สวัสดีค่ะน้องๆ Dek-D เคยคิดกันเล่นๆ มั้ยว่าถ้ามีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ เราจะเลือกไปที่ไหน? พี่ไอซ์เองอยากไปหลายที่มากกก สุดท้ายก็ได้ไปแลกเปลี่ยนที่ "นิวซีแลนด์" ซึ่งไม่ได้อยู่ในตัวเลือกตั้งแต่แรก (งงเลย 555) วันนี้พี่เลยอยากมาแชร์ประสบการณ์ว่าถ้าหากน้องๆ อยากจะไปแลกเปลี่ยนที่นิวซีแลนด์เนี่ย มีสิ่งไหนที่ควรจะรู้ก่อนบ้างเพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ได้ง่ายขึ้น พี่จัดเต็มมาให้ทั้งเรื่องระบบการเรียนและการใช้ชีวิตเลยค่ะ ^^
สภาพอากาศและการเตรียมเสื้อผ้า
เมื่อน้องๆ จะเดินทางไปต่างประเทศ สิ่งแรกๆ ที่ควรศึกษาคือเรื่องสภาพอากาศ เพื่อให้เตรียมเสื้อผ้าได้เหมาะสม พี่ต้องเล่าก่อนว่านิวซีแลนด์คือประเทศที่มีอากาศเย็นเกือบทั้งปีเพราะอยู่ติดชายฝั่งทะเล ในหน้าร้อนมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพียง 20-25 องศา (เหมือนเปิดแอร์นอนอยู่บ้านเลยค่ะ ดีมากก ><) ส่วนหน้าหนาวก็ราวๆ 12-16 องศา มีทั้งหิมะและลูกเห็บตก หากน้องๆ อยู่ในเมืองทางเกาะใต้ของที่นี่ อากาศจะหนาวเย็นกว่าเล็กน้อย เพราะอยู่ในโซนที่ได้รับแสงอาทิตย์น้อยกว่า ดังนั้นนอกจากเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ก็ต้องมีชุดลองจอนหรือเสื้อผ้าที่เป็นฮีทเทคมาเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย
นอกจากนี้นิวซีแลนด์ยังเป็นประเทศที่คาดเดาอากาศไม่ค่อยได้ วันที่ท้องฟ้าสดใส อยู่ๆ ฝนก็ตกมาได้ซะงั้น เพราะฉะนั้นอีกสิ่งที่ควรมีคือ "เสื้อแจ็กเกตสีดำที่กันฝนได้" เหตุผลที่พี่ระบุเฉพาะเจาะจงขนาดนี้ เพราะฝนที่นี่ไม่เหมือนบ้านเราค่ะ มันมักจะมาพร้อมกับลมที่แรงมากจนร่มก็ต้านทานไม่ไหว พลิกกลับด้านเลยทีเดียว 5555 ถ้ามีเสื้อตัวนี้มันจะกันได้ทั้งหนาวและฝนโดยไม่ต้องพกหลายอย่าง ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นสีดำ เพราะส่วนมากโรงเรียนที่นี่อนุญาตให้ใช้แค่สีดำเท่านั้น
(แอบเล่าหน่อยว่าตอนไปที่นู่นแล้วเจอฝนครั้งแรก พี่ก็กางร่มค่ะ แล้วก็กลายเป็นตัวประหลาดทันทีเพราะคนอื่นไม่ใช้ร่มกัน กว่าพี่จะเข้าใจเหตุผลก็ตอนเจอลมนี่แหละ T__T)
คราวนี้หลายคนคงสงสัยว่าเสื้อแจ็กเกตควรซื้อตั้งแต่ที่ไทยหรือไปซื้อที่นู่นเลยดีกว่า? ถ้าเกิดไม่ใช่แบรนด์พี่แนะนำว่าซื้อที่ไทยถูกกว่านะ แต่ถ้าเป็นแบรนด์ ที่นู่นจะถูกกว่าเล็กน้อย ยังไงก็ลองเช็กแบรนด์ที่น้องๆ อยากได้ด้วย
การเดินทาง
ตอนอยู่ไทยหลายคนน่าจะเดินทางไปโรงเรียนด้วย BTS รถเมล์ หรือรถส่วนตัวของผู้ปกครอง แต่ที่นิวซีแลนด์นั้น เราจะเดิน ปั่นจักรยาน หรือไม่ก็นั่งรถบัสไปโรงเรียนค่ะ น้องๆ บางคนได้ยินแล้วคงคิดว่าถ้าเดินไปโรงเรียนคงไม่ไหว แต่พี่บอกเลยว่าไม่ขนาดนั้น (คนขี้เกียจอย่างพี่ยังผ่านมาได้สบายย~ 555) เพราะไม่ว่าน้องๆ จะอยู่หอหรืออยู่กับโฮสต์ ทางโครงการที่พาน้องมาแลกเปลี่ยน จะจัดให้ทุกคนอยู่ที่ไม่ไกลจากโรงเรียนแน่นอน ดังนั้นสามารถเดินหรือปั่นจักรยานได้ค่ะ
หลายคนอาจคิดว่าการเดินต้องใช้เวลานานแน่ๆ แต่จริงๆ แล้ววิธีนี้ประหยัดเวลายิ่งกว่าการนั่งรถซะอีก อย่างมากก็ใช้เวลาแค่ 30 นาทีเท่านั้น (คาบแรกเริ่ม 9 โมง ตื่น 8 โมงยังทันเลยค่ะ > <) อากาศก็เย็นสบาย เดินชิลล์ๆ รู้ตัวอีกทีก็ถึงหน้าโรงเรียนแล้ว แถมชวนเดินกลับกับเพื่อนที่กลับทางเดียวกัน ก็ได้กระชับความสัมพันธ์ได้ด้วยนะคะ ><
และนอกจากนั้น คนที่นี่ยังนิยมเดินหรือนั่งบัสไปที่ต่างๆ เช่น เราสามารถเดินไปแหล่งรวมร้านค้าต่างๆ เพื่อดูหนังหรือชอปปิงได้เลย พี่เองเคยเดินจากบ้านโฮสต์ไปทาวน์โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง + ขากลับอีก 1 ชั่วโมงแบบชิลล์ๆ เพราะอากาศเป็นใจ เดินได้ไม่มีเหนื่อย นี่จึงเป็นสิ่งที่น้องๆ ต้องปรับตัว เพราะเราต้องศึกษาเส้นทางและทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น ไม่สามารถขอให้ใครไปรับ-ส่งได้
มื้ออาหาร
เรื่องแรกที่นิวซีแลนด์ต่างจากบ้านเราคือ เขาเน้นกินอาหารเช้าง่ายๆ เช่น โอ๊ตมีลหรือซีเรียล ส่วนอาหารกลางวันทุกคนต้องแพ็กไปกินเองที่โรงเรียน ส่วนมากเขาจะทำแซนด์วิชเองตั้งแต่เช้าหรือคืนก่อนนั้น (จริงๆ เขามีโรงอาหารนะ แต่ราคาจะค่อนข้างแรง ถ้าซื้อกินทุกวันอาจล้มละลายได้ TT) ส่วนมื้อเย็นจะเป็นมื้อใหญ่สุดสำหรับคนที่นี่ เมนูอาหารของแต่ละบ้านก็จะแตกต่างกัน พี่ไม่แปลกใจเลยค่ะว่าทำไมตอนกลับน้ำหนักถึงเพิ่มขนาดนี้ เพราะตอนเช้ากินน้อย ตอนเย็นกินเยอะ ยังไงน้องๆ ก็อย่าลืมหาเวลาออกกำลังกายด้วยนะคะ เตือนแล้วนะ 55555
ราคาข้าวของ
ราคาของที่ประเทศนิวซีแลนด์จะค่อนข้างต่างจากประเทศไทยพอสมควร เพราะค่าครองชีพต่างกัน ดังนั้นน้องๆ ต้องคำนวณราคาให้ดีก่อนซื้อ ไม่งั้นค่าขนมไม่พอแน่ๆ ค่ะ ยกตัวอย่างเช่นอาหารในโรงอาหารจะมีหลายเรท แซนด์วิชประมาณ 2 เหรียญ (ราวๆ 50-60 บาท) บะหมี่อาจแพงเป็น 4-5 เหรียญ หรือถ้าตามร้านอาหาร อาจสูงถึงจานละ 7-8 เหรียญเลยก็ได้ (พี่เคยไปร้านอาหารไทย เจอไปจานละ 10 เหรียญ กินทีน้ำตาจะไหลเลยค่ะ T__T)
หมายเหตุ: ค่าเงินตอนนี้ (01/07/62) 1 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ = 20.47 บาท
โรงหนัง
เรื่องนี้พี่เพิ่งรู้ไม่นานเหมือนกันค่ะ โรงหนังในนิวซีแลนด์ไม่ได้ระบุที่นั่งเหมือนบ้านเรา ใครเข้าก่อนมีสิทธิ์เลือกจับจองที่นั่งได้ก่อน เนื่องจากราคาเท่ากันหมด นั่นคือราวๆ 10 กว่าเหรียญ หรือ 400 กว่าบาทไทยค่ะ แอบแพงเลยนะเนี่ย แต่พี่ว่าเบาะโรงหนังที่นั่นค่อนข้างใหญ่กว่าบ้านเรา นั่งสบายมากๆ ค่ะ
และนอกจากนี้อีกสิ่งที่อยากเตือนค่ะ โรงหนังที่นี่ไม่มีซับไตเติล (Subtitle) ให้อุ่นใจนะคะ ไม่มีแม้กระทั่งซับภาษาอังกฤษ ดังนั้นอาจจะมีฟังไม่ออกบ้างบางประโยค แต่พี่ว่าเป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยพัฒนาทักษะการฟังได้อย่างดีเลยแหละ
ระบบการศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์ (NZQA)
น้องๆ รู้มั้ยคะว่า ระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ในระดับมัธยมศึกษาใช้หลักสูตรที่มีชื่อว่า NZQA หรือ New Zealand Qualifications Authority ซึ่งเป็นคุณวุฒิสําหรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาเพื่อใช้ศึกษาต่อทั้งในประเทศนิวซีแลนด์และประเทศอื่นๆ ประกาศนียบัตรคุณวุฒิที่ทุกคนจะได้รับนั้น แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ใน Year 11 (อายุ 15 ปี), ระดับ 2 ใน Year 12 (อายุ 16 ปี) ระดับ 3 ใน Year 13 (อายุ 17–18 ปี) โดยแต่ละประเทศจะกำหนดระดับที่ต้องการแตกต่างกันออกไป เช่น ประเทศไทยจะกำหนดไว้เพียงระดับ 2 ในขณะที่ประเทศอังกฤษต้องการถึงระดับ 3
เด็กแลกเปลี่ยนส่วนมากถูกจัดอยู่ในระดับที่ตรงกับอายุของตน (เช่น ถ้าน้องอายุ 16 จะอยู่ Year 12) แต่เนื่องจากระบบนี้ยืดหยุ่นได้ตามความสามารถ ถ้าบางวิชาอาจารย์เห็นว่าความสามารถนักเรียนคนนั้นอยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำกว่านี้ ก็สามารถปรับเปลี่ยนระดับในวิชานั้นๆ ได้ค่ะ น่าสนใจมากๆ เลยใช่มั้ยล่ะคะ ^^
สิ่งที่น่าสนใจของระบบการศึกษานี้อีกอย่างก็คือ ทุกๆ คนสามารถเลือกเรียนวิชาต่างๆ ได้ตามความสนใจหรือวิชาที่ตรงกับสายอาชีพที่สนใจ (แต่ก็ยังมีการบังคับวิชาพื้นฐานอย่างภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์อยู่น้า) เช่น วิชาการถ่ายภาพ (Photography) วิชาการวาดภาพ (Painting) วิชาการบัญชี (Accounting) วิชาเศรษฐศาสตร์ (Economics) หรือวิชาการศึกษาธุรกิจ (Business Studies) น้องๆ ที่มีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนที่นี่ก็จะได้ลองเรียนวิชาใหม่ๆ เหล่านี้ซึ่งไม่มีสอนในไทย และอาจจะจุดประกายอาชีพที่อยากเป็นในอนาคตก็เป็นได้ (บางทีก็อาจจะนำไปต่อยอดในอนาคตได้เลยนะ!!)
ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงเวลานักเรียนทุกคนต้องย้ายไปเรียนห้องต่างๆ ตามวิชาที่ตัวเองลงไว้ และได้เจอเพื่อนใหม่ที่สลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละวิชา แต่ไม่ต้องกังวลไป เพื่อนๆ ทุกคนยินดีพูดคุยกับเรา หรือบางทีเราก็ต้องเข้าหาก่อนบ้าง เพราะเขาอาจขี้อายและไม่กล้าเข้ามาทำความรู้จักเหมือนเรานี่แหละ 555 พอได้คุยแล้วน่ารักทุกคนค่ะ แล้วยิ่งถ้าเราได้ร่วมกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา ฯลฯ ก็ทำให้เราได้เพื่อนใหม่อีกเพียบ รับรองชีวิตแลกเปลี่ยนของเรามีสีสันแน่นอนค่ะ
ยิ่งไปกว่านั้น ระบบ NZQA นี้ยังใช้ข้อสอบเดียวกันทดสอบนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในนิวซีแลนด์ทั้งประเทศ พี่ขอบอกก่อนว่าการศึกษานิวซีแลนด์นั้นมีทั้งหมด 3 เทอม (ก็คือไม่มีปิดเทอมใหญ่ปิดเทอมเล็ก แต่ว่าเป็นการหยุดแบบ 1 เดือนหรือ 2 เดือนต่อปิดเทอมมากกว่า และเทอมที่ 3 นั้นจะเป็นแค่เทอมสั้นๆ) ที่นี่จะไม่มีการสอบกลางภาค (Mid-term) มีแต่สอบไฟนอลอย่างเดียว นั่นหมายความว่าสิ่งที่น้องๆ เรียนมาทั้งหมด 3 เทอมจะถูกนำไปออกสอบทีเดียว แต่น้องๆ อย่าเพิ่งกลัวกันนะคะ ไม่ใช่ทุกเรื่องจะนำมาออกสอบค่ะ เพราะว่าจะมีบางเรื่องที่ถูกเลือกมาออกสอบเป็น Quiz เพื่อเก็บคะแนนบ้างและจะไม่ถูกนำไปออกสอบในไฟนอล ถ้าใครมาแลกเปลี่ยนก็ต้องปรับตัวให้ขยันขึ้นกันสักหน่อยเพราะว่าต้องคอยทบทวนบทเรียนที่เรียนไปแล้วในเทอมก่อนๆ ด้วย
ครู & เพื่อนร่วมคลาส
หลังจากอธิบายเรื่องระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ที่แตกต่างจากบ้านเราโดยสิ้นเชิงแล้ว พี่ขอพูดถึงบรรยากาศในห้องเรียนบ้าง เพื่อนๆ ส่วนใหญ่จะกล้ายกมือถามในสิ่งที่สงสัย และกระตือรือร้นในการตอบคำถามอาจารย์มากๆ (แม้จะถูกบ้างผิดบ้างก็ตาม)
สิ่งที่ประทับใจพี่มากๆ คืออาจารย์ที่นี่ค่ะ เพราะแม้เด็กๆ จะตอบคำถามไม่ถูก ก็ไม่ตำหนิหรือพูดบั่นทอนจิตใจ แต่กลับสนับสนุนให้ทุกคนกล้าตอบ คอยถามตลอดว่ามีจุดไหนที่ไม่เข้าใจมั้ย และยินดีที่จะตอบทั้งในและนอกห้องเรียนเลยค่ะ อีกสิ่งที่พี่ว่าสุดยอดที่สุดเลยคืออาจารย์ในแต่ละวิชาจะมีเขียนรายงานนักเรียนแต่ละคนให้ผู้ปกครองรับทราบด้วย แสดงว่าอาจารย์ที่นี่ต้องจดจำและใส่ใจทุกคนมากถึงจะทำแบบนี้ได้
หลังจากที่อ่านครบจบทั้ง 7 ข้อแล้วเป็นยังไงกันบ้างคะน้องๆ? ไม่ยากเกินความสามารถทุกคนเลยใช่มั้ยล่ะ > < ถ้าน้องๆ คนไหนยังไม่มีประเทศที่อยากจะไปหรือว่ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปที่ไหนดี ก็ลองเก็บประเทศนิวซีแลนด์ไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกนะคะ รับรองว่าไม่ผิดหวังอย่างแน่นอนนน
1 ความคิดเห็น
ว้าววว อยากไปจังเลยค่ะพี่ไอซ์