พีระมิดแห่งการเรียนรู้! มาดู 7 ทริคเล็กๆ ที่จะช่วยให้การเรียนของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น

   
      สวัสดีค่ะชาว
Dek-D ถ้าพูดถึงเรื่องการเรียนเเล้ว ปัญหาของน้องๆ หลายๆ คนคงจะหนีไม่พ้นเรื่องการจำเนื้อหาที่เรียนไปไม่ได้ บางทีอาจจะด้วยเพราะเนื้อหาเยอะ จำเท่าไหร่ก็ไม่เข้าหัวซักที วันนี้พี่หมิวจะพาน้องๆ มารู้จักกับ 'The Learning Pyramid' กัน พีระมิดนี้จะบอกถึงวิธีที่จะทำให้การเรียนของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้เราจดจำเนื้อหาการเรียนได้ดีขึ้น แล้ววิธีเหล่านี้จะสามารถช่วยเราได้ยังไง ตามมาดูกันได้เลยค่ะ

*พี่จะไล่ระดับตั้งแต่ % น้อยที่สุดไปจนถึงมากที่สุดนะคะ*

 

Photo Credit: educationcorner.com

 


 5 % การจดบันทึก (Lecture) 
 


      แน่นอนว่าการจดเลคเชอร์เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้การเรียนของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ เพราะมันคือการที่เรานั่งฟัง และจดข้อมูลต่างๆ ที่เราได้ยินมาจากอาจารย์ลงไปในรูปแบบของเราเอง การเขียนเนี่ยแหละค่ะจะทำให้เราซึมซับข้อความที่เราได้ฟังมาลงไปบ้าง อย่างน้อยๆ มันก็ผ่านตาเรามาจากการจดบันทึกของเราเองค่ะ 


10 % การอ่าน (Reading)
 


      การอ่านเป็นหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้เราจัดการกับระบบความจำของเราได้ค่ะ พี่มีวิธีมานำเสนอตามนี้ค่ะ 

- ให้เราเริ่มอ่านจากหัวข้อก่อน ทำความเข้าใจว่าเนื้อหาที่เรากำลังอ่านนั้นต้องการจะบอกอะไรกับเรา
- กวาดสายตาไปทั่วๆ เนื้อหา เหมือนกับว่าให้เราอ่านคร่าวๆ ไปก่อนค่ะ
- หลังจากที่เรารู้แล้วว่าเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรเเล้ว เราก็ลงมืออ่านทำความเข้าใจอย่างจริงจัง
- พยายามสร้างภาพในหัวว่าเนื้อหาที่เราอ่านมันเป็นไปในรูปแบบไหน
   
      อีกวิธีที่แนะนำเลยคือ การอ่านออกเสียงดังๆ มันจะทำให้เราจำในสิ่งที่ตัวเองอ่านได้ (พี่ทำวิธีนี้ตลอดเลย แล้วมันก็ทำให้พี่จำได้ดีขึ้นจริงๆ) แต่อย่าไปอ่านเสียงดังในห้องสมุดนะคะ โดนคนอื่นมองแรงเอาแน่ๆ 55555 


20 % ภาพและเสียง (Audio- Visual) 
 


      สำหรับใครที่เบื่อตัวหนังสือเยอะๆ แนะนำว่าให้ทำตามวิธีนี้เลยค่ะ เพราะการเรียนจากภาพ วิดีโอและเสียง จะช่วยให้เราไม่เบื่อและมีความสนใจไปกับสิ่งล่อตาล่อใจตรงหน้ามากกว่าตัวหนังสือเยอะๆ ในหนังสือ อย่างในสมัยนี้ที่เทคโนโลยีก้าวไกลไปมากๆ ทำให้สื่อการเรียนรู้ต่างๆ พยายามทำออกมาดึงดูดให้คนเข้าไปเรียนกัน อย่างเช่น เรียนภาษาผ่านทางเกม หรือ แอปพลิเคชันสอนภาษาทางโทรศัพท์ เรียนการพูด การออกเสียงผ่านทาง Youtube เป็นต้น พี่ว่าเราโชคดีมากๆ ที่เกิดมาในยุคที่มีช่องทางการเรียนรู้ต่างๆ มากมายที่ไม่ใช่แค่ในหนังสืออย่างเดียว 


30 % การสาธิต (Demonstration)
 


      จริงๆ แล้วการสาธิตหรือการปฏิบัติจริงจะต้องพึ่งการเรียนการสอนจากอาจารย์ด้วยค่ะ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่น เรากำลังเรียนเรื่องกฎของแรงโน้มถ่วง เราจะต้องทำการทดลอง ลงมือพิสูจน์ว่าแรงโน้มถ่วงมันเกิดขึ้นได้ยังไง พิสูจน์ดูว่ามันเป็นแบบนั้นจริงมั้ย ถ้าเราอ่านแต่ในตำราอย่างเดียวมันอาจจะทำให้เห็นภาพไม่ชัดเท่าการปฏิบัติจริง พี่ว่าข้อดีของการปฏิบัติจริงคือ เมื่อเราได้ลองลงมือทำเองแล้ว เราจะจำสิ่งที่เราทำได้ดีกว่าการอ่านแบบท่องจำแน่นอนค่ะ วิธีการปฏิบัติจริงนี้เหมาะสำหรับเนื้อหาที่เข้าใจยากหรือคลุมเคลือค่ะ 


50 % การถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น (Discussion)
 


      วิธีการนี้จะทำให้เราได้คิด ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นดูบ้าง อย่างเช่นอาจารย์อาจจะถามความคิดเห็นของเราในเรื่องนึง ต้องการรู้ว่าเราคิดยังไงเลยลองให้เราแลกเปลี่ยนข้อมูลคุยกันกับเพื่อนดู พี่คิดว่าการคุยกันแต่ละครั้งจะทำให้เราได้ประเด็นคำถามใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ใช่แค่ที่อาจารย์สั่งนะคะ ถ้าเป็นเรื่องการเรียน การสอบ เราก็สามารถเอาประเด็นมาถกเถียงกับเพื่อนได้เหมือนกัน อย่างเช่น สมมุติถ้าใครเรียนวรรณกรรม เราอาจจะจุดประเด็นขึ้นมาว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้โรมิโอกับจูเลียตถึงต้องตายตามกันไป เราก็เอามาถกเถียงกันได้ (แต่อย่าถึงขั้นทะเลาะกันนะคะ) มาแลกเปลี่ยนความเห็นกันแล้วเราจะได้เห็นมุมมองของคนอื่นจากหลายๆ แง่มุมเลยค่ะ  


75% ฝึกฝน (Practice (by) doing)
 


      ฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝนเท่านั้นค่ะที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ จากวิธีที่พี่พูดไว้ข้างบนทั้งหมด น้องๆ สามารถเอาวิธีพวกนี้มาลองทำ มาปรับใช้ให้เป็นแนวของตัวเองได้ อย่างเช่น การอ่าน เราก็อ่านเข้าไปเท่าที่เราทำได้ พยายามจำประเด็นหลักสำคัญๆ ว่าเนื้อหาต้องการสื่อถึงอะไร ถ้าเรายังไม่เข้าใจก็พยายามเข้าค่ะ ไม่มีอะไรที่เราเรียนรู้ไม่ได้ค่ะ มีแค่เรายังไม่ได้ลองทำเท่านั้นเอง ฝึกฝนเข้าไว้และจำไว้ว่า ‘Practice makes Perfect’ ค่ะ 


90% สอนคนอื่น (Teach others)
 


      มาถึงทริคอันดับ 1 ที่ต้องบอกเลยว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลมานักต่อนักแล้ว น้องๆ ลองคิดดูนะคะว่า ถ้าเราสามารถสอนคนอื่นได้ นั่นแปลว่าเราเข้าใจในสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้ในระดับบรรลุเลยค่ะ เราอาจจะจับคู่ติวกันกับเพื่อน เพื่อนถนัดวิชานี้ เราถนัดอีกวิชา ก็ผลัดกันติว หรืออาจจะติวกันแบบคลาสใหญ่ๆ ไปเลย เปิดห้องติวแบบ 10 คนก็ได้ค่ะ ถ้าเพื่อนคนไหนรู้เรื่องดีที่สุดก็ให้เขาสอนเรา ผิดถูกก็ช่วยๆ กันแก้ไป ไม่มีอะไรเสียหายค่ะ 

 

       วิธีที่พี่เอามาแชร์กันวันนี้น้องๆ ก็ลองเอาไปปรับใช้ให้เข้ากับตัวเองดูได้นะคะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับคนที่กำลังหาทางพัฒนาการเรียนของตัวเองอยู่ สู้ๆ ค่ะ ^^
พี่หมิว
พี่หมิว - Columnist จบเอกอิ้ง ชอบปิ้งหมูกิน แถมอินกับหนัง ฟังเพลงเสียงดัง หูแตกไปเลยจ้า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด