุยเป็นเพื่อน ชมลูกค้า มาพูดจาหวานๆ ใส่เรา อย่างเช่น ‘คุณสวยจังนะวันนี้’ ตามใจเราทุกอย่าง เหมือนเราเป็นเจ้าหญิงเลยค่ะ หน้าที่ของเขาคือทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษนั่นเองค่ะ

      ที่สำคัญ! โฮสพวกนี้ราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ นะคะ ยิ่งถ้าเป็นตัวท็อปๆ ด้วยแล้วล่ะก็ แพงมากๆ เลยค่ะ เเต่โฮสของที่ญี่ปุ่นจะไม่ขายบริการ พวกเขาจะถือว่านี่เป็นงานอย่างหนึ่ง มีหน้าที่เอาใจและสร้างความบันเทิงให้แก่ลูกค้าค่ะ 


      ‘เกอิชา’ ถือว่าเป็นศิลปะวัฒนธรรมที่เก่าแก่อย่างนึงในประเทศญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ค่ะ จริงๆ เเล้วเกอิชาก็ยังมีให้เห็นในญี่ปุ่นอยู่บ้าง เเถวๆ เมืองเกียวโต ถ้าน้องๆ คนไหนมีโอกาสไปญี่ปุ่นก็ลองไปดูบรรยากาศกันได้ค่ะ

Sources:

gojapango.com

listverse.com
en.wikipedia.org/wiki/Geisha

พี่หมิว
พี่หมิว - Columnist จบเอกอิ้ง ชอบปิ้งหมูกิน แถมอินกับหนัง ฟังเพลงเสียงดัง หูแตกไปเลยจ้า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด