'จูน' แฟนคลับ F4 ที่เรียนจีนด้วยตัวเอง จนได้ทุนไปเรียน IR ในมหา'ลัยที่ดีที่สุดในไต้หวัน!



 
        สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าใครที่ฝันอยากเรียนต่อต่างประเทศ แต่รู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ วันนี้พี่จะไปรู้จักรุ่นพี่คนหนึ่งที่หัดเรียนภาษาจีนด้วยตัวเองในยุคที่สื่อการเรียนไม่ได้แพร่หลายเหมือนตอนนี้ (สมัยนั้นยังไม่มียูทูบ) เรียกว่าพยายามทุกวิถีทาง ใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบตัวที่เราเองอาจมองข้ามไปด้วยซ้ำ แล้วในที่สุด พี่เขาก็ได้ทุนรัฐบาลไต้หวันไปเรียนสายรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไต้หวัน! บทสัมภาษณ์นี้มีทั้งรีวิวขอทุน การเรียน สภาพแวดล้อม รวมถึงบอกเล่าธรรมชาติของผู้คนไต้หวันที่เกิดจากการหลอมรวมข้อดีของคนหลายชนชาติ ทั้งจีน ญี่ปุ่น และอเมริกัน จะน่าสนใจขนาดไหนนั้น ตามมาอ่านเพื่อเตรียมพร้อมและเก็บแรงบันดาลใจกันค่ะ
 



 

เมื่อ F4 จุดประกายให้อยากไปเรียนไต้หวัน
 

         “สวัสดีค่ะ พี่ชื่อ ‘จูน’ จุฑามาศ ขอประเสริฐ อายุ 28 ปี จบศิลป์-จีน จาก รร.สุราษฎร์พิทยา แล้วได้ทุนรัฐบาลไต้หวันไปเรียน ป.ตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ภาคภาษาจีน) ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University: NTU)”
 
         พี่จูนเริ่มเล่าจุดเริ่มต้นให้ฟังว่า “เราถูกจุดประกายด้วย 4 หนุ่ม F4 ค่ะ 555 (F4 หรือ 'เอฟโฟร์' คือวงบอยแบนด์ชื่อดังจากไต้หวัน) เหตุผลอาจฟังดูติ๊งต๊อง แต่เขาทำให้เรามุ่งมั่นมากกว่าสักวันจะต้องไปเหยียบแผ่นดินไต้หวัน ได้เจอพวกเขาและพูดคุยกับเขารู้เรื่อง และอีกเหตุผลหลักคือ เราเกิดในบ้านคนจีน แต่ตั้งแต่รุ่นพี่ลงไปไม่มีใครพูดจีนกลางได้เลย เราเสียดายตรงนี้มากเลยอยากสืบสานภาษาของตระกูล เพราะคิดว่าต้องได้ใช้ประโยชน์แน่ๆ” ปรากฏว่าสิ่งที่คาดไว้ไม่ผิด เพราะ 10 ปีหลังจากนั้นเป็นช่วงที่จีนยิ่งใหญ่พอดี เรียกได้ว่าพอจบมามีงานรอเยอะจนเลือกไม่ถูก ได้สัมผัสหน้าที่ที่หลากหลาย เก็บประสบการณ์หายากอีกเพียบ!





 

พาร์ตมหากาพย์เรียนจีนด้วยตัวเอง

เก็บยันเศษหนังสือพิมพ์ยันถุงกล้วยแขก!
 

         “พี่เริ่มเรียนภาษาจีนเองตอน ม.2-3 มั่วเองเรื่อยๆ ตอนนั้นทรัพยากรมีจำกัดมาก แล้วเราก็ไม่ได้มีโอกาสไปต่างประเทศ เลยพยายามกอบโกยจากสิ่งรอบตัวให้มากที่สุด เริ่มจากถามชื่อภาษาจีนของเราจากคุณแม่ (ชื่อจีนของเราคือ 許麗麗แล้วมาหัดเขียนและพิมพ์ในคอมพ์ พอปริ๊นท์ออกมาดูก็นั่งหลงใหลชื่อตัวเอง 5555 หลังจากนั้นมาพี่ก็เริ่มเก็บทุกอย่าง ทั้งถุงกล้วยแขก เศษกระดาษ เศษหนังสือพิมพ์ขาดเป็นชิ้นๆ ก็เก็บ ห่อธูปที่มีรูปเจ้าแม่กวนอิม นิตยสาร เก็บทุกอย่างที่มีตัวอักษรจีน รวมได้เป็นห่อๆ อะ จากนั้นก็ขอพ่อซื้อหนังสือแกรมมาร์เบื้องต้นกับดิกชันนารีเล่มใหญ่ๆ แล้วมานั่งคัดวันนึงเป็น 100 ตัว เวลาคัดนี่คัดด้วยใจนะ ไม่ได้สักแต่คัดให้จบ ตอนนั้นยังไม่ได้เรียนศิลป์-จีนด้วยซ้ำ"
 
         “ยุคนั้นอินเทอร์เน็ตเข้ามาแล้ว พี่เซิร์ชห้องแช็ตแล้วพิมพ์คุยกับคนจีนแบบมั่วๆ ดูรูปประโยคจากเขาแล้วมาฝึกซ้อม หาโหลด Podcast ที่เป็นบทสนทนาพื้นฐานมาฟัง หนังพี่ก็ดูเปาบุ้นจิ้นทางช่อง 3 ที่มีพากย์ไทยแล้วมีซับวิ่งได้ ถ้าเห็นตัวไหนอ่านออกก็จดเป็นประโยคใส่สมุด” พี่จูนฝึกภาษาจากการดูหนังและซีรี่ส์ยังไงบ้าง? “พี่ดูแบบมีซับนะ เพราะวิธีการเรียนรู้ของพี่คือจำเป็นภาพ เลยต้องใช้สื่อการมองเห็น + ฟังการออกเสียง พอเจอประโยคถูกใจก็จดไว้”
 
         “จริงๆ พี่ต้องขอบคุณหนังสือของครูเคท (เนตรปรียา ชุมไชโย) เขาสอนให้เราฟัง ฟัง และฟังไปเรื่อยๆ เราเอาปรับใช้กับการเรียนภาษาจีน ตอนแรกฟังไม่ออกก็ฟังต่อไป นอนตอนกลางคืนก็ใส่คาหูจนตื่นเช้า จนซึมซับไม่รู้ตัว มาวันนึงก็ฟังเข้าใจขึ้นมาเอง มันเกิดจากที่เราพยายามใช้งานจริงด้วย พี่จะฝึกพูดกับตัวเองตลอดเวลา โดยจินตนาการว่าอยากพูดอะไรกับ F4 เช่น ‘ฉันชอบคุณจังเลย’ และคำพูดอื่นๆ อีกเยอะมากที่ผลักดันให้เราหาวิธียังไงก็ได้มาแปลประโยคเหล่านั้นจากไทยเป็นจีน มาวันนึงเราเปิดวิทยุออนไลน์แล้วฟังออก 1 ประโยค วินาทีนั้นคือดีใจจนบ้าไปแล้ววว”
 
         พี่ใช้เวลาฝึกจากสิ่งใกล้ตัวแบบนี้นานเท่าไหร่ถึงจะเริ่มเข้าที่? “น่าจะสัก 3 ปี แต่พี่อยู่ไทยตลอด ไม่เจอสถานการณ์ที่ต้องใช้ภาษาจีน จน ม.5 สวรรค์ถึงจะส่งเพื่อนคนจีนมาเรียนด้วย 1 คน ชื่อ 'โอว เยว่ เหวิน' ต้องขอบคุณเขามากๆ ที่เป็นแรงผลักดัน เราพยายามไปพูดคุยไปคลุกคลีกับเขา พอจบ ม.4 พี่ก็อ้อนแม่ขอไปเทคคอร์สภาษาและวัฒนธรรมเป็นเวลา 42 วันของสมาคมจงหัว (泰國中華會館) ในช่วงซัมเมอร์ เป็นจุดพลิกผันให้อยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไต้หวัน นั่นก็คือ NTU”


Photo Credit: 國立臺灣大學 National Taiwan University

 

เทคนิคการสมัครทุน

โดดเด่น + เกี่ยวข้อง + มิชชั่นชัดเจน + จริงใจ
 

         “พี่เดินเข้าในมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน หรือ NTU ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย เพื่อนคะยั้นคะยอให้ไปด้วย แต่พอมาเห็นห้องสมุดแว่บแรกก็รู้สึกถึงความขลังความน่าดึงดูดบางอย่าง พี่เห็นภาพตัวเองในอนาคตอยู่ในที่แห่งนี้ และบอกตัวเองว่านี่คือมหา'ลัยที่เราจะเรียนในอนาคต จุดเด่นของที่นี่คือเป็น ม.อันดับ 1 ของไต้หวันและติดท็อปของโลก รัฐสนับสนุนงบการศึกษาเยอะที่สุดในไต้หวัน ซึ่งดีต่อโพรไฟล์เราแน่นอน สภาพแวดล้อมก็ดี คนหัวกะทิอยู่ที่นี่หมด และเปิดกว้างทางความคิดมากๆ”
 
         “พอกลับมาจากเทกคอร์ส เราเริ่มค้นหาทุนว่ามีที่ไหนบ้าง ตอนแรกดูจีนด้วย แต่ตัดสินใจเลือกไต้หวันเพราะค่าเทอมถูกกว่า และมีทุน ป.ตรี ที่ให้ 100% เราว่ามันครบแล้ว ใช้เวลาเตรียมตัว 2 ปี (ม.5-6) จากตอนแรกพี่เนิร์ดมากติสต์มาก ก็เริ่มลุยทำกิจกรรมเพื่อเก็บพอร์ตฯ ไปแข่งสอบวัดระดับ นั่งติวจีน และรักษาเกรดให้ดีที่สุด” 
 

Photo Credit: Pixabay
 
         เมื่อถามถึงเทคนิคการเขียนเรียงความและนำเสนอผลงานเพื่อสมัครทุน พี่จูนเล่าว่า “พี่ว่าเราต้องนำเสนออะไรให้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราจะไปทำ อย่างพี่เองคือ 1.พี่ไปเรียนซัมเมอร์ที่ไต้หวัน และมี Reference Letter 2. พี่เคยเรียนหนังสือทางไปรษณีย์ (ตอนนั้นไต้หวันมีเว็บให้เรียนกับมหาวิทยาลัยทางไกลของ 中華函授學校 ส่งบทเรียนกับข้อสอบมาทางไปรษณีย์ ทำให้เรามีผลสอบเก็บไว้) และ 3. พี่ไปแข่งทักษะและสอบวัดระดับภาษาจีนล่วงหน้า 4. พี่เขียนแผนการเรียน (Study Plan) เป็นภาษาจีน โดยที่เขาไม่ได้กำหนดให้เขียนเป็นภาษาจีน เราแค่อยากให้เขาเห็นความตั้งใจของเรา ข้อนี้ต้องขอบคุณพี่แพร รุ่นพี่คนไทยในไต้หวันที่ให้กำลังใจระหว่างการเขียน
 
         “ก่อนเขียน Study Plan เราไปอ่านตัวอย่างจากคนไต้หวันก่อน พี่แบ่งการเขียนเป็น 3 ส่วนว่า ทำไมอยากไปไต้หวัน ไปแล้วจะทำอะไร เรียนจบแล้วจะทำอะไร ซึ่งพี่อธิบายไปตามความตั้งใจว่าเราต้องการสืบทอดภาษาจีนของครอบครัว และอยากเอาความรู้ที่ก้าวหน้าจากไต้หวันมาพัฒนาประเทศ เราต้องการให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้เรียนเพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่ยังทำเพื่อช่วยครอบครัวที่มีปัญหาทางการเงิน และอยากช่วยประเทศ และอีกส่วนคือพี่วางแผนว่า 4 ปีเราจะทำอะไรและเรียนอะไรบ้างชัดเจน”
 
         พี่ไม่ได้เขียนด้วยภาษาที่เลิศเลอ แค่ใส่ความจริงใจแบบบ้านๆ และความตั้งใจจริงลงไป มันทำให้คนอ่านสัมผัสได้ถึงความชัดเจนต่อเป้าหมายที่พี่มี ณ ตอนนั้น อาจมีบ้างที่เปิดดิกฯ เล่มหนาๆ หรือหาในเน็ตเวลาอยากให้บางคำหรูขึ้นมาบ้าง จากนั้นก็ส่งให้เหล่าซือตอนเรียนซัมเมอร์ช่วยอ่านให้ เขาก็แก้คำผิด 2-3 คำกลับมา โดยแตะเนื้อหาและสำนวนของเราไว้ (ขอขอบพระคุณครู Miaoling Huang ไว้ ณ ที่นี้)"
 
         และเมื่อประวัติพี่จูนเข้าตากรรมการ เจ้าหน้าที่ (คุณ James) ก็โทรแจ้งและเรียกสัมภาษณ์ ตอนนั้นพี่จูนเจอคำถามประมาณไหนบ้าง? “ทำไมถึงอยากเรียนไต้หวัน? ไม่กลัวลำบากเหรอ เพราะเธอก็ไม่ได้เก่งภาษาจีนมาก? เราก็บอกท่านทูต (คุณ Michael) อย่างมุ่งมั่นจากใจจริงว่า 'เราพร้อม เพราะเตรียมตัวล่วงหน้ามา 2 ปี ทั้งศึกษาข้อมูล อัปเกรดระดับภาษาและจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง เพื่อเตรียมตัวไปไต้หวันนี่แหละ'  ตอนวันสัมภาษณ์มีโรงเรียนเทพๆ มาเยอะมาก เด็กต่างจังหวัดอย่างเราก็แอบคิดไปก่อนแล้วว่าคงไม่อรดแน่ สุดท้ายก็ทำได้"
 
        "พี่เลยอยากบอกน้องๆ ว่าในทุกสนามบนโลกใบนี้ เวลาเจอโรงเรียนเทพๆ อย่าเพิ่งเอาตัวเองไปเปรียบเทียบ หน้าที่เราคือชัดเจนกับเป้าหมาย เตรียมตัวล่วงหน้าให้พร้อม วิเคราะห์คณะและมหา'ลัยให้ดี เรามีดีอะไรโชว์ให้หมด ใส่ความมั่นใจและความจริงใจให้เต็มที่ในโอกาสครั้งเดียวเท่านั้น" 
 
       "ต้องขอบคุณคุณแม่ที่สนับสนุนเงินทุนก้อนเล็กๆ ก้อนนั้นกับตั๋วเครื่องบินให้ไปตั้งต้นที่ไต้หวันตอนยังรอทุน ตอนนั้นรู้แค่ว่าอีกหน่อยที่บ้านจะไม่ต้องกังวลค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเราต่อไปอีกแล้ว และได้เอาเงินไปให้น้องเรียนหนังสือต่อ"
 

Photo Credit: Pixabay



 

รีวิวชีวิตการเรียน IR 4 ปี :
เจอคาบแรกเข้าไปถึงกับร้องไห้

 

         หลักสูตร IR ที่พี่จูนเรียนคือ 4 ปี เน้นทฤษฎี ลงวิชาเลือกได้อิสระมากๆ เลือกลงปีไหนก็ได้ ซึ่งพี่จูนเองก็ลงเรียนเกินหน่วยกิต เพราะอยากใช้โอกาสนี้เรียนอย่างคุ้มค่า เรามาฟังรีวิวตัวอย่างวิชากันค่ะว่าพี่เขาเรียนอะไรและวิธีการสอนของเขาน่าสนใจขนาดไหน? 
 
         ปี 1 เรียนรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์การปกครอง รัฐธรรมนูญไต้หวัน  ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ภาษาจีนพื้นฐาน (วิชาภาษาจีน เด็กต่างชาติจะเรียนแยกกับคนไต้หวัน เพราะพื้นฐานต่างกัน คนไต้หวันจะเรียนแนวภาษาศาสตร์ไปเลย)”
 
         ปี 2 เรียนกฎหมายระหว่างประเทศ ปรัชญาการเมือง เศรษฐศาสตร์ สถิติ มีบังคับเรียนภาษาที่ 3 พี่ก็ลงสเปนกับอิตาเลียน (ลงภาษาเดียวก็ได้ แต่พี่อยากเก็บหน่วยกิตเพิ่ม) วิชาเลือกก็ลงประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ การบริหารองค์กรระหว่างประเทศ, การค้าระหว่างประเทศ, การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ, ช่องแคบระหว่างประเทศ (จีน-ไต้หวัน)” 
 
         ปี 3 ลงเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศ, ประเด็นการค้าระหว่างประเทศ, เศรษฐศาสตร์การเมือง, ลงซัมเมอร์เกี่ยวกับชีววิทยา, Art, Media, ประวัติศาสตร์อิสลาม, ภาษาอังกฤษเพื่อธุรกิจ, วิชาการทูต พอขึ้นปี 4 ลงวิชาเลือกเป็นหลัก ภาษาอิตาเลียน, เศรษฐศาสตร์มหภาค แล้วไปลงแนวๆ บริหารธุรกิจ”


Photo Credit: 國立臺灣大學 National Taiwan University


ตอนไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ University of Malaya หลังจบปี 4
 
         ช่วงแรกที่เรียนพี่เจอปัญหาเรื่องเนื้อหากับภาษารึเปล่า? “เข้าไปคาบแรกถึงกับร้องไห้เลยค่ะ จำได้ว่าเป็นคาบ ‘รัฐศาสตร์การปกครอง’ กับ 'รัฐธรรมนูญไต้หวัน' ฟังอาจารย์พูดจีนไม่รู้เรื่อง แล้วยังอ่าน Text ภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องอีก ทนเรียนไป 2 ปีกว่าจะเข้าที่ (ทุกเย็นเขาบังคับให้เรียนภาษาจีนด้วย) แต่ช่วงที่ภาษาไม่ได้ก็กลายเป็นแรงผลักดัน เพราะกลัวทุนถูกตัด เทอมแรกพี่เลยสอบได้ที่ 11 ของคณะ”

         ในเมื่อภาษาเป็นอุปสรรคมากๆ ทำไมพี่ถึงสอบได้คะแนนดีมาก? “ข้อสอบเหมือนวัดความอึดในการท่อง และแต่ละปีออกไม่ต่างกันมาก เราก็เอาสรุปรุ่นพี่มานั่งอ่าน + นั่งแปลทีละตัว ข้อสอบเป็นอัตนัย กระดาษคำตอบเป็น A3 หลายๆ หน้า แล้วด้วยความที่เป็นภาษาจีนจะเสียเปรียบตรงเราเขียนช้า ยิ่งเป็นจีนตัวเต็มยิ่งขีดเยอะไปอีก ขนาดเด็กไต้หวันบางคนยังบอกเขียนไม่ทันเลย ตอนสอบถ้าพี่นึกคำไหนนึกไม่ออกจะพยายามเขียนพินอินหรือเขียนภาษาอังกฤษลงไปดีกว่าเว้นว่าง”


Photo Credit: Pixabay
 
         “ยกตัวอย่างวิชาที่พี่ชอบ คือ วิชารัฐศาสตร์ แบ่งออกเป็น 3 เซค พี่ได้เซคอาจารย์ที่แปลกมาก ของอาจารย์ Si-Kuen Lee (李錫錕) สอนด้วยพลัง สอนแบบเรียลลิสติกส์ (Realistic) ไม่ใช่การท่องจำ ตอนนั่งเรียนอยู่ก็อาจเบื่อๆ แต่พอจบมา 10 ปีแล้วมองย้อนกลับไป หลายอย่างที่เขาสอนมันใช่มากๆ ค่ะ เช่น ถ้าถามว่ารัฐศาสตร์คืออะไร คนทั่วไปอาจบอกว่ามันคือการเมืองการปกครอง แต่ไอเดียที่พี่ได้จากการเรียนกับอาจารย์ท่านนี้คือ 'มันเป็นการคานอำนาจของแต่ละคน ประเทศ 1 ประเทศ ก็เหมือนคน 1 คนนั่นแหละ”
 
         “แล้วมีอาจารย์ใน 'วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ' อีกท่าน คือ Ming, Chu-Cheng (明居正) ทำให้พี่เข้าใจเลยว่า การที่ 2 ประเทศมาตีกันก็เป็นเพราะเรื่องผลประโยชน์ เช่น เขตแดน ธุรกิจการค้า เศรษฐกิจการเงิน ฯลฯ เหมือนกับเวลาที่คน 2 คนทะเลาะกัน บ้านเธอต้นมะม่วงเกินมาบ้านฉัน (ปัญหาเรื่องเขตแดน) ยืมเงินแล้วไม่คืน คนไม่ใส่ชื่อเพื่อนลงในงานเพราะเพื่อนไม่ช่วย เป็นต้น อันนี้แหละคือมุมมองเรียลลิสติกส์” 
 
         "อีกตัวที่ชอบและช่วยฝึกภาษาดีมากคือ 'วิชาจิตอาสา' (Student Service Education) พี่ได้ทำงานกับมูลนิธิเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิก (Taipei Philharmonic Foundation for Culture and Education) ซึ่งเขาเปิดเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ๆ เราก็ไปเป็นเบื้องหลัง จัดเก้าอี้ หรือ ส่งมอบดอกไม้หลังจบคอน ขายบัตร แจกบัตร พาแขกเข้าที่นั่ง ช่วยเป็นล่ามภาษาอังกฤษ-จีนให้คนญี่ปุ่น (เอ๊ะ?? 555) ของแถมคือได้ดูคอนเสิร์ตฟรี ประเด็นคือเราหาโอกาสแบบนี้ไม่ได้ง่ายๆ ได้เห็นคนไต้หวันเตรียมงานกันจริงจังมาก ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นมิตรและเทคแคร์เราดีมาก เราได้เปิดโลกนอกเหนือจากการใช้ชีวิตในมหา’ลัย พี่แฮปปี้มากถึงขนาดอีเมลไปขอช่วยงานอีกแม้จะเก็บหน่วยกิตครบแล้วก็ตาม"




 
         “ปีสุดท้ายพี่ได้ไป Workshop ของ 'วิชาการสื่อสาร' ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรี อาจารย์เป็นคนไต้หวันที่อยู่อเมริกามานาน ชื่อ Barry Hu เขาให้ทุกคนออกมาฝึกพูดต่อหน้าชุมชน ในคลาสมี 20-30 คน เราจะพูดเป็นภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษก็ได้ โดยเขาจะให้หัวข้อมาก่อน แล้ววีคหน้าเตรียมมาพูด ใช้ Pattern ที่อาจารย์สอน อาจต้องมีสไลด์ด้วย พอพูดเสร็จเขาจะคอมเมนต์ว่าเราควรพัฒนาตรงไหนได้อีกบ้าง พี่ว่ามันมีประโยชน์มากในชีวิตจริง วิชานี้ใครๆ ก็บอกต่อว่าต้องเรียนให้ได้” 
 
         เคล็ดลับคือถ้าเด็กทุนรู้สึกเรียนตัวไหน(โดยเฉพาะตัวหลัก) แล้วไม่น่ารอด เสี่ยงผลออกมาแล้วกระทบคะแนนรวม ซึ่งอาจทำให้โดนตัดทุนได้ ให้ดร็อปเลย แล้วค่อยมาเรียนใหม่ปีหลัง พี่เองก็มีดร็อปไปตัวนึง แล้วอีกอยา่งนึง จริงๆ มหา’ลัยจะมีระบบซัพพอร์ตนักเรียนต่างชาตินะ ถ้าอยากปรึกษารุ่นพี่ให้นัดเวลา และต้องตั้งใจจริงๆ เวลาสอนเขาจะจริงจังมาก"
 
         “ส่วนการไปเรียนไต้หวันแล้วจะได้ภาษาขนาดไหน พี่ว่าขึ้นอยู่กับเรา ถ้าเราอยู่แต่กับคนชาติตัวเองก็จะได้แต่ภาษาตัวเอง แต่ถ้าใครชัดเจนว่าอยากได้ภาษาอังกฤษหรือจีน ก็ไปอยู่กับเพื่อนไต้หวันหรือเพื่อนต่างชาติ ที่นั่นมีคนเกาหลีกับญี่ปุ่นเยอะเหมือนกัน เพื่อนสเปน เยอรมัน แอฟริกัน ลาตินเมริกันก็มีเยอะ”


Dance Sport Club


Dance Sport Training


 

ไต้หวัน = การหล่อหลอมข้อดีของหลายชนชาติ
 

         “ถ้าพูดถึงไต้หวัน พี่ว่าข้อดีคือความสะดวกสบาย เมืองเขาเล็ก รัฐจึงดูแลทั่วถึง สวัสดิการดีมากๆ ต่างชาติก็ได้เท่าเทียมคนในพื้นที่ บ้านเมืองสะอาดและคนเป็นมิตร วัฒธรรมที่ต่างจากบ้านเราคือความเร่งรีบ มีความกดดันและการแข่งขันสูงมาก และเนื่องจากไต้หวันเคยตกเป็นดินแดนอาณานิคมของญี่ปุ่น ทำให้เขาเป็นเหมือนคนจีนที่มีความเป็นญี่ปุ่น ทั้งสุภาพ อ่อนน้อม และมีระเบียบวินัยสูงมาก ทำงานและวางแผนจริงจังเป็นขั้นตอน และเน้นใช้ Logic นอกจากนี้ยังเป็นดินแดนที่เปิดกว้าง มีอิสระในการพูด คิด และทำ อารมณ์สไตล์น้องๆ อเมริกา อย่างเวลานักเรียนไม่พอใจอธิการหรือรัฐบาล เขาจะพากันออกมาประท้วงเพื่อแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ”
 
         “พูดง่ายๆ ว่าเขาเก็บข้อดีของหลายชาติมาหลวมรวมเป็นตัวเอง พี่เคยถามว่าคนไต้หวันมองตัวเองยังไง? เขาบอกว่า บางทีก็สับสนใน Identity ของตัวเองเหมือนกัน เพราะมีความเป็นไต้หวัน จีน อเมริกา ญี่ปุ่น ปัจจุบันนี้คนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อพยพเข้าไปเยอะ รัฐบาลก็เปิดรับ กลายเป็นสังคมที่หลอมรวมความหลากหลายแต่ไม่วุ่นวาย”





 
         แล้วเราเองเคยตกใจกับพฤติกรรมบางอย่างของคนไต้หวันที่แตกต่างกับไทยรึเปล่า? “เคยนะๆ เราเคยเดินๆ ใน MRT แล้วอยู่ๆ มีคนมาถามว่าเราเป็นคนประเทศไหน? เขาถามด้วยความสงสัยจริงๆ เพราะบ้านเมืองเขาเสรี มีความกล้าแสดงออก มันปกติมากที่จะอยู่ๆ จะเห็นคนเต้นกลางที่สาธารณะแบบไม่แคร์ใคร ซ้อมเต้นกลางถนนเลยก็มี"
 
         “ส่วนเรื่องค่าครองชีพ เท่าที่พี่สังเกตคือสูงกว่านิดหน่อยค่ะ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วพี่ไปไต้หวันลองกลับไปใช้ชีวิต 1 เดือน รู้สึกใช้เงินเยอะกว่าตอนอยู่ กทม. ที่นู่นอาหารมื้อนึงต่ำสุด 50 เหรียญ (ราวๆ 55 บาทไทย) แล้วแต่ละวันคือเอางานไปทำ อยู่แต่ในไทเป หมดไปประมาณ 30,000 บาท”

 

รัฐศาสตร์ช่วยให้มองความสัมพันธ์ทะลุปรุโปร่งมากขึ้น
 

         “พี่ได้เห็นว่ารัฐศาสตร์ไม่ใช่ทฤษฎี เรานำไปปรับใช้ได้กับทุกที่ เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ = ความสัมพันธ์ของคนในสังคม เราเข้าใจว่าความสัมพันธ์แบบนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เขากำลังต้องการคานอำนาจกันรึเปล่า พอมาทำงานพี่เห็นชัดเจนขึ้นค่ะ บางทีอาจมี Conflict เรื่องผลประโยชน์ จากนั้นสเต็ปต่อไปคือเราพยายามฝึกตัวเองให้คน win-win ทั้ง 2 ฝ่าย”
 
         “พี่เคยโดนดูถูกมาเยอะว่าจบรัฐศาสตร์จะออกมาทำอะไรได้ พี่ว่ามันอยู่ที่มุมมองว่าเราจะมอบอะไรให้สังคมได้ ถ้าเรามีคุณค่าที่พร้อมมอบให้คนอื่น เราจบอะไรมาจะทำงานอะไรก็ได้ พี่จบมา 5 ปีครึ่งแล้ว ทำงานเยอะมาก เช่น วิเคราะห์สินเชื่อใน Bank of China, วิเคราะห์ธุรกิจ, สำรวจตลาด, กลยุทธ์ Digital Marketing, ล่าม ส่วนตัวพี่เองลงตัวกับงาน Digital Marketer แต่จะออกมารันโปรเจกต์ของตัวเอง อยากกำหนดทิศทางของัตวเอง เพราะคิดว่าเราได้สัมผัสอะไรมากหลายอย่างในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา”





 

คำถามยอดฮิต
“จีน VS ไต้หวัน” เรียนที่ไหนดี?

 

         พี่เชื่อว่ามีน้องๆ ที่อยากเรียนภาษาจีน แต่กำลังลังเลว่าจะไปเรียนต่อที่จีนหรือไต้หวันดี เพราะต่างก็คุณภาพการศึกษาที่โดดเด่นทั้งคู่ พี่จูนแสดงความคิดเห็นว่า “ถ้าเกิดชอบวิถีชีวิตแบบอิสรเสรี เปิดกว้างแบบชาวอเมริกัน ให้เลือกไปไต้หวัน แต่ถ้าอยากได้สำเนียงจีนปักกิ่ง ก็เหมาะกับการไปเรียนที่จีนแผ่นดินใหญ่ค่ะ” และเนื่องจากพี่ซึมซับภาษาจีนสำเนียงคนไต้หวันมา อยากรู้ว่าเป็นอุปสรรคเวลามาทำงานประเทศอื่นที่ใช้ภาษาจีนมั้ย? “พี่ทำงานกับคนไต้หวัน ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือทุกประเทศที่ใช้ภาษาจีนได้สบายมาก ถ้าจีนแผ่นดินใหญ่เลยเนี่ยอาจต้องปรับหูนิดนึง แรกๆ อาจไม่ชินบ้าง เฉพาะแค่สำเนียงคนจีนภาคเหนือ แต่สื่อสารกันรู้เรื่องปร๋อ"
 
         “ตอนนี้พี่ก็อยู่ระหว่างทำคอร์สภาษาจีนและคอร์สการศึกษา พี่จะสอนแนวประหลาดตามสไตล์ความติสท์แตกของพี่ ใส่เทคนิคบางอย่างเข้าไปไม่ให้จืดชืด ถ้าอยากรู้ก็รอติดตามกันได้ในเพจ พูดจีนได้ ไม่ต้องไปไกลบ้าน นะคะ ^^”
 

 
         ไม่มีความสำเร็จในพาร์ตไหนที่พี่จูนได้มาง่ายๆ เลยค่ะ นับตั้งแต่การค่อยๆ สั่งสมทักษะภาษาจีนจากหลากหลายช่องทางเท่าที่จะหาได้ การรักษาเกรด การเปลี่ยนตัวเองเป็นเด็กกิจกรรม การเตรียมตัวขอทุน จนกระทั่งการเรียนหลักสูตรสุดเข้มข้นในมหาวิทยาลัยในฝันจนจบอย่างสวยงาม พี่เชื่อว่าบทสัมภาษณ์นี้ช่วยเติมกำลังใจให้ชาว Dek-D ที่อยากฝึกภาษาหรืออยากขอทุนเรียนต่อนอกได้แน่นอน สำหรับใครที่อยากอ่านประสบการณ์เรียนไต้หวันในแง่มุมอื่นๆ เพิ่มเติม หมวดเรียนต่อนอกเคยสัมภาษณ์รุ่นพี่หลายสายเรียน น้องๆ อย่าลืมตามไปเก็บข้อมูลไว้เตรียมตัวกันนะคะ ^^


​‘วินนี่’ สาวนักเรียนทุน “ไต้หวัน”
เมืองเทคโนโลยี การศึกษาดี ค่าครองชีพถูก!


คุยกับ ‘แนนซีส์’ หนึ่งในนักเรียนไทย
ที่คว้าทุนรัฐบาลไต้หวัน ป.ตรี ไปเรียนวิศวะอินเตอร์!
 

ประสบการณ์ลุยเดี่ยวเรียนภาษาจีนใน “ไต้หวัน” 
ที่ดีงามทั้งคน เมือง และชานมไข่มุก!
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด