"ซูซานา คาปูโตวา" จากทนายสาวสู่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของสโลวาเกีย

       สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคน ช่วงนี้ไม่ใช่แค่การเมืองในประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังดุเดือด แต่การเมืองที่ประเทศสโลวาเกียก็น่าติดตามเช่นกัน เพราะเค้าเพิ่งได้ประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์กันไปสดๆ ร้อนๆ เลยค่ะ ถ้าอยากรู้แล้วว่าเธอคนนี้คือใคร ตาม พี่เยลลี่ มารู้จักเธอกันได้เลยค่ะ!

 

Photo Credit: https://www.bbc.com/
 
       หญิงแกร่งที่พี่พูดถึงนี้ มีชื่อว่า “ซูซานา คาปูโตวา” ค่ะ ด้วยวัยเพียง 45 ปี ทำให้เธอกลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก รวมถึงเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโลวาเกีย ขอบอกเลยว่าประวัติของเธอนั้นก็ไม่ธรรมดา เพราะคาปูโตวามีอาชีพเป็นทนายความ และยังเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านการคอร์รัปชันอีกด้วยค่ะ
 
       คาปูโตวาเริ่มมีชื่อเสียงเมื่อเธอรับเป็นทนายความในคดีพื้นที่ฝังกลบขยะผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าคดีที่ว่านี้ต่อสู้ยืดเยื้อกินเวลาถึง 14 ปีเลยล่ะค่ะ แต่ถึงจะคร่ำหวอดในวงการกฎหมายมากว่า 20 ปี คาปูโตวาแทบไม่มีประสบการณ์ในทางด้านการเมืองเลย จะเรียกว่าเป็นน้องใหม่ในวงการนี้เลยก็ได้ เธออยู่ในพรรคเล็กๆ อย่าง Progressive Slovakia ที่ไม่มีแม้กระทั่งส.ส.สักคนในรัฐสภา ถึงอย่างนั้นเธอกลับชนะคู่แข่งอย่าง “มารอส เซฟโควิก” ซึ่งเป็นถึงรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และยังเป็นผู้สมัครที่มาจากพรรคสเมอร์ หรือพรรครัฐบาลที่ครองเสียงข้างมากมาตั้งแต่ปี 2006 อีกด้วย ขอบอกว่าเธอชนะมาด้วยคะแนนที่มากถึง 58% เลยล่ะค่ะ
 

Photo Credit: https://www.politico.eu/
 
       ว่าแต่สงสัยมั้ยคะว่าทำไมการเมืองของสโลวาเกียถึงได้พลิกหน้าประวัติศาสตร์ขนาดนี้? สาเหตุเป็นเพราะมีการฆาตกรรมนักข่าวที่ชื่อ ยาน คูเซียก และคู่หมั้นที่บ้านพักเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักข่าวรายนี้กำลังขุดคุ้ยประเด็นความเกี่ยวข้องระหว่างขบวนการอาชญากรรมและนักการเมืองอยู่ ทำให้ประชาชนชาวสโลวักออกมาเดินถนนประท้วงเป็นการใหญ่ รวมไปถึงบีบให้ โรเบิร์ต ฟิโก ที่เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่งด้วย        
 
       จุดนี้เองผลักดันให้คาปูโตวาตั้งใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เธอออกหาเสียงด้วยสโลแกน “ยืนหยัดต่อต้านความชั่วร้าย” (Stand up against evil) โดยตั้งใจจะพาประพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ซึ่งนโยบายนี้ก็โดนใจหนุ่มสาวชาวสโลวัก รววมถึงผู้ที่มีการศึกษาไปเต็มๆ เพราะประชาชนต่างเบื่อหน่ายกับการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ในระบอบการปกครองแบบกึ่งรัฐสภา ตำแหน่งประธานาธิบดีจะมีอำนาจไม่เท่านายกรัฐมนตรี แต่สามารถแต่งตั้งหรือถอดถอนนายกฯ รวมไปถึงอนุมัติกฎหมายต่างๆ ได้ พูดง่ายๆ ก็คือคาปูโตวาจะมีอำนาจในการยับยั้งความไม่โปร่งใสที่อาจเกิดขึ้นได้นั่นเอง
 

ป้ายหาเสียงเขียนว่า "Stand up against evil, together we can do it"
Photo Credit: https://www.bbc.com/
 
      นอกจากในเรื่องของการเมืองแล้ว เธอมีความคิดสมัยใหม่มากๆ ค่ะ ที่สโลวาเกียนั้นการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันหรือการทำแท้งยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่คาปูโตวากลับออกมารณรงค์เรื่องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ รวมถึงต่อต้านการแบนการทำแท้งด้วย แถมเธอยังกล่าวปราศรัยขอบคุณเป็นภาษาสโลวัก ฮังกาเรียน เช็ก โรมาเนียน และรูทีเนียนอีกต่างหาก แสดงให้เห็นว่าเธอให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยในประเทศไม่น้อยเลย 

 
       ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่สโลวาเกียได้คนที่มีวิสัยทัศน์มาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารประเทศนะคะ จริงๆ แล้วการเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน เพราะสิทธิ์เสียงของประชาชนมีคุณค่ามากพอที่จะขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างการเลือกประธานาธิบดีของสโลวาเกียนี่แหละค่ะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะคะ ^^ 


 
Sources:
https://www.bbc.com/
https://www.politico.eu/
https://www.bbc.com/
https://www.dw.com/
 
พี่เยลลี่
พี่เยลลี่ - Columnist อักษรศาสตร์ เอกมโน โทติ่ง หิวชานมตลอดเวลาและเป็นทาสลูกน้องแมว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น