‘วรรณดี’ กับประสบการณ์ ‘ผู้แทนเยาวชนไทย’ ในการประชุมสมัชชา UNGA73 ที่นิวยอร์ก

       สวัสดีครับน้องๆ ชาว Dek-D …ในช่วงเดือนที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมใหญ่ระดับโลกที่ผู้คนต่างจับตามอง ซึ่งก็คือ “การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 73 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา” โดยความสำคัญของงาน UNGA คือ เป็นที่ประชุมและพื้นที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกกว่า 193 ประเทศได้ถกเถียงปัญหาต่างๆ แสดงความคิดเห็น วิสัยทัศน์ หรือโต้แย้ง รวมถึงหารือประเด็นต่างๆ ร่วมกัน เรียกว่าเป็นอีกวาระสำคัญอย่างหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ 
 
      และแน่นอนว่าในแต่ละปีประเทศไทยของเราก็ได้ส่งคณะผู้แทนเข้าไปร่วมการประชุม UNGA ด้วย และหนึ่งในนั้นจะมีตัวแทนเยาวชนไทยที่ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงต่างประเทศให้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจสำคัญในครั้งนี้ … พี่เองได้มีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งในผู้แทนเด็กไทยที่ได้ร่วมประชุมที่ UN และบังเอิญว่าน้องคนนี้เป็นรุ่นน้องที่รู้จักกันด้วย ว่าแล้วไม่รอช้าครับ หลังจากบินกลับจากนิวยอร์กปุ๊บ พี่วุฒิ ได้คว้าตัวมาสัมภาษณ์ถึงประสบการณ์ในการร่วมงานใหญ่ครั้งนี้มาให้น้องๆ ชาว Dek-D ได้อ่านกัน เรื่องราวจะอย่างไรบ้าง ตามมาอ่านกันเลยครับ     

 
   
 
       “สวัสดีค่ะ ชื่อนางสาววรรณดี ถวิลบุญ ชื่อเล่น ขาว ค่ะ เป็นนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยนเรศวร ตอนนี้เป็นคุณครูฝึกสอนอยู่ที่โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และล่าสุดเพิ่งมีโอกาสได้เป็นผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 73 ค่ะ”
 
       อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้นว่าพี่นั้นรู้จักกับน้องขาวและได้ติดตามน้องมาตลอด จึงรู้ว่าน้องขาวเป็นคนที่ทำกิจกรรมเยอะมาก รวมถึงเข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศบ่อยมากกกกก อยากให้เล่าว่าก่อนหน้าที่เราจะได้ไปประชุม UNGA เราเคยทำอะไรมาบ้าง? 
 
       “ในช่วงมหาวิทยาลัยขาวได้สมัครเข้าร่วมหลายโครงการเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น 
 
1. โครงการแลกเปลี่ยนที่ Imus Institute ประเทศฟิลิปินส์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน
2. ได้รับทุน JENESYS (Japan-East Asia Network of Exchange for Students and Youths) ซึ่งเป็นทุนที่มอบโดยรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนจากกลุ่มประเทศในอาเซียนและญี่ปุ่นได้พบปะกันและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องประเด็นการสร้างสันติภาพในภูมิภาค ทั้งในด้านการประชุมเชิงปฎิบัติการ และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในแต่ละกลุ่มประเทศ 
3. ชนะการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาอินโดนีเซีย จัดแข่งที่สถานทูต และได้ไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลา 1 สัปดาห์ (ขาวพูดภาษาอินโดนีเซียได้)
4. ได้รับทุน Global Undergraduate Exchange Program หรือ Global UGRAD ไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ภาคเรียน เพิ่งไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี่เองค่ะ 
 
       และล่าสุดก็อย่างที่บอกว่าไป ขาวได้มีโอกาสรับคัดเลือกเป็น Thailand Youth Delegate to the United Nations หรือ ผู้แทนเยาวชนไทยในกาารประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 73 (UNGA) ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 19 ตุลาคมที่ผ่านมาค่ะ”

 

 
       เห็นรายชื่อแต่ละโครงการแล้วต้องบอกว่าไม่ธรรมดาเลย แอบถามหน่อยว่าอะไรคือแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เราสนใจเข้าร่วมโครงการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ? 
 
       “ก่อนอื่นคงต้องย้อนกลับไปสมัยมัธยมเลยค่ะ เราเองเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมมากกก ทั้งวิชาการหรือกีฬา มีโอกาสเมื่อไหร่ก็ไม่เคยพลาดเลย และอย่างตอนเด็กๆ เราก็มีความฝันอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ อยากลองไปแลกเปลี่ยน AFS เหมือนกับคนอื่นเค้าบ้าง แต่ด้วยความที่มันมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก และครอบครัวเราเองไม่ได้มีฐานะมากพอที่จะ support เราด้วย ตอนนั้นก็ทำได้แค่เปิดเว็บไซต์ Dek-D ส่องข่าวทุนเรียนต่อนอกอยู่ตลอด เรียกว่า passion มาเต็มเลยค่ะ แต่ขาดแค่โอกาส จากนั้นขาวก็เลยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ถ้าได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อไหร่ หากมีทุนอะไรเปิดรับสมัครอยู่ จะไม่พลาดโอกาสเหล่านั้นเลย!”
 
        นอกจากความฝันวัยเด็ก โดยส่วนตัวของเธอเองก็มีความสนใจด้านนี้มาอยู่ก่อนแล้ว ขาวกล่าวเสริมว่า…“ขาวเป็นคนชอบทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ โดยเฉพาะกับคนที่มี Background ต่างจากเรา เพราะมันทำให้เราได้เรียนรู้มุมมองที่หลากหลาย เกิดการเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงได้เพื่อนใหม่ด้วยค่ะ นี่เป็นหนึ่งเหตุผลที่ชอบสมัครเข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศ และส่วนตัวขาวเรียนเอกภาษาอังกฤษ แต่ด้วยความที่รู้ตัวว่าทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษของเราไม่ค่อยดี ตอนเรียนในมหาลัยส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้ภาษาไทยอยู่ เราเองเลยพยายามหาโอกาสที่จะได้ไปฝึกใช้ภาษาอังกฤษ หาสถานการณ์ที่ต้องบังคับตัวเองให้พูดบ่อยๆ เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารของเราค่ะ

        และอีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญเลยก็คือ ในอนาคตขาวจะไปเป็นครู ขาวคิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราในฐานะครูจะต้องมีประสบการณ์ในหลายๆ ด้าน เพื่อที่จะนำประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับมาเล่าให้ลูกศิษย์ของเราได้ฟัง ซึ่งขาวคิดว่านั่นเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้อีกทางหนึ่งค่ะ”


 

 

        “ถ้าเราไม่สมัคร โอกาสจะได้คือ 0 เลย 

แต่ถ้าสมัครอย่างนี้ก็มีโอกาส จะ 1 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ก็ยังถือว่าเป็นโอกาส”
 

        รู้จักประวัติของเธอไปพอหอมปากหอมคอแล้ว เรามาถามถึงเหตุผลที่เธอสมัครเพื่อเป็นผู้แทนเด็กไทยเข้าร่วม UNGA  กันบ้างดีกว่า “จริงๆ ต้องบอกก่อนว่าขาวรู้จักโครงการนี้มาสักพักแล้ว ซึ่งในทุกๆ ปีก็จะติดตามดูการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนเยาวชนไทยอยู่ตลอดค่ะ แต่ก็ไม่กล้าสมัครสักที เพราะมัวแต่คิดว่า มันต้องยากแน่ เราคงทำไม่ได้หรอก และจากการติดตามมาตลอด เราจะเห็นว่าคนที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนส่วนมากก็มาจากมหาวิทยาลัยดังๆ ทั้งนั้นเลย ถ้าเราสมัคร เราจะสู้เค้าได้เหรอ?

        แต่พอมาคราวนี้ก็กลับมาคิดทบทวนตัวเองอีกครั้ง ด้วยความที่ปีนี้เป็นปีสุดท้าย (เรียนอยู่ปี 5 แล้ว) บวกกับ passion ของเราที่อยากจะไปเรียนรู้ แล้วนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศของตัวเอง ก็เลยตัดสินใจส่งใบสมัครค่ะ ตอนนั้นก็บอกกับตัวเองว่า ถ้าเราไม่สมัคร โอกาสจะได้คือ 0 เลย แต่ถ้าสมัครอย่างนี้ก็มีโอกาส จะ 1 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ก็ยังถือว่าเป็นโอกาส จากนั้นก็รีบกรอกใบสมัครแล้วส่งเลยค่ะ”


 

 
       มาถึงข้อนี้เชื่อว่าน้องๆ ชาว Dek-D หลายคนต้องอยากรู้แน่นอน ขอถามหน่อยว่า เราได้มีการเตรียมตัวสำหรับการสมัครอย่างไรบ้าง? 
 
        "ขั้นตอนแรกจะเป็นการเขียนใบสมัคร ซึ่งในใบสมัครเราจะต้องเขียนเรียงความ ความยาวไม่เกิน 100 คำ โดยจะถามถึงเหตุผลที่เราสมัครเข้าโครงการค่ะ ในพาร์ตนี้เราก็เขียนให้เป็นตัวเรา สื่อให้คณะกรรมการเห็นความตั้งใจของเราค่ะ และหลังจากเขียนเรียงความและกรอกข้อมูลในใบสมัครเสร็จ ก็ส่งไปที่กระทรวงการต่างประเทศค่ะ จากนั้นก็รอประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ ช่วงที่รอขาวก็เตรียมตัวเอาไว้ก่อน (มโนว่าตัวเองจะได้เข้ารอบ 555) มีไปฟังสัมภาษณ์ของผู้แทนเยาวชนปีที่แล้วที่ Facebook Fanpage “วิทยุสราญรมย์” ประเด็นที่ผู้แทนเยาวชนพูดในการสัมภาษณ์ก็จะมีเรื่องการเตรียมตัวของแต่ละคน ข้อเขียนปีที่แล้วออกสอบเรื่องอะไร และควรจะตอบประมาณไหน เราก็ดูมาเป็นแนวทางและปรับให้เข้ากับตัวเราเอง และนอกจากดูสัมภาษณ์ ขาวก็ได้ไปหาข้อมูลนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในตอนนี้ด้วย เพราะว่าเราไปในฐานะตัวแทนประเทศไทย ก็ควรจะมีความรู้และข้อมูลในระดับนึงค่ะ” 

 
        ถ้าใครได้ติดตามการสมัคร UNGA ในทุกๆ ปี อาจจะพอทราบมาบ้างว่ากระบวนการสมัครนั้นโหดมากกก มีหลายด่านที่ต้องทดสอบ อยากให้ขาวเล่าคร่าวๆ หน่อยว่า แต่ละด่านโหดจริงสมคำร่ำลือหรือเปล่า?  “โดยส่วนตัวขาวคิดว่าก็โหดพอสมควรเลยค่ะ 5555 สำหรับการคัดเลือก จะแบ่งเป็น 3 รอบหลักๆ ดังนี้ 
 
       รอบที่ 1: หลังจากประกาศว่าเราเข้ารอบแล้ว ด่านแรกก็จะเป็นการสอบข้อเขียนโดยให้เขียน essay ทั้งหมด 3 หน้า เวลาในการสอบ 3 ชั่วโมง จัดสอบที่กระทรวงต่างประเทศ ต้องบอกว่าก่อนที่เราจะมาสอบข้อเขียน ขาวเองก็ได้มีการเตรียมตัวมาเยอะพอสมควร มีการเก็งคำถามและซ้อมเขียนทุกวันเลยค่ะ แต่สิ่งที่เราเตรียมไป มันก็ไม่ได้ออกซะงั้น 5555 เพราะในช่วงเตรียมตัวก็จะดูเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นสังคม บวกกับหาข้อมูลเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงร.9 ค่ะ แต่ปีนี้คำถามก็จะเกี่ยวกับธีมของ International Youth Day ที่ว่า ‘Safe Spaces for Youth’ โดยถูกถามว่า “ในความหมายของเรามันหมายความว่าอะไร?” และอีกคำถามคือ “ถ้าคุณได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนเยาวชนแล้ว จะกลับมาทำอะไรให้ประเทศไทยบ้าง?” 
 
