รู้จัก 'Fashion Buyer' อาชีพของคนรักแฟชั่น ที่วันๆ ไม่ได้แค่ชอปปิงเสื้อผ้า (แล้วทำอะไรบ้าง?)

       สวัสดีค่ะชาว Dek-D วันนี้ขอเอาใจน้องๆ ที่หลงใหลสายแฟชั่นกันบ้าง เพราะพี่จะพาไปรู้จักอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจในวงการอย่าง “นักวางแผนและจัดซื้อสินค้าแฟชั่น” (Fashion Buyer) บอกเลยว่าเนื้องานจริงๆ มีมากกว่าการเลือกซื้อเสื้อผ้ามาขาย แล้วยังเป็นคนสำคัญที่จะส่งผลต่อกำไรหรือขาดทุนของแบรนด์ด้วย! ว่าแต่เขามีหน้าที่อะไรบ้าง เลื่อนลงมาอ่านกันเลยค่า > <


Photo by freestocks.org on Unsplash


Fashion Buyer
เนื้องานสุดท้าทาย & เดดไลน์สุดกระชั้น


       Fashion Buyer = ผู้ซื้อสินค้ามาขายให้ร้านค้าปลีกหรือแบรนด์ต่างๆ ฟังเผินๆ อาจเหมือนว่าเราแค่ชอบแต่งตัวและมีเซ้นส์ด้านแฟชั่นก็ทำได้แล้ว แต่จริงๆ ต้องอาศัยทักษะการคิดวิเคราะห์วางแผนและทักษะการสื่อสาร (*ควรพูดได้หลายภาษาด้วย) เพราะขอบเขตงานครอบคลุมทั้งการศึกษาเทรนด์ในปัจจุบันและคาดการณ์เทรนด์ในอนาคต การเจรจาต่อรองกับผู้ขายส่ง แล้วจัดซื้อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นสี ไซซ์ ราคาขายปลีก แล้วกระจายไปยังแหล่งขายที่เหมาะสม

       นอกจากนี้ความท้าทายคือ Fashion Buyer ต้องเผชิญกับผู้คนและสถานการณ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา อีกทั้งยังต้องเจอเดดไลน์สุดกระชั้นเป็นเรื่องปกติด้วย สโคปงานเยอะขนาดนี้ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนที่เป็น Fashion Buyer นั้นถึงมีรายได้ดีๆ ทั้งนั้นเลย 


ทำไมอาชีพนี้ถึงสำคัญ?


        ถ้าหาก Fashion Buyer ของแบรนด์ใดมีความสามารถทั้งด้านแฟชั่นและการทักษะเชิงธุรกิจ อย่างการศึกษาผู้บริโภคและการเจรจาต่อรอง ก็จะช่วยให้แบรนด์นั้นสามารถลดต้นทุนและตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น จึงเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเบื้องหลังที่ส่งผลต่อกำไรหรือขาดทุนของแบรนด์เลยค่ะ 

        พูดแบบนี้น้องๆ อาจจะยังไม่เห็นภาพ เรามาดูตัวอย่างของคุณ Hannah เขาได้อัป vlog การทำงานของเขาในฐานะ fashion buyer ให้กับแบรนด์ In The Style ซึ่งเขาต้องทำอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่า
 

หน้าที่หลักๆ คือ จัดซื้อสินค้าตามแบบ สี ขนาด หรือไซซ์ที่แบรนด์ต้องการภายใต้งบที่จำกัด


ในแต่ละวันของเธอไม่เคยซ้ำเดิมเลย ทั้งเดินทางไปต่างประเทศและพบเจอผู้คนใหม่ๆ


 
หน้าที่สำคัญของเธออีกอย่างคือ ติดตามเทรนด์ในโซเชียลจากบรรณาธิการนิตยสาร ดีไซน์เนอร์ เซเลบรีตี้ 
และอินฟลูเอนเซอร์เพื่ออัปเดตตัวเองอยู่เสมอ



 
ความท้าทายของงานเธอก็คือเดดไลน์ที่กระชั้นมากกกก หลังจากซื้อสินค้าเรียบร้อย เธอจะมีเวลาเพียงสัปดาห์เดียวในการจัดส่งทั้งหมดให้กับลูกค้า และจะวนไปแบบนี้ทุกวัน เลยเป็นเหตุผลที่เธอต้องบริหารเวลาอย่างดี รวมถึงตัดสินใจอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดด้วย


 
        แม้จะเป็นงานที่ต้องทุ่มเทพลังไม่น้อย แต่ก็เป็นโอกาสให้เราได้พัฒนาสกิลรอบด้านและเปิดหูเปิดตาในโลกแฟชั่นอย่างลึกซึ้งทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังเลยค่ะ ถ้าน้องๆ สนใจงานด้านนี้ ขั้นต่ำควรจบปริญญาตรีขึ้นไป และหากจบในสาขาแฟชั่น การตลาด หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับเนื้องานก็อาจได้เปรียบมากกว่า

        เดี๋ยวพี่จะพาไปดูตัวอย่างมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่เปิดสอนด้านนี้โดยตรง พร้อมแง้มหลักสูตรว่าเขาจะได้เรียนอะไรบ้าง!


แนะนำมหา'ลัยสายตรง
สาขา Fashion Buying


1. London College of Fashion
สาขา Fashion Buying and Merchandising


Photo Credit: UAL

       นักศึกษาของที่นี่จะได้เรียนรู้ตลาดแฟชั่นทั่วโลกตั้งแต่ระดับร้านค้าปลีกจนถึงแบรนด์หรู ทำให้เข้าใจเทรนด์และความสำคัญเชิงกลยุทธ์ระหว่างธุรกิจแฟชั่นและลูกค้า ที่สำคัญคือจะไม่ได้มีแค่นั่งเลกเชอร์เรียนทฤษฎีในคลาส แต่จะได้เข้าไปเรียนรู้การทำงานในบริษัทแฟชั่นจริงๆ และได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นในสายงานเดียวกันด้วยค่ะ

        ตัวอย่างวิชาเรียน
- Introduction to Fashion Buying
- The Principles of Buying and Merchandising
- Merchandise Planning and Trading
- Retail Concept Development and Product Management
- Fashion Buying and Merchandising Strategy
 
ระยะเวลาเรียน: 3 ปี
ราคา: £22,920 (917,716.8 บาท) /ปี  *เรท 40.04


2. มหาวิทยาลัยเวสมินสเตอร์ (University of Westminster)
สาขา Fashion Buying Management

        สถาบันแห่งนี้เตรียมความพร้อมให้นักเรียนสามารถรับมือกับหน้าที่ต่างๆ ในอาชีพ Fashion Buyer ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจัดซื้อสินค้า การคาดการณ์เทรนด์ในอนาคต หรือการเจรจาต่อรองทั้งกับลูกค้าและร้านค้าส่ง และช่วงปี 3 นักเรียนยังได้ฝึกงานจริงเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็มด้วย

ตัวอย่างวิชาเรียน
- Fabric and Garment Technology
- Fashion Marketing
- Global Sourcing Strategies for Fashion
- Fashion Promotion
- Global Retailing
 
ระยะเวลาเรียน: 4 ปี
ราคา: £14,000 (560,560 บาท) /ปี  *เรท 40.04

3. มหาวิทยาลัยทีส์ไซด์ (Teesside University)
สาขา Fashion Buying and Merchandising


Photo Credit: Teesside University

        หลักสูตรของที่นี่สอนให้เข้าใจตลาดแฟชั่นสากล การวิเคราะห์เทรนด์ตลาด ทักษะการสื่อสาร กระบวนการจัดซื้อสินค้า และการวางแผนการกระจายสินค้า เรียกว่าครบครันสุดๆ > <

ตัวอย่างวิชาเรียน
- Research and Analysis - Sketchbooks and Research
- Professional Skills for Fashion and Textiles
- Marketing Communications
- Fashion and Textiles Enterprise
- Contemporary Issues in Business Management
 
ระยะเวลาเรียน: 4 ปี
ราคา: £13,000 (520,520 บาท) /ปี  *เรท 40.04


Photo by freestocks.org on Unsplash

       อ่านถึงตรงนี้บางคนอาจกังวลว่าต้องจบต่างประเทศใช่มั้ย? แต่จริงๆ แล้วขอมีใจรักและทักษะที่เหมาะกับงานก็มีโอกาสแล้วค่ะ พี่แนะนำให้ฝึกสังเกตเทรนด์แฟชัน หา reference มาศึกษาให้แน่นๆ รวมถึงเรียนภาษาเพื่อความได้เปรียบ ไม่แน่ว่าในอนาคต น้องๆ จะได้เป็นหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์แฟชันก็ได้นะคะ ^^
พี่ไอซ์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น