เตรียมเข้าคูหา! รู้จัก 20 ศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับการ "เลือกตั้ง"


       สวัสดีค่ะชาว Dek-D ทุกคน นับถอยหลังอีกไม่ถึง 2 เดือนก็จะถึงวันที่คนไทยหลายคนตั้งตารอกันแล้ว ใช่แล้วค่ะ พี่กำลังพูดถึง “วันเลือกตั้ง” นั่นเอง น้องๆ บางคนอาจมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เพราะอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเลือกตั้ง แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาชนทุกคนในประเทศค่ะ ยิ่งน้องๆ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ยิ่งต้องใส่ใจเลยล่ะ 
 
       แน่นอนว่าพอเป็นเรื่องในวงการเฉพาะอย่างการเมือง ศัพท์ต่างๆ ก็ต้องพิเศษไปด้วย ไม่ใช่แค่ศัพท์ภาษาไทย แต่ภาษาอังกฤษก็เช่นกัน วันนี้ พี่เยลลี่ จะพาน้องๆ ไปดูศัพท์ภาษาอังกฤษสำคัญๆ ที่ใช้ในช่วงเลือกตั้งแบบนี้ จะมีคำว่าอะไรบ้าง ไปดูกันเลยดีกว่า!

 

Photo Credit: https://www.ect.go.th/
 

1. Election 


       จั่วหัวถึงเรื่องเลือกตั้งขนาดนี้ คำแรกที่เราจะเริ่มก็ต้องคำว่า “การเลือกตั้ง” นี่แหละค่ะ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Election แต่ถ้าอยากสื่อถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่ประชาชนพร้อมใจกันออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงทั่วประเทศแบบที่กำลังจะจัดขึ้น จะเรียกว่า General election ก็ได้เช่นกัน  
 
       ในกรณีที่มีส.ส.หรือส.ว.พ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะลาออกหรือเสียชีวิต จะต้องมีการเลือกตั้งเพื่อหาผู้แทนคนใหม่เข้าไปทำหน้าที่ในตำแหน่งว่าง ซึ่งการเลือกตั้งนี้จะเรียกว่า “เลือกตั้งซ่อม” หรือ By-election ค่ะ

 

2. Candidate  


       หากมีการเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องมี “ผู้สมัครรับเลือกตั้ง” ใช่มั้ยล่ะคะ ถ้าใครที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งของอเมริกาก่อนหน้านี้พี่ว่าน่าจะได้ยินคำว่า Candidate บ่อยๆ ที่จริงคำนี้ถือว่าเป็นคำครอบจักรวาลเลยค่ะ เพราะไม่ได้มีความหมายแค่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่จะหมายถึงผู้สมัครในตำแหน่งงานหรือผู้สมัครท้าชิงต่างๆ ก็ได้เหมือนกัน

 

3. Run for election


        มาต่อกันที่ Run for election ค่ะ สำหรับข้อนี้เป็นกริยา หมายถึง “ลงสมัครรับเลือกตั้ง” นั่นเอง หรือถ้าน้องๆ อยากระบุเจาะจงเป็นตำแหน่งที่ลงสมัครไปเลยก็ได้เหมือนกัน เช่น Run for President ลงสมัครเป็นประธานาธิบดี 

 

4. Campaign 


       ช่วงฤดูเลือกตั้ง Campaign หรือ “การหาเสียง” ถือว่าสำคัญมากๆ บรรดาพรรคการเมืองต้องออกเดินสายเพื่อเรียกคะแนนนิยมให้กับพรรคตัวเอง ซึ่งวิธีหาเสียงก็มีมากมายเลยค่ะ ที่นิยมทำกันคงไม่พ้นตั้งเวทีปราศรัยและใช้สื่อโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าพูดถึงวิธีสุดคลาสสิกบางคนน่าจะเคยเห็นรถหาเสียงที่เปิดโทรโข่งวิ่งไปตามถนน กับทำติดป้ายผู้ลงสมัครตามเสานั่นเอง (แต่วิธีนี้ถ้าป้ายใหญ่มากๆ บังทางเดินเท้าไปหมดก็ลำบากประชาชนไปอีกค่ะ T _ T) 

 

5. Policy 


       พูดถึงการหาเสียง การที่จะเอาชนะใจประชาชนให้หันมาเลือกพรรคตัวเองอย่างโปร่งใส ก็ต้องสู้กันด้วย Policy หรือ “นโยบาย” นี่แหละ ข้อนี้สำคัญมากๆ เลย เพราะการจะเลือกตัวแทนประชาชนขึ้นมาบริหารประเทศ เราต้องมองถึงวิสัยทัศน์ในระยะยาวด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ อย่าลืมศึกษานโยบายของแต่ละพรรคกันด้วยนะ :D

 

6. Eligible voter / Elector


       ใครที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ จะถือเป็น Eligible voter หรือ Elector ที่แปลว่า “ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” ทันที น้องๆ ที่อายุครบแล้วก็อย่าลืมออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงครั้งนี้กันนะคะ เพราะถือเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศเลย 

 

7. Electorate 


       ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะต้องมีการแบ่ง “เขตเลือกตั้ง” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Electorate ค่ะ ซึ่งการแบ่งเขตเลือกตั้งนี้จะเป็นตัวกำหนดจำนวนส.ส.ในแต่ละจังหวัด ยิ่งถ้าเป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎร์เยอะ เขตเลือกตั้งก็จะเยอะตามไปด้วย อย่างการเลือกตั้งที่กำลังจะจัดขึ้น กทม.มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 30 เขต เท่ากับว่ามีจำนวนส.ส.ได้ 30 คนนั่นเองค่ะ 

 

8. Polling station / Polling place


       สำหรับคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง พี่ขอแนะนำให้เช็คว่าชื่อตัวอยู่ที่ “หน่วยเลือกตั้ง” ไหนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้เดินทางไปลงคะแนนเสียงได้ถูกที่ค่ะ เพราะเลือกตั้งทีไรมีคนไปผิดหน่วยทุกคน ส่วนในภาษาอังกฤษน้องๆ จะเรียกว่า Polling station หรือ Polling place ก็ได้เหมือนกันเลย  

 

9. Polling booth


       มาต่อกันที่คำศัพท์ Polling booth ที่แปลว่า “คูหาเลือกตั้ง” กันต่อ เจ้าคูหาที่ว่านี้คือโต๊ะที่มีผนังกั้น 3 ด้าน ไว้ป้องกันคนอื่นเห็นว่าเราใช้สิทธิ์เลือกใครไป ถ้านึกไม่ออกลองนึกถึงเวลาเลือกตั้งประธานนักเรียนก็ได้ค่ะ หน้าตาเหมือนกันเด๊ะเลย    

 

Photo Credit: https://unsplash.com/

 

10. Ballot


       คำว่า “บัตรเลือกตั้ง” ในภาษาอังกฤษไม่ได้เรียกว่า Card หรือ Ticket แบบทั่วๆ ไป เพราะเค้ามีศัพท์เฉพาะคือ Ballot ค่ะ ส่วนถ้าจะพูดถึงกริยาว่า “หย่อนบัตรเลือกตั้ง” สามารถใช้ว่า Cast a ballot ได้เลย   

 

11. Ballot box


      พอใช้สิทธิ์กาหมายเลขที่เราเลือกเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องหย่อนบัตรลง “หีบบัตรเลือกตั้ง” ที่เค้าตั้งไว้เนอะ คำนี้ในภาษาอังกฤษไม่ยาก เพียงแค่เติม Box เข้ามากลายเป็นคำว่า Ballot box ง่ายๆ แค่นี้เลย เพราะส่วนที่ยากคือต้องจำคำว่า Ballot ให้ได้ก่อนค่ะ 5555

 

12. Outcome 


       ที่จริง Outcome นั้นในความหมายทั่วไปหมายถึง ผลลัพธ์ อยู่แล้วค่ะ แต่ถ้าพูดถึง “ผลการเลือกตั้ง” เราสามารถใช้ศัพท์คำนี้ได้เช่นกัน

 

13. Prime minister 

       สำหรับผู้นำในระบอบประชาธิปไตยจะมี 2 ประเภท คือ “นายกรัฐมนตรี” กับ ประธานาธิบดี ซึ่งในภาษาอังกฤษทั้ง 2 คำนี้ก็เป็นคนละคำกันนะคะ บางคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า President มากกว่าเพราะเวลาเสพข่าวการเมืองเป็นภาษาอังกฤษ เรามักได้ยินคนพูดถึงฝั่งอเมริกาที่ใช้ระบบประธานาธิบดีซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตำแหน่งนายกฯ แบบฝั่งอังกฤษจะเรียกว่า Prime minister ค่ะ จำไว้ให้ขึ้นใจเลยย

 

14. Member of the House of Representatives 


       โดยปกติแล้ว นายกรัฐมนตรีของไทยจะมาจากเหล่า “ส.ส.” หรือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ที่คนไทยเลือกตั้งเข้าไป ภาษาอังกฤษเรียกว่า Member of the House of Representatives นั่นเองค่ะ ยาวมากกก แต่ไม่เกินความสามารถในการจำของน้องๆ แน่นอน!

 

15. Senator 


       นอกจากส.ส.แล้ว รัฐสภายังต้องมี Senator ที่หมายถึง “ส.ว.” หรือ “สมาชิกวุฒิสภา” ด้วยเหมือนกันค่ะ

 

16. Political party 


       ถ้าพี่บอกว่าตอนนี้เหล่า Political Party กำลังหาเสียงกันใหญ่เลย พอเดากันได้มั้ยคะว่าคำภาษาอังกฤษนี้แปลว่าอะไร? ใช่แล้วค่ะ แปลว่า “พรรคการเมือง” นั่นเอง ไม่ใช่ปาร์ตี้การเมืองนะ 5555 เพราะคำว่า Party นอกจากจะหมายถึงงานเลี้ยงสังสรรค์ ยังหมายถึง กลุ่มคน ได้เหมือนกัน หรือบางทีก็เรียกพรรคการเมืองว่า Party เฉยๆ เลยก็ได้ค่ะ

 

17. Parliament 


       ขยับขยายมาที่คำว่า Parliament กันบ้าง คำนี้ใช้เรียก ส.ส. กับ ส.ว. รวมกัน หมายถึง “รัฐสภา” นั่นเอง

 

18. Constitution 


       Constitution หมายถึง “รัฐธรรมนูญ” ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศค่ะ เพราะฉะนั้นถ้ามีกฎหมายอื่นใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ จะมาบังคับใช้ไม่ได้นะ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศไทยคือฉบับที่ 20 ค่ะ เยอะไม่ใช่เล่นเลย ^^;;

 

19. Government 


       ฝ่ายที่มีอำนาจในการบริหารประเทศก็คือ Government หรือ “รัฐบาล” ค่ะ พี่ว่าคำนี้ชาวเรียนต่อนอกน่าจะรู้จักกันดี โดยเฉพาะคนที่มองหาทุนรัฐบาลจากประเทศต่างๆ ต้องจำคำนี้ไว้ให้ขึ้นใจ เพราะทุนจากรัฐบาลมักจะเป็นทุนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดเลยล่ะค่ะ  

 

20. Opposition 


       มาถึงคำสุดท้ายกันแล้ว มีฝ่ายรัฐบาลก็ต้องมี “ฝ่ายค้าน” ใช่มั้ยล่ะคะ ซึ่งคำว่าฝ่ายค้านในภาษาอังกฤษนั้นไม่ยากเลย เพราะเป็นฝ่ายที่ตรงข้ามกับรัฐบาล เลยใช้คำว่า Opposition นั่นเองค่ะ 

 

Photo Credit: 
https://www.ect.go.th/


 
       เป็นยังไงกันบ้างคำสำหรับศัพท์เซ็ต “เลือกตั้ง” ที่พี่เอามาฝากในวันนี้ มีหลายๆ คำเลยที่พี่เองเพิ่งรู้จักเหมือนกัน อย่างคำว่า Ballot นี่สารภาพว่าไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย 5555 อีกอย่างพี่ว่าช่วงนี้มีชาวต่างชาติติดตามการเลือกตั้งในประเทศไทยอยู่เหมือนกันนะ รู้จักศัพท์เหล่านี้แล้วคราวนี้ก็สามารถไปเล่าให้เค้าฟังได้เล้ย! 

 

 
พี่เยลลี่
พี่เยลลี่ - Columnist อักษรศาสตร์ เอกมโน โทติ่ง หิวชานมตลอดเวลาและเป็นทาสลูกน้องแมว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด