ไม่เข้า = เรียนไม่จบ! “Chapel” วิชาบังคับเข้าโบสถ์ ที่อาจเจอในมหา’ลัยต่างประเทศ

            สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D ตอนนี้มีใครแพลนจะไปเรียนต่อนอกหรือกำลังเลือกมหาวิทยาลัยอยู่มั้ยคะ? ต้องบอกว่าแต่ละมหา’ลัยก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นอยู่กับประเทศและสิ่งแวดล้อมต่างๆ วิชาเรียนก็เลยแตกต่างกันไปเนอะ อย่างบางแห่งก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาและมีหลักสูตรเกี่ยวกับศาสนานั้นๆ ด้วย! ซึ่งวันนี้พี่กิ๊ฟจะมาพูดถึงมหา’ลัยที่มีวิชาบังคับ “เข้าโบสถ์” ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่ามีวิชานี้ด้วยเหรอเนี่ย? ว่าแต่จะเป็นยังไงกันบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ
 
cr. pixabay.com
 
            ในมหา’ลัยที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนามักจะมีวิชาเรียนบังคับ เช่น วิชาหลักธรรม, จริยธรรม ฯลฯ ซึ่งเราเองก็น่าจะคุ้นเคยจากการเรียนโรงเรียนไทยที่มีวิชาพระพุทธศาสนาเหมือนกัน แต่.. ในมหา’ลัยคงเป็นเรื่องน่าแปลกไม่น้อยเลยใช่มั้ยคะ? เพราะเมื่อเข้ามหา’ลัยในไทยแล้ว พระพุทธศาสนาจะไม่ใช่วิชาบังคับอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม..ในต่างประเทศยังคงมีมหา’ลัยที่มีวิชาเหล่านี้อยู่ค่ะ!
 
cr. pixabay.com
 
            ส่วนมากมหา’ลัยที่ยังมีวิชาที่กล่าวมาได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาคริสต์ค่ะ ส่วนใหญ่จะมีโบสถ์ในมหา’ลัย มีคณะการศึกษาศาสนาคริสต์ รวมถึงมีวิชาบังคับต่างๆ เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ ซึ่งหนึ่งในวิชาที่คนไทยอาจจะสงสัยคือ “วิชาเข้าโบสถ์” ที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกกก เพราะถึงจะเก็บหน่วยกิตวิชาอื่นครบแต่ขาดชั่วโมงเข้าโบสถ์ก็ถือว่าไม่ผ่านข้อบังคับของมหา’ลัย นักศึกษาจึงไม่สามารถเรียนจบได้ค่ะ
 

 วิชาเข้าโบสถ์
 

            มหา’ลัยที่มีวิชาเข้าโบสถ์ หรือเรียกว่า “Chapel” สามารถเห็นได้บ่อยในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น George Fox University, Azusa Pacific University, Baylor University ฯลฯ และประเทศเกาหลีใต้ เช่น Yonsei University, Ewha Womans University ฯลฯ มหา’ลัยเหล่านี้มีความเชื่อในศาสนาคริสต์และต้องการเผยแผ่หลักธรรมให้แก่นักศึกษาจึงสร้างหลักสูตรให้มีวิชาศาสนาและการเข้าโบสถ์ลงไป ซึ่งทางมหา’ลัยเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยให้จิตใจนักศึกษาผ่อนคลายและแข็งแกร่งกว่าเดิมค่ะ
 
cr. pixabay.com
 
             ปกติการเข้าโบสถ์จะเป็นวิชาบังคับแค่สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ส่วนใหญ่ต้องเข้าทุกเทอมตลอดการศึกษา ซึ่งชั่วโมงในการเข้าของแต่ละมหา’ลัยก็ต่างกันไป แต่โดยเฉลี่ยจะให้เข้า 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ใช้เวลาประมาณครั้งละ 30 นาที - 1 ชั่วโมง ที่สำคัญพยายามอย่าขาดนะคะ เพราะถึงขาดก็ต้องไปชดเชยอยู่ดี ไม่งั้นก็อาจไม่ผ่านวิชานี้และต้องไปลงเพิ่มเทอมต่อไปเป็น 2 เท่า T_T
 
             ถ้าให้ยกตัวอย่าง Ewha Womans University จากประเทศเกาหลีใต้ ก็มีกฎให้นักศึกษาต้องเก็บวิชาเข้าโบสถ์ทั้งหมด 8 หน่วยกิตเพื่อจบการศึกษา (แต่ละเทอมนับเป็น 1 หน่วยกิต) เข้า 1 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลา 30 นาที ซึ่งสามารถขาดได้มากที่สุด 2 ครั้งต่อเทอม และมีโอกาสชดเชยได้แค่ 2 ครั้งเท่านั้น ถ้าขาดมากกว่านี้ต้องไปลงเพิ่มในเทอมหน้า
            
cr. inews.ewha.ac.kr
 
             แล้วถ้าถามว่าเข้าโบสถ์ไปทำอะไร? คำตอบคือ ทำหลายอย่างเลยค่ะ เพราะแต่ละครั้งก็มีกิจกรรมต่างๆ กันไป ส่วนใหญ่มักเป็นการฟังคำสอน ร้องเพลงร่วมกัน หรือฟังประสบการณ์ดีๆ จากอาจารย์ แต่ถ้าโอกาสพิเศษหน่อยก็จะมีการแสดงของนักศึกษา เช่น เต้นโคฟเวอร์แดนซ์, ละครเวที, การร้องเพลง หรืออย่างช่วงใกล้จบเทอมก็มีการภาวนาเพื่ออวยพรให้รุ่นพี่ที่กำลังจะเรียนจบด้วยค่ะ :)
 
cr. www.ewha.ac.kr
 

ความคิดเห็นของนักศึกษา
            

            ด้วยความที่แต่ละมหา’ลัยมีนักศึกษาหลากหลาย ความเห็นก็ต่างกันไปนะคะ อย่าง George Fox University ประเทศสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงเรื่องความเชื่อทางศาสนาคริสต์ นักศึกษาส่วนใหญ่ก็เลื่อมใสในศาสนาอยู่แล้ว การเข้าไปเรียนวิชาศาสนาและเข้าโบสถ์ตามกฎของมหา’ลัยจึงไม่ใช่เรื่องลำบากอะไรค่ะ พวกเขาบอกว่า “นอกจากมหา’ลัยจะมีระบบการศึกษาที่ดีแล้วยังสร้างความเชื่อที่แข็งแกร่งด้วย” และ “มหา’ลัยนี้ทำให้เข้าถึงพระเจ้ามากขึ้น” เป็นต้นค่ะ
 
cr. www.georgefox.edu
 
            ในทางกลับกัน เมื่อมีคนเห็นด้วยก็ต้องมีคนไม่เห็นด้วยใช่มั้ยคะ? เพราะบางมหา’ลัยก็มีนักศึกษาที่นับถือศาสนาอื่นอยู่ด้วย การต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาอื่นจึงเกิดความรู้สึกไม่สบายใจได้ ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่รู้สึกว่าวิชาเข้าโบสถ์เป็น “การริดรอนสิทธิเสรีภาพ” ของนักศึกษา เพราะนักศึกษาไม่ได้เต็มใจหรือมีความสนใจในการจะเข้าไปในโบสถ์ของศาสนาคริสต์ด้วยเลย :(
 
            นอกจากนี้ยังมีความเห็นของนักศึกษาบางกลุ่มที่ไม่ได้ติดใจเรื่องศาสนา แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการมีวิชานี้ในข้อบังคับของมหา’ลัยด้วยค่ะ พวกเขามองว่า “การเข้าโบสถ์เป็นวิชาที่ไม่จำเป็นเพราะรบกวนการเรียน” เนื่องจากการจัดตารางต้องเผื่อเวลาสำหรับการเข้าโบสถ์ด้วย ซึ่งบางทีอาจชนวิชาเรียนอื่นๆ ที่เขารู้สึกว่าสำคัญกว่า การจะต้องไปนั่งฟังคำสอนศาสนาแทนจึงทำให้เขาไม่พอใจเท่าไรค่ะ
 
cr. pixabay.com
 
            ฝั่งนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับวิชานี้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนะคะ บางกลุ่มได้มีการฟ้องร้องมหา’ลัยด้วย! อย่างกรณีของนักศึกษาจาก Soongsil University ก็เคยฟ้องร้องในปี 1995 ว่าวิชาเข้าโบสถ์เป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพทางศาสนาของนักศึกษา และปี 2006 ได้มีการฟ้องร้องอีกครั้งว่ามหา’ลัยไม่ควรกำหนดให้วิชาดังกล่าวเป็นวิชาบังคับ อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง เพราะศาลมองว่านักศึกษาต้องทำตามกฎระเบียบของมหา’ลัย และมหา’ลัยเองก็มีสิทธิที่จะสร้างกฎดังกล่าวได้เพราะวิชาเข้าโบสถ์ไม่ได้เป็นการบังคับให้นักศึกษาเปลี่ยนศาสนาซะทีเดียว..
 

มุมมองจากบุคคลภายนอก
 

            นอกจากนักศึกษาแล้ว บุคคลภายนอกก็ให้ความสนใจและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเข้าโบสถ์ของมหา’ลัยต่างๆ เหมือนกันค่ะ โดยส่วนใหญ่มองว่า “การบังคับทำให้นักศึกษาเพิกเฉยต่อศาสนา” เพราะนักศึกษาอาจรู้สึกว่าการเข้าโบสถ์เป็นเพียงหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อเรียนให้จบ และเมื่อเรียนจบแล้ว การเข้าโบสถ์ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป..
 
            ด้วยเหตุที่ว่า ความเห็นส่วนใหญ่จึงแนะนำให้มหา’ลัยเปลี่ยนการเข้าโบสถ์ให้เป็นวิชาเลือก นักศึกษาจะได้ทำด้วยความสมัครใจของตัวเอง เขาเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้นักศึกษาเลื่อมใสและมีทัศนคติที่ดีต่อศาสนามากขึ้น คำที่ได้ยินบ่อยทุกสิ้นเทอมว่า “ดีใจจังเข้าโบสถ์ครบละ” ก็จะหมดไปด้วยค่า :)
 
cr. pixabay.com
 
            น้องๆ คิดเห็นยังไงกับวิชาเข้าโบสถ์กันบ้างคะ? จริงๆ แล้วพี่ไม่เคยได้รู้จักวิชานี้มาก่อนเลยนะคะ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเลย.. สำหรับน้องที่กำลังเตรียมตัวไปเรียนต่อต่างประเทศ อย่าลืมเช็กวิชาบังคับของมหาวิทยาลัยกันด้วยนะ แต่ละที่ก็มีหลักสูตรแตกต่างกันไป ยังไงก็หาข้อมูลก่อนจะได้เตรียมตัวกันได้ถูกต้องนะคะ ^^

 
Sources:
https://www.theodysseyonline.com
http://www.koreaherald.com
https://www.apu.edu
https://www.baylor.edu
https://www.georgefox.edu
https://www.yonsei.ac.kr
https://www.ewha.ac.kr
https://cluecho.com
 
พี่กิ๊ฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น