เมื่อเกาหลียกเลิก ‘รร.เอกชน-อินเตอร์’ ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมนำระบบหน่วยกิตมาใช้ใน ม.ปลาย

        อันยองครับน้องๆ ชาว Dek-D ถ้าพูดถึงประเด็นที่มีการหยิบยกมาพูดถึงกันบ่อยมากในปีนี้ หนึ่งในนั้นจะต้องมีเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำทางสังคม’ ระหว่างคนรวยและคนจนอยู่แน่นอน โดยเฉพาะกับประเทศเกาหลี ซึ่งในช่วงกลางปีที่ผ่านมามีภาพยนตร์เรื่องดังที่สร้างอิมแพคขับเคลื่อนสังคมอย่างมาก ซึ่งก็คือเรื่องParasite : ชนชั้นปรสิต ที่ได้เสียดสีเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างเจ็บแสบจนเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง 
 
       อย่างที่บอกว่าเรื่องช่องว่างระหว่างสังคมในเกาหลีนั้นมีมานานมาก ที่ผ่านมาทางรัฐบาลเกาหลีเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีนโยบายที่จะลดความเหลื่อมล้ำนี้ในสังคมเพื่อเพิ่มความเท่าเทียมให้กับทุกคนมากขึ้น และล่าสุดเค้าก็ได้เริ่มกับ ‘ระบบการศึกษา’ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกคนที่ควรจะได้รับ แต่ที่ผ่านมากลับมีการแบ่งแยกชนชั้นโรงเรียนจนเป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำซะงั้น ว่าแต่เค้าจะแก้ไขอย่างไร ตามมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลยครับ
 

Photo Credit: Yonhap News
 
       ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้ เมื่อประชาชนจำนวนมากลุกออกมาประท้วงเพื่อขับไล่ 'โชกุ๊ก' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หลังจากที่เค้าเองได้ประกาศตัวว่ารู้สึกไม่พอใจกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม และต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ไม่เป็นธรรมนี้ให้มีความเสมอภาคมากขึ้น พอเห็นแบบนี้น้องๆ อาจจะงงใช่มั้ยครับ ในเมื่อเค้ามีนโยบายดีขนาดนี้ แต่ทำไมกลับโดนขับไล่ล่ะ? ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่า มีคนจับโป๊ะแตกได้ว่า โชกุ๊กนั้นเคยใช้เส้นสายของตัวเองและปลอมงานวิจัยเพื่อให้ลูกสาวของเค้าได้เข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกศึกษาชั้นนำมาก่อน และนั่นก็เป็นสาเหตุให้คนออกมาแหกและขับไล่เค้าออกจากตำแหน่งนั่นเอง (เพิ่งดำรงตำแหน่งได้แค่ 35 วันเท่านั้นเองครับ) ซึ่งประเด็นนี้แหละจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบการศึกษา ที่เห็นได้ชัดว่าแม้กระทั่งโรงเรียนที่ทุกคนควรเข้าถึงได้และได้รับความเท่าเทียม แต่กลับมีความเหลื่อมล้ำเอื้อหนุนคนรวยให้ได้รับโอกาสดีๆ มากกว่า 
 

Clip


 
        จากประเด็นนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ได้ออกมาประกาศแผนที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาใหม่ โดยเริ่มต้นจากการปฏิรูปการศึกษาระดับมัธยมปลาย เพราะว่าปัจจุบันนั้นในเกาหลีใต้มีการแบ่งเป็นระบบโรงเรียนเป็น 2 ระบบที่สร้างความเหลื่อมล้ำจนเห็นได้ชัดคือ ระบบโรงเรียนทั่วไป และระบบโรงเรียนอีลีตหรือโรงเรียนสำหรับชนชั้นนำ (Elite High School) ซึ่งความแตกต่างกันของ 2 ระบบนี้ คือ
 
1. ระบบโรงเรียนมัธยมปลายทั่วไป ปัจจุบันมีทั้งหมด 1,555 แห่งทั่วประเทศ ระบบนี้จะเป็นการสุ่มเลือกโรงเรียนทั่วไปในพื้นที่ นักเรียนจะไม่สามารถเลือกโรงเรียนได้เอง 
2. ระบบโรงเรียนอีลีต มีการคัดเลือกนักเรียนของตัวเองและรับนักเรียนจากพื้นที่อื่นได้ ซึ่งจะรับนักเรียนในระดับมัธยมประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ซึ่งโรงเรียนที่จัดอยู่ในระบบโรงเรียนอีลีตมีทั้งหมด 79 แห่ง ได้แก่ 
 
- โรงเรียนมัธยมปลายเอกชนอิสระ (private school) ทั้งประเทศมี 42 แห่ง 
- โรงเรียนมัธยมปลายภาษาต่างประเทศ (foreign language school) ทั้งประเทศมี 30 แห่ง
- โรงเรียนมัธยมปลายนานาชาติ (global school or international school) ทั้งประเทศมี 7 แห่ง 
 

Clip

     
        'ยูอึนเฮ' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งเกาหลีใต้ ได้ประกาศว่า ภายในเดือนมีนาคม ปี 2025 (พ.ศ. 2568) โรงเรียนอีลิตเหล่านี้ซึ่งได้แก่ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนมัธยมปลายภาษาต่างประเทศ และโรงเรียนมัธยมปลายนานาชาติ จะถูกเปลี่ยนให้เป็นโรงเรียนมัธยมปลายทั่วไป ซึ่งหมายถึง โรงเรียนเหล่านี้จะไม่สามารถใช้ระบบคัดเลือกนักเรียนจากต่างพื้นที่ได้อีกแล้ว และจะต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบสุ่มนักเรียนในพื้นที่เหมือนกับโรงเรียนมัธยมปลายทั่วไปนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนนั้นยังสามารถคงหลักสูตรตามเดิมได้อยู่ครับ
 

Photo Credit: Yonhap News
 
        อย่างที่บอกว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จุดประสงค์นั้นเพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเกาหลีที่นับวันยิ่งสูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนชนชั้นนำในเกาหลีใต้นั้นถูกหยิบยกมาวิจารณ์กันอยู่หลายครั้งว่าเป็นเป็นโรงเรียนที่สร้างกำแพงทางสังคมไว้สูงเกินไป เพราะโรงเรียนเหล่านี้ปกติแล้วจะรับแต่นักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงมาก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสในการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กที่มีพื้นเพมาจากครอบครัวร่ำรวยรวมถึงคนทรงอิทธิพลมากขึ้นไปอีก และยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ เท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างนักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้สูงและรายได้น้อยยิ่งเพิ่มมากขึ้น และก็จะวนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 
 

ภาพประกอบเนื้อหาจากซีรีส์ Extraordinary You
 
        และนอกจากการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีความเท่าเทียมแล้ว ทางกระทรวงการศึกษาธิการของเกาหลีใต้ก็จะมีการปรับระบบการศึกษารวมถึงหลักสูตรที่หลากหลายครอบคลุมทั้งศิลปะ รวมถึงหลักสูตรเสริมทักษะอาชีพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเด็กนักเรียนและยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอีกด้วย ซึ่งในปี 2025 นั้น โรงเรียนต่างๆ ในเกาหลีจะมีการใช้ระบบหน่วยกิตในโรงเรียนมัธยม โดยนักเรียนชั้นม.5 และม.6 จะสามารถเลือกวิชาเรียนได้เองเหมือนกับการเรียนในมหาวิทยาลัยนั่นเองครับ ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้จัดสรรงบส่วนนี้ไว้ประมาณ 2 ล้านล้านวอน (ประมาณ 5 หมื่นกว่าล้านบาท) เพื่อเร่งพัฒนาระบบการศึกษาให้มีศักยภาพมากขึ้นในช่วงเวลา 5 ปีนี้ 
 
       ถือว่าเป็นการเปลี่ยนระบบการศึกษาในเกาหลีที่น่าจับตามองมากๆ เลยนะครับ แต่ยังไงเราก็ต้องมาจับตาดูกันอีกครั้งว่าผลลัพธ์จะออกมาในทิศทางไหน และจะลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ แต่เชื่อว่าแค่เริ่มต้นได้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแล้วล่ะครับ :D 

 
Sources:
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

มาตอบที 21 ม.ค. 63 21:07 น. 1

.... เอ งงกับ รร. ทั่วไป คือยังไงอ่ะ นร.เลือกสอบเองไม่ได้?? สมมติถ้าเอามาใช้กับในไทยก็อารมณ์ประมาณว่าเด็กฝั่งธนฯเข้าไปสอบ รร.ฝั่งพระนครแบบ สวนกุหลาบ ,เทพศิรินทร์ ไรงี้ไม่ได้เหรอครับ?

0
กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

มาตอบที 21 ม.ค. 63 21:07 น. 1

.... เอ งงกับ รร. ทั่วไป คือยังไงอ่ะ นร.เลือกสอบเองไม่ได้?? สมมติถ้าเอามาใช้กับในไทยก็อารมณ์ประมาณว่าเด็กฝั่งธนฯเข้าไปสอบ รร.ฝั่งพระนครแบบ สวนกุหลาบ ,เทพศิรินทร์ ไรงี้ไม่ได้เหรอครับ?

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด