ท้าทายเพื่อปลดล็อก: เปิดชีวิต&วิธีคิดของ 'พี่บีน’ เด็กแลกเปลี่ยน 2 ปี 5 ประเทศ & เรียนโทที่ปารีส!



 
         สวัสดีค่ะชาว Dek-D การเป็น  "เด็กแลกเปลี่ยน"  ถือเป็นหนึ่งในพาร์ตสำคัญที่หลายคนเม้าท์ได้ยาว เล่าเท่าไหร่ก็ไม่จบ ไม่ว่าทริปนั้นจะแฮปปี้ตลอดหรือมีล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ก็เป็นความสนุก ความท้าทาย และให้บทเรียนเพียบ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พวกเขามักแนะนำรุ่นน้องว่า "ถ้ามีโอกาส" ก็ควรลองไปแลกเปลี่ยนสักครั้ง!

         แต่เรารู้ว่าช่วงที่ต้องตัดสินใจนั้นมันไม่ง่าย วันนี้เราเลยหยิบเรื่องราวสนุกๆ ของหนุ่มดีกรีเด็ก ป.ตรี เภสัชมหิดล กับ ป.บัณฑิตจิตบำบัดที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีประสบการณ์แลกเปลี่ยนที่ฟิลิปปินส์, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, Work & Travel ที่อเมริกา ทุกวันนี้กำลังเรียน ป.โท เศรษฐศาสตร์และจิตวิทยาที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส และยังควบตำแหน่งในสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสด้วยค่ะ (โอ้โหหห...) อีกจุดที่น่าสนใจคือเขาใช้เวลา 1 ปีในการแลกเปลี่ยนที่ 4 ประเทศ  เรามาดูกันว่านอกจากความรู้ เขาได้เรียนรู้วิธีการคิด การใช้ชีวิต และเก็บความประทับใจแบบไหนกลับมาบ้าง ^^


การแลกเปลี่ยน = การถีบตัวเองตกน้ำ
แล้วต้องตะกายต่อให้ได้

 

         “มันเริ่มจากแรงบันดาลใจเล็กๆ ตอนเห็นพี่สาวไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกากลับมา แล้วรู้สึกว่าพี่สาวเราเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ดูแลตัวเอง รับผิดชอบมากขึ้น ได้ไปทำอะไรใหม่ๆ เลยคิดว่าอยากจะหาโอกาสไปลองใช้ชีวิตในต่างประเทศบ้าง เพราะมองว่ามันคือการเปิดโลก เอาตัวเองไปเรียนรู้ในที่ที่เราไม่เคยไป ซึ่งเราก็เป็นคนชอบท้าทายตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เพียงแต่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด แค่มาเรียนในกรุงเทพฯ ยังรู้สึกว่าไกล การไปต่างประเทศเลยยังเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ ในสมัยนั้นครับ"


         "ตอน ม.ปลาย เข้ามาเรียนที่ กทม. ก็เห็นโครงการแลกเปลี่ยนเปิดรับสมัคร แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าเวลายังไม่เหมาะ ก็เลยรอจนปี 4 ไปเจอโครงการนึงที่มหา'ลัยประชาสัมพันธ์ครับ เราก็ปรึกษาอาจารย์ว่าถ้าจบปี 5 แล้วเราจะยังไม่ฝึกงาน แต่ขอไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศก่อนได้มั้ย? พอเขาบอกได้เราก็ลุย แยกทางกับเพื่อนๆ take gap year 1 ปี เตรียมการหลายอย่าง ปรึกษาฝ่ายวิเทศเพื่อดูความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆ ที่ทำเรื่องกับคณะ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีที่ไปเลย แต่รู้แน่ๆ ว่าจะจบช้าไป 1 ปี เลยคิดแผนสำรองไว้หลายๆ แผน (A) ไปอเมริกา/ยุโรป ถ้าไม่ได้ก็ (B) ไปเอเชีย (C) ไปอาเซียน (D) เรียนออนไลน์/ฝึกสกิลอื่นๆ (E) ไปบวชยาวๆ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นช้อยส์ไหนเราก็พอใจ ทำให้ความกลัวลดลง และกล้าทำกล้าลุยเต็มที่"

         "ในวันที่เราไม่มั่นใจหรือมีความกลัว วิธีแก้ไม่ใช่การบอกตัวเองว่า ต้องมั่นใจสิ ต้องอย่ากลัว แต่ให้คิดวิธีรับมือไปเลยว่าถ้ามันเกิดขึ้นแล้วจะทำยังไงดี แล้วค่อยๆ ซ้อมตัวเอง ออกแบบการทดลองเล็กๆ เพื่อ test ว่าทำได้นะ เริ่มจากเบสิกแล้วไต่ระดับไปตามที่ไหว เช่น ถ้ากลัวหลงทางก็เริ่มไปจากที่ใกล้ๆ อย่างพี่ก็เริ่มจากในไทย ไปฝึกงานคนเดียวที่หาดใหญ่ ตอนปี 4 ขยับไปแบ็กแพ็กที่มาเลเซีย ต่อด้วยฟิลิปปินส์ แล้วค่อยๆ ขยายออกไป ซึ่งการแลกเปลี่ยนก็เหมือนเราผลักตัวเองไปอยู่จุดที่เราต้องพึ่งตัวเอง เพราะประเทศนั้นไม่มีใครช่วยเรา ถ้าเราไม่เอ่ยปาก ไม่ถาม ไม่ลงมือทำ จะไม่มีใครมาทำให้ แล้วเราก็จะไปต่อได้ยากมากๆ มันเป็นไฟลท์บังคับว่าเราต้องโตขึ้นนะ"

         "และพี่เชื่ออย่างนึงว่า 'Luck is when opportunity meets preparation' คำว่าโชคดีบางทีมันคือการที่เราเตรียมพร้อมเสมอสำหรับโอกาสที่จะผ่านเข้ามา พี่ไม่ปล่อยให้คะแนน IELTS หมดอายุ พี่ขอ transcript กับหนังสือรับรองการเป็นนักศึกษาสแตนด์บายเก็บไว้ตลอด เพราถ้าโอกาสเข้ามาเราจะพร้อมยื่น ไม่ต้องรอเอกสาร"



 

ฟิลิปปินส์
 

         “ที่ฟิลิปปินส์จะเป็นโครงการ ASEAN Studies ส่วนใหญ่เป็นแนวสังคมและวัฒนธรรม เช่น วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจอาเซียน พี่เลือกลงวิชาการศึกษาข้ามวัฒนธรรม (Cross-cultural studies) ตอนเรียนมีตั้งแต่ดูหนัง ทำรายงาน เรียน Do&Don't ของชาติต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ส่วนคลาสภาษาก็มีให้เลือกเรียนได้ครับ เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น"

         "จริงๆ ฟิลิปปินส์มีอะไรคล้ายเราหลายอย่าง ยิ้มแย้มเหมือนกัน อาหารอาจแพงกว่า 2 เท่า (80-90 บาท) ค่าเดินทางใกล้เคียง BTS  บ้านเรา แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ได้เห็นความแตกต่างระหว่างเรากับประเทศใกล้ๆ ทั้งเรื่องอาหาร มุมมองความคิด ศาสนา และวัฒนธรรม" 






 

เกาหลีใต้
 

         “พอเข้าช่วงฤดูร้อนก็ได้ทุนไปแลกเปลี่ยนเหมือนไปเรียนซัมเมอร์) ลงทะเบียนเรียนมหาวิทยาลัยเลย ที่ ‘ฮันกุกเวแด’ (HUFS) เขาให้เลือกเรียน 4 วิชา มีทั้งฝั่งกฎหมาย ศิลปศาสตร์ วรรณกรรม สื่อสารมวลชน ฯลฯ  พี่ก็ลงเรียนเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ความน่าสนใจของเกาหลี ครั้งนึงเขาเคยอยู่ในยุคที่เสียหายจากสงครามเกาหลีแล้วก็ปิดประเทศ พอเปิดมาอีกทีก็รุ่งเรืองมาก เราก็ได้ไปหาคำตอบว่าเพราะอะไร? แล้วก็ได้แตะๆ เรียนภาษาเกาหลี  นอกจากนี้ยังมีเรียน Korean music & performing arts เรียนการแสดง เครื่องดนตรีพื้นบ้านเกาหลี ก็ไปเต้นๆ เล่นๆเครื่องดนตรีของเขา"
         
         “พอยต์ที่สนุกคือถึงพี่จะไม่ได้ลงเรียนวิชานิเทศ แต่พอรู้ว่าเพื่อนสายนี้เขาไปดูงานกัน เราก็ขออาจารย์ไปดูด้วย ไม่ทิ้งโอกาส พี่คิดว่าระหว่างขอแล้วไม่ได้ไป กับไม่ได้ขอ มันต่างกัน เราไม่ได้เกิดมาเพื่อตัดสิทธิ์ตัวเอง หน้าที่ที่จะตัดสิทธิ์ของตัวเรามันเป็นของคนอื่นถ้าเราพยายาม แม้โอกาสจะมีแค่ 0.01 แต่มันก็ไม่ใช่ 0 ถ้าน้องๆ รู้สึกก้ำกึ่งระหว่างใช่กับไม่ใช่ ลังเลว่าจะได้หรือไม่ได้ ก็ให้คว้าโอกาสไป อย่าเป็นคนที่ทำให้ตัวเองเสียโอกาส"

         พี่บีนรีวิวผู้คนและสังคมเกาหลีให้ฟังว่า “เราอาจเคยดูซีรีส์เห็นภาพวัยรุ่นเขามุ้งมิ้งน่ารักๆ จิ้นๆ ฟินๆ แต่พอไปเจอจริงๆ เขามีความกดดันเรื่องการศึกษาสูง เวลาสอบเข้า หรือสอบอะไรเขาจะจริงจังมาก การได้เข้าเรียนที่ไหนหรือเกรดสำคัญกับเขามาก การเรียกร้องสิทธิ์หรือการต่อสู้ก็เป็นเรื่องที่จริงจัง เขาต้องรับผิดชอบตัวเองสูง”





 

ญี่ปุ่น
 

         “พี่ไปทำแล็บวิจัยยาที่เมืองคุมาโมโตะที่มีมาสคอตเป็นหมีคุมะมงครับ เราโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น แต่พอได้มาใช้ชีวิตจริงๆก็ได้เห็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และซับซ้อนกว่าที่เราเคยรู้ ซึ่งถ้าแค่มาเที่ยวจะไม่ได้สัมผัสแน่ๆ ยกตัวอย่างที่พอจะอธิบายได้ 3 ข้อ เช่น
 
1. ความรู้สึกจริงๆ - ความรู้สึกที่แสดงออก เขาเป็นคนสงวนท่าที เก็บความรู้สึก ถ้ายังไม่สนิทจะเว้นระยะประมาณนึง เหมือนเราเจอชั้นหน้ากาก ที่เขาจะไม่ได้แสดงออกตรงๆกลัวอีกฝ่ายเสียความรู้สึก เลือกแสดงออกในแบบที่รักษาน้ำใจ เช่น ถ้าจะปฏิเสธอะไรบางอย่างอาจจะมีเป็นสิบวิธีที่จะบอกอ้อมๆ
 
2. คนในกลุ่ม-คนนอกกลุ่ม มันมีเส้นแบ่งวงในวงนอก ต้องสนิทถึงจะเข้ามาวงใน ได้แบ่งปันเรื่องราว รับรู้ความกังวล ชวนไปที่นั่นที่นี่ แซว เล่นตลก ฯลฯ ซึ่งคนนอกไม่มีทางรู้แน่ๆ อาจจะได้แค่คุยกันเรื่องลมฟ้าอากาศ อาหารการกิน
 
3. รุ่นพี่-รุ่นน้อง เขาจะมีความเคารพและสอนกันระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้องมาก อย่างเราอาจจะเคยได้ยิน คำว่า เซมไป โคไฮ ระบบรุ่นพี่รุ่นน้องนี้ก็จะมาช่วยดูแลกันและกัน หรือ สั่งกันบ้างในบางที เป็นการเคารพกันที่ถัดลงมาจากขั้นอาจารย์
 
         การเป็นต่างชาติไม่ง่ายเลยที่จะก้าวข้าม แต่ถ้าเราเข้าใจวัฒนธรรมก็จะยอมรับและเรียนรู้ได้ ถ้าใครตั้งใจจะอยู่ที่ญี่ปุ่นนานๆ ก็คงต้องพยายามพอสมควรเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งและสัมผัสสิ่งที่เขาคิดจริงๆ แต่สำหรับพี่ความมีน้ำใจและหนักเอาเบาสู้แบบไทยๆ ก็จะช่วยให้เขาเปิดใจกับเราได้ดี คนญี่ปุ่นเป็นคนทำงานหนัก
 
         ถ้าให้พูดถึงสิ่งที่ประทับใจในญี่ปุ่น พี่ว่ามันคือการที่เขาเอาวิถีชีวิต เอาสิ่งดีในท้องถิ่นมาทำ product ได้หมดเลย เช่น เอาหมีคุมะมงไปรำ ไปเกี่ยวข้าว สร้างผลิตภัณฑ์แบรนด์ของท้องถิ่นเอง ไปเมืองไหนก็มีของดีประจำจังหวัด มีดีไซน์แพ็กเกจที่มีคุณค่าน่าสะสม ทำให้ไปไหนก็อยากซื้อของฝากจากทุกเมืองเลยครับ"







 

ฮ่องกง
 

         “พี่ไปแลกเปลี่ยนโครงการ Asia Pacific Leadership เรียนที่ Polytechnic University ถ้าแปลไทยมันคือ 'สารพัดช่าง' แต่ที่นั่นคือสารพัดการเรียนรู้จริงๆ มีตั้งแต่ดีไซน์ ศิลปะ ธุรกิจ เทคโนโลยี หุ่นยนต์ AI ฯลฯ พี่เรียน Entrepreneurship หรือการเป็นเจ้าของธุรกิจ กับ Managerial leadership คือ การเป็นผู้นำ พี่รู้สึกว่าที่ฮ่องกงมันเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับธุรกิจ จริงๆแล้ว ฮ่องกงไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่ แต่เหมือนเป็นพื้นที่ไอเดียที่มีธุรกิจเจ๋งๆ เยอะ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศได้ที่ฮ่องกง”
 
         “ส่วนเรื่องผู้คน พี่รู้สึกว่าเขาจะมีความเป็นตะวันตกแฝงอยู่ เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น เคารพ ตรงไปตรงมา ชอบเจรจาตรงๆ มากกว่าอ้อมค้อม”

         “แต่ละเรื่องที่เรียน มีความหลากหลาย และข้ามไปมา เพราะพี่คิดว่าชีวิตก็เหมือนการเล่นเกมลากเส้นต่อจุด ยิ่งเราสะสมจุดไว้มาก เรายิ่งวาดภาพได้หลายแบบ เราไม่มีทางรู้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เราเรียนรู้มา จะได้ใช้เมื่อไหร่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราจำเป็นต้องใช้ เราจะมีพร้อม เตรียมไว้แล้ว"





 

Work & Travel ที่อเมริกา
 

         "พี่ไปช่วง 3-4 เดือน หลังเรียนจบ เป็นช่วงก่อนรับปริญญาเพราะอยากตกตะกอนว่าจริงๆ แล้วอยากทำงานอะไร + อยากไปลองเจอสภาพแวดล้อมในตะวันตกบ้างครับ เพราะที่ผ่านมาอยู่ในเอเชียตลอดเลย แล้วสิ่งที่เราสัมผัสมาคืออเมริกาเป็นประเทศที่เปิดกว้างมาก เคารพในตัวตนกันและกัน แต่เราต้องยืนหยัดแน่วแน่ในจุดยืนตัวเอง ถ้าเรายืนยันเหตุผลและความคิดของเราออกไปเขาจะเคารพ แต่ถ้าเราไม่แสดงออกว่าต้องการอะไร ไม่ปกป้องดูแลตัวเอง คนอื่นอาจมาบังคับหรือมาสั่งเราได้"

         “ใน 3 เดือนนี้พี่ได้ทำงานเป็นพนักงาน Go kart ในสวนสนุกเล็กๆ แห่งนึง ส่วนนอกเวลาเป็นพนักงานเสิร์ฟครับ เหตุผลคือเราอยากลองทำอะไรที่เรายังไม่เคยทำ ถ้าเราไม่ลองทำก็จะขาดชิ้นส่วนประสบการณ์นี้ไป การเป็นเภสัชกรที่ไทยเราอาจจะไม่ต้องมาตากแดดตากลมทำอะไรแบบนี้ แต่ถ้าเราหนีมัน เราอาจเป็นเภสัชกรที่ไม่รู้เลยว่างานแบบนี้เป็นอย่างไร ต้องบริการอย่างไรให้เกิดคุณค่า ถ้าเรามองทุกสิ่งเป็นการเรียนรู้ แม้มันจะลำบากแต่เราก็ได้พัฒนาตัวเอง”


         “เราได้เจอคนหลากหลายรูปแบบในทุกประเทศที่ไป ข้อดีคือเราสามารถเก็บส่วนดีที่เราประทับใจมาประกอบเป็น best version ของตัวเราเองในเวลานั้นได้ ความช่างสังเกตเพื่อดูแลและเอาใจใส่ เต็มใจบริการ เป็นอะไรที่เป็นจุดแข็งของคนไทย ซึ่งสิ่งที่ได้รับเราว่ามันเกินคาดมากๆ”

         “มีวันนึงหัวหน้าเรียกพี่ไปคุยในห้อง ตอนแรกก็ตกใจว่ามีอะไร หัวหน้าเล่าให้ฟังว่าเมื่อวานตอนเย็น มีลูกค้าคนนึงถามว่า ‘พนักงาน Go Kart ดูแลลูกเขาดีมากๆ เขาประทับใจ' หัวหน้ารู้ว่าเป็นเรา เขาบอกว่าตั้งแต่เขาเปิดโกคาร์ทมาเป็นสิบปียังไม่เคยมีลูกค้ามาชมแบบนี้เลย ในขณะที่เราคิดแค่ว่าทำงานตรงหน้าให้ดีที่สุด แต่ด้วยความตั้งใจนั้นก็พาให้เราได้รับโอกาสดีๆ มากมาย"

         “ตอนไปเกาหลี เราได้รางวัล best student ซึ่งจะได้ทุนเต็มจำนวนไปเรียนปีถัดไป ซึ่งไม่น่าจะได้จากคะแนนสอบแน่ๆ แต่คงเป็นเพราะเราร่วมกิจกรรมที่เขามี เราช่วยเหลือเพื่อน อาจารย์ สตาฟฟ์ และตั้งใจในห้องเรียน  ตอนไปญี่ปุ่น เราก็ได้รับโอกาสไปอยู่ใน VDO แนะนำมหาวิทยาลัย จากนักเรียนต่างชาติ 80-90 คนในปีนั้น เราได้เป็นหนึ่งใน 7-8 คน ที่ได้เลือกไป จากการได้ไปใช้ชีวิตในหลายๆที่ พี่มีหลักการ 3 ข้อ ที่ใช้ตลอดในทุกที่ที่พี่ไปฝึกงานและแลกเปลี่ยนว่า
 
1. เป็นประโยชน์ในทุกที่ที่ไป มีอะไรที่เราทำได้ก็อาสาทำ
2. เราจะทำให้ทุกคนตรงหน้ารู้สึกว่า ‘โชคดีจังที่ได้เจอเรา’ ซึ่งพี่ข้อนี้มาจากการทำหน้าที่เป็นเภสัชกร บางทีจ่ายยาเป็น 100 เคส พอถึงคนที่ 99 เราอาจเหนื่อย แต่มันก็ไม่ใช่ความผิดของคนไข้ที่เขามาเป็นคนที่ 99 เราเลยพยายามบอกตัวเองว่าอยากให้คุณป้าคุณลุงที่มารับยากับเรา รู้สึกว่าโชคดีที่ได้มาเจอกับเภสัชกรคนนี้
3. ทุกสิ่งที่เราทำในวันนี้ คือการซื้ออนาคตตัวเอง เราอยากซื้อด้วยราคาถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของเราในวันนี้เสมอ
 
         พี่ตั้งใจไปเพื่อเรียนก็จริง แต่ 3 ข้อนี้ทำให้เราได้ทั้งเรียนทั้งปลดล็อกประสบการณ์อีกระดับนึงที่คนอื่นอาจไม่ได้สัมผัส”



 

ฝรั่งเศส (ป.โท)
 

         “พอพี่กลับจาก Work & Travel ก็มานั่งคิดว่าตัวเองชอบงานแนวไหน มีเทคนิคนึงที่อาจารย์ที่ฮ่องกงสอนว่า ถ้าคิดอะไรไม่ออก ให้ทำ 3B คือ bed > baths > bus เพราะมันคือช่วงที่เราไม่ได้โฟกัสจดจ่อกับความคิดจนเกินไป เหมือนเป็นพื้นที่ระหว่างมีและไม่มีสติ ไอเดียใหม่ๆ อาจผุดขึ้นมาได้ในช่วงนี้ น้องๆ อาจลองตามได้นะ สุดท้ายก็ตกตะกอนกับตัวเองว่า อยากทำงานการศึกษา เพราะสมัยเรียนพี่เคยไปช่วยอาจารย์พัฒนาหลักสูตร ทำงานในสโมสรนักศึกษา แล้วตอนไปทำงาน Go Kart ก็พบว่าตัวเองพูดกับเด็กซ้ำๆ ได้ไม่มีเบื่อ ระหว่างทางที่เราแลกเปลี่ยน เราก็แอบไปเรียนออนไลน์มาด้วยกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศเรื่องศิลปะของการสอน (Art of Teaching)


         “พี่ได้เข้าไปทำงานเกี่ยวกับการศึกษาในระดับนโยบายในหน่วยงานนอกกระทรวงศึกษา สังกัดสำนักนายกอยู่ 2 ปี ทำงานร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์ และ นักวิชาการเก่งๆหลายท่าน ระหว่างทำงานก็เรียน ป.บัณฑิต สาขาสุขภาพจิต ที่จุฬาไปด้วย เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา (จิตบำบัด)"

         "แล้วตอนปี 2017 เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นการนำเศรษฐศาสตร์กับจิตวิทยามาประยุกต์ร่วมกันเพื่อสร้างตัวเลือกและการกำหนดทิศทางพฤติกรรมของคนครับ เรารู้สึกสาขานี้ตอบโจทย์เราในความสนใจและงานที่ทำ คือ เศรษฐศาสตร์ และ จิตวิทยา ที่เลือกมาเรียนฝรั่งเศสเพราะหลักสูตร พี่ไม่ได้จบเศรษฐศาสตร์มาตอนปริญญาตรี แต่หลักสูตรนี้รับปริญญาทางจิตวิทยาด้วย  และด้วยโครงสร้างหลักสูตรมีบูทแคมป์ทั้งฝั่งจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์ พี่ก็เลยได้ไปเรียนกับทั้งสองฝั่ง ได้พัฒนาตัวเองเยอะมากในเวลา 1 ปี”

         “ภาพรวมเนื้อหาที่พี่ได้เรียนคือการรวม 2 แขนง คือเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยา ในฝั่งวิชาเศรษฐศาสตร์ ก็จะเรียนเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์ และเกิดความพอใจสูงสุด พูดถึงเรื่องการตัดสินใจแบบสมเหตุสมผล จากนั้นในฝั่งจิตวิทยา ก็จะมาเติมว่า เหตุผลที่บางครั้งเราไม่สมเหตุสมเหตุ มันเกิดมาจากปัจจัยอะไร

         "ปลายทางเรื่องงานของคนเรียนสายนี้คือ อาจจะเป็นผู้ที่ออกแบบนโยบายเพื่อปรับพฤติกรรมของคน โดยที่ไม่ใช่การบังคับ เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการบริจาคอวัยวะจากเดิมที่ 'ต้องแจ้งเพื่อเข้าร่วม' (Opt-in) เป็น 'แจ้งถ้าไม่อยากจะเข้าร่วม' (Opt-out) ทำให้ออสเตรียที่ใช้ระบบ Opt-out มีอัตราการบริจาคอวัยวะสูงถึง 99.98% เทียบกับประเทศอื่นที่ใช้ระแบบ Opt-in เช่น เดนมาร์ก (4.25%) เยอรมัน (12%) เพราะคนเรามักจะไม่ค่อยอยากเปลี่ยนแปลงจากสถานะที่เป็นอยู่เดิม และเมื่อคนหมู่มากทำก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้เสียหายอะไรที่จะคงตัวเลือกนี้ไว้ ต่างกับ การ Opt-in ต้องไปแจ้งเพื่อจะบริจาค เพราะคนจะคิดว่า การจะไปแจ้งบริจาคกับไม่บริจาค ก็ไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิต และเป็นการเพิ่มขั้นตอนในชีวิต”
 





 
         การเรียนของฝรั่งเศสหรือในฝั่งยุโรป ไม่ว่าจะ ป.ตรี หรือ ป.โท จะค่อนข้างเรียนรู้ด้วยตัวเองเยอะ อาจารย์จะสอนส่วนนึง แต่เราก็ต้องไปอ่านเพิ่มให้เข้าใจแล้วฝึกทักษะต่อยอดเองครับ การหาความรู้ด้วยตัวเองสำคัญมาก อย่างตอนอยู่ญี่ปุ่นเครื่องบางเครื่องก็แล็บไม่มีในไทย ถามรุ่นพี่ในแล็บเดียวกันที่ญี่ปุ่นก็บอกว่าเขาเองก็ไม่เคยใช้ เราก็ต้องไปหาหนังสือ หาวิดีโอมาดู อ่านเองแปลเอง พี่ว่าสิ่งสำคัญที่อยากจะบอกน้องๆ ม.ปลายว่าสิ่งสำคัญในปีแรกของการเป็นเด็กมหา'ลัย คือการหาวิธีเรียนรู้ที่เหมาะกับตัวเองให้เจอ บางคนอาจจะเรียนรู้ได้ดีถ้า discuss อ่านหนังสือ ดูคลิป ลงมือทำ ฯลฯ เราเข้าใจตัวเองว่า เราอ่านหนังสือเวลาไหน ในสิ่งแวดล้อมแบบไหนแล้วดีกับตัวเรา เหมือนค่อยๆเขียน 'คู่มือการเรียนรู้ของตัวเอง' ถ้าเราค่อยๆ หาจนเจอ ไม่ว่าต่อไปจะเรียนอะไร จะไปเรียนต่อที่ไหนก็รอด”
 
ถ้าน้องๆ อยากเรียนต่อฝรั่งเศส ต้องหามหาวิทยาลัยก่อน เช็กว่าเขาเปิดรับสมัครตอนไหน เตรียมเอกสารและทำตามขั้นตอนการสมัครที่เขาระบุครับ แนะนำให้ติดตาม 3   ช่องทางคือ 
 
1. Campus France หน่วยงานสถานทูตฝรั่งเศส มีอัปเดตข่าวสาร คำแนะนำการใช้ชีวิต และ ทุน (เช่น ทุน franco-thai, ทุน eiffel ฯลฯ)
2. สำนักงาน ก.พ. (OCSC) เขาจะมีประกาศทุนนักเรียนรัฐบาล เรียนจบก็กลับมาทำงานให้กับหน่วยงานรัฐ
3. เพจสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสฯ




 

รีวิวคนฝรั่งเศส


         “ถ้าเป็นคนฝรั่งเศสรุ่นใหม่จะพูดภาษาอังกฤษได้แต่ยังไม่ค่อยมั่นใจ ส่วนตัวพี่เองก็ยังไม่คล่องภาษาเขามากครับ พออ่านได้ ใช้ชีวิตได้ แต่ถ้าให้ถึงกับพรีเซนต์ อภิปรายเรื่องการเมืองหรือเศรษฐกิจ อาจจะยังไม่ได้” 
 
         “ส่วนเรื่องนิสัยใจคอ เขาจะค่อนข้างมีโลกส่วนตัว มีความเป็นศิลปิน อาจจะไม่ได้ดูยิ้มแย้มชวนคุยเก่งเท่ากับคนไทย แต่จริงๆ ถ้าถามเขาก็ยินดีคุยกับเรานะ (เฟรนด์ลี่แต่ไม่แสดงออก) มีความเคารพสิทธิผู้อื่นสูงมาก และปกป้องสิทธิ์ตัวเองด้วย ถ้าเห็นอะไรไม่ดีก็พูดตรงๆ เราจะเห็นว่าบ้านเมืองเขามีการประท้วงบ่อย แต่ข้อดีของที่นี่คือเขาจะแจ้งล่วงหน้าก่อน ถ้าใครสนใจก็มาเข้าร่วมด้วยได้ โดยการประท้วงก็จะมีตั้งแต่แบบสงบๆ ชูป้าย ปราศรัย รวมตัว ไปจนถึงการงดหรือปิดการให้บริการบางอย่าง เช่น รถไฟใต้ดิน รถบัส ฯลฯ เจ้าหน้าที่รัฐก็ประท้วงได้นะ ในฐานะพลเมือง เพียงแต่ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ หรือใช้เครื่องแบบของรัฐ”
 





 
         “แล้วเวลาไปที่ไหนพี่ก็เที่ยวทะลุประเทศหมด 5555 ถ้าเป็นฝรั่งเศส พี่ชอบ ‘มงแซงมิเชล’ (Mont Saint-Michel) ที่สุด ตอนน้ำขึ้นจะล้อมเกาะเหมือนเป็นปราสาทกลางน้ำ ตอนน้ำลงสามารถเดินรอบวิหารได้ พอตกดึกเราจะเห็นว่าตัวเองเหมือนอยู่กลางทะเล มหัศจรรย์มากๆ ใช้เวลาเดินทางจากปารีส 2 ชม.”
 
         “ส่วนสถานที่อื่นๆ ที่แนะนำก็มีหอไอเฟล (Eiffel tower) พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ (Musée du Louvre) แม่น้ำแซน (Seine) ฯลฯ ประเทศเขาอนุรักษ์ตึกเก่าๆ ไว้ดีมาก เดินในเมืองไม่ได้เจอแต่ตึกระฟ้า แต่จะเจอบ้านคลาสสิก อาคารบ้านเรือนยุคเก่า เพราะเขาค่อนข้างจะห้ามไม่ให้ทุบสร้างใหม่ แต่ก็จะมีโซนสมัยใหม่อยู่นะ มันทำให้มีเรื่องมหัศจรรย์ประมาณว่า ร้านขายของไปเช่าตึก พยายามรีโนเวตใหม่ แต่เช็ดผนังแล้วไปเจอภาพวาดที่ถูกปูนโบกผนังปิดไว้ อายุเป็นร้อยปี”

         “อีกสิ่งที่ขึ้นชื่อในฝรั่งเศส นอกจากน้ำหอม แฟชั่น ก็ยังมีขนมอบ ขนมหวาน พวกมาการอง เอแคลร์ ฯลฯ เขาจะพิถีพิถันกับการปรุงอาหารหรือทำขนม มีวิธีพิเศษหลายอย่าง เช่น การทำพิวเร (Purée), กงฟีต์ (Confit) ฯลฯ”





 

เที่ยวได้เยอะ เซฟเงินยังไง?


         "ถ้าประเทศไหนอยู่เกิน 1 เดือนพี่จะทำกับข้าวเองหมด เซฟเงินได้มาก เช่น ญี่ปุ่นหรืออเมริกา ทำเองประหยัดกว่าซื้อประมาณ 2-3 เท่า เก็บเงินไว้ไปเที่ยวเปิดโลกแทน ไปถึงประเทศไหนพี่ก็จะ subscribe ข่าวสายการบิน low-cost ไว้ก่อนเลย แล้วก็วางแผนทริปดีๆ เช่น ตอนอเมริกาพี่บินเข้าฝั่งซานฟรานซิสโก แวะเที่ยวก่อน แล้วค่อยลงไปชิคาโก้ (เมืองที่ทำงาน) ตอนกลับก็กลับทางนิวยอร์ก และนั่ง night bus ก็ช่วยเซฟค่าที่พักได้ เช่น เที่ยวเมืองนึงจนถึงค่ำๆ แล้วก็ขึ้นรถบัสไปถึงอีกที่นึงตอนเช้ามืด ก็ได้เซฟค่าที่พักเพราะเรานอนบนรถ”






 


อย่าเหม่อให้ตัวเองเป็นเป้านิ่ง


         จริงๆ ในทุกที่มีอันตรายหมด แต่สิ่งสำคัญคือต้องเซฟตัวเองไว้ก่อน ถ้ารู้ว่าโซนไหนเสี่ยง หรือทำอะไรแล้วเสี่ยง แล้วเลือกที่จะไป = เราเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเอง ดังนั้นต้องเตรียมรับมือเผื่อมันจะเกิดขึ้น เช่น อย่าปล่อยให้แบตมือถือหมด มีเบอร์ขอความช่วยเหลือ มองตลอดว่าใครจะวิ่งมาหาเราบ้าง หาทางหนีทีไล่เอาไว้ รีบประเมินแล้วเตรียมความพร้อมไว้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ อย่าทำให้ตัวเองเป็นเป้านิ่ง"

         “ยกตัวอย่างเช่นมีครั้งนึงพี่เคยเกือบโดนกระชากกล้องที่ซานฟรานซิสโก เขาเห็นเรามาคนเดียวแล้วมีกล้องห้อยคอ ตอนนั้นเรายืนเช็กมือถืออยู่แต่ก็มีสติตลอด ปรากฏว่ามีคนตั้งใจวิ่งมาชนกระแทกเรา เราก็เบี่ยงหลบเข้ามาในซอกพอดี ทำให้ตอนนั้นพี่แค่ล้มลง และตะโกนขอความช่วยเหลือทัน ของเลยไม่ถูกขโมย”


ทิ้งท้ายสำหรับน้องๆ ที่อยากแลกเปลี่ยน
 

1. สิ่งสำคัญของการออกมาแลกเปลี่ยน = การท้าทายตัวเอง ถ้ามาแล้วอยู่ใน comfort zone อาจทำให้ไม่ได้เรียนรู้ พี่ไป 4 ประเทศจะตั้งโจทย์ให้ตัวเองตลอดว่าตั้งใจมาฝึกอะไร? เรียนอะไร? ทำอะไร? ให้เลือกทางที่ท้าทาย ไม่เลือกทางง่าย ค่อยๆ ท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆเท่าที่ไหว แต่ค่อยๆ ขยับไป ถ้าที่ผ่านมาพี่เลือกแต่ทางง่าย ชีวิตคงจะไม่มีทางมาถึงจุดนี้ได้
 
2. ฝึกตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาจะเหมือนการสะสมชิ้นส่วน ให้ช่างสังเกต ช่างฟัง ช่างถาม การมีคำถามที่ดีสำคัญกว่าการมีคำตอบ คำถามที่ดีจะช่วยให้เราเรียนรู้ได้มาก

ตัวอย่างคำถาม
 
  • สิ่งนี้ทำให้เราเรียนรู้อะไร?
    • ถ้าเราไม่ทำ วิ่งหนีจากความยากอันนี้ มันจะทำให้เราเป็นยังไง?
    • จุดแข็งของเราที่เอามาใช้ในสถานการณ์นี้ได้คืออะไร? หลายคนมองแต่สิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดจนลืมว่าเราก็มีจุดดีๆ อยู่ เราทุกคนไม่ได้ถนัดทุกเรื่อง ถ้าไม่ถนัดไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ แค่ต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่น เวลาเจอเรื่องที่ยากสำหรับเรา ให้ถามตัวเองว่าอยากฝึกมั้ย? ถ้าอยากก็ให้เวลากับมันเยอะหน่อย พอผ่านไปก็จะทำสิ่งนั้นได้ดีขึ้น
       
         3. กรอบความคิดการเติบโต (Growth Mindset) มันคือสิ่งที่ทำให้คนนึงประสบความสำเร็จได้มากกว่าอีกคน การที่เรามองปัญหาที่เข้ามาเป็นความท้าทาย มองว่าทุกความผิดพลาดคือการเรียนรู้ และ feedback จากคนอื่น จะทำให้รู้ว่าเราสามารถพัฒนาอะไรได้อีก ซึ่งมันจะตรงข้ามกับ Fixed Mindset ที่เราตีกรอบตัวเองไปว่าเราทำไม่ได้ ฉันคงทำได้แค่นี้ มองความผิดพลาดเป็นความล้มเหลว คิดว่าคนเราเกิดมาเป็นอย่างไรก็จะเป็นแบบนั้นไปตลอดไม่มีทางเปลี่ยนแปลง”


         ถ้าเปรียบเทียบประสบการณ์พี่บีนเป็น story ig ก็คงเป็นจุดไข่ปลาที่ถี่ยิบจนเป็นเส้นประแน่นอน เราจะเห็นว่าสิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่ความรู้อย่างเดียว แต่ยังได้เข้าใจความแตกต่างของคนแต่ละชาติ เข้าใจวิธีการวางตัวที่ทำให้มีความสุขและได้บทเรียนในทุกสถานการณ์ พี่ก็หวังว่าเรื่องราวของพี่บีนจะเป็นแนวทางให้น้องๆ บริหารเวลาเพื่อวางแผนเรียนต่อนอกได้ พร้อมเปิดรับ-ปรับตัวในสังคมที่เราไม่คุ้นเคยนะคะ ^^
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น