       รอบที่ 2: หลังจากสอบข้อเขียนแล้วจะประกาศผล 15 คนที่ได้เข้ารอบเพื่อไปสอบสัมภาษณ์ต่อ โมเมนต์ตอนที่เค้าประกาศว่ามีชื่อเราด้วย นี่กรี๊ดหนักมากเลยค่ะ ดีใจมากกก 5555  ><  สำหรับการสอบสัมภาษณ์จะแบ่งออกเป็น 2 พาร์ตค่ะ พาร์ตแรกจะเป็น Group discussion โดยทั้ง 15 คนจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน และทั้ง 5 คนนี้ก็จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นคำถามเดียวกันค่ะ โดยกรรมการจะยิงคำถามมาให้เราตอบ  ซึ่งไม่รู้จะเรียกว่าโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่ เพราะว่าขาวเป็นคนแรกเลยที่ต้องตอบ และตอนนั้นมีเวลาคิดแค่ 2 วินาทีเท่านั้น เรียกว่าถามปุ๊บตอบปั๊บเลยทีเดียว T__T
 
       ส่วนการสัมภาษณ์อีกพาร์ตนึงจะเป็น ‘Individual Interview’ รอบนี้จะเป็นการสัมภาษณ์เดี่ยวกับคณะกรรมการทั้งหมด 8 คน (ห้องสอบสัมภาษณ์แอร์เย็นมากกก) บอกตามตรงว่ารู้สึกตื่นเต้นมากค่ะ แต่เราก็ keep calm ยิ้มเยอะๆ แล้วก็พยายามตอบคำถามให้ชัดเจนและตรงประเด็นค่ะ อย่างรอบนี้ขาวคิดว่าเราต้องสร้างจุดเด่นให้กับตัวเราเอง ทำยังไงก็ได้ให้ต่างจากคนอื่นและคณะกรรมการจดจำเรา ขาวเลยทำโบรชัวร์แนะนำตัวเองพร้อมผลงานคร่าวๆ ไปแจกให้กรรมการได้อ่านค่ะ ส่วนคำถามที่ถูกถามในรอบนี้แต่ละคนก็จะได้รับแตกต่างกันไป ซึ่งจะเกี่ยวกับตัวเราและ background รวมถึงความสนใจของผู้สมัคร ยกตัวอย่างคำถามที่กรรมถามขาว โดนถามว่า “ทำไมถึงอยากเป็นครู?” 

 

Cr. Thailand Youth Delegates to the United Nations 
 
      คำถามที่ 2 ถูกถามว่า “ในสังคมไทยปัจจุบันกำลังเข้าสู่วังคมผู้สูงอายุ รวมถึงประเทศอื่นๆ ก็ประสบกับสภาวะนี้เช่นกัน ในฐานะที่คุณเป็นเยาวชน คุณมองปัญหานี้อย่างไร และจะแก้ไขอย่างไรบ้าง?” (อ่านแล้วมีคำตอบในใจอย่างไรกันบ้างคะ?) 
 
      และอีกหนึ่งคำถามที่ขาวโดนถามคือ “ถ้าเราได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนไปร่วมประชุมใน UNGA แล้วมีเพื่อนเยาวชนจากประเทศอื่นถามว่าสถานการณ์การเมืองไทยตอนนี้เป็นอย่างไร เราจะตอบว่ายังไง?” ซึ่งคำถามนี้นอกจากขาวจะถูกถามในห้องสัมภาษณ์แล้ว ยังมีเพื่อนเยาวชนประเทศอื่นมาถามเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยด้วย ยิ่งทำให้ขาวตระหนักว่า ในฐานะตัวเเทนเยาวชน เราจะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเราหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสถานการณ์การเมือง เพราะมักจะเป็น topic ที่เยาวชนจากประเทศต่างๆ ชอบ discuss และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  
 
       รอบที่ 3: หลังจากสอบสัมภาษณ์ผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะประกาศผลว่าใครคือ 4 คนสุดท้ายที่จะได้มาฝึกงานที่กรมองค์การระหว่างประเทศ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ จริงๆ ขาวก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเข้ารอบนี้เลยด้วยซ้ำ เพราะหลังจากสอบสัมภาษณ์ไปรอบที่แล้ว รู้สึกผิดหวังตัวเองที่ตอบได้ไม่ดีเท่าไหร่ แต่พอผลออกมาว่ารอบได้เข้ารอบมาฝึกงาน ก็ดีใจมากค่ะ ความฝันใกล้เป็นจริงแล้ว T__T 
 
        “สำหรับการฝึกงานที่องค์การระหว่างประเทศ ขาวก็ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เยอะมากค่ะ ในตอนแรกเราเองก็มีความกังวลเยอะมากกก เพราะเราเองไม่ได้เรียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมา แต่พอเราได้เข้าไปฝึกงานจริงๆ ความกังวลก็หายไปค่ะ พี่ๆ ในกรมฯ ใจดีมากค่ะ คอยสอนงานเราและให้ความรู้เรื่อง UN เราเพิ่มเติมด้วย บวกกับ partner ที่ฝึกงานคู่กับขาวก็ช่วยสอนขาวในหลายๆ เรื่องค่ะ เรียกได้ว่าระยะเวลา 2 สัปดาห์ขาวได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่สามารถหาได้จากห้องเรียนค่ะ”
 
         "และหลังจากที่เราฝึกงานเสร็จ เค้าก็จะประกาศว่า 2 คนที่ได้เป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมประชุม UNGA ว่าเป็นใคร ซึ่งก็เป็นขาวกับน้องขาล มุนินทร วัฒนายากร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค่ะ (ตอนประกาศผลร้องไห้เลย TT)" 

 


 
         มาถึงตรงนี้พี่และชาว Dek-D อยากรู้แล้วล่ะว่าเราได้ไปกล่าวถ้อยคำแถลงอะไรในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งนี้?
 
        “สำหรับถ้อยคำแถลงที่นำไปพูด ขาวกับขาลมีเวลาเตรียมประมาณ 3 สัปดาห์ค่ะ ซึ่งในปีนี้เรา 2 คนได้ทำ google form ใน Fanpage  Thailand Youth Delegates to the United Nations  เพื่อสอบถามความคิดเห็นของเยาวชนไทยว่าเยาวชนไทยให้ความสำคัญกับประเด็นใดมากที่สุด โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า “เยาวชนไทยอยากบอกอะไรกับสหประชาชาติ” ซึ่งจากสำรวจพบว่าเยาวชนไทยส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาค่ะ"
 
       "และพอเราได้รวบรวมประเด็นต่างๆ แล้ว ขาวกับขาลก็เริ่มวางโครงร่างการเขียน statement ซึ่งเราอยากจะพูดในหลายประเด็นมาก แต่เรามีข้อจำกัดว่า statement จะต้องมีความยาวไม่เกิน 700 คำ จึงจะต้องมีการตรวจเช็กหลายรอบเพื่อที่ว่าเราจะใช้ทุกคำใน statement ในการสื่อความหมายที่ตรงประเด็นค่ะ"

 


 
       อย่างที่บอกไปว่า ภารกิจหลักของผู้แทนเยาวชนคือ การกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสหประชาชาติ ซึ่งจะพูดใน agenda “Social Development (การพัฒนาสังคม)” โดยในถ้อยแถลงของผู้แทนเยาวชนไทย เราได้พูดถึงแนวทางการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนโดยเน้นหลักการ 3P ค่ะ คือ
 
(1) People - การพัฒนาขีดความสามารถของคนด้วยการศึกษาและการฝึกอบรม โดยมุ่งเน้นให้คนในสังคมมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต
(2) Planet - การปกป้องธรรมชาติเพื่อก้าวพ้นวัฏจักรแห่งการสูญเสียทรัพยากรอันเป็นสาเหตุของปัญหาความยากจนและความขัดแย้ง
(3) Partnership - การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมโดยใช้ความรู้ความสามารถที่หลากหลาย ดังเช่นกรณีการช่วยเหลือ “ทีมหมูป่า” เป็นตัวอย่างของความสำเร็จของการร่วมมือ

 
       การไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ไม่ได้มีแค่การกล่าวถ้อยคำแถลงในที่ประชุมเท่านั้น ว่าแต่เราได้ทำกิจกรรมอื่นๆ อะไรอีกบ้าง?  “นอกจากการกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม ก็จะมีร่วมทำกิจกรรมคู่ขนานที่ทาง UN จัดขึ้นมาค่ะ อย่างที่ขาวได้เข้าร่วม ก็จะมี ‘Informal meeting’ ซึ่งจะเป็นการประชุมที่จะพูดคุยถึงการร่างข้อมติในหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อ Volumterism, Right of Child ซึ่งหัวข้อที่ขาวสนใจคือ Protecting children from bullying ค่ะ เพราะเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรง แล้วมันทำให้เราได้มุมมองและแนวคิดใหม่ๆ โดยส่วนตัวเราเองมองว่าปัญหาการ bully ในประเทศไทยมีเยอะมาก แต่พวกเราไม่ค่อยตระหนักว่า การที่เด็กคนนึงถูก bully โดยเพื่อน ครอบครัว หรือพ่อแม่ มันจะทิ้งล่องลอยความทรงจำที่ไม่ดีให้กับเด็ก ทำให้เด็กขาดความมั่นใจ และอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมได้ในอนาคต"
 
       "และนอกจากการเข้าร่วม Informal meeting แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดโดยองค์กรของ UN หรือคณะผู้แทนถาวรประเทศอื่นๆ เช่น กิจกรรม Breakfast ซึ่งเป็นการทานอาหารเช้าร่วมกับผู้ที่เข้าร่วมงานจากหลายประเทศ โดยจะมีการพูดคุยและอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในสังคมร่วมกันค่ะ เรียกว่าได้เปิดมุมมองใหม่ๆ เพียบเลย”

 

 
       เล่าถึงกิจกรรมที่เข้าร่วมไปพอหอมปากหอมคอแล้ว ถามถึงความประทับใจหรือประสบการณ์อื่นๆ บ้างดีกว่า… “ถ้าให้เล่าถึงความประทับใจทั้งหมดที่ได้จากโครงการคิดว่า 3 วันก็ไม่น่าจะพอค่ะ (ฮา) ส่วนตัวเลยมันเป็นอะไรที่เราประทับใจมากๆ เพราะว่ามันเป็นหนึ่งในโอกาสที่ดีที่สุดของชีวิตที่ขาวเคยได้รับ เพราะทำให้เราได้เจอเพื่อนๆ ผู้แทนเยาวชนจากประเทศอื่นๆ ได้ไปเห็นบรรยายกาศการประชุมใน UN ได้พูดคุยกับนักการทูตหรือผู้นำระดับโลก และที่สำคัญได้ร่วมถ่ายรูปกับเลขาธิการสหประชาชาติด้วย เป็นอะไรที่ exclusive มากค่ะ โดยตัวแทนเยาวชนได้กล่าวถ้อยแถลงว่า พวกเราอยากเห็นเยาวชนได้เข้าร่วมโครงการ Youth Delegate มากขึ้น และท่านได้บอกกับพวกเราว่าท่านจะเขียนจดหมายไปถึงประเทศสมาชิกเพื่อให้ส่งตัวแทนเยาวชนมาร่วม UNGA ในปีถัดๆ ไป ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ได้จะได้เพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชนในเวทีระดับโลกมากยิ่งขึ้น :)”    
 
        “และอีก 1 โมเมนต์แห่งความทรงจำคือ ในวันสุดท้ายของขาวใน  UN วันนั้นเป็นวันว่าง 1 วันก่อนเดินทางกลับค่ะ ขาวก็เลยแวะเข้าไปที่ UN เพื่อทบทวนบรรยากาศและความทรงจำเก่าๆ ที่เราได้มาทำกิจกรรมที่นี่ ได้เดินไปดูรอบๆ UN ห้องประชุม และสถานที่ที่เราได้มีโอกาสมาสัมผัสเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ มันเป็นความประทับใจที่ยากจะบรรยายได้ รู้สึกภาคภูมิใจที่ครั้งนึงเราได้มีโอกาสเข้ามาใน UN ในฐานะ Youth Delegate และพอเดินๆไปสักพักก็ปล่อยโฮกลาง UN เลยค่ะ T__T รู้สึกเศร้าที่จะต้องจากที่นี่ไป แต่ขาวก็เชื่อว่าถึงแม้การเป็น Youth Delegate ใน UNGA73 ของขาวจะจบลง แต่สำหรับขาวมันคือจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจและแรงผลักดันที่ทำให้ขาวอยากจะทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น โอกาสที่ขาวได้มานี้จะไม่มีความหมายเลย ถ้าหลังจากวันนี้ไปขาวไม่นำสิ่งที่ขาวได้เรียนรู้ มาสร้างประโยชน์ให้กับส่วนร่วมค่ะ” 

 

 
       มาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว พี่เชื่อว่าน้องๆ ชาว Dek-D ที่อ่านมาถึงตรงนี้คงได้รับแรงบันดาลใจเยอะมาก น้องขาวอยากฝากอะไรถึงน้องๆ ที่มีความฝันอยากไปเข้าร่วม UNGA แบบเราบ้าง?
 
       “อันดับแรกเลย สำหรับคนที่อยากสมัครโครงการ UNGA ขาวอยากบอกว่า อย่าเพิ่งรีบตัดสินตัวเองว่าเราทำไม่ได้ อย่าคิดว่าเราสู้คนอื่นไม่ได้ ความคิดเหล่านั้นมันเป็นอุปสรรคกีดกันไม่ให้เราไปถึงฝันของเรา ถ้าคิดแบบนั้นเราแพ้ตั้งแต่เราอยู่ในบ้านแล้วค่ะ ไม่ต้องกลัวที่จะลองทำสิ่งที่ท้าทาย และไม่ต้องกลัวที่จะผิดหวัง ถ้าเราพยายามแล้วไม่ได้ก็ถือว่าเราได้ประสบการณ์ชีวิตค่ะ” 
 
        “และสำหรับชาว Dek-D ที่มีความฝัน ไม่ว่าฝันนั้นจะเป็นอะไร ขอให้มุ่งมั่นและพยายามทำตามความฝันของตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อทำเพื่อตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมทำเพื่อคนอื่น เพื่อสังคมและประเทศชาติของเราด้วยนะคะ เพราะหน้าที่ของการพัฒนาประเทศไม่ได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น แต่มันคือหน้าที่ของประชาชน และเยาวชนทุกคนค่ะ สู้ๆ ค่ะ

 


    
       ได้ฟังที่น้องวรรณดีเล่าประสบการณ์แล้ว พี่เองยอมรับเลยว่า น้องเป็นคนที่เก่งและมีความมุ่งมั่นมาก แถมเป็นคนที่มีทัศนคติดีมากกกก พี่เชื่อว่าน้องๆ ที่ได้อ่านบทสัมภาณ์ของน้องขาวก็น่าจะรู้สึกเช่นเดียวกันและคิดว่าหลายคนคงได้รับแรงบันดาลใจไปเพียบเลยใช่มั้ยครับ? ส่วนใครที่มีความฝันอยากเข้าร่วมประชุม UNGA ในปีถัดๆ ไปก็เตรียมตัวไว้ให้พร้อมเลยนะครับ ไม่แน่นะ ในบทความต่อไปอาจจะเป็นน้องๆ เองที่มาเล่าประสบการณ์ให้พี่และเพื่อนๆ ชาว Dek-D ได้อ่านกันก็ได้นะ :)
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด